ญาณีนุช ศักดิ์ศรีสุวรรณ : HER2 ครูสอนชีวิต


“เราไม่มีวันได้เรียนรู้หรือรู้ซึ้งเลยว่า
เวลามีคุณค่ากับชีวิตเรามากแค่ไหน
จนเมื่อมะเร็งเข้ามาทักทาย
ความตายใกล้เข้ามา…”

นุช-ญาณีนุช ศักดิ์ศรีสุวรรณ อดีตโปรเจกต์ เมเนเจอร์สาวผู้มีพลังล้นเหลือ แต่กลับพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมชนิดรุนแรงในวัยที่เต็มไปด้วยความฝัน และมีคำถามมากมายที่ชีวิตยังไม่มีโอกาสได้หาคำตอบ

“ทุกครั้งที่อาบน้ำเราจะรู้สึกได้ถึงความผิดปกติ เพราะหน้าอกสองข้างไม่เหมือนกัน ข้างหนึ่งนิ่ม ข้างหนึ่งแข็ง แต่ด้วยงานที่ทำอยู่ทำให้เราไม่สามารถหยุดพักได้ง่ายๆ จะทิ้งงานไปกลางคันก็ไม่ได้ เพราะลึกๆ เราเชื่อว่าถ้าตรวจแล้วก็คงเจอและต้องรักษาตัวยาว ทำให้ต้องรอเคลียร์งานจนจบกว่าหนึ่งเดือนแล้วจึงไปตรวจร่างกาย

“ครั้งแรกไปตรวจเบื้องต้นที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ตอนนั้นหมอบอกแค่ว่า ‘มันอาจจะไม่ได้เป็นอะไร อาจจะเป็นแค่เต้านมอักเสบก็ได้’ แต่ลึกๆ เราก็ยังคิดว่า มันไม่น่าจะใช่! จึงหาโรงพยาบาลที่สองเพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง จำได้เลยว่าหมอคนที่สองก็ยังคิดว่า ไม่ใช่มะเร็ง เพราะก้อนที่ตรวจพบนั้นหัวกลมมน ขอบไม่ได้ขรุขระ แต่ด้วยก้อนที่มีขนาดใหญ่ หมอจึงแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจให้แน่ใจดีกว่า สุดท้ายก็พบว่ามันเป็นมะเร็งจริงๆ สำคัญกว่านั้นคือเคสของเราถือเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอายุน้อยชนิดรุนแรง จำเป็นต้องผ่าตัดอย่างเร่งด่วน แต่คิวผ่าตัดเต้านมที่กรุงเทพฯ ณ ขณะนั้นจำเป็นต้องรอคิวนานกว่าหนึ่งเดือนเต็ม”

บทที่ 1 เผชิญหน้า

หลังรู้แน่ว่าเป็นมะเร็งเต้านม เธอให้เวลาตัวเองที่จะจมอยู่กับความกลัว ความทุกข์เศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นเพียง 3 วัน ก่อนจะตัดสินใจเดินหน้าหาทางรักษาตัวอย่างสุดกำลังที่มี

“โดยส่วนตัวเราเป็นคนที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เรามักจะคิดว่ามันเป็นเคสที่เลวร้ายที่สุดไว้ก่อน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากงานที่เราทำ มันบ่มเพาะให้เราเป็นคนอย่างนั้น แต่ข้อดีก็คือมันทำให้เราเป็นคนที่วางแผนหรือเตรียมการรับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี 

“หลังจากรู้ชัดว่าเป็นมะเร็ง สิ่งแรกที่ทำคือการจมอยู่กับตัวเองและร้องไห้อย่างเต็มที่หนึ่งวันเต็มๆ จากตอนแรกคิดว่าน่าจะใช้เวลาสัก 3 วัน ที่จะสะสางหมด แต่พอเอาเข้าจริงวันเดียวก็จบ จากนั้นก็จัดการบอกเลิกกับแฟนที่เพิ่งคบกันมาปีกว่า เพราะตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เราไม่อยากให้เขามาเสียเวลากับเรา ก่อนจะโทรปรึกษาพี่ชายซึ่งเป็นผู้อำนวยการอยู่ที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เขาก็แนะนำให้ลอง ‘ขอความคิดเห็นที่สองทางการแพทย์’ (second opinion in medicine) ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ เพราะเพื่อนของเขาเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งเต้านมอยู่ที่นั่น ซึ่งโชคดีมากที่ ‘คุณหมอปิง’ (ผศ. นพ.ศุภวัฒน์ เลาหวิริยะกมล) เพื่อนของพี่ชายเห็นไปในทางเดียวกับแพทย์ที่ดูแลเราที่กรุงเทพฯ และโชคดีกว่านั้นคือคุณหมอทั้งสองเป็นลูกศิษย์และอาจารย์กัน ทำให้ง่ายต่อการส่งต่อเคสมาที่หาดใหญ่” 

บทที่ 2 สู้กับความกลัว

หลังจากจบการสนทนากับคุณหมอในวันนั้น เธอก็ขึ้นเครื่องกลับมาที่กรุงเทพฯ เพื่อเก็บกระเป๋าและบินกลับไปหาดใหญ่ในวันรุ่งขึ้น เพื่อเตรียมตัวผ่าตัดแบบเร่งด่วนที่สุด

“แม้จะมีการเตรียมใจไว้บ้างแล้ว แต่ลึกๆ เราก็ยังรู้สึกกลัว แต่ความกลัวที่ว่านี้ มันไม่ใช่ความกลัวตาย เพราะเราเป็นพวกไม่เคยกลัวตายอยู่แล้ว แต่เป็นความกลัวว่าแม่จะเสียใจ เพราะจะมีแม่สักกี่คนบนโลกใบนี้ที่จะคิดฝันว่าลูกจะตายก่อนตัวเอง มันเป็นเรื่องยากนะ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราตัดสินใจไม่บอกแม่ แต่บอกพี่สาวแท้ๆ ทั้งสองคนไว้ โดยตั้งใจว่าจะไม่บอกแม่เด็ดขาด จนกว่าเราจะรู้แน่ชัดว่าเราจะหายหรือไม่หายจากมะเร็งกันแน่ หรืออย่างน้อยก็อยากรู้ก่อนว่าจะรักษาตัวต่อไปอย่างไร เพราะไม่อยากให้แม่วิตกกังวลหรือกลัวไปต่างๆ นานา

“ความกลัวของคนเราทุกวันนี้ มันมาจาก ‘ความไม่รู้’ ซะส่วนใหญ่ เปรียบเหมือนเราอยู่ในห้องที่มืดสนิท แน่นอนว่ายิ่งมืดหรือยิ่งไม่รู้มากเท่าไหร่ ความกลัวของเราก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ขณะที่ ‘ความรู้’ เปรียบเหมือนแสงสว่าง รู้น้อยๆ อาจจะเป็นเหมือนแสงเทียน รู้มากขึ้นหน่อยอาจจะเป็นเหมือนมีไฟฉาย นั่นทำให้เราพยายามเสาะหาข้อมูล ความรู้ให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะบอกแม่ เพื่อจะเป็นแสงสว่างให้แม่หลงเหลือความกลัวน้อยที่สุดและทุกข์น้อยที่สุด

“แต่อย่างว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับความเป็นความตาย พี่สาวคนโตทนไม่ไหวจึงบอกแม่ในคืนนั้น จำได้เลยว่า ระหว่างที่รีบเร่งเก็บเสื้อผ้าอยู่ที่คอนโดที่กรุงเทพฯ จู่ๆ แม่ก็โทรมาหาและประโยคแรกที่แม่พูดขึ้นก็คือ ‘นุช…ทำไมไม่บอกแม่’ จากนั้นก็ไม่ได้ยินอะไรอีกเลยนอกจากเสียงร้องไห้ของแม่ นั่นคือช็อตสะเทือนอารมณ์ของเราที่แม้จะผ่านมากว่า 3 ปีแล้ว แต่เสียงนั้นมันก็ยังคงก้องอยู่ในหัวของเรา

“คืนนั้นบทสนทนาของเราแม่ลูกจบลงที่ ‘แม่จะไปรอรับนุชที่สนามบินนะ’ จากนั้นแม่ก็แพ็กกระเป๋าและจองตั๋วเครื่องบินจากบ้านที่ภูเก็ตมาเจอเราที่หาดใหญ่ในวันรุ่งขึ้นและอยู่ดูแลเราตลอดการผ่าตัด”   

 

คุณแม่และคนรัก สองกำลังใจสำคัญตลอดเส้นทางการต่อสู้มะเร็งของเธอ

บทที่ 3 ออกไปใช้ชีวิต

เธอตัดสินใจผ่าตัดเต้านมทิ้งทั้งสองข้างเพื่อลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้งตามคำแนะนำของคุณหมอและพักฟื้นร่างกายกว่าหนึ่งเดือนเต็ม และเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างเต็มรูปแบบเธอจึงส่งจดหมายลาออกจากงานประจำ เพราะไม่อยากให้การรักษาไปกระทบกับงานและเพื่อนร่วมงานของเธอ

“โดยปกติแล้วคนที่เป็นมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่มักจะเป็นประเภท HER2-negative disease แต่ในเคสของนุชนั้นเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 2A ชนิด HER2-positive disease หลังการผ่าตัดจำเป็นต้องเข้ารับ แท็กซอล (Taxol) ควบคู่กับการรับ ยาเฮอร์เซปติน (Herceptin) ซึ่งเป็นการรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) ราวหนึ่งปีเต็ม เพื่อไม่ให้มะเร็งกลับมาอีก

ระหว่างกระบวนการรักษากำลังดำเนินไป เธอได้ตระหนักถึงความไม่แน่นอนในชีวิตที่ถาโถมเข้ามา นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอไม่รอช้าที่จะทำสิ่งต่างๆ ที่เคยอยากทำ หนึ่งในนั้นก็คือการเดินเท้าขึ้นภูเขาไฟสองลูกที่อินโดนีเซีย

“ทริปนี้เกิดจากคำชักชวนของเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งที่สนิทกันมาก เขาทำงานอยู่ที่อินโดนีเซีย พอเขารู้ว่าเราเป็นมะเร็ง เขาก็อยากเจอเรา เราก็ไม่รอช้าที่จะตอบรับคำชักชวนนั้นทันที นับเป็นทริปที่ท้าทายร่างกายตัวเอง ด้วยความอยากรู้ศักยภาพทางร่างกายของเราหลังเป็นมะเร็ง เราจึงขอให้รุ่นพี่พาไปเดินเท้าขึ้นภูเขาไฟโบรโม (Bromo) ที่อุทยานแห่งชาติโบรโมเทงเกอร์เซเมรู (Bromo Tengger Semeru National Park) และภูเขาไฟคาวาอีเจี้ยน (KawahIjen) บอกได้คำเดียวว่าเหนื่อยสุดชีวิต แต่ก็สนุกมาก และที่สำคัญมันเป็นทริปที่ทำให้เราได้คำตอบว่า ถ้าใจเราสู้ซะอย่าง อุปสรรคใดๆ ก็ทำอะไรเราไม่ได้ หลังจบทริปนั้นหลายสิ่งในตัวเราเปลี่ยนไป เราเริ่มโฟกัสกับสิ่งที่เราจะทำได้จนสุดทาง เราทำทุกอย่างอย่างเต็มที่โดยมองอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่ต้องเจอ เช่นเดียวกับมะเร็งในชีวิตเรา

“นุชเชื่อเสมอว่า โรคทุกโรคบนโลกใบนี้ มันมีทางรักษาให้หายได้ ไม่ช้าก็เร็ว ต่อให้วันนี้อาจจะยังหาวิธีหรือยารักษาไม่ได้ แต่ทุกอย่างมันต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น โรคที่เรากำลังกลัวๆ กันอยู่ทุกวันนี้ มันไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวที่อยู่ในใจของเราหรอก บางคนรักษาโรคหายแล้วด้วยซ้ำ แต่รักษาความกลัวในใจไม่หาย กลัวที่จะใช้ชีวิตต่อ นั่งจมอยู่กับความทุกข์ ความเจ็บป่วย มันจะมีประโยชน์อะไรที่เรายังมีชีวิตอยู่

“มะเร็งก็เป็นแค่โรคโรคหนึ่ง อย่าปล่อยให้มันมาทำให้ชีวิตของเราขาดหายไป หรือทำให้เราหวาดหวั่นที่จะใช้ชีวิตต่อ ทำทุกอย่างให้เต็มที่ ไม่ใช่แค่การรักษา แต่ทุกๆ อย่างในชีวิต ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ปล่อยมันไป เพราะเราทำอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว แม้จะตายก็เถอะ เราก็จะไม่เสียดายและไม่เสียใจอย่างแน่นอน”

บทที่ 4 ซึมเศร้าอย่างเข้าใจ

แม้จะตั้งใจแล้วว่าจะไม่ให้มะเร็งมาทำร้าย ทำลายชีวิตที่เหลืออยู่ แต่เธอก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งผลข้างเคียงจากการรักษาก็เล่นงานเธออย่างหนักหน่วง หนึ่งในนั้นก็คือภาวะซึมเศร้าจากเคมีบำบัด

“คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าอาการแพ้คีโมจะต้องอ้วก ท้องเสีย รับประทานอาหารไม่ได้ แต่ในความจริงแล้วอาการแพ้คีโมนั้นมีมากมาย เพียงแต่ที่เราได้รับรู้มาจากสื่อหรือผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นอาการบางส่วนที่พบมากในผู้ป่วย และในการให้ยาตัวเดียวกันในแต่ละรอบ อาการข้างเคียงนั้นก็อาจจะไม่เหมือนกันเลย เช่น เข็มแรกเราอาจจะแพ้ยาแล้วอาเจียนหรือเบื่ออาหาร ขณะที่เข็มต่อไปอาจจะไม่เบื่ออาหารแต่อาจจะท้องเสีย หรือบางรายท้องผูกก็มี แต่ละคนอาจจะแพ้แตกต่างกันไป บางคนก็แพ้ไม่เหมือนใคร คือเป็นอาการที่พบไม่บ่อย ยกตัวอย่างนุชเองก็มีอาการท้องผูก ซึ่งเท่าที่ทราบมามันเป็นอาการที่พบในผู้ป่วยที่ใช้ยาตัวนี้แค่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรืออาการซึมเศร้าก็เป็นหนึ่งที่พบได้น้อย แต่เราก็ดันเป็นหนึ่งในนั้น

“เคสของเราจัดอยู่ในกลุ่มซึมเศร้าแบบดีเปรสชั่น (Depression) คือมีอารมณ์แปรปรวนเหมือนพายุดีเปรสชั่น ไม่ได้มีอาการเศร้าเสียใจตลอดเวลา แต่ถ้าอยู่คนเดียวเงียบๆ ก็จะร้องไห้ หรือถ้าอยู่กับคนรอบข้างเมื่อไหร่ก็จะฟาดงวงฟาดงา พอเรารู้ตัวก็จะกำชับทุกคนในบ้านเลยว่า สองวันหลังจากให้คีโม พยายามคุยกับเราให้น้อยที่สุด ไม่มีเรื่องจำเป็นก็คือยังไม่ต้องมาชวนคุยเลย รอให้ฤทธิ์ยาจางลงก่อนค่อยมาคุย เพราะเราไม่อยากรู้สึกแย่ ที่สำคัญไม่อยากไปทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ไปด้วย ซึ่งโชคดีที่อาการแปรปรวนนี้อยู่กับเราแค่ 3 เข็มแรกที่ให้แท็กซอล หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนไปเป็นอาการอื่นๆ ซึ่งเราก็ต้องทำความเข้าใจและหาวิธีรับมือกับมันต่อไป

“การรักษามะเร็งไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด มันขึ้นอยู่กับมุมมองและวิธีคิดของเรานี่แหละ ถ้าเรามองว่ามันยาก มันก็ยาก แต่ถ้ามองทุกอย่างอย่างง่ายๆ การรักษามะเร็งก็เป็นเรื่องง่าย สำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจและรู้จักหาวิธีรับมือกับมันเท่านั้นเอง”

ญาณีนุชกับทีมแพทย์และพยาบาลในวันสุดท้ายของคอร์สแท็กซอล

บทที่ 6 ช่างมัน…ให้เป็น

หนึ่งปีเต็มกับการรักษาเยียวยาร่างกาย เธอได้เรียนรู้อะไรต่อมิอะไรมากมายจากมะเร็ง ยิ่งไปกว่านั้นคือเธอได้ค้นพบว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการก้าวข้ามโรคมะเร็งมาได้นั้นไม่ใช่การรับมือกับอาการของโรคหรือผลข้างเคียงการรักษา แต่คือการรับมือกับคนรอบข้าง

“ยากที่สุดในช่วงที่เป็นมะเร็งคงเป็นเรื่องการรับมือกับมุมมอง วิธีคิด และคำพูดของคนรอบข้างเรานี่แหละ มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ติดนิสัย ‘การกล่าวโทษเหยื่อ’ (victim blaming) คนเหล่านี้เวลาที่รู้ว่าใครเป็นมะเร็ง สิ่งแรกที่เขาจะทักก็จะเป็น ‘นี่ไง แกชอบกินไอ้นั่น แกถึงเป็นอย่างนี้’ ฯลฯ หรืออีกพวกหนึ่งก็จะเป็นกลุ่มไร้การศึกษาหาข้อมูล จมอยู่กับความเชื่อล้วนๆ เช่น อย่าไปเชื่อหมอมาก ลองรักษาแบบนี้สิ กินยาหม้อนี้สิ ไปหาหมอคนนั้นสิ เขารักษาคนหายมาหลายคนแล้ว ฯลฯ ซึ่งเราก็เจอมาหลายรูปแบบ และวิธีเดียวที่เราใช้จัดการกับคนเหล่านี้ก็คือ ‘ช่างมัน!’ เรื่องอะไรที่ช่างได้ ให้ช่างมัน… หันไปโฟกัสเฉพาะสิ่งสำคัญและจำเป็นในชีวิตเราให้เต็มที่แค่นั้นพอ เมื่อรู้ชัดแล้วว่าเป้าหมายเราคืออะไร มีทางไหนที่จะไปถึงได้บ้าง ให้เดินหน้าเต็มที่ อย่าเสียศูนย์ อย่าหลงทางไปกับอะไรที่ไม่จำเป็น

“วิธีนี้มันไม่ได้ใช้แค่เรื่องการรักษา แต่เราเอามาใช้กับทุกเรื่องในชีวิต แม้แต่เรื่องความสัมพันธ์ เมื่อมะเร็งเข้ามา สิ่งที่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นก็คือสังคมของเราเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เราได้เรียนรู้ถึงความเป็นคนไปจนถึงวิธีคิดของคนมากขึ้น เราลำดับความสำคัญทุกอย่างในชีวิตได้ดีขึ้น เรารู้ว่าใครที่เราควรรักษาเขาไว้ และใครที่เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องมีเขาอยู่ในชีวิตอีกแล้ว”

บทที่ 7 ของขวัญหลังมรสุม

หลังจากที่เธอบอกเลิกแฟนไม่เป็นผลสำเร็จ และยังถูกเขาปฏิเสธที่จะเลิกราอีกหลายต่อหลายครั้ง ทำให้เธอเห็นถึงความตั้งใจที่เขาจะต่อสู้และเดินเคียงข้างกันไปกับเธอ และนั่นเป็นเหตุผลให้เธอตัดสินใจเลือกผู้ชายคนนี้เป็นคู่ชีวิต

“ทันทีที่การรักษาสิ้นสุดลง นุชก็นั่งคุยกับแฟนและวันรุ่งขึ้นเราก็จูงมือกันไปจดทะเบียนสมรส โดยไม่มีพิธีการใดๆ เลย เพราะเรารู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมามันยุ่งยากมากพอแล้ว เราไม่อยากทำอะไรให้มันยุ่งยากอีก แต่เรื่องมันก็ไม่ได้จบแค่นั้น

“ด้วยความฝันในชีวิตของนุชก็คือ อยากเป็นแม่ อยากมีลูก ระหว่างที่รักษาตัวเราจึงปรึกษาหมอตลอดว่า เราจะสามารถมีลูกได้ไหม หมอก็บอกว่า ได้ แต่ควรจบการรักษาเฮอร์เซปตินสัก 3 เดือนก่อนแล้วค่อยปล่อยให้มี แต่ด้วยความที่ทางครอบครัวของนุชมีประวัติการมีบุตรยากอยู่แล้ว ทางแม่จึงบอกให้ปล่อยเลยแล้วกัน เพราะคิดว่าคงไม่ท้องง่ายๆ หรอก แต่ปรากฏว่าพอปล่อยแล้วท้องเลย (หัวเราะ)

“สี่สัปดาห์หลังจากจบเฮอร์เซปตินเข็มสุดท้าย หมอก็นัดไปติดตามผลตามปกติ ปรากฏว่าตรวจพบว่าเราตั้งครรภ์มาแล้ว 2 สัปดาห์ ตอนนั้นมันเป็นความดีใจปนความกลัวลึกๆ เพราะผลของยาเฮอร์เซปตินอาจจะทำให้อวัยวะของทารกในครรภ์ไม่ฟอร์มตัว และพัฒนาการของทารกผิดปกติ หมอจึงนัดตรวจครรภ์ถี่มากในช่วง 2 เดือนแรก และกว่าจะแน่ใจว่าทารกปกติดีก็คือเดือนที่ 5 ไปแล้ว ซึ่งก็เป็น 5 เดือนที่ลุ้นระทึกมาก”

ปัจจุบัน ญาณีนุชมีความสุขอยู่กับงานในฝัน นั่นก็คือการทำหน้าที่แม่แบบฟูลไทม์ เลี้ยงดูลูกสาวตัวน้อยวัยขวบเศษไปพร้อมๆ กับดูแลผู้ชายที่เธอรักและรักเธอ โดยหวังลึกๆ ว่าสักวันหนึ่งเธอจะจัดพิธีแต่งงานเล็กๆ บนสะพานที่ไหนสักแห่ง โดยมีลูกๆ ที่น่ารักของเธอเป็นสักขีพยานความรักระหว่างเธอกับผู้ชายคนนี้…ผู้ชายที่ต่อสู้และอยู่เคียงข้างเธอเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

“เชื่อไหมว่ามะเร็งมันไม่ได้ทำร้ายแค่ร่างกายเท่านั้น
แต่มันยังทำลายไปถึงจิตใจของเราให้อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ
ฉะนั้น สิ่งสำคัญและจำเป็นมากกว่ายาคีโมตัวใดๆ ในโลกใบนี้
ก็คือกำลังใจดีๆ จากคนที่เรารักและรักเรานี่แหละที่ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนต้องการ
นี่คือสิ่งที่นุชอยากจะฝากบอกไปถึงทุกคนที่มีผู้ป่วยมะเร็งอยู่ข้างตัว”

#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC

แชร์ไปยัง
Scroll to Top