ธีวรา วีรยวรรธน : สุข (ให้) ได้…แม้กายป่วย

“อย่าปล่อยให้มะเร็ง…
มาทำให้ความสุขของเราตัวเล็กลง”

อ้อ-ธีวรา วีรยวรรธน ศิลปินนักสร้างสรรค์ขนมหวานให้กลายเป็นงานศิลป์วัย 45 ปี เจ้าของ ‘Teewara_sweethome’ ร้านขนมออนไลน์ที่เน้นขายความสุขรสหวานละมุนแลกกำไรผ่านรอยยิ้มของลูกค้าแห่งเมืองเชียงใหม่ อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด HER2 Positive ระยะ 3
หลังเข้าพิธีแต่งงานในปี 2559 เธอตัดสินใจย้ายสำมะโนครัวจากเมืองชลบ้านเกิด ตามสามีมาใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านฟูลไทม์ที่เชียงใหม่ กระทั่งให้กำเนิดลูกชายตัวน้อยในปีถัดมา และปีนั้นเองที่เธอได้รู้ข่าวว่า พี่ชายแท้ๆ ตรวจพบว่าตัวเองกำลังเป็นมะเร็งลำไส้ระยะที่ 2-3 

พรุ่งนี้…มีจริงไหม?

“ระหว่างที่พี่ชายรักษาตัวอยู่นั้น นอกจากการส่งกำลังใจผ่านทางโทรศัพท์และการกลับไปเยี่ยมเป็นครั้งคราวแล้ว เราก็พยายามที่จะหาข้อมูลเรื่องอาหารและส่งไปให้ทุกคนทางบ้าน เพราะอยากให้พี่ชายหายป่วยจากโรคมะเร็ง ซึ่งหลังจบการรักษาโรคมะเร็งก็สงบลงจริงๆ แต่ก็เพียง 3 ปี ในปี 2563 โรคมะเร็งลำไส้ก็กลับมาอีกครั้งและครั้งนี้มะเร็งก็พรากพี่ชายจากไป 

“ความเศร้ายังไม่ทันจางหาย 5 เดือนถัดจากนั้น คุณพ่อก็เกิดอุบัติเหตุล้มและต้องเข้ารับการผ่าตัดในคืนนั้นเลย ทันทีที่รู้ข่าวเราก็นั่งเครื่องกลับมาที่ชลบุรี แต่สุดท้ายก็ทำได้เพียงพาพ่อกลับมาที่บ้านและบอกลาพ่อเป็นครั้งสุดท้าย 

“ในวันรุ่งขึ้นแม้คุณพ่อจะจากพวกเราไปพร้อมใบหน้าที่อมยิ้ม แต่ก็ยอมรับว่ามันกระทบจิตใจของทุกคนในบ้านอย่างที่สุด เพราะเราสูญเสียคนที่เรารักไปถึง 2 คน ภายในเวลา 5 เดือน ที่สำคัญมันไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ มาก่อนเลย ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนแข็งแรง แม้จะมีโรคประจำตัวอยู่บ้าง แต่ท่านก็ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน และท่านมีวินัยในการออกกำลังกายมาก นั่นเองที่ทำให้คำถามทำนองว่า ‘พรุ่งนี้…มีจริงหรือเปล่า’ เกิดขึ้นมาในความคิดของเราเป็นครั้งแรก” 

ความเจ็บมาเยือน

“หลังจากวันนั้นเราพยายามจะกลับมาใช้ชีวิตให้ปกติเร็วที่สุด กระทั่งวันหนึ่งในปี 2564 วันนั้นเป็นวันว่างๆ และสามีอาสาจะดูแลลูกชายให้ ทำให้เราไม่ต้องพ่วงลูกมาอาบน้ำด้วย และพอมีเวลาจะอาบน้ำอย่างไม่ต้องรีบเร่งนัก และนั่นเองที่ทำให้เราคลำเจอก้อนที่หน้าอกด้านขวา ยอมรับว่าใจหายวาบ…

“ด้วยความที่ก้อนที่คลำเจอนั้นขนาดใหญ่กว่าลูกปิงปอง แม้ก่อนหน้านี้จะเคยคลำเจอมาแล้ว แต่ก็คิดว่าเป็นแค่อาการของเต้านมคัด ซึ่งปกติคุณแม่ที่ให้นมลูกทุกคนคงเคยเจอ แต่ครั้งนี้เรารู้สึกเลยว่าไม่น่าใช่แล้ว เพราะด้วยขนาดและอาการที่ไม่มีความรู้สึกเจ็บใดๆ เลย ที่สำคัญหากย้อนกลับไปคิดก็พบว่า ตั้งแต่หลังคลอดมาจนลูกชายอายุได้ 4 ขวบ ลูกชายมักจะกินนมที่เต้าด้านซ้ายมากกว่าและแทบจะไม่เอาเต้าด้านขวาเลยก็ว่าได้ นั่นทำให้เราตัดสินใจไปตรวจในวันรุ่งขึ้น

“พอคุณหมอคลำเต้าแล้วก็แนะนำให้แมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เลย พอคุณหมออัลตราซาวนด์เห็นฟิล์มเท่านั้นก็พูดขึ้นมาว่า ‘หน้าตามันไม่ดีเลยนะ…คนไข้’ ตอนนั้นยอมรับเลยว่าเริ่มกังวลจึงถามคุณหมอไปว่า ‘คุณหมอคิดว่าเป็นไหมคะ’ คุณหมอก็ไม่อ้อมค้อม ตอบมาตรงๆ ว่า ‘หมอคิดว่าเป็น…’ พอสิ้นเสียงคุณหมอ เราก็เริ่มน้ำตาคลอ ระหว่างที่คุณหมอแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อความแน่ชัดอีกครั้ง เราก็ยังถามคุณหมอด้วยคำถามเดิม และคุณหมอก็ตอบมาทำนองเดิมว่า ‘หมอคิดว่าน่าจะใช่ เดี๋ยวหมอจะทำเรื่องเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจวันนี้ให้เลย แล้วอีก 10 วัน มาฟังผลอีกที’

“หลังออกจากห้องคุณหมอ เราก็มานั่งร้องไห้กับสามีอยู่พักหนึ่ง ด้วยความเป็นห่วงลูกชายที่เพิ่งผ่านวัย 5 ขวบ มาได้ไม่นาน แต่ก็พยายามจะตั้งสติและรีบโทรแจ้งข่าวกับแม่และพี่สาวที่กำลังรอฟังคำตอบอยู่ จำได้ว่าพอพี่สาวได้ยินก็ถึงกับร้องไห้ทันที ด้วยความที่พวกเราเพิ่งผ่านการสูญเสียมาได้แค่ปีเดียว ทำให้ยังไม่พร้อมหากใครจะต้องจากไปอีก วันนั้นเราจึงบอกกับสามีไปว่า ‘อ้อจะไม่ให้แม่ต้องสูญเสียลูกสาวไปด้วยโรคมะเร็ง และอ้อจำเป็นต้องกลับบ้านเพื่อให้กำลังใจคุณแม่และพี่สาว…’ 

“ระหว่างที่รอฟังผล 10 วัน อ้อตัดสินใจวางทุกอย่างไว้ที่เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความกังวล ความกลัวต่างๆ นานา แม้ลึกๆ ในใจเราจะรู้แล้วละว่าตัวเองเป็นมะเร็งแน่ๆ แต่ก็พยายามจะไม่คิดอะไร จากนั้นก็เดินทางกลับบ้านที่ชลบุรี ตั้งใจไว้ว่าจะกลับไปฮีลใจแม่และพี่สาวให้ได้มากที่สุด ทำให้กิจกรรมส่วนใหญ่ที่กลับไปที่นั่นก็คือการพาคุณแม่และพี่สาวเที่ยว ทำบุญ ไปไหว้พระ ฯลฯ ทำเหมือนว่ามันไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น

รักษากาย เยียวยาใจ

“กระทั่งวันที่ 1 มีนาคม 2564 วันนัดฟังผลชิ้นเนื้อก็มาถึง วันนั้นคุณหมอแจ้งผลด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า ‘สรุปว่าคนไข้เป็นมะเร็งเต้านมนะ’ วันนั้นเราก็คุยกับคุณหมอเรื่องแผนการรักษาทันที คุยไปก็น้ำตาคลอไป และด้วยความที่เคสเราไม่ได้มีแค่ก้อนเดียว แต่เป็นสองก้อนที่อยู่ติดกัน โดยก้อนแรกนั้นมีขนาด 1.9 เซนติเมตร และอีกก้อนมีขนาด 1.5 เซนติเมตร รวมๆ แล้วก็เกือบ 4 เซนติเมตร ทำให้มีความเสี่ยงในการผ่าตัด คุณหมอจึงเสนอทางออกด้วยแผนการรักษาแบบแซนด์วิช คือ ให้คีโมก่อน 4 เข็ม เพื่อหวังผลให้ก้อนมะเร็งทั้งสองฝ่อลง จากนั้นจึงผ่าตัดก้อนออก แล้วค่อยกลับมาให้คีโมต่ออีก 4 เข็ม  

“ทันทีที่สรุปแผนการรักษากันเสร็จ คุณหมอก็ถามขึ้นว่า ‘เริ่มการรักษากันเลยไหม’ เราก็ตอบไปอย่างมั่นใจว่า ‘เริ่มได้เลยค่ะ’ จากนั้นเราก็ถามคุณหมอต่อว่า ‘เมื่อไหร่คะ’ ทางคุณหมอก็ตอบกลับมาทันทีว่า ‘วันที่ 3 มีนาคม’ หรืออีก 2 วันถัดมานั่นเอง เรียกว่าไวทันใจมาก… (หัวเราะ) 

“วันนั้นกลับมาถึงบ้านก็ร้องไห้หนักมาก บอกกับสามีว่า ‘วันนี้จะขอร้องไห้เป็นครั้งสุดท้ายนะ’ จากนั้นก็เริ่มสั่งเสียกับสามีไว้ว่า ‘ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่ายื้อ ให้ปล่อยเราไป และดูแลลูกให้ดีที่สุด’ เพราะจากเคสของพี่ชายที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้แล้วว่า ไม่ว่าจะยื้อหรือปล่อย สุดท้ายเราก็ต้องไปอยู่ดี จำได้ว่าสามีพูดเตือนสติมาประโยคหนึ่งว่า

‘มะเร็งไม่ได้ฆ่าเราในทันที
ฉะนั้น เราอย่าฆ่าตัวเองก่อน
ด้วยความคิดที่ไม่ดี’

“ก่อนจะบอกกับเราว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตัวเขาพร้อมอยู่เคียงข้างอ้อเสมอ ได้ยินอย่างนั้น เราก็เริ่มมีกำลังใจและคิดได้ว่า หน้าที่การรักษาร่างกาย เราจะยกให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอ ส่วนหน้าที่ของเราเองก็คือการดูแลใจตัวเองให้ดีที่สุด”

สัจธรรมจาก ‘คีโม’ 

“คีโมจะไม่น่ากลัวเลย ถ้าเราเข้าใจถึงธรรมชาติของมัน และด้วยความที่อ้อก็พอจะรู้ข้อมูลมาบ้างว่า ผลข้างเคียงของคีโมนั้นมีอะไรบ้าง เราก็เริ่มคุยกับสามีและคนรอบข้างว่า หลังจากเราไปให้คีโมมานั้น มันอาจจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นร่างกายที่อ่อนแอลง การกินที่อาจจะกินได้น้อยลง และอารมณ์ที่อาจจะสวิงขึ้นๆ ลงๆ กลายเป็นคนที่ขี้หงุดหงิด เหวี่ยง วีนมากขึ้น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนต้องเจอ และไม่ต้องตกใจ แต่ให้เราทำความเข้าใจว่า เราต้องเจออะไรบ้างและเตรียมรับมือ 

“ที่สำคัญการต่อสู้กับมะเร็งครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ ‘ผู้ป่วย’ เท่านั้นที่เผชิญ แต่คนรอบข้างหรือคนที่ดูแลเราก็ต้องรับมือกับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไป รองรับอารมณ์ที่ไม่เหมือนเดิมของเรา ฉะนั้น อย่าคิดว่า ‘ฉันน่ะป่วย แต่เธอเป็นแค่คนดูแล’ หรือมัวแต่คาดหวังให้คนอื่นมาคอยซัปพอร์ตเราตลอดเวลา แต่เราควรจะคุยกับคนรอบข้างให้เข้าใจ เพื่อให้เขาเตรียมความพร้อมก่อน และจำไว้เสมอว่า หน้าที่ที่สำคัญของผู้ป่วยก็คือการมีความสุข ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนที่เรารักและรักเรา

“นั่นเองที่ทำให้หลังจากให้คีโมมา เราพยายามทำทุกๆ วันให้สดชื่น สดใส มีความสุข พยายามกินให้ได้มากที่สุด กินทุกอย่าง ผักที่ไม่เคยกินก็หันมากิน กลืนอาหารธรรมดาไม่ไหวก็หันไปกินอาหารปั่นหรือชงนมทางการแพทย์ดื่ม ทำให้ตัวเองฟื้นตัว แข็งแรง สดชื่น สดใสให้เร็วที่สุด เหตุผลแรกก็เพื่อคลายความกังวลและความเป็นห่วงของคุณแม่และพี่สาว ซึ่งจะโทรศัพท์มาคุยกับเราทุกวัน เหตุผลที่สองก็คือเราอยากเป็นภาพจำที่ดีให้ลูกชาย เราไม่อยากให้เขาเห็นว่า แม่เป็นผู้ป่วยที่นอนติดเตียงหรือผู้ป่วยที่อ่อนแอ เราจึงทำทุกทางจริงๆ เพื่อให้ตัวเองแข็งแรง และจะคุยกับลูกตลอด คุยให้เขาเข้าใจความเป็นจริงว่า แม่เป็นมะเร็ง แม่อยู่ระหว่างการรักษา และเดี๋ยวแม่จะไม่มีผมนะ ฯลฯ

ตำราชีวิตของลูกชาย 

“บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยว่า ไปบอกลูกทำไม ไม่กลัวลูกทุกข์ ไม่กลัวลูกเสียใจเหรอ ฯลฯ แต่อ้อกลับรู้สึกว่าชีวิตที่เหลืออยู่ อ้ออยากสอนให้เขาเห็นสัจธรรมของชีวิต เพราะเราคงจะไปห้ามลูกไม่ให้เสียใจไม่ได้หรอกในวันที่ไม่มีเรา ฉะนั้น เราเตรียมความพร้อมด้วยการสอนให้เขาเห็นสัจธรรมและมีทักษะในการใช้ชีวิตไม่ดีกว่าเหรอ ในเมื่อวันหนึ่งเราทุกคนก็ต้องจากไปอยู่แล้ว 

“จำได้เลยว่า ก่อนจะไปให้คีโมเข็มแรกเราก็คุยกับลูกว่า ‘เดี๋ยวแม่จะไม่มีผมแล้วนะ’ เขาก็ยังพูดเล่นๆ กลับมาว่า ‘ไม่เป็นไร เดี๋ยวปันจะโกนผมเป็นเพื่อนแม่เอง’ หลังจากให้คีโมเข็มแรกไปเพียง 10 วัน ผมก็เริ่มร่วงเป็นกระจุก จึงตัดสินใจว่าโกนทิ้งดีกว่า วันนั้นสามีเป็นคนตัดผมให้ ส่วนลูกชายก็นั่งเล่นอยู่ใกล้ๆ กันนี่แหละ

“ก่อนที่สามีจะตัดผมให้เรานั้น เขาก็ไปโกนผมตัวเองออกก่อน และหันมาบอกเราพร้อมรอยยิ้มว่า ‘อ้อมีเพื่อนแล้วนะ’ ตอนนั้นเราก็เริ่มน้ำตารื้นด้วยความตื้นตันแล้ว และระหว่างที่สามีค่อยหยิบผมขึ้นมาตัดออกทีละนิด ลูกชายที่กำลังเล่นอยู่ก็เงยหน้าขึ้นมามอง จังหวะนั้นเขาพูดโพล่งขึ้นมาว่า ‘พ่อตัดผมแม่ทำไม!?! เอากาวมาติดผมให้แม่เลยนะ’ จากนั้นก็ร้องไห้หนักอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

“ตอนนั้นเราก็หยุดตัดผมทันทีและค่อยๆ คุยกับลูกให้เข้าใจว่า นี่เป็นผลข้างเคียงจากการรักษาโรคที่แม่เป็นอยู่ เขาก็ฟังและเริ่มสงบลง จากนั้นก็พูดด้วยเสียงอ่อยๆ ว่า ‘น้องปันแค่ตกใจ เพราะตั้งแต่เกิดมา ปันก็เห็นแม่มีผมยาวสวยมาตลอด…’ เราก็ถามเขากลับไปว่า ‘แล้วปันยอมรับมันได้ไหมลูก มันคือการเปลี่ยนแปลง ชีวิตทุกชีวิตต้องมีการเปลี่ยนแปลง’ เขาก็พยักหน้าแล้วบอกว่า ‘ครับ อีกหน่อยปันจะชินกับแม่ที่ไม่มีผม..’ เราก็บอกลูกว่า ‘ใช่ ครั้งแรกเป็นการเปลี่ยนแปลง แต่อยู่ๆ ไปมันจะเป็นความเคยชินนะลูก’

“พอลูกเริ่มเข้าใจ เราก็กลับไปโกนผมต่อจนเสร็จ ครั้งนั้นเรารู้สึกได้เลยว่า การเป็นมะเร็งของเรา มันไม่ได้กระทบเฉพาะตัวเรา แต่คนรอบข้างก็ถูกกระทบและได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเราทุกคน เวลาผ่านไปไม่นานเท่าไร วันหนึ่งลูกชายก็ไม่รู้คิดอะไรอยู่ ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาจะถ่ายรูปเราไว้ ตอนนั้นเราก็บอกเขาไปว่า ‘ไม่เอาๆ แม่ไม่มีผม แม่ไม่สวย’ เขาหันมายิ้มแล้วพูดว่า ‘แค่แม่ยิ้ม แม่ก็สวยแล้ว..’ พอได้ฟังเท่านั้น เรารู้เลยว่าตัวเองกำลังเป็นตำราชีวิตเล่มใหญ่ให้ลูกชายได้เรียนรู้” 

ยิ้มได้…แม้กายป่วย 

“หลังคีโม 4 เข็มแรกผ่านไป ปรากฏว่าก้อนมะเร็ง 2 ก้อน กลับขยายขนาดขึ้นรวมแล้วกว่า 9 เซนติเมตร นั่นแสดงว่าก้อนมะเร็งนั้นไม่ตอบสนองกับคีโมที่ให้มา 4 เข็ม ทำให้ต้องผ่าตัดเต้านมด้านขวาออกทั้งหมด พร้อมเลาะต่อมน้ำเหลืองไปตรวจ 9 ต่อม โดยก่อนผ่าตัดนั้นคุณหมอแนะนำให้ส่งก้อนมะเร็งไปตรวจเพื่อจะได้รู้ว่าเป็นมะเร็งชนิดไหนกันแน่ และผลจากแล็บก็พบว่า เราเป็นมะเร็งชนิด HER2 Positive และด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นนั้นจึงถูกจัดให้อยู่ในระยะที่ 3 ลุกลามไปยังต่อมเหลือง 4 ต่อม นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณหมอต้องเปลี่ยนสูตรยาคีโมเข็มที่ 5-8 สำหรับ HER2 โดยตรง พร้อมรับยามุ่งเป้าอีก 18 เข็ม และฉายแสงต่ออีก 25 ครั้ง

“หลายคนถามว่า หลังผ่าตัดเต้าแล้วรู้สึกอย่างไร บอกได้เลยว่า ปกติดี (ยิ้ม) เราแค่อย่าไปโฟกัสสิ่งที่ขาดเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างผมที่เคยยาวสวย เมื่อวันหนึ่งเราไม่มี เราก็แค่ไปหาผ้าคลุมผมสีจี๊ดจ๊าดมาสวมแทน ชีวิตเราก็ยังมีความสุขได้ แค่เราอย่าไปทุกข์กับสิ่งที่ขาด แต่ให้มองหาความสุขจากสิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบันดีกว่า

“เชื่อว่าผู้ป่วยหลายคนเวลาที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง มักจะไปโฟกัสว่าตัวเองจะเหลือเวลาอยู่กับคนที่รักได้นานเท่าไร จะตายเมื่อไร ฯลฯ แต่อ้ออยากจะบอกว่า

‘ในความโชคร้าย
มักมีความโชคดีซ่อนอยู่เสมอ’

“คิดดูสิว่า หากเราเป็นโรคนี้ ระยะเดียวกันนี้ เมื่อสิบปีที่แล้ว เราอาจจะตายไปแล้วก็ได้ แต่โชคดีแค่ไหนที่เรามาเป็นมะเร็งในวันนี้…วันที่วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปไกลมาก มะเร็งเป็นโรคที่รักษาได้แล้ว และอีกไม่นานมะเร็งก็คงจะไม่ต่างกับโรคความดัน เบาหวาน ฯลฯ ฉะนั้น อยู่กับปัจจุบันขณะ โฟกัสสิ่งที่มี เลิกทุกข์กับสิ่งที่ขาด ชีวิตเราก็จะมีความสุขได้–ไม่ยาก

แค่มะเร็งเอง…

“ทุกวันนี้อ้อรู้สึกว่าตัวเองเกิดมาโชคดีมากที่ได้อยู่ท่ามกลางคนที่เรารักและรักเรา ไม่ว่าจะเป็นสามี ลูก หรือครอบครัวของเรา หรือครอบครัวฝั่งสามี ฯลฯ จำได้ว่าในวันที่คุณแม่กับพี่สาวรู้ว่าเราเป็นมะเร็ง เขาเคยขอสามีว่าจะพาอ้อกลับไปรักษาตัวที่ชลบุรี แต่สามีก็ไม่ยอม ถึงขั้นบอกว่า เขาอาจจะดูแลอ้อได้ดีไม่เท่าคุณแม่และพี่สาว แต่เขาก็อยากจะขอดูแลอ้อด้วยตัวเอง พร้อมทั้งสัญญาว่าจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ ซึ่งเขาก็ทำอย่างเต็มที่จริงๆ 

“กระทั่งวันผ่าตัด คุณแม่กับพี่สาวก็บินมาเยี่ยมที่เชียงใหม่ วันนั้นพอผ่าตัดเสร็จ อ้อก็พยายามลุกเดินและทำอะไรด้วยตัวเองเลย เพราะไม่อยากให้ทั้งสองเป็นห่วงหรือกังวล จำได้ว่าแม่ถึงกับเอ่ยปากว่า ‘หนูไม่เหมือนคนป่วยเลยเนอะ’ เราก็ได้แต่ยิ้มรับและตอบกลับไปว่า ‘หนูแค่เป็นมะเร็งเอง…แม่’ และนั่นเองที่ทำให้คุณแม่และพี่สาวกลับบ้านไปพร้อมรอยยิ้ม 

“นี่เองที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า หน้าที่ที่สำคัญของผู้ป่วยคือมีความสุขเถอะ! เพราะถ้าเราทุกข์เมื่อไร คนที่เขารักเราทุกข์แน่นอน แต่ถ้าเราสุข ความสุขนี่แหละจะแผ่ไปถึงคนที่เรารักและรักเรา อ้อจึงต้องเข้มแข็งและมีความสุขเพื่อคนเหล่านี้”

ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา

“ถ้าเราเข้าใจว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา มะเร็งก็เป็นแค่ ‘ความเจ็บ’ อย่างหนึ่งที่ทุกคนต้องเจอ ไม่ว่าจะเจ็บด้วยโรคภัยหรือเจ็บด้วยอุบัติเหตุใดๆ ก็ตาม สิ่งนี้คือสิ่งที่เราหนีไม่พ้น อยู่ที่ว่าเราจะเจ็บด้วยสาเหตุอะไรและจากไปอย่างไรเท่านั้น 

“หากเรามองว่ามะเร็งเป็นแค่ความเจ็บ เราก็จะเข้าใจธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และเข้าใจถึงธรรมชาติของชีวิต รวมถึงไม่เคยเกิดคำถามทำนองว่า ทำไมฉันต้องเป็นมะเร็ง…ทำไมต้องเป็นฉัน? และแทนที่จะมัวแต่โฟกัสว่า ฉันจะตายเมื่อไร เวลาของฉันเหลืออีกเท่าไร ก็กลายเป็นว่า ฉันรู้สึกโชคดีเหลือเกินที่ยังมีโอกาสได้เตรียมพร้อมที่จะจากไปและบอกลากับคนรัก 

“แม้วันนี้เราจะไม่รู้หรอกว่า เราจะกลับมาเป็นมะเร็งอีกไหม เราจะจากไปเพราะมะเร็งหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ เรารู้แล้วว่า เราจะใช้ชีวิตต่อจากนี้ไปอย่างไร เวลาที่มีค่านี้เราจะใช้ไปกับใครหรือสิ่งใด

“และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ‘ขนม’ ของร้านอ้อเป็นมากกว่าของหวานทานเล่น แต่เราพยายามถ่ายทอดความสุขลงไปในทุกชิ้นงาน เราใส่คุณภาพ รสชาติ ความประณีต ความละเอียด ละเมียดละไม เพื่อให้ขนมของเราไปสร้างความสุขให้กับคนที่ได้รับให้มากที่สุด ทำให้ทุกวันนี้กำไรมันไม่ใช่แค่ตัวเงินแล้ว แต่เรายังได้รับคำชม รอยยิ้ม กัลยาณมิตร ที่สำคัญคือเราได้ทำงานที่เรารักและเป็นงานที่สร้างสมาธิให้จดจ่อกับสิ่งตรงหน้า ไม่ฟุ้งซ่านหรือจมอยู่กับโรคที่เป็นอยู่ นี่เป็นกำไรที่อ้อคิดว่าคุ้มค่าที่สุดแล้ว…” 

.

#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#TBCCLifegoeson
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

แชร์ไปยัง
Scroll to Top