“เชื่อเถอะว่า ไม่มีอะไร…ที่รักษาไม่ได้
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘ใจ’ ของเราเอง
ถ้าใจเรายอมแพ้เมื่อไร
ทุกอย่างก็จบ!”
กิฟท์-สุธีรา ศุขสุทธิ เวิร์กกิ้งวูแมนสายบู๊ นักสู้งานหนักจากแวดวงการเงิน คุณแม่ลูกหนึ่งวัย 38 ปี ที่เกือบจะสูญเสียการมองเห็นจากเนื้องอกต่อมใต้สมอง หลังการผ่าตัดลุล่วงไปไม่ถึงปี เธอกลับพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 2 ชนิด ER/PR Positive ที่เต้านมข้างซ้าย ถึงจะท้อหนัก แต่ด้วยความรักลูก เธอจึงลุกขึ้นสู้ยิบตาจนจบการรักษา ถึงอย่างนั้นฟ้าหลังฝนก็กลับไม่สวยงามอย่างที่คิด เมื่อเนื้องอกในมดลูกและรังไข่เข้ามารังควานชีวิตเธออีกครั้ง ครั้งนี้โชคดีหน่อยที่เธอตัดสินใจเข้ารับการตรวจ Genetic Testing ตามคำแนะนำของแพทย์ และนั่นนำไปสู่การพบคำตอบต่อคำถามที่วนอยู่ในหัวซ้ำๆ ว่า ทำไมต้องเป็นเธอ!
“ผลตรวจพบว่าเรามียีน BRCA2 หรือพูดให้ง่ายขึ้นก็คือกรรมพันธุ์ก่อมะเร็ง ที่สำคัญทางแพทย์สันนิษฐานว่าเราอาจจะเป็นคนแรกของครอบครัว เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของยีนนี้เลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อย้อนหลังกลับไปในอดีตที่ผ่านมา ไม่มีใครในครอบครัวหรือเครือญาติใกล้เคียงเป็นมะเร็งที่สัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับมะเร็งเต้านมเลยสักคน
“นอกจากความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งสมองสูงกว่าคนทั่วไปแล้ว เรายังมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำที่ ‘เต้านมข้างซ้าย’ ข้างเดิม รวมถึง ‘เต้านมข้างขวา’ ข้างที่ยังไม่เป็นสูงกว่าคนปกติถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ในปีนั้นเองเราตัดสินใจตัดเต้านมข้างขวาทิ้ง ตามด้วยผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกในอีก 2 ปีต่อมา”
ชีวิตเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้น
“ก่อนแต่งงาน กิฟท์เป็นคนที่ใช้ชีวิตเต็มที่กับทุกอย่าง สไตล์ Work Hard Play Hard ด้วยความที่เมื่อก่อนเราทำงานในสาย FMCG (Fast Moving Consumer Goods) แน่นอนว่างานค่อนข้างหนักและเครียด และวิธีพักผ่อนของกิฟท์ก็คือการไปเฮฮาปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง แต่พอแต่งงานและเริ่มวางแผนจะมีลูก เราก็เริ่มดูแลตัวเองมากขึ้น ปาร์ตี้น้อยลง ด้วยความที่ก่อนหน้านั้นเราเคยมีภาวะเอ็นโดเมทริโอซิส (Endometriosis) หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งมีผลทำให้มีลูกยากเป็นทุนเดิม แต่เราก็พยายามทำทุกอย่าง ทั้งทางวิทยาศาสตร์ เช่น การนับวันไข่ตก กินอาหารดีๆ พยายามไม่เครียด ฯลฯ และทางไสยศาสตร์ สวดมนต์ ไหว้พระ เดินทางไปขอพรที่นั่นที่นี่ จนในที่สุดก็ได้ลูกชายสมใจหวัง
“หลังคลอดลูก เราก็วางแผนไว้แล้วว่าจะลาออกจากงาน ด้วยตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง พอลูกอายุได้สัก 2 ขวบ ค่อยกลับไปทำงานใหม่ แต่ปรากฏว่าลูกชายอายุราว 1 ขวบครึ่ง เราเริ่มมีอาการปวดหัวเรื้อรัง จากเบาๆ ก็ค่อยๆ หนักขึ้นทุกวัน ตอนแรกคิดว่าเป็นผลมาจากการพักผ่อนน้อยเพราะต้องตื่นมาให้นมลูกกลางดึกทุกคืน แต่พอปวดหนักๆ เข้า ตาที่เคยมองเห็นปกติก็เริ่มมีแสงจ้า ทำให้มองเห็นด้านข้างไม่ค่อยชัด แต่ที่กังวลใจมากที่สุดก็คือบางครั้งจะมีลิ่มเลือดก้อนใหญ่ออกจากจมูก จึงไปปรึกษาคุณหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ตอนนั้นคุณหมอก็วินิจฉัยว่าเป็นไมเกรน
“แม้ลึกๆ จะค้านอยู่ในใจ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงรับยากลับมากินที่บ้าน แรกๆ กินไปอาการปวดหัวก็ดีขึ้น แต่พอหมดฤทธิ์ยาก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม วนอยู่อย่างนั้นจนเริ่มรู้สึกไม่ไหวจึงโทรไปปรึกษา คุณหมออภิชัย (ผศ. นพ.อภิชัย วสุรัตน์) อาจารย์แพทย์ที่จุฬาฯ ที่เคยทำคลอดและดูแลเรามาตลอด ท่านเป็นคนใจดีและเมตตาให้คำปรึกษาเราเสมอๆ
“คุณหมอแนะนำให้ไปพบกับ ศ. พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ ซึ่งท่านเป็นอาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ ตอนนั้นท่านลงตรวจประจำที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล พอไปถึงคุณหมอก็ถามเรามาคำหนึ่งว่า ถ้าเทียบความปวด 1-10 เราปวดอยู่ระดับไหน เราก็ตอบไปว่า 8 คุณหมอไม่รอช้า ส่งไปตรวจ MRI จากนั้นก็นัดให้กลับมาฟังผลอีก 4 วันข้างหน้า
“ระหว่างที่ขับรถออกจากโรงพยาบาล ยังไม่ทันพ้นซอยนานา ทางโรงพยาบาลก็โทรมาเลื่อนนัดพบคุณหมอเป็นวันรุ่งขึ้นแทน เพราะผลตรวจ MRI พบ ‘เนื้องอกต่อมใต้สมอง’ (Pituitary Tumor) ที่มีเลือดออกและกำลังจะแตก และถ้าไม่ผ่าตัดภายใน 7 วันนี้ อาจมีโอกาสตาบอดหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้”
ฝันร้ายครั้งที่ 1
“วันนั้นเราขับรถกลับบ้านไปพร้อมกับความรู้สึกนอยด์ขั้นสุด ด้วยความที่ลูกชายก็ยังเล็กมาก แถมนั่นยังเป็นการผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในชีวิตด้วย ทำให้คิดไปต่างๆ นานา ถึงขั้นทำพินัยกรรมทิ้งไว้ เพราะคิดว่าอย่างไรก็คงไม่รอด
“วันรุ่งขึ้นเรากลับมาตามนัด แต่ครั้งนี้มาพบกับ ผศ. นพ.ไกรศรี จันทรา ศัลยแพทย์ด้านประสาทโดยตรง หลังจากที่อธิบายถึงเจ้าโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองแล้ว คุณหมอก็แจ้งผลตรวจ MRI ที่พบก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ 2 ก้อนทับอยู่ที่เส้นเลือดใหญ่และบริเวณดวงตา โดยเจ้าก้อนเนื้องอก 2 ก้อนนี้เองที่เป็นต้นเหตุทำให้เราปวดหัวหนัก ตาเริ่มมองไม่ค่อยชัด ส่วนลิ่มเลือดที่ออกมาทางจมูกนั้นก็เป็นผลจากที่เจ้าก้อนเนื้อนี้โตมากและกำลังจะแตกนั่นเอง หากปล่อยไว้อีกหน่อย เรามีโอกาสที่จะนอนหลับแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลยก็ได้ หรืออาจจะตื่นขึ้นพร้อมดวงตาที่บอดสนิท
“หลังจากนั้นคุณหมอก็นัดทำการผ่าตัดด่วน ซึ่งการผ่าตัดผ่านไปได้ด้วยดี แต่ยังมีเนื้องอกบางส่วนซึ่งทับเส้นเลือดใหญ่อยู่ หากผ่าตัดออกเลย คุณหมอเกรงว่าจะทำให้เราตาบอดหรือสมองกลับมาไม่เหมือนเดิม จึงต้องใช้วิธีอื่นแทนการผ่าตัดออก
“หลังผ่าตัด กิฟท์ต้องนอนอยู่บนเตียงเฉยๆ ห้ามขยับตัวอยู่ 7 วันเต็มๆ พอวันที่ 8 คุณหมอก็อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ยังไม่ทันข้ามวัน เลือดที่แผลผ่าตัดก็ไหลออกแบบไม่หยุด วันนั้นกิฟท์อยู่กับลูกแค่สองคน ส่วนสามีออกไปทำงาน ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านให้พาไปส่งที่โรงพยาบาล
“ระหว่างที่เพื่อนบ้านขับรถจากบ้านมาส่งที่โรงพยาบาล เลือดเราก็ยังไหลไม่ยอมหยุด ผ้าเช็ดตัวที่เอามากดปากแผลเอาไว้ชุ่มไปด้วยเลือด แถมยังมีเลือดออกมาทางจมูก ทางปาก พอถึงโรงพยาบาล ทั้งหมอ ทั้งพยาบาลต่างมารุมล้อมช่วยเหลือเรา แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรเลือดก็ยังไหลออกมา จากน้ำก็กลายเป็นลิ่มเลือด ออกทั้งทางปากและทางจมูก ผ้าก๊อซที่ซับเลือดถูกเปลี่ยนครั้งแล้วครั้งเล่า จนเราเริ่มใจไม่ดี ยอมรับเลยว่าวันนั้นเรากลัวตายที่สุดในชีวิต และลึกๆ คิดว่าเราคงไม่รอดแล้วจริงๆ จำได้ว่าเรากำมือคุณหมอไว้แน่นแล้วพูดซ้ำๆ ว่า หมอ! หนูยังไม่อยากตาย คุณหมอก็ทำทุกวิถีทาง และในที่สุดเลือดจากที่ไหลมาตลอดตั้งแต่เที่ยงก็มาหยุดลงตอน 4 โมงเย็น
“หลังจากแผลผ่าตัดเริ่มหาย เราก็ต้องเข้าสู่กระบวนการฉายแสงต่อ ซึ่งเป็นการฉายแสงเฉพาะจุดเพื่อจัดการกับก้อนเนื้องอกที่ยังหลงเหลืออยู่ ผลการรักษาก็เป็นไปด้วยดี ก้อนเนื้องอกลดขนาดลงเรื่อยๆ จนถึงระยะที่ไม่อันตราย แต่เราก็ยังคงต้องกลับมาฟอลโลอัปกับคุณหมออยู่เป็นระยะๆ”
ฝันร้ายครั้งที่ 2
“หลังเหตุการณ์เฉียดตายครั้งนั้น เรากลับมาใช้ชีวิตปกติ จนลูกชายเข้าเรียนเตรียมอนุบาล เราก็กลับไปทำงานอีกครั้ง ทำงานมาจนครบปี จู่ๆ กลางดึกคืนหนึ่งก็รู้สึกเจ็บแปลบบบบ…ขึ้นมาที่หน้าอกข้างซ้าย ตอนนั้นก็คิดว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเปล่า แต่ก็ยังไม่ไปหาหมอ ผ่านไป 3 วัน อาการก็ยังไม่ดีขึ้น แล้วบังเอิญเราคลำไปเจอก้อนตุ่ยๆ ตรงบริเวณที่เจ็บด้วย จึงโทรไปปรึกษาคุณหมออภิชัย ท่านก็แนะนำให้ลองไปตรวจดู
“วันเสาร์นั้น ลูกชายวัย 2 ขวบเศษมีนัดกับหมอฟันที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอชพอดี จึงถือโอกาสไปตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ พอตรวจเสร็จคุณหมอที่ตรวจแมมโมแกรมก็พูดขึ้นว่า “ขอบไม่ชัดนะคะ” เราก็ไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไรจึงถามคุณหมอกลับไปว่า “อะไรนะคะหมอ” หมอหันมาแล้วบอกด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า “หมอคิดว่าก้อนเนื้อนี้เป็นมะเร็ง”
“ทันทีที่สิ้นเสียงคุณหมอ ความรู้สึกเราเหมือนโลกกำลังจะถล่ม พอออกจากห้องตรวจก็เจอสามีกับลูกนั่งรออยู่ น้ำตาไหลออกมาทันที นั่งร้องไห้พร้อมกับคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัวว่า ฉันอีกแล้วเหรอ มันเกิดอะไรขึ้นกับฉัน!?! ทำไมต้องเป็นฉัน เพราะเพิ่งเฉียดตายมาแท้ๆ ยังไม่ทันได้ใช้ชีวิตเท่าไรเลย มาเป็นมะเร็งอีกแล้ว
“วันนั้นจึงนำเรื่องไปปรึกษากับคุณหมออภิชัย ท่านก็แนะนำให้ไป Second Opinion กับ คุณหมอโสภาคย์ (รศ. ดร.นพ.โสภาคย์ มนัสนยกรณ์) อาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งมีเวรลงตรวจที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หลังจากคุณหมอโสภาคย์ตรวจเช็กก้อนแล้ว ก็แนะนำให้ลองเจาะของเหลวจากก้อนไปตรวจ หากเป็นซีสต์หรือถุงน้ำก็อาจจะไม่ต้องผ่าตัด แต่ผลปรากฏว่าของเหลวที่เจาะไปนั้นมีโอกาสเป็นมะเร็งถึง 90 เปอร์เซ็นต์ คุณหมอจึงขอผ่าตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) ไปตรวจอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ ผลออกมาก็เป็นไปตามที่คาด เราเป็นมะเร็งเต้านม!
“ประสบการณ์ครั้งนั้น
เราได้เรียนรู้ว่าชีวิตเราเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
และอย่าคิดว่าความสุขจะอยู่กับเรานาน
ความทุกข์ก็เช่นกัน เดี๋ยวมันก็ผ่านไป…”
เริ่มต้นนับหนึ่งอีกครั้ง
“การรักษาครั้งนี้ นอกจาก ‘โรค’ ที่เราเป็นกังวลว่าจะรักษาอย่างไร ร่างกายเราจะรับไหวไหม และจะหายหรือเปล่าแล้ว อีกสิ่งที่เรากังวลมากๆ ก็คือเรื่องค่าใช้จ่าย ด้วยความที่เพิ่งผ่านการรักษา ‘เนื้องอกต่อมใต้สมอง’ ซึ่งใช้เงินไปพอสมควร พอกลับมาทำงาน ยังเก็บเงินได้ไม่เท่าไรเลย ก็มาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งอีก คำว่ามะเร็ง แน่นอนว่าใครๆ ก็รู้ว่าต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง
“ยอมรับเลยว่าช่วงนั้นแทบทำใจไม่ได้เลย และมักจะแอบไปร้องไห้อยู่คนเดียวบ่อยๆ เพราะไม่อยากให้ใครเป็นห่วง โชคดีที่เราเป็นคนที่สวดมนต์ นั่งสมาธิอยู่เป็นประจำ จึงใช้การสวดมนต์นี่แหละเยียวยาตัวเอง สักพักก็เริ่มดีขึ้น และตัดสินใจเลือกไปรักษาตัวต่อกับคุณหมอโสภาคย์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นอกจากเหตุผลเรื่องค่ารักษาพยาบาลแล้ว ส่วนหนึ่งเราเชื่อว่าที่นี่มีเครื่องมือทันสมัยและทีมแพทย์พยาบาลที่พร้อมที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
“การรักษาเริ่มต้นที่การผ่าตัดก้อนมะเร็งออก ครั้งนั้นเราเลือกการผ่าตัดเต้านมซ้ายทิ้งทั้งเต้าพร้อมเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยตอนแรกคิดว่าเสริมซิลิโคนก็คงจบ แต่ทางคุณหมอโสภาคย์แนะนำให้เสริมสร้างด้วยไขมันหน้าท้อง (TRAM flap) น่าจะดูเป็นธรรมชาติมากกว่า เพราะหากเป็นซิลิโคนนั้น เมื่อเวลาผ่านไปเต้านมขวาอาจจะหย่อนคล้อยไปตามธรรมชาติ แต่เต้านมซ้ายที่ใส่ซิลิโคนอาจจะยังคงรูป ซึ่งจะดูไม่สมดุลกัน นั่นทำให้การผ่าตัดครั้งนั้น นอกจากการผ่าตัดเต้านมแล้ว ก็ยังต้องผ่าหน้าท้องเพื่อนำไขมันมาเสริมหน้าอก
“การผ่าตัดครั้งนั้นใช้เวลาไปกว่า 12 ชั่วโมง และหลังออกจากห้องผ่าตัดแล้วยังต้องนอนราบนิ่งๆ อยู่บนเตียงอีกหลายวัน ก่อนจะกลับบ้านมาพักฟื้นจนแผลเริ่มหายดี ก็เข้าสู่กระบวนการให้คีโมต่ออีก 4 เข็ม ซึ่งเข็มแรกก็เกิดภาวะติดเชื้อต้องเข้าห้องฉุกเฉินเลย (หัวเราะ)”
หนักอย่างไร…ก็ต้องสู้!
“คีโม 4 เข็ม ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้ นอกจากการดูแลตัวเองชนิดที่ต้องหลีกเลี่ยงทุกอย่างเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ต้องใส่แมสก์ทั้งวันทั้งคืน อยู่แต่บ้าน ห้ามออกไปไหน วันๆ ก็ได้แต่อัดโปรตีน กินไข่วันละ 6-8 ฟอง เพราะกลัวค่าเลือดไม่ผ่าน ทำคีโมไม่ได้แล้วเซลล์มะเร็งจะดื้อยาขึ้นมา
“หนักกว่านั้นคือผลข้างเคียงของคีโมที่มาในหลากรูปแบบ ตั้งแต่ท้องเสีย อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดเล็บ เล็บดำ ปวดเส้นเลือด ตากระตุก มีภาวะกรดไหลย้อน ลมพิษทั้งตัว ทั้งวัน แถมเข็มแรกเกิดการติดเชื้อ มีไข้สูงจนต้องเข้าห้องฉุกเฉิน ตอนนั้นปวดหัวเหมือนหัวจะระเบิด มือเท้าอักเสบ พอง ร้อน แตะอะไรไม่ได้เลย
“พอคีโมเข็มที่สอง ผมร่วงจนต้องโกนทิ้ง เฮิร์ตมาก แต่ที่ทรมานที่สุดคืออาการปวดทั้งตัว ปวดไปถึงกระดูก ปวดจนนอนร้องไห้ ปวดชนิดที่ไม่อยากสู้ต่อแล้ว อยากหลับแล้วไม่อยากตื่นมาอีกเลย เราเข้าใจเลยว่าทำไมผู้ป่วยหลายคนจึงปฏิเสธที่จะให้คีโมต่อเลย แต่สุดท้ายเราก็ผ่านมันมาได้ถึงวันนี้ ซึ่งทุกอย่างยังคงทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้ดูต่างหน้า เพื่ออย่างน้อยเป็นการเตือนเราว่า ครั้งหนึ่งเราเคยได้รู้จักกับคีโม
“หลังกระบวนการให้คีโมจบลง ด้วยความที่ประจำเดือนมาผิดปกติ คุณหมอจึงส่งไปตรวจเพิ่มเติม ผลปรากฏว่าไปเจอเนื้องอกในมดลูกและรังไข่ นั่นนำไปสู่การตรวจ Genetic Testing ตามคำแนะนำคุณหมอ ซึ่งก็เจอจริงๆ คือ ผลออกมาว่าเรามียีน BRCA2 ส่งให้มะเร็งที่เราเป็นนั้นเป็นมะเร็งแบบ Genetics ที่สามารถแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้ เราจึงจำเป็นต้องตรวจร่างกายครั้งใหญ่ ตรวจทุกอย่างในร่างกาย หาจนครบทุกหมอ เพื่อดูว่ามีติ่งหรือเนื้องอกตรงไหนบ้างไหม
“และเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม ‘ข้างขวา’ ข้างที่ไม่ได้เป็น ในปี 2563 เราจึงตัดสินใจตัดเต้านมขวาทิ้ง และปี 2565 ก็ตัดมดลูก รังไข่ทิ้ง สิ่งที่ตามมาก็คืออาการวัยทองก่อนกำหนด เช่น อยู่ดีๆ ก็นั่งร้องไห้ เพราะอารมณ์เราจะสวิงขึ้นๆ ลงๆ บางทีก็เหมือนซึมเศร้า จนต้องไปปรึกษาจิตแพทย์ เพราะไม่อยากให้คนรอบข้างแย่ไปด้วย”
เข้มแข็งและสู้ต่อ
“จนถึงวันนี้เราก็ยังจำวินาทีที่ได้ยินคำว่า ‘มะเร็ง’ ครั้งแรกได้เสมอ มันเหมือนโดนฟ้าผ่าลงกลางหัวใจ วินาทีนั้นมันสับสนไปหมด แบบที่ใครก็คงไม่มีวันเข้าใจ ถ้าไม่ได้มายืนอยู่ ณ จุดนั้น จุดที่ชีวิตเขยิบเข้ามาใกล้ความตายอีกขั้น คำถามแรกที่แวบเข้ามาในหัวตอนนั้นคือเราจะเหลือเวลาอีกเท่าไร ลูกจะเป็นอย่างไร ณ เวลานั้นมันเหมือนเรายืนอยู่กลางสะพานเชือกที่ข้างล่างเป็นเหวลึก ถ้าเราไม่กล้าเดินข้ามไป เราก็คงยืนสั่นอยู่ตรงนั้นจนตกลงไปเอง
“สิ่งที่ผ่านมาสอนให้เรารู้ว่า เวลาของเรามีอยู่จำกัด จะหมดไปเมื่อไรก็ไม่รู้ เราไม่รู้เลยว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเราอีก เราจึงทำทุกๆ วันของเราให้เหมือนวันสุดท้าย และพยายาม ‘ช่างมัน’ กับเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาให้ได้มากที่สุด เรียนรู้ ปล่อยวาง เข้มแข็ง และสู้ต่อ
“ทุกอย่างเกิดขึ้นนั้นดีเสมอ — เราเชื่ออย่างนั้น และในความโชคร้ายซ้ำๆ ของเรา มันก็ไม่ได้เลวร้ายไปซะหมด อย่างน้อยเราก็ได้เห็นถึงความรัก ความห่วงใยของคนในครอบครัว ญาติสนิท มิตรสหาย ยิ่งไปกว่านั้นคือเราได้เจอคนดีๆ มากมาย โดยเฉพาะคุณหมออภิชัยซึ่งเป็นเสมือนพ่อคนที่สองเลยก็ว่าได้ ด้วยความเมตตาที่ท่านมีให้ แนะนำแต่สิ่งที่ดีที่สุดให้เราเสมอ ช่วยเหลือเราทุกอย่าง ไม่มีท่าน เราคงไม่รอดจนถึงทุกวันนี้ ท่านเคยพูดมาประโยคหนึ่งที่เรายังจำได้ไม่เคยลืมว่า “คุณกิฟท์เชื่อผมนะ มันไม่มีอะไรที่รักษาไม่ได้”
“จากเดิมที่เราเคยคิดว่าเป็นมะเร็งเท่ากับตาย แต่วันนี้มันไม่ใช่อีกแล้ว มะเร็งรักษาได้ ขอแค่เราสู้ และอย่าประมาท ทุกวันนี้ถามว่า กลัวไหม หากมะเร็งกลับมา สารภาพตามตรงเลยว่า กลัว! (หัวเราะ) แต่เราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเข้มแข็งแล้วสู้ต่อ เพราะเป้าหมายเดียวในชีวิตของกิฟท์ตอนนี้ก็คืออยากอยู่ดูแลลูกให้นานที่สุด อยากกอดเขาไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้…”
#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC