สุพิชญาณ์ พึ่งหิรัญ : มะเร็งไม่น่ากลัวเท่า ‘มโน’

“สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่ามะเร็งก็คือความคิดเราเองนี่แหละ มโนไปเรื่อยว่ามะเร็งน่ากลัว เป็นมะเร็งแล้วต้องตาย ทำคีโมแล้วต้องแย่ ฯลฯ บางทีเป็นมะเร็งมันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่ที่เรารู้สึกว่าแย่ก็เพราะเรามโนไปเอง”

จ๊อบแจ๊บ-สุพิชญาณ์ พึ่งหิรัญ อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะ 4 ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ตับ และปอด เมื่อ 5 ปีที่แล้ว นักพัฒนาธุรกิจ (Business Development) มากประสบการณ์ วัย 44 ปี ผู้ก่อตั้งเพจมะเร็งไม่น่ากลัวเท่ามโน พื้นที่ที่จะบอกให้ผู้คนรู้ว่า เธอคืออดีตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ยังมีชีวิตและมีความสุขดีเหมือนคนปกติทั่วไป

คนเป็นมะเร็งแล้วต้องตาย!?

คนเป็นมะเร็งต้องตาย! และต้องตายอย่างทรมาน!  นี่เป็นภาพลักษณ์ของมะเร็งในความคิดของคนทั่วไป ด้วยสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร โดยเฉพาะซีรีส์เกาหลีนี่ตัวดีเลย (ยิ้ม) มักจะสื่อให้คนรู้สึกว่าใครเป็นมะเร็งแล้วต้องตาย จ๊อบจะบอกกับแฟนเพจเสมอว่า อย่าไปดูเด็ดขาด เพราะมันจะยิ่งทำให้เรารู้สึกแย่ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จ๊อบสร้างเพจ มะเร็งไม่น่ากลัวเท่ามโนขึ้น เพื่อจะแก้ไขภาพลักษณ์เก่าๆ ของมะเร็งที่มีในความคิดของคนทั่วไป

“เป็นมะเร็งแล้ว…ไม่ได้ตายทุกคน นี่คือสิ่งที่อยากจะบอก ด้วยจ๊อบมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า แม้คีโมจะทำให้ร่างกายเราอ่อนแอลงก็จริง แต่เชื่อเถอะว่าเราจะผ่านมันไปได้ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์เรานั้น เซลล์ในร่างกายไม่ยอมให้เราตายง่ายๆ หรอก เราจะตายได้ก็ต่อเมื่อเราได้ใช้ร่างกายมาอย่างเต็มเหนี่ยวจนพังแล้วจริงๆ ฉะนั้น ตราบใดที่เรายังเดินไหว มโนได้ เจ็บได้ ปวดได้ นั่นเป็นสัญญาณว่าเรายังไม่ตายง่ายๆ หรอก ฉะนั้น เราสู้ไปกับร่างกาย ร่วมมือร่วมใจกัน 

“ตั้งแต่วันที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งมาจนถึงทุกวันนี้ จ๊อบจะกล่าวขอบคุณร่างกายตัวเองเสมอในทุกๆ เช้าที่ลืมตาตื่นขึ้นมา

“ขอบคุณที่เธอพยายามจะอยู่กับฉัน
ขอบคุณที่เธอพยายามสู้กับคีโมมาด้วยกัน
ต่อจากวันนี้ฉันจะดูแลเธออย่างดีที่สุด
และใช้ร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง
และคนอื่นให้มากที่สุด”        

“จ๊อบเชื่อว่า เวลาที่เหลือหลังจากที่เราผ่านมะเร็งมาแล้ว มันคือโบนัส ฉะนั้น แค่มีชีวิตอย่างมีความสุขในทุกๆ วันและทำประโยชน์ให้ผู้อื่นบ้าง นั่นก็เพียงพอแล้ว”

มะเร็งไม่ได้เป็นกันง่ายๆ

“คนที่เคยเป็นมะเร็งเกือบทุกคน ลึกๆ ในใจจะรู้อยู่แล้วว่าเราเป็นมะเร็งเพราะอะไร สำหรับจ๊อบแล้วลึกๆ ก็เชื่อว่ามาจากความเพอร์เฟกชันนิสต์ของตัวเอง หลังจบการศึกษาเราก็ตั้งเป้าหมายที่จะไปอยู่จุดสูงสุดในสิ่งที่เราเรียนมา จนในที่สุดก็ได้ขึ้นเป็นผู้บริหารของบริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง และนั่นเองที่เรามักจะคิดเสมอว่า เราต้องทำทุกอย่างให้สมกับตำแหน่งที่บริษัทมอบให้

“พยายามทำทุกอย่างให้เพอร์เฟกต์ ปล่อยวางไม่เป็น ไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่เป็นทุกเรื่องในชีวิต แม้จะทำงานหนักแค่ไหน แต่ก็พยายามดูแลชีวิตตัวเองเป็นอย่างดี เลือกกินอาหารที่ดี กินซูเปอร์ฟู้ดแทนวิตามิน กินแต่ผัก ผลไม้ ตื่นเช้ามาก็วิ่ง 5-10 กิโลเมตรทุกวันแล้วจึงไปทำงาน พอกลับจากงานก็เข้านอนไม่เกิน 3 ทุ่ม ต้องเป๊ะอย่างนี้ทุกวัน

“จนเมื่อมะเร็งเข้ามาในชีวิต เราจึงได้เรียนรู้ว่า จริงๆ แล้วชีวิตคนเรามันไม่ต้องเพอร์เฟกต์ขนาดนั้นก็ได้ ตื่นเช้ามาไม่ต้องกินผักปั่นทุกวัน ไม่ต้องตื่นวิ่งทุกเช้า ทั้งๆ ที่บางวันก็ไม่อยากจะตื่น ที่สำคัญในโลกใบนี้มันไม่มีอะไรแน่นอน แค่เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดนั่นคือจบแล้ว เพราะที่เหลือเป็นสิ่งที่เราคอนโทรลไม่ได้ ก็ต้องปล่อยวางให้เป็น

“นี่เองที่ทำให้จ๊อบอยากบอกทุกคนที่กำลังกังวลว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งว่า มะเร็งไม่ได้เป็นกันง่ายๆ หรอก…ไม่ต้องกลัว! หากคุณไม่ได้มีพันธุกรรมมะเร็งอยู่ในตัว และมั่นใจว่าไม่ได้ใช้ชีวิตแบบ ‘สุดโต่ง’ ไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน หรือไม่ได้ใช้ชีวิตแบบไม่บาลานซ์หรือผิดเพี้ยนจากธรรมชาติขั้นสุด คุณไม่มีวันได้เป็นมะเร็งง่ายๆ หรอก เชื่อสิ!”

วันที่มะเร็งมาเยือน

“ด้วยความที่เราออกกำลังกายทุกวัน มีอยู่วันหนึ่งกำลังเล่นเวตเทรนนิ่งอยู่ แล้วเกิดอาการเสียวตรงหน้าอกด้านซ้ายขึ้นมา พอคลำไปก็เจอก้อนที่นูนขึ้นมา ตอนนั้นก็รีบไปอัลตราซาวด์ที่โรงพยาบาลศิริราช ปรากฏว่าผลออกมาพบก้อนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร และด้วยขนาดก้อนที่ใหญ่ทำให้เราได้เห็นหน้าตาของก้อนชัดเจนมาก จนเรามั่นใจเลยว่ามันเป็นมะเร็งแน่แล้ว เพราะรูปร่างของก้อนนั้น มันยึกยือมาก เหมือนคนหน้าหงิกอยู่ตลอดเวลา (หัวเราะ)

“จากคนที่ออกกำลังกายทุกวัน เลือกกินแต่อาหารดีๆ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ทั้งเบาหวาน ความดัน มดลูก ตรวจเลือดค่ามะเร็งก็ปกติดีทุกอย่าง แต่สิ่งเดียวที่เราไม่ได้ตรวจก็คือเต้านม เพราะคิดว่าตัวเองสุขภาพดีและไม่มีคำว่ามะเร็งอยู่ในหัวเลย

“หลังจากผลออกมา คุณหมอก็สั่งเจาะชิ้นเนื้อทันที โดยใช้วิธีการเจาะชิ้นเนื้อด้วยเทคนิคพิเศษ MRI ซึ่งเพิ่งเข้ามา เราจึงเป็นคนแรกของประเทศไทยที่ได้เจาะชิ้นเนื้อด้วยเทคนิคนี้ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย หลังจากเจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจก็ต้องรอผลอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ปรากฏว่าก้อนเนื้อจาก 6 เซนติเมตร กลับขยายตัวเป็น 8 เซนติเมตร อย่างรวดเร็ว คุณหมอจึงสั่ง CT scan ทั้งตัว พบว่านอกจากก้อนที่เต้านมด้านซ้ายแล้ว ยังมีก้อนที่ต่อมน้ำเหลือง ตับ และปอด

“คุณหมอจึงปรับแผนการรักษาจากที่ผ่าตัดมาเป็นทำคีโมเพื่อให้ก้อนต่างๆ ยุบลงก่อน ตอนนั้นทางศิริราชไม่มีคิวคีโมให้ เนื่องจากเคสของจ๊อบนั้นต้องให้คีโมแบบแอดมิต ไม่สามารถให้แบบเช้าไปเย็นกลับได้ จึงต้องย้ายไปทำคีโมที่โรงพยาบาลธนบุรี 1 หลังจากให้คีโม 6 เข็ม ก้อนที่เต้านมจาก 8 เซนติเมตร ก็ลดขนาดลงมาเหลือ 0.5 เซนติเมตร ส่วนที่ตับกับปอด จาก 4 และ 6 เซนติเมตร ก็หายไปหมด

“จากนั้นจึงผ่าตัดก้อนที่เต้านมออก โดยผ่าตัดแบบสงวนเต้านมไว้ แต่ขยายรัศมีรอบก้อนประมาณ 2 เซนติเมตร และผ่าเลาะต่อมน้ำเหลืองทิ้งกว่า 30 ต่อม ก่อนจะฉายแสงอีก 40 ครั้ง รวมระยะเวลารักษาตัวทั้งหมดกว่า 1 ปีครึ่ง”

ขอบคุณความไม่สมบูรณ์แบบ

“ครั้งแรกที่รู้ว่ามะเร็งลามไปที่ปอดและตับ เราร้องไห้และเสียใจมาก เพราะรู้สึกว่ามันไม่ควรเกิดขึ้นกับเรา แต่เมื่อเราได้กลับมาทบทวนตัวเองจริงๆ จังๆ จึงได้รู้ว่า ที่ผ่านมาเราทำอะไรพลาดไปบ้าง มะเร็งทำให้เราเห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต จากที่ผ่านมาเราไม่แข็งแรงตั้งแต่เด็ก เป็นทั้งโรคภูมิแพ้ บางครั้งก็เป็นไมเกรนโดยไม่รู้สาเหตุ แค่อากาศร้อนๆ เย็นๆ ก็ต้องแอดมิต การได้อยู่กับความไม่ปกติต่างๆ นานานี้ มันเหมือนฝึกให้เราได้เตรียมตัวเตรียมใจมาตั้งแต่ไหนแต่ไรว่า อะไรจะเกิดก็เกิดสิ!

“ยิ่งพอได้เห็นแม่กับพ่อร้องไห้ และบอกว่า ‘แม่กับพ่อจัดงานศพให้ลูกไม่ได้นะ’ ในวันแรกที่รู้ว่าเราเป็นมะเร็ง นั่นยิ่งทำให้เราต้องเข้มแข็ง เพราะเราได้เห็นถึงความบอบบางของพ่อกับแม่ที่อายุกว่า 75 ปีแล้ว ถ้าเราไม่สู้ คนที่แย่ไม่ใช่แค่เรา แต่พ่อกับแม่ก็คงอยู่ไม่ได้ ตั้งแต่วันนั้นเราก็บอกกับตัวเองว่า เราตายไม่ได้! เพราะถ้าเราตาย ชีวิตแม่กับพ่อก็คงล่มสลายไปด้วย       

‘คุณพ่อ’ อีกหนึ่งกำลังใจที่ช่วยให้ฮึดสู้กับมะเร็ง

“เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนแล้ว คราวนี้หมอให้ทำอะไรก็ทำหมด กินไม่ได้ แต่หมอบอกให้พยายามกิน เพื่อให้ร่างกายพร้อมกับการรักษา เราก็กิน กิน กิน และด้วยความที่เราเป็นพวกที่ไม่มีคำว่า เป็นไปไม่ได้ อยู่ในความคิด ถ้าทำอะไรสักอย่างไม่ได้ด้วยวิธีนี้ เราจะคิดเสมอว่ามันต้องมีวิธีอื่นสิ ฉะนั้น แม้จะอาเจียนหนักมาก แต่ก็คิดอยู่ในหัวเสมอว่า อาเจียนได้ ก็กินเข้าไปใหม่ได้ หรือระยะหลังๆ เริ่มกินไม่ลง ก็ใช้วิธีปั่นแล้วใช้หลอดชานมไข่มุกดูดเลย มีหลายคนถามว่า กินเข้าไปได้อย่างไร จ๊อบก็จะตอบกลับไปว่า ถ้าวันหนึ่งเรารู้สึกว่า เรากำลังจะใกล้ตาย เราจะทำได้ทุกอย่างแหละ แค่อย่าดราม่า! อย่าเยอะ! อย่าเรื่องมากกับชีวิต      

“พอคีโมใกล้จบ นอกจากจะหัวโล้นแล้ว เราก็ยังไม่รับรู้รสชาติอะไรเลย เพราะต่อมรับรสไปหมดแล้ว (หัวเราะ) นั่นก็ยิ่งง่ายเลย กินต้มยำเหมือนกินน้ำเปล่า ตั้งแต่นั้นมาจะบอกแม่บ้านเลยว่า ทำกับข้าวให้จ๊อบไม่ต้องปรุงรสอะไรแล้วนะ เพราะปรุงไปก็ไม่รู้รสอยู่ดี ขณะที่คนเป็นมะเร็งส่วนใหญ่พอถึงจุดนี้มักจะทุกข์ กินอะไรไม่ได้ เพราะคิดว่าแย่แล้ว ฉันไม่รับรู้รสแล้ว ชีวิตนี้ฉันจะได้รับรู้รสไหม ฯลฯ มโนไปเรื่อย จริงๆ แล้วมันก็เหมือนเราเดินเข้าไปกินอาหารในร้านอาหารสักร้านที่ไม่อร่อยเท่านั้นเอง พอการรักษาจบ เดี๋ยวต่อมรับรสก็กลับมาทำงานปกติเองแหละ”

คำถามที่ไม่มีใครรู้คำตอบ…

“คำถามหนึ่งที่เราจะไม่ถามหมอเลยก็คือ เราจะหายไหม? เพราะจ๊อบเชื่อว่ามันเป็นคำถามที่ไม่มีใครรู้คำตอบหรอก เหมือนเวลาเราปลูกต้นไม้ วันแรกที่เราปลูกต้นไม้ เราก็คิดว่า เราทำดีที่สุดแล้ว แต่ทำไมอยู่ๆ ต้นไม้มันตายได้ ฉะนั้น จะอยู่หรือไปก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ สายพันธุ์ ฯลฯ มะเร็งก็ไม่ได้ต่างกัน มันมีองค์ประกอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของร่างกาย การปฏิบัติตัว ความมุ่งมั่น ฯลฯ นั่นทำให้เราเห็นว่า มีบางคนไม่แพ้คีโม อีกหลายคนแพ้ หรือถึงแพ้ก็ยอมรับได้    

“สิ่งที่เราจะถามคุณหมออย่างเดียว เราจะต้องทำตัวอย่างไรให้การรักษาดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่น กินอย่างไรให้เม็ดเลือดขาวไม่ตก หรือเม็ดเลือดขาวเพียงพอที่จะไปให้คีโมได้ทุกรอบ หรือช่วงให้คีโมเข็มสามจะเกิดอาการเจ็บตามรูขุมขน โดนน้ำแทบไม่ได้เลย เราก็จะถามว่าแก้อย่างไรดี หรือฉายแสงแล้วผิวไหม้หลุด เราก็จะถามหมอว่ามีวิธีอื่นไหม หมอบอกว่าไม่มี เราก็แค่ทนแล้วทำให้มันจบไปให้เร็วที่สุด

“เพราะจ๊อบเป็นคนที่ถ้าตัดสินใจจะทำอะไรแล้ว ต้องทำให้ถึงที่สุด พอเราตั้งเป้าว่าเราต้องหายจากมะเร็ง ก่อนจะไปทำคีโม เราก็โกนหัวรอเลย เพราะรู้ว่าทำคีโมแล้วผมต้องร่วงแน่นอน ก็โกนรอไว้ก่อนเลย เพราะเราไม่อยากมาเป็นนางเอกซีรีส์เกาหลีที่มาจับเส้นผมแล้วร่วงเป็นกระจุก (หัวเราะ)

เรียนรู้ที่จะอยู่กับความกลัว

“กว่า 18 เดือน ในการรักษามะเร็ง จ๊อบได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ยากที่สุดที่ผู้ป่วยมะเร็งต้องข้ามไปให้ได้คือความมโนของตัวเราเอง ทุกครั้งที่จ๊อบต้องไปให้คีโม เชื่อไหมว่าไม่มีครั้งไหนที่ไม่กลัว จ๊อบกลัวจนขนลุกขนพอง กลัวจนนอนไม่หลับ กลัวจนวันหนึ่งเราต้องกลับมาถามตัวเราเองว่า เรากำลังกลัวอะไร? ซึ่งคำตอบก็มีมากมาย พอเราได้คำตอบแล้วเราก็เริ่มหาทางออก เพราะถึงจะกลัวแค่ไหน เราก็ต้องไปให้คีโมอยู่ดี เราจึงเรียนรู้ที่จะอยู่กับความกลัวนั้นดีกว่า

“หากวันไหนเรากลัวให้คีโมแล้วทรมาน เจ็บเส้น นอนไม่ได้ เราก็จะขอหมอว่า หลังให้คีโมแล้ว ขอมอร์ฟีนหรือยานอนหลับเลยนะคะ แต่ที่กลัวที่สุดก็คือกลัวให้คีโมแล้วตาย ไม่ได้กลับบ้าน แต่ตอนนั้นเราก็แค่คิดว่า ถ้าถึงจุดนั้นจริงๆ มันก็แค่ตาย ตายแล้วก็จบ!

“หลังจากคีโมเข็ม 3 จ๊อบเจ็บจนไม่มีแรงจะเดิน นั่งๆ อยู่ก็จะล้มแผละตลอดเวลา เพราะตอนนั้นเหมือนเราคอนโทรลร่างกายเราไม่ได้แล้ว จำได้ว่าจ๊อบร้องไห้แล้วบอกกับแม่ว่า ‘จ๊อบทรมาน จ๊อบไม่ไหวแล้ว จ๊อบไม่อยากให้คีโมแล้ว’ แต่สิ่งที่แม่พูดกลับมาก็คือ ‘เราเดินมาครึ่งทางแล้ว ถ้ามันจะตายเพราะคีโมก็ให้รู้กันไปเลยเถอะ อย่างน้อยเราก็ทำอย่างเต็มที่แล้ว ดีกว่าทำไม่จบแล้วมาเสียใจภายหลัง’

“ตั้งแต่นั้นมา แม้ร่างกายจะทรุดลงเรื่อยๆ แต่เราก็ปักธงเลยว่าจะต้องทำคีโมให้จบ ซึ่งเหลืออีก 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 3 สัปดาห์ โดยกิจวัตรประจำวันของเราก็คือตื่นเช้ามาก็จะถามตัวเองว่า วันนี้เรายังเหลืออะไรที่พอทำได้บ้าง และทำสิ่งเหล่านั้นให้ดีที่สุด ไม่ต้องตะเกียกตะกายจนตัวเองทุกข์ เช่น วันไหนที่เราเดินไม่ได้ เราก็ไม่ต้องไปพยายามที่จะเดินให้ตัวเองเป็นทุกข์ ก็ถือว่าเป็นการพักผ่อนไป นอนทำในสิ่งที่เราพอทำได้ ดูหนัง ดูทีวี สวดมนต์ ไหว้พระ ฯลฯ

“เราพยายามมีความสุขกับทุกโมเมนต์ที่ยังเหลืออยู่ แม้แต่ช่วงไปให้คีโม แค่เจาะแล้วเส้นเลือดไม่แตก นั่นก็มีความสุขแล้ว หรือระหว่างที่ให้คีโม ผู้ป่วยทุกคนจะต้องอมน้ำแข็งไปเพื่อบรรเทาอาการปากเบิร์น วันไหนที่น้ำแข็งเริ่มไม่อร่อย จ๊อบก็จะขอหมอ ‘อมน้ำแข็งใส่น้ำหวานได้ไหม’ (หัวเราะ) หมอก็อนุญาต ให้เอาน้ำหวานมาใส่น้ำแข็งของทางโรงพยาบาลได้

“การเป็นมะเร็งนั้นไม่ได้แย่อย่างที่คิด อย่างน้อยเราก็ยังมีโอกาสที่จะเตรียมตัว เตรียมใจ ดีกว่าเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ไม่ทันได้ทำอะไรที่ค้างคาหรือล่ำลาใครเลย เรามีโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตแบบเอ็นจอยกับทุกวินาทีที่เหลืออยู่ แค่ตื่นเช้ามาแล้วยังหายใจ หรือวันไหนที่ลุกขึ้นมาอาบน้ำเองได้ อึออก ฯลฯ ก็มีความสุขสุดๆ แล้ว ความสุขที่แท้จริงของคนเรา…มันมีเท่านั้นจริงๆ” 

‘คุณแม่’ ต้นแบบนักสู้…ไม่ถอย

มะเร็งไม่น่ากลัวเท่า ‘มโน’

“จ๊อบเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้น เรามักจะกลัวเมื่อเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะเจอมันคืออะไร เหมือนเราขับรถไปที่ไหนสักแห่งที่เราไม่รู้เส้นทาง แม้จะมีจีพีเอสก็เถอะ แต่ลึกๆ เราก็จะกังวลว่าจะไปถูกไหม จีพีเอสจะพาเราลงทะเลหรือเปล่า เช่นเดียวกับคนที่ออกจากบ้านไปให้คีโมก็จะมีความรู้สึกไม่ต่างกัน เราไม่รู้ว่าเข็มนี้จะมีเอฟเฟกต์อะไรบ้าง และนั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการมโนไปต่างๆ นานา

เพจ ‘มะเร็งไม่น่ากลัวเท่ามโน’

“หลังการรักษาจบแล้ว จ๊อบก็ตัดสินใจเปิดเพจมะเร็งไม่น่ากลัวเท่ามโน แชร์ประสบการณ์ที่เราเผชิญกับมะเร็งมาและเราได้เรียนรู้ว่า จริงๆ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการเป็นมะเร็งก็คือมโน…มโนไปเรื่อย นั่นทำให้กว่า 5 ปีที่เพจนี้เปิดขึ้นมา นอกจากการตอบคำถามแฟนแพจที่สงสัยในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับมะเร็งผ่านกล่องข้อความแล้ว สิ่งที่นำเสนอหน้าเพจไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเราดำรงชีวิตอย่างไรบ้างในแต่ละวัน เพื่อจะบอกให้ทุกคนรู้ว่า คนเป็นมะเร็งไม่ได้ ‘ตาย’ ทุกคน และจ๊อบก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เคยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และยังใช้ชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้

“เชื่อเถอะว่าธรรมชาติจะคัดสรรเฉพาะคนที่ ‘สตรอง’ และ ‘ปรับตัวเก่ง’ เท่านั้นที่จะอยู่รอดต่อไปได้ และตราบใดที่เราจะไม่ยอมแพ้ ชีวิตก็ไปต่อได้เสมอ ทุกๆ ปัญหาที่เข้ามา มันก็คือบททดสอบหนึ่งที่เราต้องผ่านมันไปให้ได้ มะเร็งก็เป็นอีกหนึ่งบททดสอบที่เข้ามาในชีวิตเรา และมันยังมีบททดสอบอีกมากมายที่รอเราอยู่ ฉะนั้น ถ้าเรายังหายใจอยู่ก็ลุยให้เต็มที่   

“ถ้าต้องตายเพราะมะเร็ง ก็ขอให้เป็นการตายที่เราได้ทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว อย่ากลัวความตาย เพราะสุดท้ายเราก็ต้องตายกันทุกคนอยู่แล้ว แต่ระหว่างทางที่เราจะตาย ให้ถามตัวเองว่า เราได้ทำทุกอย่างอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง เราทำได้เท่าที่เราทำได้แล้วหรือยัง เราอดทนเท่าที่เราอดทนได้หรือยัง เรายังมีอะไรที่ค้างคา เสียใจ หรือเสียดายไหม ถ้าเราต้องตาย ก็ขอให้ตายโดยไม่มีคำว่า ‘รู้งี้…’ นั่นคือดีที่สุด”

เรียนรู้ ‘สุข’ ในจุดที่ยืน

“จ๊อบขอบคุณมะเร็งเสมอที่เข้ามาในชีวิต ถ้าวันนี้ไม่มีมะเร็ง เราอาจจะยังมึนๆ งงๆ กับชีวิต เราคงยังหาความสุขได้…ไม่ง่ายเท่าทุกวันนี้ เพราะหลังมะเร็งมาเยือน ความสุขของเราก็ Simple ขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนต้องยืนอยู่ในจุดสูงสุด ยื่นนามบัตรให้ใครแล้วต้องรู้สึก so proud ยืดได้ ต้องมีรถดีๆ ขับ ต้องมีกระเป๋าแบรนด์เนมใช้ วันนี้มันไม่ใช่อีกแล้ว ความสุขของเราทุกวันนี้คือทำสิ่งที่เราทำอยู่ในทุกวันนี้ได้พอแล้ว ได้กินอิ่ม นอนหลับ ได้ออกกำลังกาย วิ่งได้ ว่ายน้ำได้ ได้ทำงานที่ตัวเองรัก ได้ใช้ชีวิตแบบไม่ต้องตะเกียกตะกายมาก มีความสุขในจุดที่เรายืน นั่นเพียงพอแล้ว…

“ที่สำคัญ จ๊อบยังขอบคุณมะเร็งที่ทำให้เราได้เจอกับคนรัก ถ้าไม่ใช่เพราะมะเร็ง พวกเราไม่มีวันได้เจอกันแน่นอน เพราะแฟนจะเป็นหนุ่มสายปาร์ตี้ หนุ่มเจ้าสำราญมากๆ ในขณะที่เราจะเป็นผู้บริหารเนิร์ดๆ รักสุขภาพ แต่พอมะเร็งเข้ามา ทำให้แฟนเปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนรักสุขภาพ ออกกำลังกาย และเราก็ได้มาเจอกันในเพจวิ่งเพจหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นจ๊อบอยู่ระหว่างการฉายแสง แต่ยังวิ่งออกกำลังกายทุกเช้า พอดีกับทางเพจกำลังจัดกิจกรรมให้แฟนเพจแชร์รูปภาพตัวเองวิ่งที่ประทับใจ จ๊อบจึงแชร์ภาพเราหัวโล้นๆ กำลังวิ่งอยู่ และบรรยายภาพว่า ‘ช่วงนี้ไม่สบาย แต่ยังคงวิ่งอยู่’ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรู้จักกันครั้งแรก

‘ยศ-สมยศ เกียรติเรืองชัย’ คนรัก…นักสู้มะเร็ง

มะเร็งนี้…สีชมพู

“เขาทักเข้ามาทางข้อความว่า เป็นมะเร็งเหรอ แล้วจากนั้นเราก็แชร์ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจกัน เนื่องจากเขาก็เป็นมะเร็งลำไส้ โดยเพิ่งรักษาหายได้เพียง 1 ปี ก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ขึ้นมาเรื่อยๆ คนอื่นอาจจะไปเดตกันตามร้านอาหารหรูๆ แต่สำหรับคู่เราจะเดตตามสวนลุมพินี เพราะเราชอบวิ่งเหมือนกัน บางทีก็ชวนไปว่ายน้ำ ชวนกันไปปั่นจักรยาน

“เรามีชีวิตที่สนุกและมีความสุขร่วมกันอยู่ได้แค่ 1 ปี เขาก็กลับมาเป็นมะเร็งลำไส้รอบสอง ครั้งนี้เป็นระยะสุดท้าย ตอนแรกเราทุกข์…ทุกข์มาก ทำใจไม่ได้เลย เพราะรู้สึกว่าการที่คนเราจะได้มาเจอกันนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ยิ่งเป็นคนที่เคยเจอทุกอย่างมาเหมือนๆ กัน ชอบอะไรก็คล้ายๆ กันยิ่งยากไปอีก แล้วทำไมต้องเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

“แต่พอตั้งสติได้ เราก็รู้ว่าสิ่งที่เราทุกข์ไปนั้นเป็นสิ่งที่มันยังไม่ได้เกิดขึ้น เราจึงหันมาอยู่กับปัจจุบันและทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ตอนนั้นจึงบอกกับแฟนว่า ‘ก่อนคุณจะผ่าตัด (เดือนมิถุนายน 2564) คุณอยากทำอะไร หรือคุณมีความสุขกับอะไร จ๊อบจะพาคุณไปทำทุกอย่าง’ เราจะใช้เวลาที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เพราะลึกๆ จ๊อบไม่รู้ว่าเราจะได้เจอกันอีกไหม แต่เราก็พยายามจะทำทุกอย่างให้เขารู้สึกว่า เราอยู่ได้ เราไม่อ่อนแอ เขาจะได้ไม่เป็นห่วง  

“จ๊อบจะบอกเขาเสมอว่า ถ้าเรายังอยู่ ให้ยินดีกับลมหายใจที่ยังมีอยู่ อย่าทุกข์ร้อนกับความเจ็บปวด เราต้องหาให้ได้ว่า ในหนึ่งวันเรายังเหลืออะไรที่ทำให้เรารู้สึกดี หรือมีความสุข และเรายึดติดกับสิ่งนั้นไว้ อย่าไปมองสิ่งที่ไม่ดี ยิ่งเราไปโฟกัสอยู่กับมัน มันก็ไม่ได้ทำให้เราดีขึ้น หรือทำให้มะเร็งหายเร็วขึ้น ฉะนั้น เวลาที่เราอยู่ด้วยกัน จ๊อบจะไม่ถามแฟนเลยว่า วันนี้รู้สึกเจ็บตรงไหน? แต่จะชวนเขาทำอย่างอื่นที่มีความสุข หรือทักทายเรื่องอื่นๆ ไปเลย เช่น เป็นห่วงนะ พักผ่อนหรือยัง ฯลฯ

“จากวันที่หมอวินิจฉัยว่าเขาจะอยู่ได้แค่ 3 เดือน จนถึงวันนี้ก็เกือบ 8 เดือนแล้ว แม้อาการจะยังอยู่ในระยะทรงๆ แต่ลึกๆ จ๊อบก็เชื่ออย่างหนึ่งว่า เรามีสายพันธุ์นักสู้เหมือนกัน ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เขาได้ต่อสู้อย่างเต็มที่ เต็มกำลังที่สุดแล้ว และวันหนึ่งถึงเขาต้องจากไปจริงๆ จ๊อบก็จะไม่ยื้อรั้งไว้เด็ดขาด เพราะเราเข้าใจถึงความทรมานที่เขาเผชิญอยู่ และการจากไปก็อาจจะง่ายกว่า…”

#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC

แชร์ไปยัง
Scroll to Top