‘ถั่วเหลือง’ ถือเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมานาน จนทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าบริโภคถั่วเหลือง หรือแม้แต่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเองก็มีความเชื่อว่า ถั่วเหลืองจะไปกระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านม ความจริงนั้นหากศึกษางานวิจัยในต่างประเทศแล้วจะพบว่า ถั่วเหลืองนั้นไม่ได้มีฤทธิ์ในการกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งแต่อย่างใด แต่กลับมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งด้วยซ้ำไป
ถั่วเหลืองจะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ก็ต่อเมื่อเราบริโภคถั่วเหลืองแบบสกัดเข้มข้น ซึ่งทำให้ได้รับสารที่ชื่อ ‘ไอโซฟลาโวน’ (Isoflavone) ในปริมาณที่มากพอจึงจะเกิดการกระตุ้นมะเร็งนั่นเอง แต่หากกินแบบปกติ ไม่ว่าจะในรูปแบบน้ำเต้าหู้ เต้าหู้ ฯลฯ ถั่วเหลืองจะไม่กระตุ้นมะเร็งแต่อย่างใด
สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าเจ้าสารไอโซฟลาโวนในถั่วเหลืองก็คือ ในปัจจุบันนี้เราจะพบว่าถั่วเหลืองที่บริโภคส่วนใหญ่นั้นเป็นถั่วเหลืองที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม หรือที่เราเรียกกันว่า ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ (GMOs) เพื่อให้ถั่วเหลืองสร้างโปรตีนบางอย่างและช่วยให้ต้นถั่วทนต่อสารเคมีมากขึ้น เจ้าโปรตีนตัวนี้ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับมนุษย์เรา เพราะร่างกายเราตั้งแต่บรรพบุรุษมาไม่เคยได้รับโปรตีนตัวนี้จากการกินถั่วเหลือง นั่นทำให้ในปัจจุบันพบ ‘คนแพ้ถั่วเหลือง’ มากขึ้นนอกจากนี้ ความทนทานต่อสารเคมีของถั่วเหลืองยังทำให้เราพบยาฆ่าวัชพืชหรือยาฆ่าแมลงในถั่วเหลืองมากขึ้น จึงจำเป็นต้องบริโภคอย่างระมัดระวัง เพราะสารเคมีต่างๆ นั้นล้วนเป็นสารก่อมะเร็งให้กับร่างกายเราทั้งสิ้น ฉะนั้น หากเลือกแหล่งที่มาของถั่วเหลืองไม่ได้ วิธีหนึ่งที่จะช่วยลดสารเคมีในถั่วเหลืองที่อาจจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดมะเร็งก็คือการปรุงแบบโบราณ
ในอดีต เวลาเราจะทำน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองนั้น จะต้องแช่ถั่วเหลืองค้างคืนไว้ 1 คืนก่อน แล้วค่อยนำมาปั่นและบีบน้ำออกมา การแช่น้ำค้างคืนนั้นจะทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตในถั่วเหลือง ซึ่งเจ้าแบคทีเรียนี่แหละที่จะช่วยเรากำจัดยาฆ่าแมลงต่างๆ ผ่านการกินและย่อยสลาย ฉะนั้น ก่อนจะนำถั่วเหลืองเข้าเครื่องปั่น บด หรือคั้นแยกกากนั้น นำถั่วเหลืองมาแช่น้ำไว้สักหนึ่งคืนก่อน เพื่อให้แบคทีเรียเจริญเติบโตและย่อยสลายสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงต่างๆ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลงให้เราได้ทางหนึ่ง
แต่อย่าให้ความกลัวสารพิษ สารเคมี ยาฆ่าแมลง ฯลฯ จนถึงขั้นไม่กล้ากินอาหารต่างๆ เพราะสารพิษที่เราพบอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น กอปรกับในปัจจุบันเราไม่อาจจะเลี่ยงสารเหล่านี้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หากร่างกายเรายังแข็งแรง อวัยวะภายในเรายังแข็งแรง ตับยังทำงานได้ดี แม้เราจะรับสารหนูบ้าง รับโลหะหนักบ้าง ร่างกายก็ยังสามารถขับสารเหล่านี้ออกจากร่างกายได้ หัวใจสำคัญของการกินให้ห่างมะเร็งก็คือกินอาหารที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่ากินซ้ำๆ จำเจ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งบางคนมีความเชื่อว่า ปลาทะเลจะช่วยต้านมะเร็ง จึงงดเนื้อสัตว์ หันไปกินปลาทะเล กินทุกมื้อ กินทุกวัน ปรากฏว่าพอผลตรวจเลือดออกมา กลับพบปรอทหรือโลหะหนักสูงกว่าคนทั่วไป หรือแม้แต่ข้าวสารที่เรากินทุกวันก็ควรเปลี่ยนยี่ห้อไปเรื่อยๆ อย่ายึดติดอยู่ที่ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาเคยพบเคสผู้ป่วยท่านหนึ่งมาด้วยอาการมีสารหนูในร่างกายปริมาณมาก หาสาเหตุอยู่นานจนไปพบว่า ข้าวสารที่เขากินเป็นประจำนั้นมีสารหนูเจือปนอยู่ในปริมาณเกินกำหนด ซึ่งข้าวที่ว่านี้มียี่ห้อและวางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์ชั้นนำทั่วไปด้วย สำคัญกว่านั้นควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่หุ้มห่อมากับโฟมหรือพลาสติกเป็นประจำ เพราะสิ่งเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค ‘มะเร็งเต้านม’ และ ‘มะเร็งต่อมลูกหมาก’ ให้เราอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ฉะนั้น หากถามว่าผู้ป่วยมะเร็งกิน ‘ถั่วเหลือง’ ได้หรือไม่ คำตอบคือ กินได้ เพียงแต่เราต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาของถั่วเหลือง เช่น แหล่งที่ปลูกถั่วเหลือง หรือการปลูกถั่วเหลืองนั้นๆ ฯลฯ หากเราเลือกได้ก็ควรเลือกถั่วเหลืองที่ปลอดสารเคมี หรือถ้าเลือกไม่ได้ก็หาวิธีการลดสารเคมีในถั่วเหลืองก่อนนำมาบริโภคให้ได้มากที่สุด เช่น วิธีการปรุงแบบโบราณดังที่ยกตัวอย่างข้างต้น ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากมะเร็งได้ทางหนึ่ง