เสพติดความหวาน…ระวังมะเร็ง!

เพราะรสหวานไม่ได้เป็นแค่ศัตรูต่อความสวยของสาวๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นมหันตภัยต้นเหตุของโรคร้ายหลากหลายที่เราคาดไม่ถึง ตั้งแต่เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ไขมันพอกตับ โรคไต โรคเกาต์ โรคเหงือกและฟัน สมองเสื่อม โรคซึมเศร้า ไปจนถึงโรคมะเร็ง!   

  คงเคยได้ยินกันมานานว่า น้ำตาลคือหนึ่งในอาหารที่มะเร็งชอบ และเซลล์มะเร็งจะเติบโตได้ดีเมื่อมีอาหาร เช่น น้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ที่มักพบได้ในน้ำตาลทราย ผลไม้รสหวาน เบเกอรี ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะทำให้เซลล์มะเร็งนั้นเติบโต รวมถึงเป็นอาหารชั้นเลิศของเนื้องอก ซึ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งและการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งในร่างกายมนุษย์นั่นเอง

การกินน้ำตาลที่เกินพอดีอาจก่อให้เกิดโรคอ้วน ภาวะดื้ออินซูลิน และการอักเสบตามอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย  รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์มะเร็งได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ หลากหลายชนิด อาทิ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และมะเร็งลำไส้เล็ก ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่า ผู้หญิงที่กินขนมปังหวานและคุกกี้มากกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ เสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากกว่าผู้หญิงที่กินอาหารเหล่านี้น้อยกว่า 0.5 ครั้ง/สัปดาห์ ถึง 1.42 เท่า นอกจากปัญหาสุขภาพข้างต้น การบริโภคน้ำตาลปริมาณมากเป็นประจำอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอื่นๆ ด้วย เช่น โรคไต โรคเกาต์ โรคเหงือกและฟัน สมองเสื่อม เป็นต้น

มะเร็งชอบหวาน?!

กว่า 9 ปีที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ‘น้ำตาล’ กับ ‘กลไกการเกิดเซลล์มะเร็ง’ ซึ่งพบว่า การบริโภคน้ำตาลสูงเกินความพอดีมีส่วนกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งในร่างกายตื่นตัวและลุกลาม เพราะเซลล์มะเร็งต้องการน้ำตาลเป็นพลังงานมากกว่าเซลล์ปกติในร่างกาย ซึ่งเรียกกระบวนการแพร่กระจายของมะเร็งนี้ว่า ‘วอร์บูร์ก เอฟเฟกต์’ (Warburg Effect) ตามบุคคลสำคัญ ออตโต ไฮน์ริช วอร์บูร์ก (Otto Heinrich Warburg) นักชีววิทยาสัญชาติเยอรมัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ในปี 1931 ซึ่งพยายามศึกษากลไกการเกิดเซลล์มะเร็งมาตลอด จนทำให้ช่วงเวลา 100 ปีผ่านมา วอร์บูร์ก เอฟเฟกต์ นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สถาบันวิจัยมะเร็งทั่วโลกต่างเร่งศึกษาและตั้งประเด็นถกเถียงกันมายาวนาน แต่กลับหาสาเหตุหลักของการเปลี่ยนเซลล์ปกติเป็นมะเร็งไม่เคยพบ

จนกระทั่งในปี 2008 ศาสตราจารย์โจฮาน เทอะเวเลียน (Johan Thevelein) นักชีววิทยาโมเลกุล และทีมงาน ได้เริ่มทำโครงการศึกษาเรื่องนี้อีกครั้ง โดยใช้ ‘ยีสต์’ เป็นโมเดลศึกษา เนื่องจากลักษณะคล้ายเซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายมนุษย์ นั่นเองที่ทำให้เห็นวงจรชีวิตการเจริญเติบโตและใช้กระบวนการสลายกลูโคสเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ ซึ่งบ่งถึงความสัมพันธ์ของเมแทบอลิซึมของกลูโคส (Glucose Metabolism) กับกระบวนการเปลี่ยนผ่านเซลล์ปกติให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง

เรารู้จัก ‘น้ำตาล’ ดีพอหรือยัง?

น้ำตาลคือคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งที่มีรสหวาน ฉะนั้น ในทางวิทยาศาสตร์ น้ำตาลจะไม่ได้หมายถึงแค่น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายขาว หรือสารให้ความหวาน แต่จะเรียกรวมว่า คาร์โบไฮเดรต ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

1. คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (Simple Carbohydrates) หรืออาจเรียกว่า ‘น้ำตาลเชิงโมเลกุลเดี่ยว’ เช่น น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง ฯลฯ กลุ่มนี้รับประทานแล้ว ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูงได้ และอีกกลุ่มหนึ่งคือ สารทดแทนความหวาน ซึ่งจะมีทั้งแบบน้ำตาลสังเคราะห์ เช่น แอสปาร์แตม (Aspartame) เป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่ง มักพบได้ในอาหาร น้ำอัดลม เครื่องดื่ม อาหารแห้ง กาแฟผสม ไอศกรีม เยลลี่ และขนมหวานต่างๆ รวมถึงอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรืออาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก, ซูคราโลส (Sucralose) สารให้ความหวานแต่ไม่ให้พลังงาน มีสูตรโครงสร้างคล้ายกับน้ำตาล แต่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ แต่ยังคงให้รสชาติหวานและไม่มีรสขมติดลิ้นใกล้เคียงน้ำตาล ซึ่งองค์การอนามัยโลก รวมทั้งองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติรับรองความปลอดภัย นิยมใช้กับขนม ชา กาแฟที่โฆษณาว่าดื่มเพื่อลดน้ำหนัก ใช้ปรุงอาหารและขนมทุกชนิดที่ต้องใช้ความร้อนสูงได้ ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหรือระดับอินซูลิน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสารที่มาจากธรรมชาติในกลุ่มหญ้าหวาน (Stevia) ซึ่งเป็นสารแทนความหวานที่ดีที่สุดและเป็นธรรมชาติที่สุด ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 250-300 เท่า แต่ไม่ถูกย่อยให้เกิดพลังงานจึงทำให้มีพลังงานน้อยมาก และกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohol) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานที่สกัดจากธรรมชาติผ่านกระบวนการทางเคมี เช่น Xylitol, Erythritol เหล่านี้ถือเป็นสารทดแทนความหวาน  

2. คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrates) ถือเป็นน้ำตาลในกลุ่มที่ให้คุณค่าต่อสุขภาพ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ขนมปังโฮลเกรน หรือเมล็ดแฟลกซ์ (Flaxseed) เหล่านี้ถือว่า พรีไบโอติก (prebiotic) ซึ่งเป็นสารอาหารในแบคทีเรียดีในลำไส้ หากแบคทีเรียดีในลำไส้แข็งแรงก็จะทำให้ภูมิต้านทานแข็งแรงตามมา ฉะนั้น คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนกลุ่มนี้ รับประทานแล้วน้ำตาลในเลือดไม่ขึ้นและดีต่อสุขภาพแน่นอน

เหตุเพราะเสพติดรสหวาน

คนมากมายเข้าใจผิดว่า การรับประทานสารทดแทนความหวานแล้วไม่อ้วน! ความเข้าใจนี้ผิดมหันต์ จากการศึกษาพบว่า คนที่รับประทานสารทดแทนความหวานนั้นน้ำหนักตัวไม่แตกต่างจากกลุ่มที่รับประทานน้ำตาลปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้น หากใครคิดว่าทานสารทดแทนความหวานแทนน้ำตาลแล้วจะไม่อ้วน ต้องทำความเข้าใจกันใหม่

เพราะจริงๆ สิ่งที่ทำให้การรับประทานสารทดแทนความหวานแล้วยังน้ำหนักเกินนั้น เพราะส่วนหนึ่งยังติดความหวานอยู่ ถึงจะหันไปดื่มเครื่องดื่มที่มีสารทดแทนความหวาน แต่ก็ยังไปรับประทานอาหารอื่นๆ ที่มีรสหวานอยู่ดี ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่ชนิดของน้ำตาล แต่อยู่ที่อาการติดความหวานนี้ต่างหากที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง  

ฉะนั้น ควรรับประทานอาหารหวานแต่พอประมาณ และอย่าติดรสหวาน และควรเลือกเครื่องดื่มที่ใช้สารทดแทนความหวานที่ทำให้น้ำตาลในเลือดไม่สูงขึ้น ควบคู่กับการรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ลดการรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว  

เป็นมะเร็ง…ไม่ควรกินหวาน?

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงขยาดที่จะกินน้ำตาลกันเลยทีเดียว แม้แต่คนที่เป็นมะเร็งเอง น้ำตาลก็ยังถือว่ามีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะ ‘น้ำตาลกลูโคส’ นอกจากเซลล์มะเร็งจะใช้แล้ว เซลล์ปกติในร่างกายเรา รวมถึงเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือเซลล์ภูมิต้านทานของเราก็ต้องใช้น้ำตาลนี้เพื่อเป็นพลังงานด้วย

ความคิดนี้เริ่มมาจาก ออตโต ไฮน์ริช วอร์บูร์ก ผู้ที่สังเกตว่ามะเร็งจะมีการใช้น้ำตาลที่มากกว่าเซลล์ปกติ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะระบบการเผาผลาญในเซลล์ของมะเร็งนั้นมีความไม่คงที่และผิดปกติ จึงทำให้มีการใช้น้ำตาลที่มากกว่าเซลล์ทั่วไปนั่นเอง

สรุปได้ว่า คนเป็นมะเร็งก็สามารถกินน้ำตาลได้แต่ควรรับประทานในสัดส่วนที่เหมาะสม สำหรับคนที่เป็นเบาหวานนั้นอาจจะต้องควบคุมน้ำตาลให้ดีกว่าคนทั่วไปสักหน่อย เพราะถ้าคุมน้ำตาลไม่ดี อาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากขึ้นได้ และถ้าเป็นมะเร็งและเบาหวานพร้อมๆ กัน ก็จะทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น ดังนั้น ถ้าหากจะรับประทานอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตแล้ว ควรจะเลือกเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนดีที่สุด และควรรับประทานในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีและการรักษามะเร็งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

รู้หรือไม่…กินน้ำตาลแค่ไหนดี ?

เด็กและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 16 กรัมต่อวัน หรือเทียบได้กับน้ำตาล 4 ช้อนชา

วัยรุ่นหญิงชายอายุ 14-25 ปี ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัมต่อวันหรือเทียบได้กับน้ำตาล 6 ช้อนชา

หญิงหรือชายที่ใช้พลังงานมาก ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 32 กรัมต่อวันหรือเทียบได้กับน้ำตาล 8 ช้อนชา

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://akesisoncology.com
https://voicetv.co.th
https://www.pobpad.com
http://www.foodnetworksolution.com
https://www.posttoday.com
https://www.youtube.com
https://www.facebook.com

แชร์ไปยัง
Scroll to Top