สิริธนา หงษ์โสภณ : หากมะเร็งทำให้ทุกข์นัก ก็เอา ‘ใจ’ ไปพักไว้ที่อื่น

“เมื่อก่อนตอนที่ร่างกายแข็งแรงดี เรามักจะคิดว่าเป็นมะเร็ง = ตาย
แต่พอเราเป็นมะเร็งเข้าจริงๆ ความคิดเราเปลี่ยนไปหมด”

ข้างต้นเป็นคำกล่าวของ กอล์ฟ-สิริธนา หงษ์โสภณ นักเขียนนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน เจ้าของนามปากกา ‘ทอม สิริ’ อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมวัย 65 ปี ที่ผันตัวเองจากนักแสดงและงานเบื้องหลังเข้าสู่แวดวงน้ำหมึกมามากกว่าสิบปีแล้ว

“งานเขียนสำหรับเรามันคือชีวิต คือความสุข มันทำให้เราผ่านทุกข์ต่างๆ มาได้ รวมถึงมะเร็ง จำได้เลยว่าช่วงที่กำลังให้คีโม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ทรมานที่สุดในชีวิต เราเพิ่งเขียนนวนิยายเรื่อง ‘เถ้ารักสีกุหลาบ’ จบ กำลังเข้าสู่กระบวนการจัดทำเป็นเล่ม ทำให้เราต้องติดต่อกับสำนักพิมพ์อยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องการโปรโมตหนังสือ การเตรียมงานเล่มต่อไป ฯลฯ นั่นช่วยให้แต่ละวันของเราผ่านไปเป็นปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่โชคดีมาก เพราะมันทำให้เราไม่มัวมานั่งจมจ่อมกังวลอยู่กับมะเร็ง ไม่ฟุ้งซ่าน หรือกลัวแต่ความตาย เพราะเราเอาใจไปวางไว้กับงานที่เรารัก ถ้าไม่มีงานเขียน เราคงข้ามผ่านมะเร็งมาได้ยากกว่านี้”

เมื่อมะเร็งเข้ามาในชีวิต

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ขณะที่เธอกำลังมุ่งมั่นถ่ายทอดผลงานผ่านปลายปากกาจนกลายเป็นหนังสือที่มีแฟนนักอ่านติดตามมากกว่า 30 เรื่อง มะเร็งก็เข้ามาทักทายเธอในช่วงปลายปี 2560 

“โดยนิสัยเราเป็นคนที่ไม่ค่อยดูแลตัวเองเท่าไร ในชีวิตไม่เคยออกกำลังกาย หรือแม้แต่ตรวจร่างกายประจำปีก็ไม่เคยเลยสักครั้ง จำได้ว่าทันทีที่คลำเจอก้อนที่หน้าอกด้านซ้าย และสังเกตเห็นความผิดปกติของผิวหนังบริเวณนั้น กอปรกับมีอาการคันเล็กน้อย ก็คิดเองเลยว่ามะเร็งแน่ๆ จึงตัดสินใจไปตรวจที่โรงพยาบาล โดยชวนเพื่อนที่เป็นพยาบาลไปด้วย ระหว่างที่รอฟังผลเชื่อไหมว่า เป็นลมเลย เพราะกลัวมาก กลัวตายที่สุด ยิ่งพอฟังผลว่าตัวเองเป็นมะเร็งระยะ 3 ยิ่งเศร้ามาก จิตตกทันที

“คุณหมอสั่งให้ผ่าตัดด่วนในสัปดาห์ถัดมา ช่วงนั้นเป็นอะไรที่กังวลไปหมด แค่ข่มตาหลับในแต่ละคืนยังยาก พอถึงวันผ่าตัด นอกจากผ่าตัดเต้านมออกแล้ว คุณหมอยังต้องคว้านต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกถึง 11 ต่อม เพราะมะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว”

‘ฟันผุ’ ปัญหาที่ห้ามละเลย

หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น แผนการรักษาต่อไปก็คือ การให้เคมีบำบัดต่ออีก 16 ครั้ง และฉายแสงต่อ 30 ครั้ง แต่ก่อนกระบวนการต่างๆ จะเริ่มขึ้น สิ่งแรกที่คุณหมอกำชับให้เธอต้องทำก่อนสิ่งอื่นใดก็คือ ‘ทำฟัน’

“เพราะยาคีโมอาจจะทำให้ปากเปื่อยเป็นแผลได้ง่าย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงมากหากมีปัญหาในช่องปากขณะให้คีโม คุณหมอจึงแนะนำให้ไปจัดการฟันผุให้เรียบร้อยก่อน โอ้โห! ทรมานมาก (หัวเราะ) ต้องไปเจอหมอฟันทุกสัปดาห์ ถอนฟันทิ้งไป 7-8 ซี่ ด้วยความที่เราไม่เคยใส่ใจดูแลเลย กว่าจะเรียบร้อยก็เกือบเดือนจึงได้เข้าสู่กระบวนการคีโม ซึ่งเป็นช่วงที่จำเป็นต้องโด๊ปร่างกายอย่างหนักเพื่อให้เม็ดเลือดแข็งแรงพอที่จะให้คีโมได้ ถ้าผลเลือดไม่ผ่านจะเป็นปัญหาล่ะ เพราะแผนการรักษาของคุณหมอก็จะถูกยืดเวลาออกไป ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการรักษามะเร็งของเราเลย”

เบื่อไข่! แต่ยังไงก็ต้องกิน

อย่างที่รู้กันดีว่าช่วงการให้เคมีบำบัดนั้น ผู้ป่วยมะเร็งมักจะมีอาการข้างเคียงอย่าง ‘เบื่ออาหาร’ กันเกือบทุกคน บางคนก็มีอาการเจ็บปาก เจ็บคอ หรือมีปัญหาบริเวณฟันและเหงือกร่วมด้วย หลายคนการรับรสชาติหรือกลิ่นเปลี่ยนไป ทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้ง่าย ทำให้การกินกลายเป็นเรื่องยากลำบากไปโดยปริยาย ซึ่งเธอก็ต้องเผชิญอาการเหล่านี้เช่นกัน โดยเฉพาะอาการเบื่อไข่ขาว อาหารสำคัญและจำเป็นของผู้ป่วยมะเร็ง  

“รู้ว่าไข่ขาวช่วยเพิ่มเม็ดเลือดขาวให้กับเรา แต่การกินไข่ขาววันละ 6 ฟอง สามวันแรกก็ยังโอเค แต่วันที่ 4 เราจะเริ่มกินไม่ลง แค่เห็นก็อยากอาเจียนแล้ว ทำให้เราต้องหาทางออกอื่น ซึ่งโชคดีมากที่สมัยนี้เขามีพวก ไข่ขาวสำเร็จรูป ไข่ขาวหลอด ไข่ขาวอัดเม็ด ออกมาจำหน่ายกันมากมาย หาได้ทั้งซูเปอร์มาร์เกตและตามร้านออนไลน์ทั่วไป ช่วยให้เรากินไข่น้อยลง อย่าว่าแต่ไข่เลยนะ อาหารที่เคยชอบต่างๆ ก็ยังกินไม่ลง แค่ได้ยินคนถามว่า “เย็นนี้กินอะไรดี” แค่นั้นแหละ เราเดินหนีเลย (หัวเราะ) เพราะมันจะอาเจียนตลอดเวลา ร่างกายไม่อยากรับอาหารเลย ช่วงนั้นจึงต้องใช้วิธีปั่นดื่ม หรือไม่ก็หาเครื่องดื่มอาหารเสริมชงดื่มแทน ซึ่งมันก็ง่ายกว่าเคี้ยวกินเยอะเลย

“หลังกระบวนการให้เคมีบำบัดผ่านไปด้วยดี จากนั้นเราก็เข้ารับการฉายแสงต่ออีก 30 ครั้ง จำระยะเวลาไม่ได้แน่นอน แต่รู้สึกได้ว่าฉายแสงจนอ่อนใจ (หัวเราะ) ซึ่งโชคดีมากที่ผิวหนังเราไม่แพ้ ไม่ไหม้ดำ ไม่คัน ไม่เป็นไรเลย รวมเวลาทั้งหมดในการรักษาก็ราว 2 ปี แม้ทุกวันนี้จะมีเอฟเฟกต์หลงเหลืออยู่บ้าง เช่น แขนบวมจากการผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองออก แต่ก็พยายามนวดรีดน้ำเหลืองทุกวันตามที่คุณหมอแนะนำ และพยายามไม่ใช้งานแขนข้างซ้ายหนัก นอกนั้นสุขภาพโดยรวมก็ปกติดี”

มะเร็งตาย

จากวันที่เชื้อมะเร็งลุกลาม จวบจนวันที่โรคสงบจนถึงวันนี้ก็รวมเวลามากกว่า 3 ปีแล้ว เธอยังคงใช้ชีวิตเหมือนเดิมและมีความสุขกับการส่งต่อผลงานที่เธอรักไปถึงผู้อ่าน

“ทุกวันนี้ก็ยังเกลียดกลัวมะเร็งเหมือนเดิมนะ (หัวเราะ) ถ้าไม่เจอกันได้ตลอดไปยิ่งดี แต่ถ้าวันหนึ่งมันจะกลับมาก็พร้อมยอมรับและสู้กับมันต่อไป ไม่สติแตกแล้ว เพราะเรารู้แล้วว่าเป็นมะเร็งมันรักษาหายได้ เพียงแต่รู้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ถ้ารู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง รีบรักษาเลย อย่าลังเล ยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ ความทรมานน้อยลง จำนวนเข็มคีโมที่จิ้มก็น้อยลง ดังที่สโลแกน TBCC บอกไว้เลยว่า ‘มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาเร็ว…ก็หายได้’ นี่คือเรื่องจริง

“ทุกวันนี้เรายังต้องพบคุณหมอเพื่อติดตามผลทุกๆ สามเดือน พบคุณหมอหลายคนมากขึ้น (หัวเราะ) ทั้งคุณหมอมะเร็ง คุณหมอลำไส้ คุณหมอที่ดูแลแขน ต้องกินยาเยอะขึ้น ทั้งยาต้านฮอร์โมนซึ่งต้องกินไปตลอดชีวิต รวมถึงพวกวิตามินดีช่วยป้องกันกระดูกผุที่คุณหมอให้มา หน้าที่ของเรา คือ รักษาวินัยการกินยาและนอนพักผ่อนให้เพียงพอ จากที่เคยเขียนหนังสือยันสว่าง เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) กินอาหารอร่อยๆ อย่าไปเครียด เพราะเราไม่รู้ว่ามะเร็งจะกลับมาหาเราอีกเมื่อไหร่ ใช้ชีวิตให้มีความสุขกับทุกๆ วันดีกว่า อยู่กับคนที่เรารัก อยู่กับงานที่เรารัก ทุกข์สุข เรื่องร้าย โรคภัยเป็นเรื่องธรรมดาเข้ามาทักทาย เดี๋ยวเดียวก็จากไป เป็นได้ก็หายได้ เป็นมะเร็งเมื่อไหร่ ตั้งธงไว้ในใจเลยว่า ฉันต้องหายดี!”  

หากผู้อ่านท่านใดสนใจติดตามผลงานหรือพูดคุยกับ คุณกอล์ฟ-สิริธนา หงษ์โสภณ สามารถเข้าไปได้ที่เฟซบุ๊ก Tom siri หรือแฟนเพจ ทอม สิริ 

#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC

แชร์ไปยัง
Scroll to Top