“มะเร็งเป็นโรคสำหรับคนพิเศษ
ที่มีไว้ทดสอบ ‘จิตใจ’ ของเรา
และเมื่อเราก้าวข้ามมันมาได้
เราก็คือคนพิเศษ…”
ครูฟิล์ม-รินทราย แก้วมณีวัฒน์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ มหาวิทยาลัยบูรพา เจ้าของสถาบันโยคะ The Artists Yoga Shala และ Dance Instructor จาก Zumba Instructor Network วัย 41 ปี อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวกระยะ 2 หนึ่งในมรดกทางพันธุกรรมที่เธอไม่อาจปฏิเสธ
“เท่าที่เคยทราบมา มะเร็งเต้านมนั้นจะถ่ายทอดพันธุกรรมมาจากทางฝั่งแม่มากกว่าฝั่งพ่อ แต่สำหรับฟิล์มนั้นไม่ต้องลุ้นเลย เพราะไม่ว่าจะเป็น ‘อา’ ซึ่งเป็นน้องสาวพ่อ หรือ ‘น้า’ ซึ่งเป็นน้องสาวแม่ ต่างก็เคยเป็นมะเร็งเต้านมแล้วทั้งนั้น โดยคุณอาเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่ปี 2548 หลังการผ่าตัดแล้วก็ยังใช้ชีวิตปกติจนถึงปัจจุบัน สำหรับคุณน้า แม้จะเป็นมะเร็งเต้านมทีหลังฟิล์ม แต่มาเจอในระยะ 4 แล้ว ทำให้ยิ่งรักษายาก สุดท้ายท่านก็จากไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นี่เองที่ทำให้ฟิล์มเชื่อมาตลอดว่า ตัวเองมีเซลล์มะเร็งที่เป็นเหมือนสารตั้งต้นอยู่ในตัวมาตั้งแต่เกิด เมื่อมีปัจจัยบางอย่างไปกระตุ้นถูกจุด ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิต อาหาร ความเครียด สภาพแวดล้อม ฯลฯ มะเร็งก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก”
ปฐมบทแห่งมรดกที่ไม่อาจปฏิเสธ
“ก่อนหน้าที่ฟิล์มจะเป็นมะเร็งนั้น เราเข้าฟิตเนสออกกำลังกายวันละ 4 ชั่วโมง ทั้งฝึกโยคะ เต้นซูมบา เวตเทรนนิ่ง ฯลฯ ด้วยความที่น้ำหนักขึ้นไม่หยุด จนหมอที่ดูแลถามว่า ‘จะช่วยเหลือตัวเองหรือให้หมอช่วยดี ถ้าไม่ดูแลตัวเองอย่างนี้ อีกสามปีมาเอายาเบาหวานไปกินได้เลยนะ’ นั่นทำให้เราหันมาออกกำลังกายอย่างจริงจังเรื่อยมา กระทั่งวันหนึ่งหลังออกกำลังกายเสร็จแล้ว เราก็อาบน้ำที่ฟิตเนส ระหว่างที่มือเราถูสบู่ไป ก็ไปสะดุดก้อนอะไรสักอย่างที่หน้าอกด้านขวาจังหวะนั้นก็เกิดความสงสัยขึ้นมา แต่ด้วยความที่มันไม่มีอาการเจ็บใดๆ ก็ชะล่าใจ ยังไม่ไปหาหมอในทันที ปล่อยทิ้งไว้กว่า 2 เดือน ค่อยไปหาหมอ
“หลังจากหมอตรวจแล้วก็ส่งอัลตราซาวด์และแมมโมแกรม ผลจากแมมโมแกรมพบค่า BIRADS 5 นั่นหมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงสุด คุณหมอจึงสั่งเจาะชิ้นเนื้อ (Needle Biopsy) เพื่อตรวจหามะเร็งในวันนั้น แต่ต้องรอผลกว่า 1 สัปดาห์ ปรากฏว่า ผลครั้งแรกออกมาว่า ไม่เจอเชื้อมะเร็ง
“แต่ด้วยผล BIRADS ที่สูง ทำให้คุณหมอเรียกให้กลับมาเจาะชิ้นเนื้ออีกครั้ง โดยระหว่างที่รอผลอีก 1 สัปดาห์ ด้วยความอยากรู้ เราจึงลองไปตรวจมะเร็ง โดย การเจาะดูดเซลล์ (Fine Needle Aspiration : FNA) ซึ่งเป็นการตรวจพิสูจน์ระดับเนื้อเยื่อกับ นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ขณะนั้นท่านเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งจะมาลงตรวจที่ ‘คลินิกพบหมอ’ ในชลบุรีทุกวันพุธ เราก็ไปหาท่าน และไม่กี่วันหลังจากนั้น ผลก็ออกมาว่า ‘เราเป็นมะเร็ง’
“คืนนั้นเรากำลังทำโอทีอยู่ที่ออฟฟิศ พอทางคลินิกโทรมาแจ้งผล ความรู้สึกเราเหมือนฟ้าถล่มแผ่นดินทลาย ทำอะไรไม่ถูก กลัวตายมาก นั่งร้องไห้อยู่คนเดียวจนเกือบ 5 ทุ่ม พอตั้งสติได้ก็โทรตามแฟนมาอยู่เป็นเพื่อน และเสิร์ชหาข้อมูลใน google ว่า ในเมืองไทยนี้หมอคนไหนบ้างที่รักษามะเร็งเต้านมเก่งๆ นั่งเสิร์ชอยู่สักพักใหญ่ๆ ในหัวก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า เราจะหาไปทำไม ในเมื่อเราก็ไม่ได้มีตังค์มากมาย และสุดท้ายเราก็ต้องกลับใช้ประกันสังคมอยู่ดี พอคิดได้ดังนั้นก็ชวนแฟนกลับบ้าน
“เช้าวันรุ่งขึ้น ทางโรงพยาบาลก็โทรมาเรียกให้ไปฟังผลชิ้นเนื้อ ซึ่งวันนั้นเราก็ทราบอยู่แล้วว่า ตัวเองเป็นมะเร็ง แต่ก็ยังไม่บอกคุณหมอ และปรากฏว่าผลชิ้นเนื้อในวันนั้นก็ยังออกมาว่าไม่พบมะเร็งอีก หมอจึงตัดสินใจขอตัดก้อนนั้นไปตรวจเลย หลังผ่าตัดก้อนทั้งก้อนไปตรวจ ผลก็ไม่ผิดจากที่คิด ก็คือเราเป็นมะเร็งเต้านมจริงๆ”
ไม่ลุกลาม แต่บานปลาย
“หลังผลตรวจก้อนเนื้อออกมา คุณหมอปองทิพย์ (ผศ. พญ.ปองทิพย์ อุ่นประเสริฐ) รีบนัดคิวเพื่อทำการตัดเต้านมทิ้งทั้งเต้า พร้อมแนะนำให้เลาะต่อมน้ำเหลืองด้วย เพราะก้อนที่ผ่าตัดออกมานั้นมีขนาดกว่า 3.2 เซนติเมตรแล้ว คุณหมอสันนิษฐานว่าน่าจะลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองอย่างแน่นอน แต่ด้วยความที่เราพอรู้มาว่า การเลาะต่อมน้ำเหลืองออกนั้นจะมีเอฟเฟกต์ที่ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของเราแน่ๆ เพราะเราชอบออกกำลังกาย ซึ่งการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกไปนั้น เราอาจจะยกของหนักไม่ได้ตลอดชีวิต เพราะจะมีภาวะแขนบวม นอกจากนี้ แขนข้างนั้นยังเจาะเลือดไม่ได้ หรือวัดความดันไม่ได้ ฯลฯ เราจึงขอตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลด้วยการฉีดสีก่อน แต่คุณหมอก็ยืนยันว่า “ไม่ต้องตรวจหรอก ก้อนมันใหญ่ มันน่าจะลามไปแล้วล่ะ และค่าตรวจเซนติเนลมันแพง เป็นหมื่นนะ ที่นี่ก็ไม่มีด้วย ต้องส่งห้องแล็บอีก
“แม้ตอนนั้นเราจะยินยอมจ่ายค่าตรวจ แต่คุณหมอก็ยังยืนยันเหมือนเดิม เราก็ปล่อยเลยตามเลยตามคำแนะนำของหมอ หลังการผ่าตัดเต้านมทิ้งทั้งเต้า และเลาะต่อมเหลืองออก 12 ต่อมแล้ว ก็พบว่าเราเป็นมะเร็งระยะ 2 ที่ยังไม่ลุกลาม ยอมรับว่าเสียดายอยู่ลึกๆ เพราะแขนข้างขวาของเราจะใช้งานได้ไม่ปกติไปตลอดชีวิต แต่ก็ย้อนกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว จึงได้แต่คิดว่า เสียอวัยวะดีกว่าเสียชีวิตล่ะน่า! โชคดีกว่านั้นก็คือ กว่า 5 ปีที่ผ่านมา เรายังไม่พบภาวะแขนบวมเลย เพียงแต่ต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากเท่านั้นเอง
“หลังจากผ่าตัดเสร็จก็เข้าสู่กระบวนการให้คีโม 4 เข็ม โดยเว้นระยะห่างกัน 21 วัน จำได้ว่าช่วงนั้นแม้คุณหมอจะห้ามพบเจอผู้คนก็ตาม เพราะภูมิคุ้มกันเราต่ำ แต่เราก็ยังมาทำงานตามปกติ เนื่องจากอยู่บ้านแล้วไม่รู้จะทำอะไร กอปรกับช่วงนั้นร่างกายเราก็ค่อนข้างปกติ กินได้ นอนหลับ แทบไม่มีอาการแพ้คีโมใดๆ เลย นอกจากผมร่วงช่วงการให้คีโมเข็ม 3 และเล็บดำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
จากผู้ป่วยสู่เส้นทาง ‘ผู้ให้’ ไม่สิ้นสุด
“หลังให้คีโมจบ เราตระหนักได้ว่ามะเร็งมาเตือนเราแล้วว่า ชีวิตเรานั้นสั้นนิดเดียว ความตายมันใกล้เข้ามาทุกขณะ เราไม่รู้จะตายวันไหน นั่นจุดประกายให้เราออกล่าความฝันที่ยังค้างคาคือการเป็นครูโยคะ คิดได้ดังนั้นก็แบกเป้ขึ้นหลัง ไปทั้งๆ ที่หัวยังเกรียน นมก็มีแค่ข้างเดียว บินลัดฟ้าไปยัง หฤษีเกศ (Rishikesh) เมืองต้นกำเนิดโยคีและศาสตร์โยคะโลกในประเทศอินเดียเพื่อไปสานฝันการเป็นครูโยคะให้สำเร็จ
“เพราะลึกๆ เรารู้ว่าโยคะนั้นมีประโยชน์ ทุกครั้งที่อยู่บนเสื่อโยคะ นอกจากการผ่อนคลายทางด้านร่างกายแล้ว จิตใจของเราเองก็สงบลงอย่างเห็นได้ชัด เราได้เรียนรู้ร่างกายไปพร้อมกับส่วนลึกข้างในจิตใจ เราเห็นถึงความใจร้อน ขี้หงุดหงิด ความเครียดในตัวเราเอง เราได้อยู่กับตัวเองอย่างจริงจัง และเรียนรู้ที่จะปล่อยวางทุกอย่าง
“ยิ่งพอมาเป็นมะเร็ง เรายิ่งตระหนักได้ว่า เงินนั้นไม่ใช่คำตอบของชีวิต การมีเงินเยอะๆ ไม่ได้ทำให้เราพบความสุขที่แท้จริง แต่เวลาที่เราจะอยู่คนที่รัก สิ่งที่เรารักต่างหากที่ทำให้เรามีความสุข จากเดิมที่ชีวิตนี้มีแต่งาน งาน และงาน เราก็เริ่มมองหาความสุขใส่ตัว
“หลังจากกลับจากอินเดีย เราก็สานฝันต่อด้วยการเปิดสถาบัน The Artists Yoga Shala ขึ้นที่ตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี โดยตั้งใจให้เป็นพื้นที่เล็กๆ สำหรับรวมพลพรรคคนรักโยคะมาแลกเปลี่ยน แบ่งปัน เมาท์มอยประสบการณ์ กระทั่งเป็นแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน ภายใต้ความเชื่อ (มั่น) ที่ว่า ตัวเราเองคือหมอที่ดีที่สุด ร่างกายเป็นของเรา จิตใจเป็นของเรา เราอยู่กับมันมาตั้งแต่เกิด ฉะนั้น คนที่รู้จักตัวเราดีที่สุดก็คือตัวเราเอง
“ด้วยความตั้งใจนี้เองที่ทำให้กำไรจาก The Artists Yoga Shala ไม่ใช่ตัวเงิน แต่คือสุขภาพที่ดีและเวลาที่เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก รวมถึงมิตรภาพดีๆ ที่เงินหาซื้อไม่ได้ บางคนมาในฐานะลูกศิษย์ แต่กลับสอนอะไรเราหลายอย่าง บางคนมองเราเป็นแรงบันดาลใจ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงบันดาลใจกลับมาให้เรา และอีกมากมายที่เข้ามาทำให้เรารู้คุณค่าของการมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่น มีความสุขกับการได้แบ่งปันสิ่งที่เรารัก ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลให้ ‘ครูโยคะ’ เป็นอาชีพที่เราคิดจะทำไปตลอดชีวิต…จนกว่าจะไม่ไหว”
เรียกคืน ‘ความมั่นใจ’ ที่หายไป
“หลังกลับมาจากอินเดียได้ไม่นาน ก็ถึงเวลาที่เราอยากจะเรียกคืนความมั่นใจที่หายไปกว่า 2 ปี คืนมา นั่นก็คือหน้าอกข้างซ้าย ด้วยตอนที่ผ่าตัดเต้านมทิ้งนั้น ฟิล์มบอกให้คุณหมอช่วยผ่าตัดแบบพร้อมที่จะเสริมสร้างให้ด้วย คุณหมอก็คว้านเนื้อตรงกลางออก เหลือไว้เพียงเต้าที่มีปล่องเหมือนภูเขาไฟ และคุณหมอแนะนำให้รอ 2 ปีเพื่อให้แผลเข้าที่ก่อน
“พอครบกำหนด เราก็ไปหาคุณหมอตามนัด โดยคุณหมอแจ้งไว้ว่าจะมีการผ่าตัดร่วมกับคุณหมออีกท่านหนึ่ง แต่จนแล้วจนรอดคุณหมอก็หาคิวตรงกันไม่ได้สักที เพราะติดธุระบ้าง ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ้าง ฯลฯ ระหว่างที่รอคอยอย่างไม่มีกำหนดอยู่นั้น เราจึงลองเสิร์ชคำว่าเสริมสร้างเต้านมใน Google ไปเรื่อยๆ แล้วเจอคุณหมอท่านหนึ่งซึ่งเรารู้สึกคุ้นหน้าท่านมาก
“นึกไปนึกมาก็จำได้ว่า อ๋อ หมอคนนี้นี่เองที่จบจากประเทศอิตาลี คนที่รักษาพี่แหวน ธิติมา คนที่เราเจอใน google ในวันแรกที่เรารู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง และอยากจะไปรักษากับเขา พอรู้ว่าคุณหมอชื่อ นายแพทย์วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ เราก็ตามหาตัวเลยจนได้มาเจอเพจ เพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by DrBua ดีใจมาก รีบกดติดตามทันที หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสรู้จักพูดคุยกับพี่ๆ ที่เคยเป็นผู้ป่วยของคุณหมอหลายๆ คน จนได้คำแนะนำให้ไปพบคุณหมอ
“ตอนนั้นเราก็ทำ ‘บัตรศิริราชออนไลน์’ และนัดหมายจนได้คิวพบคุณหมอ ก่อนจะเดินทางจากชลบุรีเข้ามาที่โรงพยาบาลศิริราช วันแรกที่เจอคุณหมอบัวนั้น ถ้าถามว่ามีเงินไหม? ไม่มีหรอก (หัวเราะ) วิธีเดียวที่เราใช้ตอนนั้นก็คือการอธิษฐานอย่างเดียว (หัวเราะ) ยกมือขึ้นท่วมหัวขอในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วยหนูที ขอหลวงพ่อโสธรช่วยหนูที ขอคุณหมอช่วยหนูที ฯลฯ
“พอถึงคิว คุณหมอก็ตรวจดูแผล และท่านก็ถามว่า อยากทำแบบไหน เราก็ตอบว่า แล้วแต่คุณหมอเลยค่ะ คุณหมอก็บอกว่า งั้นใส่ซิลิโคนไหม เดี๋ยวหมอออกค่าผ่าตัดให้ พอมีเงินจ่ายค่าซิลิโคนหมื่นสองหมื่นบาทไหม ยังไม่เท่านั้น มีนิสิตแพทย์ท่านหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องนั้นถามขึ้นว่า คนไข้มีสวัสดิการอะไรมารักษาพยาบาลที่นี่หรือเปล่าคะ เราก็บอกว่า ไม่มีค่ะ มาเองค่ะ พอคุณหมอได้ยินดังนั้น ท่านก็เรียกให้นอนลงอีกครั้ง แล้วก็มาจับที่พุง ก่อนจะถามขึ้นว่า ย้ายพุงมาทำนมไหม เพื่อจะช่วยให้เราไม่ต้องเสียค่าซิลิโคน โอ้โห! เราแทบจะลงไปนั่งกราบคุณหมอเลย
“ก่อนจากกันวันนั้น คุณหมอก็ถามเราว่า รู้จักหมอได้อย่างไร เราก็ย้อนความหลังตั้งแต่วันแรกที่เป็นมะเร็งให้ท่านฟังทันที เล่าไปก็ร้องไห้ไป แต่การร้องไห้ครั้งนั้นเป็นการร้องไห้ด้วยความตื้นตัน ที่เราได้มาเจอคุณหมอแล้วจริงๆ จำได้ว่าท่านมาตบที่ไหล่เบาๆ แล้วบอกว่า ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวหมอดูแลให้อย่างดี ไม่ต้องจ่ายอะไรเลยนะครับ เดี๋ยวหมอเอาเข้ามูลนิธิให้เลย”
วันที่สองเต้ากลับมาเท่ากัน
“สามเดือนผ่านไป ก็ถึงวันผ่าตัดย้ายไขมันที่หน้าท้องไปเสริมสร้างเต้านมด้านขวา ซึ่งใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมงเต็ม เราตื่นมาพร้อมหน้าอกใหม่ที่รอคอย แต่ต้องนอนพักฟื้นอยู่บนเตียงนานกว่า 2 สัปดาห์ คุณหมอไม่อนุญาตให้ลงจากเตียงเลย เนื่องจากเราเสริมสร้างเต้านมด้วยเทคนิค TRAM flap (Transverse Rectus Abdominis Myocutaneous flap) ก็คือ การนำกล้ามเนื้อและผนังหน้าท้องมาใช้เพื่อเสริมสร้างเต้านม จึงต้องผ่าตัดตั้งแต่เอวซ้ายถึงเอวขวา เพื่อเปิดผนังหน้าท้องและมีการเย็บท้องหลายชั้น รวมถึงเย็บเส้นเลือดต่อกัน
“แต่นอนได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็ขอคุณหมอลงมาเดินข้างเตียง เพราะทนนอนดูขาตัวเองลีบเล็กลงทุกวันไม่ไหวแล้ว คุณหมอก็อนุญาต แต่ทันทีที่เท้าเราแตะพื้น มันเหมือนไฟช็อตแปร๊บบบบบ… น้ำตาไหลออกมาทันที ตอนนั้นแหละที่เราสัญญากับตัวเองว่า ชาตินี้ฉันจะไม่ขี้เกียจเดินเด็ดขาด
“ร่างกายของเราตอนนั้นไม่ต่างอะไรจากรถที่มันจอดนิ่งๆ มาเป็นเวลานาน พอสตาร์ทเครื่องได้ มันก็ยังต้องใช้เวลาอีกสักพักเลยกว่าจะกลับมาเป็นปกติ จำได้ว่าแค่เดินเข้าห้องน้ำไม่เกิน 10 ก้าว เราเหนื่อยเหมือนวิ่งมาราธอนเลย เวลาเดินก็เหมือนคนแก่ ต้องก้มตัวเดินไปเรื่อยๆ เพราะตึง ปวดหลัง พยาบาลต้องเอา Triflow (Tri ball incentive spirometer) ซึ่งเป็นเครื่องบริหารปอดชนิดควบคุมการไหลเข้าของอากาศมาให้เราเป่าทุกวัน เพราะตอนผ่าตัดเราสลบไป 6 ชั่วโมง การทำงานของปอดและหัวใจก็จะไม่ปกติ นอกจากนี้ เราก็พยายามหาวิธีที่ทำให้ปอดและหัวใจกลับมาทำงานให้ปกติเร็วที่สุด ด้วยการฝึกหายใจแบบโยคีเหมือนตอนที่เราไปเรียนโยคะที่อินเดีย ด้วยเทคนิคปราณายามะ (Pranayama) และร้องเพลงเพื่อบริหารปอดไปด้วย
“หลังพักฟื้นผ่านไป เราก็กลับมาทำงานตามปกติ แถมยังไปสอนโยคะอีกด้วย แม้จะยังเดินเหมือนคนแก่อยู่กว่า 2 เดือนเต็มก็ตาม กระทั่ง 6 เดือนผ่านไป เราก็เริ่มทำสะพานโค้งได้ และเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ
“แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดปัญหากับเต้านมข้างที่ทำมา เพราะมันแข็งขึ้นมาเป็นไต เป็นก้อน พอไปเอกซเรย์ แมมโมแกรมตามที่หมอนัด ปรากฏว่ามันเป็นก้อนไขมันตาย หมอก็ถามว่า อยากเอาออกไหม หมอเอาออกให้ เราก็บอกว่า ได้ค่ะ
“หลังตัดก้อนมะเร็งออกไปและย้ายไขมันไปทำนม นั่นจึงเป็นการผ่าตัดครั้งที่ 3 และ 4 ในชีวิต คือ ตัดก้อนไขมันที่ตายออกไป 2 จุดที่เต้านมข้างขวา และลดขนาดข้างซ้าย ยกกระชับ ตัดปานนม เพื่อให้ได้เต้านมสองข้างที่สมดุลกันที่สุด ซึ่งคุณหมอทำให้ฟรีทั้งหมดเลย”
ไม่มีใครอยากใส่เสื้อคอกลมไปตลอดชีวิต
“ที่ผ่านมาคนมักจะถามว่า ทำไมเราต้องไปเสริมหน้าอกด้วย ไม่กลัวมะเร็งจะกลับมาเหรอ บอกตรงๆ ว่าคำถามนี้ เราก็อธิบายไม่ถูกหรอก ต้องลองให้คนถามมีนมข้างเดียวดู…ถึงจะรู้ ด้วยความที่เราเป็นผู้หญิง การมีนมข้างเดียว มันเหมือนมีดกรีดที่หัวใจอยู่ ที่สำคัญหน้าอกของเราไม่ได้เล็ก ทำให้การมีนมข้างเดียว มันไม่บาลานซ์ และการใส่ก้อนเต้านมเทียมก็ทดแทนไม่ได้ ยิ่งทำให้เราไม่มั่นใจ เสียบุคลิกเข้าไปใหญ่
“เพื่อนคนหนึ่งที่เป็นมะเร็งเต้านมเคยพูดไว้ว่า เราไม่สามารถใส่เสื้อคอกลมไปตลอดชีวิต คำพูดนี้มันโดนใจคนมีนมข้างเดียวมาก เพราะเวลาที่เราไปงานเลี้ยงหรือไปงานแต่งงานของเพื่อน แน่นอนว่าเราก็อยากแต่งตัวสวยๆ เหมือนคนอื่นบ้าง จะให้เรามาใส่เสื้อปิดคออยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่อยากให้ใครรู้ว่ามีนมข้างเดียวก็คงไม่ได้
“ยิ่งในบทบาทของครูโยคะ เวลาที่เราต้องสอนลูกศิษย์ เราต้องก้มๆ เงยๆ อยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่า ก้อนเต้านมเทียม มันไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งที่ควรจะอยู่ได้ตลอดเวลา บางทีเราต้องเอามือของเรากดมันลงอยู่เรื่อยๆ มันก็เสียบุคลิก บางท่าโยคะก็ทำให้นักเรียนเห็นหมดเลย ยิ่งทำให้เราไม่มั่นใจหนักขึ้นไปอีก สิ่งเหล่านี้ ต่อให้อธิบายอย่างไรก็คงไม่เข้าใจ จนกว่าเขาจะมีนมข้างเดียว นั่นแหละเขาจึงจะรู้ซึ้ง…”
มุมมองต่อมะเร็งในวันนี้
“ไม่มีใครไม่กลัวความตาย ฟิล์มเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้วันนี้จะผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว แต่ถามว่ายังกลัวมะเร็งไหม ฟิล์มก็ยังกลัวมะเร็งนะ เพียงแต่เราคิดว่าเรารับมือได้ ถ้ามันกลับมาอีกรอบ เพราะอย่างน้อยครั้งนี้เรามีประสบการณ์และความรู้ที่คอยรับมือกับมัน ฉะนั้น หากมะเร็งกลับมา ก็แค่สู้กันไปให้ถึงที่สุด เพราะเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง เราก็จะไม่เสียดาย เพราะเราทำอย่างดีที่สุดแล้ว
“ฟิล์มรู้สึกว่า คนที่กลัวมะเร็งจนเกินไป เพราะเขาลืมความจริงข้อหนึ่งว่า ไม่มีใครบนโลกนี้ไม่ตายหรอก แต่จะตายอย่างไร ตายเมื่อไรเท่านั้นเอง ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่จะก้าวข้ามมะเร็ง คือ ต้องเอาชนะความกลัวที่อยู่ในใจเราให้ได้เสียก่อน ไม่มีอะไรในโลกนี้จะยากไปกว่าการเอาชนะใจตัวเองอีกแล้ว แต่เมื่อไรที่เราเอาชนะใจตัวเองได้ ทุกอย่างก็จะง่ายไปหมด แม้แต่มะเร็งก็ตามเถอะ
“ทุกวันนี้ นอกจากจะขอบคุณตัวเองที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจนเป็นเหมือนบุญเก่าสะสมไว้ใช้ในยามป่วย ซึ่งช่วยให้เราฟื้นตัวเร็ว พร้อมที่จะรับมือกับการรักษาและโรคที่เป็นแล้ว ฟิล์มก็มักจะขอบคุณมะเร็งอยู่บ่อยครั้งที่มาเตือนสติเราให้เราได้ตระหนักว่า เราควรใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร เพราะเวลาของเรานั้นแสนสั้น เอาเวลาที่จะหงุดหงิดกับคนหรือเครียดกับสิ่งต่างๆ ไปหาความสุขใส่ตัวและอยู่กับคนที่เรารักดีกว่า…คุ้มค่ากว่าเยอะ
“ท้ายที่สุดนี้ ฟิล์มขอกราบขอบพระคุณคุณหมอและทีมแพทย์ บุคลากรทุกท่าน โดยเฉพาะคุณหมอบัว (นายแพทย์วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์) ที่ให้ชีวิตใหม่เราได้กลับมายืนในสังคมอย่างมั่นใจอีกครั้ง ขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้แบ่งปันร่างกายนี้ เป็นกรณีศึกษาให้แก่นิสิตแพทย์ศิริราชพยาบาลได้ศึกษาเรียนรู้ร่างกายของเราเพื่อไปรักษาผู้อื่นต่อไป เราเคยคิดที่จะบริจาคร่างกายเมื่อเสียชีวิต แต่ทางโรงพยาบาลมีข้อจำกัด ไม่รับผู้ป่วยโรคมะเร็ง วันนี้เราได้เป็นอาจารย์ใหญ่ที่ยังมีลมหายใจแล้ว
#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC