6 ภารกิจเปลี่ยน ‘เหยื่อ’ มาเป็น ‘ผู้ล่า’ มะเร็งเต้านม

เดือนนี้ TBCC ขอท้าทายสาวๆ ให้พลิกบทบาทจาก ‘เหยื่อ’ มาเป็น ‘ผู้ล่า’ ผ่าน 6 ภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านมตัวร้าย ศัตรูหมายเลขหนึ่งของผู้หญิงไทยวัย 20 ปีขึ้นไปทุกคน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีเต้าและยังไม่อยากกลายเป็นเหยื่อ! เชิญล้อมวงกันเข้ามา เรามีภารกิจสำคัญมอบหมายให้คุณ (ต้อง) ทำ! เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือรักษาสองเต้าให้ยังอยู่กับเรา…ตลอดไป

ภารกิจที่ 1 สองเต้า…เราต้องรู้!

สาวๆ มากมายมักกลัวการเป็นมะเร็งเต้านม แต่กลับละเลยการดูแลเต้านมตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย บางคนอาจจะดูแลบ้างนานๆ ครั้ง และอีกมากมายก็ดูแลเต้านมเป็นรายปี รอให้ถึงเทศกาลตรวจสุขภาพประจำปี ถึงจะไปทําแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านมสักที พอเป็นโรคขึ้นมาก็ฝากความหวังไว้กับยา ฝากชีวิตไว้กับหมอ หรือรอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่จริงๆ แล้ว คนที่สามารถตัดตอนวงจรมะเร็งเต้านมได้ดีที่สุดก็คือตัวเราเอง เพราะเราอยู่กับเต้านมของตัวเองตลอดเวลาตั้งแต่เกิด ทั้งยามหลับและยามตื่น เราจึงมีโอกาสเห็นสิ่งผิดปกติของเต้านมได้ก่อนใครๆ  ฉะนั้น คนที่จะดูแลสองเต้าได้ดีที่สุดก็คือ ‘ตัวเรา’ นี่แหละ 

โดยการดูแล ‘สองเต้า’ อันดับแรกต้องเริ่มจากการทำความรู้จัก ‘โครงสร้าง’ ของเต้านมก่อน ซึ่งเต้านมของผู้หญิงนั้นจะประกอบไปด้วยต่อมน้ำนม 15-20 ต่อม ภายในจะมีต่อมน้ำนมเล็กๆ อยู่อีกจำนวนมาก ตรงปลายของต่อมน้ำนมเล็กๆ จะมีถุงเล็กเป็นแหล่งผลิตน้ำนม ซึ่งทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อถึงกันโดยท่อน้ำนมและจะไปสิ้นสุดที่หัวนม ส่วนบริเวณช่องว่างระหว่างต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมจะเป็นไขมันแทรกตัวอยู่ โดยมีกล้ามเนื้อรองรับเต้านมอยู่เหนือกระดูกซี่โครงอีกชั้นหนึ่ง

มาถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วมะเร็งเต้านมจะเกิดขึ้นที่ใด? มะเร็งเต้านมนั้นมักจะเกิดขึ้นในเซลล์ โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเซลล์ที่อยู่ในท่อน้ำนม (ductal cancer) บางส่วนเกิดขึ้นในเซลล์ที่อยู่ในต่อมผลิตน้ำนม (lobular cancer) นั่นเอง มีส่วนน้อยมากๆ ที่จะเกิดจากเนื้อเยื่ออื่นๆ

ภารกิจที่ 2 ‘ความรู้’ สู้ ‘ความกลัว’

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครั้งความกลัวของเรานั้นมักเกิดจาก ‘ความไม่รู้’ มะเร็งเต้านมก็เช่นกัน มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่กลัวมะเร็งเต้านม แต่กลับไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมเลย อาวุธสำคัญในการเป็นผู้ล่าอย่างหนึ่งคือ ความรู้ ฉะนั้น ยิ่งเรากลัวมะเร็งเต้านมมากเท่าไร เราต้องยิ่งหาความรู้เกี่ยวกับมันให้มากขึ้นเท่านั้น เมื่อเรามีความรู้มากๆ เราก็จะรู้ว่า ข้อมูลที่เคยฟังๆ มานั้น อะไรคือความเชื่อ และอะไรคือข้อเท็จจริง เช่น

ผู้หญิงอกใหญ่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงอกเล็ก ในทางการแพทย์ไม่มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าขนาดหน้าอกจะมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง เพราะส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้หน้าอกคนเรามีขนาดใหญ่นั้นเกิดจากเนื้อเยื่อไขมัน (fatty) นั่นทำให้การมีหน้าอกใหญ่หรือหน้าอกเล็กไม่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม แต่ผู้หญิงที่มีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านม (breast density) มากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ต่างหาก ที่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 4-6 เท่า

สันนิษฐานว่า สาเหตุที่ทำให้คนมักเชื่อว่า ผู้หญิงที่มีหน้าอกใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าสาวๆ หน้าอกเล็ก ก็อาจจะมาจากผู้หญิงที่มีหน้าอกใหญ่มักมีน้ำหนักเกินหรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่าคนปกติ ซึ่งความอ้วน การรับประทานไขมันสูง และขาดการออกกำลังกาย ล้วนเป็นสาเหตุที่เอื้อต่อการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงนั่นเอง ฉะนั้น กลัวอะไรให้หาความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นให้มากที่สุด แล้วเราก็จะเลิกกลัว

วามกลัวคือคุณสมบัติสำคัญของเหยื่อทุกคน
ถ้าไม่อยากเป็นเหยื่อให้รีบฆ่าความกลัวเหล่านั้น
ด้วยอาวุธที่มีชื่อว่า ‘ความรู้’ ซะ!

ภารกิจที่ 3 เฝ้าระวัง = ป้องกัน

เพราะโรคมะเร็งเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงเป็นโรคที่เราป้องกันตัวเองได้ยาก วิธีป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดก็คือ การเฝ้าระวัง หมั่นตรวจตราสิ่งผิดปกติที่จะเกิดขึ้น ถ้าไม่มั่นใจให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้เร็วที่สุด เพราะมะเร็งรู้เร็ว รักษาเร็ว โอกาสหายขาดก็ยิ่งสูง

หน้าที่สำคัญของผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปทุกคน ก็คือการตรวจคลำเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และทำความรู้จักกับเต้านมของตัวเองในฐานะเจ้าของอย่างละเอียดยิบ รู้ว่าเต้านมเรานั้นมีลักษณะอย่างไร เปลี่ยนไปอย่างไร ช่วงมีประจำเดือนจะเป็นอย่างไร ช่วงให้นมบุตรนั้นแตกต่างไปอย่างไร กระทั่งช่วงหมดประจำเดือนเปลี่ยนไปอย่างไร การคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำนี่เองที่จะทำให้เราเข้าใจและรู้ว่าเต้านมของเราในแต่ละช่วงนั้นปกติหรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่

โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจคลำเต้านมด้วยตัวเอง คือ 7-10 วัน หลังจากวันสุดท้ายของรอบเดือน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่มีการคัดตึงแล้ว ทำให้เกิดความผิดพลาดได้น้อย เริ่มจาก…

1. จับผิดด้วยตา โดยยืนหน้ากระจก ยกแขนขึ้น สังเกตความผิดปกติของเต้านมทั้งด้านข้างและด้านหน้าเต้านม เช่น การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง รอยผื่นแดง และลักษณะของหัวนม จากนั้น เอามือเท้าเอว เกร็งอกแล้วโน้มตัวไปข้างหน้า สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของผิวหนัง และรูปทรงของเต้านมว่าผิดปกติจากเดิมหรือไม่

2. สัมผัสด้วยมือ โดยใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง กดไปที่เต้านม 3 ระดับ คือ เบา กลาง และหนัก โดยกดคลึงอยู่กับที่วนเป็นวงกลมขนาดเท่าเหรียญ 10 บาท จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนนิ้วไปยังตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม รวมถึงใต้ราวนม ไหปลาร้า กระทั่งถึงใต้รักแร้ ด้วยการหมุนไปรอบๆ ตามเข็มนาฬิกา หรือวนแบบหอยจากหัวนมไปยังฐานนมก็ได้ หรือจะวนจากฐานนมเข้าหาหัวนมก็ได้ ทั้งนี้ ใช้มือขวาคลำเต้านมข้างซ้าย และใช้มือซ้ายคลำเต้านมข้างขวา

3. ใช้นิ้วพิสูจน์ เพื่อดูว่ามีสิ่งคัดหลั่งที่ผิดปกติไหลออกมาจากหัวนมหรือไม่ โดยใช้นิ้วมือรีดบริเวณฐานนมไปหาหัวนม

หากพบสิ่งผิดปกติ เช่น คลำพบก้อนที่เต้านม, มีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าออกมาเองโดยไม่ได้บีบ, หัวนมบอดที่พึ่งเกิดขึ้นภายหลัง, เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณผิวหนังเต้านม เช่น มีตุ่มแข็ง ผิวหนังนูนขึ้น หรือมีรอยผิวหนังบุ๋มลง มีก้อนในเนื้อเต้านม ผิวหนังบวมคล้ายเปลือกผิวส้ม มีแผลเรื้อรังหรือผื่นที่หัวนมและลานหัวนม หรือเต้านมบวมแดง อักเสบเรื้อรัง ฯลฯ เหล่านี้ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้ช่วยชี้ชัดว่าความผิดปกติที่เราพบนั้นเป็นอันตรายหรือไม่ 

ภารกิจที่ 4 พึ่งผู้ช่วยเฝ้าระวังเต้า!

นอกจากการตรวจคลำเต้านมด้วยตัวเองแล้ว วิธีหนึ่งที่เป็นเสมือนการป้องกันที่ดีไม่แพ้กันก็คือการพบแพทย์ เพื่อตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านมประจำปี หรือบ่อยตามที่ต้องการ เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างแม่นยำและจับความผิดปกติได้ดีกว่าการคลำด้วยตัวเอง ในกรณีที่ความผิดปกตินั้นยังไม่สามารถสัมผัสได้ เช่น ก้อนมีขนาดเล็กมากๆ จนคลำไม่เจอ เป็นต้น

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก ‘ผู้ช่วยเฝ้าระวังเต้า’ ของเราก่อน เริ่มจาก ‘แมมโมแกรม’ (Mammogram) หรือเครื่องที่ใช้ในการตรวจภาพรังสีเต้านมโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดภายในเนื้อเต้านมได้ชัดเจนขึ้น เรียกกันทั่วไปว่า การเอกซเรย์เต้านม มักใช้ตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ก่อนที่จะสังเกตเห็นอาการ รวมถึงเป็นการตรวจเต้านมเพื่อวินิจฉัยอาการที่น่าสงสัย เช่น พบก้อนในเต้านม อาการเจ็บเต้านม หรือมีสิ่งผิดปกติบริเวณหัวนม ฯลฯ  ทั้งนี้ สมาคมมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society) แนะนำให้ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยตรวจคัดกรองแมมโมแกรมทุกปี

ผู้ช่วยเฝ้าระวังเต้าตัวที่สอง คือ การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจหาความผิดปกติในเต้านม โดยส่งคลื่นเสียงไปกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ และสะท้อนผลกลับมาแสดงภาพที่เครื่องตรวจ ทำให้แยกแยะได้ว่าส่วนไหนเป็นเนื้อเยื่อปกติ ก้อนเนื้อ หรือถุงน้ำ แต่ไม่สามารถตรวจหาหินปูนได้เหมือนวิธีแมมโมแกรมหรือดิจิทัลแมมโมแกรม

การตรวจอัลตราซาวด์นี้เหมาะกับผู้ที่เต้านมมีความหนาแน่นมากและผู้ที่อายุน้อยกว่า 25 ปี แต่ยังไม่สามารถตรวจหาหินปูนได้ เป็นการช่วยทำให้แพทย์เห็นเนื้อเยื่อบริเวณเต้านม รวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์ อยู่ระหว่างให้นมบุตร และผู้ที่ผ่านการเสริมหน้าอกมาด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ช่วยเฝ้าระวังเต้าตัวที่สาม คือ การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก หรือ Breast MRI ซึ่งตรวจวินิจฉัยเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI) เพื่อสร้างภาพอวัยวะและโครงสร้างภายในร่างกายโดยละเอียด เพราะการตรวจแมมโมแกรมอาจไม่สามารถตรวจพบมะเร็งทั้งหมดได้ เนื่องจากมะเร็งบางชนิดอาจมองไม่เห็นในภาพแมมโมแกรม หรือมะเร็งอาจมีขนาดเล็กเกินไป รวมถึงอาจอยู่ในบริเวณที่มองเห็นได้ยาก ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือประวัติของรอยโรคมะเร็งเต้านมก่อนกำหนด แพทย์อาจแนะนำการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ร่วมกับการตรวจแมมโมแกรมนั่นเอง

แม้มะเร็งเต้านมหลายชนิดอาจทำให้เกิดก้อนในเต้านม แต่ก็ไม่เสมอไป ดังนั้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคัดกรองประจำปีดีที่สุด ในปัจจุบันการตรวจพบมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่นั้นมาจากการตรวจคัดกรองแมมโมแกรม ซึ่งสามารถตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก่อนที่ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวหรือมีอาการ นั่นช่วยทำให้เราสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่มะเร็งจะลุกลามบานปลาย ท่องไว้ว่ามะเร็งเต้านมรู้ไว รักษาไว ก็รักษาหายขาดได้

ภารกิจที่ 5 ระวัง! อย่าพาเต้าไปเสี่ยง

แม้จะยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ แต่ในปัจจุบันก็พบว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดมะเร็งเต้านมคือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงไปทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมให้มีการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนมากผิดปกติ โดยในภาวะปกติร่างกายของผู้หญิงจะอาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจนในการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายตามระยะการเจริญพันธุ์ เช่น การเข้าสู่วัยสาว การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ การเข้าสู่วัยทอง เป็นต้น

ในผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานานๆ เช่น ผู้ที่เริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อยกว่า 12 ปี, ผู้ที่หมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปี, การได้รับยาคุมกำเนิดต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 ปี, มีบุตรช้าหลังอายุ 30 ปี หรือไม่มีบุตร, การได้รับฮอร์โมนทดแทนรักษาอาการวัยทอง ล้วนแต่ทำให้เซลล์เต้านมถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนอย่างต่อเนื่อง กอปรกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น กลไกการซ่อมแซมหรือกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติของร่างกายทำหน้าที่ได้น้อยลง จึงเกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์จนกลายเป็นมะเร็งเต้านมในที่สุด

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว การรักษาสุขภาพ ไม่ว่าจะนอนหลับให้เพียงพอ การออกกำลังกาย รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จึงเป็นสิ่งจำเป็นในทุกๆ ช่วงวัย สำคัญที่สุดก็คือเราจำเป็นต้องรู้ว่า ในอาหารหรือยาใดๆ ก็ตามที่จะเข้าสู่ร่างกายเรานั้นมีสารอะไรบ้าง และในสารเหล่านั้นมีผลไปกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมในตัวเราบ้างไหม เพื่อเราจะได้ไม่พาสองเต้าไปเสี่ยงกับมะเร็งเต้านมนั่นเอง

ภารกิจที่ 6 ยอมรับแล้วรีบรักษา

สิ่งแรกที่ผู้หญิงทุกคนต้องรู้คือ ก้อนในเต้านมนั้นอาจจะไม่ใช่ก้อนมะเร็งเต้านมเสมอไป เพราะปกติเซลล์มะเร็งเต้านมจะก่อตัวเป็นเนื้องอกโดยเริ่มในท่อที่นำน้ำนมไปที่หัวนม เราเรียกว่า ‘มะเร็งท่อน้ำนม’ บางส่วนเริ่มต้นในต่อมที่สร้างน้ำนม หรือที่เราเรียกว่า ‘มะเร็งต่อมน้ำนม’ นอกจากนี้ก็ยังมีมะเร็งเต้านมประเภทอื่นๆ ที่พบได้น้อยมาก เช่น ก้อนเนื้องอกชนิดกึ่งมะเร็ง (phyllodes tumor) และมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (angiosarcoma)

ขณะที่การเกิดเนื้องอกในเต้านมที่ไม่ใช่มะเร็งนั้นเป็นการเติบโตที่ผิดปกติ แต่จะไม่แพร่กระจายออกไปยังอวัยวะอื่นๆ และไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็อย่าชะล่าใจ! เพราะเนื้องอกบางชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งเต้านมได้ ฉะนั้น เมื่อพบก้อนใดๆ ก็ตาม อย่ามัวกลัว อย่ารอเวลา อย่าลังเลที่จะเข้ารับการรักษา

สาวๆ มากมายที่เจอก้อนแล้วมักกลัวที่จะหาหมอ กลัวเป็นมะเร็ง กลัวนั่น กลัวโน่น กลัวนี่ แล้วปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยใช่เหตุ สุดท้ายจากที่ไม่เป็นมะเร็งก็กลายเป็นมะเร็ง จากมะเร็งระยะ 1 ผ่านไปแค่เดือนเดียวกระโดดไปเป็นระยะ 3 ก็มี ฉะนั้น เมื่อเจอแล้ว ยอมรับ และรีบรักษาดีที่สุด เพราะทุกวินาทีมีค่าและเดิมพันด้วยสองเต้าของเราเอง

จำไว้เสมอว่า “แม้เพลี่ยงพล้ำ ใช่ว่าพ่ายแพ้

ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ เราไม่ได้พ่ายแพ้ต่อมะเร็งเต้านม แต่เราแค่ผิดพลาด พลั้งเผลอ หรือเพลี่ยงพล้ำให้กับมะเร็งเต้านมเท่านั้น ฉะนั้น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกคน เมื่อเป็นมะเร็งเต้านม และแม้จะตัดเต้านมออกเหลือเพียงข้างเดียวแล้ว ก็อย่าละเลยที่จะดูแลเต้านมตัวเองเด็ดขาด ตราบใดที่เรายังมีเต้านม เราก็ยังถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมเช่นเดิม

สำคัญกว่านั้นคือมะเร็งเต้านมสามารถแพร่กระจายได้ เมื่อเซลล์มะเร็งเข้าสู่ระบบเลือดหรือน้ำเหลืองและถูกส่งไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยต่อมน้ำเหลืองนี้พบได้ทั่วร่างกาย ท่อน้ำเหลืองทำหน้าที่ขนส่งน้ำเหลือง ซึ่งประกอบด้วยของเสีย รวมทั้งเซลล์และระบบภูมิคุ้มกัน ท่อน้ำเหลืองจะนำน้ำเหลืองออกจากเต้านม

ในกรณีที่เป็นมะเร็งเต้านม เซลล์มะเร็งสามารถเข้าไปในท่อน้ำเหลืองและเริ่มเติบโต จากนั้นก็เดินทางผ่านระบบน้ำเหลือง แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ยิ่งมีต่อมน้ำเหลืองที่มีเซลล์มะเร็งเต้านมมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสที่จะพบมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ มากขึ้นเท่านั้น

ฉะนั้น การเจอมะเร็งเร็ว รักษาเร็ว ตัดตอนก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองเร็วเท่าไร ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น ไม่ว่าจะมีเต้าเดียวหรือสองเต้า เราต่างมีภารกิจเดียวกัน คือ การเฝ้าระวัง ดูแล รักษา ‘เต้า’ ให้อยู่กับเราไปนานๆ

ว่าแต่…วันนี้คุณตรวจเต้านมตัวเองหรือยัง?

ขอบคุณข้อมูลจาก
www.phyathai.com
www.samitivejhospitals.com
www.paolohospital.com
www.wattanosothcancerhospital.com
https://hd.co.th

แชร์ไปยัง
Scroll to Top