กล้วยออนเซ็น

เดือนนี้แม่บ้านคีโมขอบอกลาปีฉลูด้วยเมนูของว่างในบรรยากาศปาร์ตี้ที่ทำง่ายๆ ได้สุขภาพ แถมอร่อยฟินได้ทั้งครอบครัวกับ ‘กล้วยออนเซ็น’ หรือกล้วยต้ม เมนูพื้นบ้านที่ทรงคุณประโยชน์ เหมาะสำหรับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการอาเจียนหรือท้องเสีย ไม่ว่าจะมาจากการทำเคมีบำบัด การฉายรังสีบริเวณท้อง การติดเชื้อ การตอบสนองต่ออาหาร และความแปรปรวนทางอารมณ์ จนทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หรือภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย (Electrolyte Imbalance) ไม่ควรพลาดเมนูนี้ด้วยประการทั้งปวง  

อย่างที่รู้กันดีว่ากล้วยน้ำว้าห่ามๆ จวนสุกนั้นมีโพแทสเซียมสูงติดท็อปเท็น ซึ่งเจ้าสารโพแทสเซียมนี้เป็นเกลือแร่ชนิดหนึ่งที่ช่วยการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท กล้ามเนื้อ ทั้งยังควบคุมสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte Balance) และสมดุลของกรด-เบสในร่างกาย รวมถึงควบคุมโรคความดันสูง ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่สำคัญยังช่วยชดเชยโพแทสเซียมให้แก่ร่างกายได้ทางหนึ่ง รู้อย่างนี้แล้วจะรอช้าอยู่ไย ไปอร่อยหนึบหนับกับเมนูนี้พร้อมๆ กันเลยดีกว่า

ส่วนผสม
กล้วยน้ำว้าห่ามๆ / น้ำสะอาด / เกลือ / ใบเตย / มะพร้าวอ่อนขูด

วิธีปรุง
1. ขั้นตอนแรก ตัดลูกกล้วยออกจากขั้ว ล้างเปลือกให้สะอาด โดยล้างสัก 2-3 รอบ (ในกรณีที่ซื้อจากตลาด ไม่ได้ปลูกเอง จำเป็นต้องล้างหลายๆ รอบ เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าใส่สารเคมีตกค้างหรือเปล่า)
2. เรียงกล้วยลงในหม้อ ใส่เกลือและใบเตยเพิ่มความหอม เติมน้ำสะอาดให้ท่วมกล้วย จากนั้นปิดฝา
3. ตั้งไฟกลางต้มจนกล้วยสุก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที กล้วยจะหนึบกำลังดี โดยสังเกตง่ายๆ เมื่อเปลือกกล้วยปริออก ให้ตักกล้วยขึ้นมา พักให้เย็น
4. จากนั้นปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นๆ ตามแนวขวางหรือแนวยาวก็ได้ แล้วนำกล้วยที่หั่นแล้วจัดใส่จาน จะเสิร์ฟเปล่าๆ หรือเพิ่มกิมมิกด้วยท็อปปิ้งมะพร้าวอ่อนขูดก็ได้ตามความชอบ สูตรนี้นอกจากความอร่อยของกล้วยแล้ว ใบเตยยังช่วยให้เมนูนี้หอมกรุ่นละมุนลิ้นมากขึ้นอีกด้วย  

:: เคล็ด (ไม่) ลับ ฉบับแม่บ้านคีโม ::
วิธีการเลือกซื้อกล้วยโดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า ควรเลือกหวีที่มีจำนวน 14-16 ลูกต่อหวี เพราะเป็นกล้วยที่อยู่กลางเครือ ซึ่งจะมีวิตามินและสารอาหารสมบูรณ์ที่สุด รวมถึงอุดมไปด้วยสารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยในเรื่องคลายเครียด กินแล้วหลับสบาย และสารทริปโตแฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการหลั่งสารเอ็นโดฟีน นอกจากนี้ ควรเลือกกล้วยที่มีสีเขียว (แต่ไม่ใช่กล้วยอ่อนหรือกล้วยที่แก่แล้ว) ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ หรือกล้วยที่ปลูกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 วัน มีลักษณะผลกลมเกลี้ยง มีเหลี่ยมน้อยที่สุด เพราะกล้วยที่เหลี่ยมหายแล้วคือกล้วยแก่นั่นเอง นี่เป็นเทคนิคเลือกกล้วยตามแบบฉบับแม่บ้านคีโมที่อยากฝากไว้ จะได้เลือกกล้วยไม่ผิด ชีวิตสุขสันต์ อร่อยกันถ้วนหน้า…สวัสดีปีใหม่นะคะทุกคน  

.

เกี่ยวกับ ‘แม่บ้านคีโม’

“โบยังตายไม่ได้นะ 
โบขอลองเขียนอะไรสักอย่าง  
ให้ผู้คนได้รู้จักแม่ก่อน แล้วค่อยตาย…”  

นั่นเป็นคำสัญญาที่ให้ไว้กับแม่เมื่อ 9 ปีก่อนของ โบ-เสาวณิช ผิวขาว ซึ่งตอนนั้นเธอกำลังเผชิญกับโรคมะเร็งเต้านมระยะ 2A ในวัย 32 ปี และนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของแม่บ้านคีโมนามปากกาที่เธอใช้แทนลายเซ็นตัวเองผ่านบทบาทของ ‘คอลัมนิสต์’ แห่งเพจชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย (TBCC) อาสาเสิร์ฟสูตรอาหารสุขภาพรสชาติไม่จืดชืด พร้อมสารพันเคล็ดลับความอร่อยให้แก่ผู้ป่วยและผู้ไม่ป่วยได้ลองนำไปทำรับประทาน

ปัจจุบันนามปากกานี้ยังถูกใช้เป็นชื่อเพจและร้านอาหารที่ถนัดเสิร์ฟแต่เมนูสุขภาพ ซึ่งเธอปรุงเองด้วยใจและใส่ความรักลงไปในทุกจานดังที่ ‘แม่’ ของเธอเคยมอบให้ลูกค้าเมื่อนานมาแล้ว และแม้วันนี้มะเร็งเต้านมจะกลับมาเยี่ยมเยียนเธออีกครั้ง โดยครั้งนี้มะเร็งลุกลามไปที่กระดูกสันหลัง และเพิ่งจบการรักษาเคมีบำบัดไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่เธอก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับแม่อย่างไม่เคยย่อท้อ สนใจติดตามผลงานความอร่อยของเธอได้ที่เพจ ‘แม่บ้านคีโม

.

แชร์ไปยัง
Scroll to Top