เพราะการเผชิญหน้าโรคมะเร็งไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ผู้ป่วย แต่คนรอบข้างเอง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว ก็คงไม่มีใครเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์นี้ ทำให้หลายครั้งหลายคนก็ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างไรให้สบายใจหรือผ่อนคลายจากการเผชิญหน้ากับโรคหรือการรักษา วันนี้ Lifestyle ขอนำเสนอไอเดียที่จะช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่ใช่เฉพาะโรคมะเร็ง แต่ผู้ป่วยทุกโรคที่กำลังเผชิญกับความทุกข์เศร้า หวาดกลัว หรือกังวล ให้ Move on ไปข้างหน้า ผ่านการทำสิ่งพิเศษเล็กๆ น้อยๆ ที่พิเศษและแตกต่าง แต่เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยระหว่างการรักษาหรือพักฟื้นร่างกาย
01 Homemade อาหารมื้อพิเศษ
เพราะอาหารคืออาวุธที่ใช้จัดการกับทุกโรค อาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยทุกคนต้องการ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง อาหารถือเป็นสิ่งแรกๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนแทบจะทันที เพื่อเตรียมตัวรับมือกับการรักษา โดยเฉพาะการให้เคมีบำบัดที่ต้องอ้างอิงผลเลือด หากผลเลือดไม่ผ่านก็ไม่สามารถให้เคมีบำบัดได้ และอาจจะทำให้การรักษายืดเยื้อออกไป ไม่เป็นไปตามแผนการรักษาที่คุณหมอวางไว้
อาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยจึงจำเป็นกับผู้ป่วยมะเร็งทุกคน โดยเฉพาะช่วงการให้เคมีบำบัด และแน่นอนว่าหากอาหารนั้นถูกคัดสรรวัตถุดิบและปรุงจากฝีมือของคนที่เขารัก ย่อมมีรสชาติที่พิเศษกว่าร้านอาหารใดๆ แน่นอน รู้อย่างนี้แล้วจะรอช้าอยู่ไย เข้าครัวกันได้เลย
สำหรับใครที่ยังไม่มีเมนูในใจ สามารถแวะไปเติมไอเดียความอร่อยสำหรับผู้ป่วยมะเร็งได้จาก แม่บ้านคีโม
02 ของขวัญสร้างเสียงหัวเราะ
เพราะเสียงหัวเราะเป็นยาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยทุกคน ฉะนั้น ไม่มีของขวัญใดที่จะวิเศษไปกว่าของขวัญที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ป่วยมะเร็งอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ภาพยนตร์ การแสดง รวมถึงกิจกรรมใดๆ ก็ตาม เช่น คอร์สการทำอาหาร ฯลฯ ที่สามารถจะช่วยให้เสียงหัวเราะของผู้ป่วยกลับมาดังขึ้นอีกครั้ง นั่นถือเป็นของขวัญที่ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว
03 ไอเท็มต้อนรับวิถีใหม่
ไม่ว่าจะเป็นหมวก ผ้าคลุมศีรษะ หน้ากากอนามัย หรือแม้แต่ชุดนอนเนื้อนุ่ม ใส่สบาย รวมถึงครีมบำรุงผิว ลิปบาล์มสำหรับผู้แพ้ง่าย ไปจนถึงยาดม ลูกอมขิงแก้คลื่นไส้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงถึงความห่วงใยที่มีต่อผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี โดยของขวัญจำพวกนี้ควรมอบให้ผู้ป่วยในระหว่างหรือก่อนให้เคมีบำบัด เพราะถือเป็นช่วงที่ผู้ป่วยอ่อนแอ แพ้ง่ายที่สุด แต่เมื่อเข้าสู่การฉายแสง อาจจะเน้นไปที่ครีมบำรุงผิวบริเวณที่ฉายแสง รวมถึงแชมพูออร์แกนิกดีๆ สักชุดที่ช่วยให้การเจริญเติบโตของเส้นผมดีขึ้น
04 เดินทางปั๊มสุข
หลังจบการรักษาและร่างกายผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัวแล้ว การเดินทางเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศไปยังสถานที่ใหม่ๆ เจอผู้คนใหม่ๆ นอกจากเป็นการพักผ่อนอีกวิธีที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดและความกังวลใจที่ผู้ป่วยเผชิญมาตลอดการรักษาได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยให้ลืมความเจ็บป่วยไปชั่วขณะ ทั้งสร้างประสบการณ์ ความหวัง และกำลังใจให้กับชีวิต เป็นเหมือนการชาร์ตพลังเพื่อสู้กับมะเร็งต่อ เพียงแต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือความปลอดภัยและเตรียมแผนรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย
สำคัญที่สุด นอกจากความสุขของผู้ป่วยแล้ว ความสุขของผู้ดูแลผู้ป่วยและทุกคนที่ร่วมทริปก็เป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น อย่าวิตกกังวลจนรู้สึกว่าการพาผู้ป่วยมะเร็งไปท่องเที่ยวกลายเป็นภาระอันหนักหน่วง เพราะความกังวลนี้เองจะพานให้ผู้ป่วยไม่สบายใจไปด้วย ฉะนั้น ขอให้ใช้เวลาแห่งความสุขร่วมกันอย่างคุ้มค่าและมีความหมายที่สุด
นางฟ้าผู้รอดชีวิต
Survivor Angel Figurine
05 สัญลักษณ์สร้างพลังใจ
เพราะแค่การรักษาทางกายอย่างเดียวไม่อาจจะเอาชนะมะเร็งได้ แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ ‘ใจ’ ในการต่อสู้และก้าวข้ามทั้งตัวโรคและการรักษาไปให้ได้ แต่บ่อยครั้งร่างกายที่อ่อนแอส่งผลต่อจิตใจจนเกินรับไหว ลำพังเพียงพลังใจตัวเองอาจจะไม่เพียงพอ จึงต้องพึ่ง ‘กำลังใจ’ จากคนรอบข้างไปด้วย
ในฐานะของผู้ดูแลหรืออยู่แวดล้อมในชีวิตผู้ป่วย การทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการกอด บอกรัก หรือมอบการ์ดสักใบ ฯลฯ ก็ช่วยเสริมกำลังใจให้ผู้ป่วยได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่หากวิธีการเหล่านี้ดูจำเจน่าเบื่อเกินไป ก็ลองเปลี่ยนมาเป็นสิ่งของที่แฝงความหมายดีๆ เช่น จี้ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของนักสู้ เพื่อบอกผู้ป่วยว่า เราเข้าใจและรู้ว่าเขาต้องเข้มแข็งและฝ่าฟันมากแค่ไหน, เสื้อยืดสกรีนคำสร้างกำลังใจสำหรับผู้ป่วยโดยเฉพาะ, ประโยคดีๆ สำหรับติดบนผนังเตือนสติให้ผู้ป่วยไม่ท้อถอย เป็นต้น
06 แต้มสีสันวันป่วยๆ ด้วยนวัตกรรม
นอกจากเป็นการแสดงออกถึงความใส่ใจและห่วงใยต่อสิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องเจอแล้ว นวัตกรรมยังถือเป็นของขวัญที่สามารถสร้างสีสันในวันป่วยๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น
สายรัดข้อมือ Acupressure Anti Nausea ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อสยบอาการคลื่นไส้ผ่านการกดเบาๆ จากลูกปัดเล็กๆ บนข้อมือ ไม่รู้หรอกว่ามันแก้คลื่นไส้ได้ผลขนาดไหน แต่เชื่อเถอะว่า ผู้ป่วยที่ได้รับของขวัญชิ้นนี้ย่อมอาการดีขึ้นแน่นอน ไม่ใช่จากข้อมือ แต่จากกำลังใจของผู้ให้ของขวัญนั่นเอง
CINEMOOD Storyteller โปรเจกเตอร์แบบสแตนด์อโลนขนาดเล็กที่พกพาไปไหนต่อไหนได้สบาย แถมให้ภาพหน้าจอสูงถึง 150 นิ้ว ผู้ป่วยมะเร็งสามารถฉายภาพยนตร์บนผนังหรือเพดานห้องในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน และนอนตีพุงดูภาพยนตร์ ละคร ข่าวได้อย่างสบายกาย สบายใจ
Dodow อุปกรณ์ที่ช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการนอนไม่หลับ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมอย่างเลี่ยงไม่ได้ อุปกรณ์ชิ้นนี้จึงเป็นเสมือนของขวัญที่เชื่อว่าผู้ป่วยมะเร็งน่าจะอยากลองใช้มากที่สุดอย่างหนึ่ง
ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก ZonLi ของขวัญเพื่อการนอนหลับเต็มอิ่มของผู้ป่วย เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มักนอนไม่หลับจากอาการวิตกกังวล การห่มผ้าห่มถ่วงน้ำหนักนี้จะเสมือนการถูกกอดตลอดทั้งคืน โดยการเลือกซื้อผ้าห่มนี้จำเป็นต้องรู้น้ำหนักของผู้ป่วยเพื่อประกอบการซื้อด้วย เพราะน้ำหนักผ้าห่มที่เหมาะสมที่สุดคือ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวผู้ห่มนั่นเอง
Mastectomy Post Op หมอนหน้าอกป้องกันการกระแทกหรือเสียดสี กระทั่งลดความเจ็บปวดบริเวณหน้าอก เหมาะเป็นของขวัญสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เพิ่งผ่าตัดเต้านมใหม่ๆ
ART KIT ชุดศิลปะดูแลใจ อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าสู่โลกของศิลปะในรูปแบบของการรับรู้ใหม่ๆ ผู้ป่วยจะได้เล่นด้วยใจที่อิสระ ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ไม่มีคำว่าสวยหรือไม่สวย ปราศจากการตัดสินใดๆ นี่แหละตัวช่วยดูแลใจด้วยการค้นหาความรู้สึกที่เกิดกับ ‘ใจ’ ผ่านกิจกรรมง่ายๆ ใน ชุดศิลปะดูแลใจ
07 ‘เวลา’ ของขวัญจากคนรัก
นี่คือของขวัญที่ไม่ต้องซื้อหา แต่มีคุณค่ามากที่สุด และเผลอๆ อาจจะเป็นของขวัญที่ผู้ป่วยต้องการมากที่สุดก็เป็นได้ หากพอแบ่งเวลามาทำกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทานข้าว ดูหนัง ฟังเพลง ร้องคาราโอเกะ เดินเล่น ออกกำลังกาย ซื้อหาต้นไม้ ฯลฯ ตามแต่เวลาจะเอื้ออำนวยบ้าง เชื่อว่ารอยยิ้มของผู้ป่วยก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ทั้งหมดนี้คือวิธีสร้างกำลังใจง่ายๆ ที่เราสามารถทำให้ผู้ป่วยได้ทุกวัน โดยอาจจะไม่ต้องพึ่งคำสวยหรูที่ให้กำลังใจกัน เพราะการกระทำสำคัญกว่าคำพูด ในเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ TBCC ปรารถนาให้ทุกท่านผ่านช่วงเวลายากๆ ในชีวิตนี้ไปได้อย่างราบรื่น เรียนรู้ และค้นพบของขวัญที่ ‘ชีวิต’ ตั้งใจมอบให้เราทุกคน
แด่มะเร็ง…ตำราเล่มใหม่–เล่มใหญ่ของชีวิต