
A: มะเร็งเต้านมสามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยพบว่าเกิดในเพศหญิงมากกว่า สำหรับในเพศชายมักพบในช่วงอายุที่มากกว่าเพศหญิง คือ 60-70 ปี ในขณะที่เพศหญิงพบมากในช่วงอายุ 50-60 ปี ส่วนมากมักสัมพันธ์กับประวัติพันธุกรรมในครอบครัวทั้งเพศหญิงและชายที่เป็นมะเร็งเต้านมและหรือมะเร็งอื่นๆ นอกจากนี้ การที่มีภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดสูงไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดมะเร็งเต้านมในเพศชายได้เช่นกัน เช่น จากการรับประทานยาเพิ่มเอสโตรเจน หรือโรคบางอย่างที่ทำให้สมดุลระหว่างเอสโตรเจนและแอนโดรเจนที่เป็นฮอร์โมนเพศชายเปลี่ยนแปลง เช่น โรคตับ หรืออายุที่มากขึ้น อัณฑะสร้างแอนโดรเจนได้น้อยจึงทำให้เหมือนเอสโตรเจนสูง เป็นต้น
สำหรับการป้องกันนั้น ในกรณีที่มีประวัติพันธุกรรมในครอบครัวที่เป็นมะเร็งเต้านม และมีผลตรวจทางพันธุกรรมว่ามียีนมะเร็งเต้านมที่สำคัญจริง การรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านมออกสองข้างก่อนที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นการรักษาที่แนะนำในผู้หญิงที่ตรวจพบว่ามียีนมะเร็งเต้านมที่สำคัญจริง แต่ในเพศชาย ถึงแม้มีหลักฐานสนับสนุนไม่มาก ไม่เหมือนในเพศหญิง แต่ก็มีหลายสมาคมในต่างประเทศแนะนำการผ่าตัดดังกล่าว สำหรับในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องปรึกษาการรักษาวิธีดังกล่าวร่วมกันระหว่างศัลยแพทย์และอายุรแพทย์พันธุกรรมถึงข้อดี ข้อเสีย ก่อนการรักษาวิธีนี้
รศ. พญ.นภา ปริญญานิติกูล
อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา หน่วยมะเร็งวิทยา
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย