การตรวจเต้านมใน ‘ผู้ชาย’ และ ‘ผู้หญิง’ แตกต่างกันอย่างไร

A: การตรวจเต้านมประจำปีสำหรับผู้ชายนั้นไม่ได้มีข้อแนะนำไว้ แต่เนื้อเต้านมของผู้ชายจะน้อยกว่าผู้หญิง หากมีก้อนผิดปกติจึงสามารถพบได้ง่าย เช่น หากคลำพบก้อนหรือมีแผลที่เต้านมควรจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองดีที่สุด ขณะที่การตรวจเต้านมในผู้หญิงนั้นควรทำเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจเต้านม คือ 7-14 วัน หลังมีประจำเดือนวันแรก หรือหลังหมดประเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะในช่วงใกล้มีประจำเดือน ผู้หญิงส่วนหนึ่งจะมีการคัดตึงตามธรรมชาติของเต้านม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้รู้สึกเจ็บเวลากดที่เต้านม จึงไม่เหมาะที่จะทำ ‘เมมโมแกรม’ ในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะจะมีการกดที่เนื้อเต้านมทำให้มีอาการเจ็บได้มากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีผลต่อภาพที่ได้จากการทำเมมโมแกรมอย่างมีนัยสำคัญ และเพื่อผลการตรวจที่แม่นยำ ควรจะตรวจร่างกายโดยแพทย์ร่วมกับการตรวจทางรังสีวินิจฉัย ซึ่งการตรวจทางรังสีวินิจฉัยของเต้านมเบื้องต้นก็คือการตรวจเมมโมแกรมและอัลตราซาวด์นั่นเอง โดยการตรวจเมมโมแกรมและอัลตราซาวด์นั้นจะให้ผลการตรวจที่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ การตรวจเมมโมแกรมจะสามารถดูหินปูนที่เต้านมได้ดีกว่า ในขณะที่การตรวจอัลตราซาวด์จะสามารถดูก้อนเนื้อหรือถุงน้ำได้ดีกว่า จึงควรตรวจร่วมกันเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจให้มากที่สุด โดยการตรวจเมมโมแกรมเพื่อการตรวจคัดกรอง แนะนำให้ทำในคนไข้อายุตั้งแต่ 35-40 ปีขึ้นไป

ผศ. พญ.ศศิธร สุจริตธนะการ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แชร์ไปยัง
Scroll to Top