…….. ดื่มหนัก แฮงก์เอาต์เป็นนิจ
…….. รับสารพิษ-สารเคมี-รังสีเป็นประจำ
…….. กินซ้ำๆ ไม่หลากหลาย
…….. ขาดการออกกำลังกาย
…….. ชีวิตอยู่ใกล้สิงห์อมควัน
…….. ขาประจำร้านปิ้งย่าง
…….. โปรดปรานของทอด อาหารแปรรูป
…….. สูบบุหรี่หนัก
…….. พักผ่อนน้อย
…….. พุงย้อย น้ำหนักเกินมาตรฐาน
…….. กินยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
…….. ผักผลไม้ใช้ประดับจาน…แค่นั้น
…….. ละเลยการตรวจสุขภาพเป็นประจำ
…….. มักคิดเข้าข้างตัวเองว่า ฉันไม่เป็นหรอกมะเร็ง!
ข้างต้นเป็นปัจจัยที่ทำให้ชีวิตเราเสี่ยงภัยมะเร็งได้หลายชนิด ไม่เว้นแม้ ‘มะเร็งเต้านม’ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย โดยไม่จำเป็นต้อง ‘สูงวัย’ ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ และในปัจจุบันพบโรคมะเร็งในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงกว่าในอดีตเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่มักมาจาก ‘พฤติกรรม’ ที่ทำร้ายสุขภาพตัวเอง
.
ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน ความเครียด รวมถึงการรับรังสี สารพิษ สารเคมี และอาหารเสริมบางอย่าง รวมถึงยาบางชนิดเป็นประจำ โดยเฉพาะ ‘ยาคุมกำเนิด’ ซึ่งเป็นปัจจัยตัวสำคัญที่อาจจะนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งเต้านมอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนมากประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ มีกลไกการเกิดจากการที่ฮอร์โมนอีสโทรเจนกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมที่มากกว่าปกติเป็นเวลานานจนเกิดมะเร็ง ฉะนั้น การรับฮอร์โมนเพศหญิงเป็นเวลานานเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ การหลีกเลี่ยงการได้รับฮอร์โมนเพศหญิงจึงช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้วิธีหนึ่ง
โดยฮอร์โมนเพศหญิงที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อีสโทรเจนจากสิ่งแวดล้อมจำพวก ‘ยา’ ที่มีส่วนประกอบของอีสโทรเจน เช่น ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนอีสโทรเจนอย่างเดียว, ยากระตุ้นการตกไข่ในผู้ป่วยที่มีปัญหามีบุตรยาก และอีสโทรเจนจาก ‘อาหาร’ เช่น อาหารที่ทำจากสัตว์ที่มีไขมันอิ่มตัวมาก ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแพะ เนื้อแกะ ถ้ารับประทานเป็นปริมาณมาก จะทำให้เกิดการสะสมและเปลี่ยนไขมันดังกล่าวเป็นฮอร์โมนอีสโทรเจน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
.
รวมถึง ‘อาหารปิ้งย่าง’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ซึ่งมีสารที่ชื่อว่า เอชซีเอ (HCA : Heterocyclic Amine) และ พีเอเอช (PAH : Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) เป็นสารเคมีที่เกิดจากการที่เนื้อสัตว์ถูกความร้อนจัด ไม่ว่าจะเป็นความร้อนจากการปิ้ง ย่าง ทอดน้ำมัน หรือการผัดในเวลานานๆ จะทำให้ตัวโปรตีนในเนื้อสัตว์เปลี่ยนแปลงสภาพ และมีสารดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ขณะที่ร่างกายของคนเรานั้นจะมีเอนไซม์ตัวหนึ่งที่คอยย่อยสารต่างๆ เหล่านี้ ทำให้สารเหล่านี้กลายเป็นพิษต่อเซลล์ในร่างกายของเรา และนั่นเองที่ก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็ง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง ‘ความอ้วน’ ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนมักสัมพันธ์กับการที่มีระดับฮอร์โมนอีสโทรเจนที่สูง และหรือมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินและเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมบางชนิด แม้ยังไม่มีการศึกษายืนยันว่า การลดน้ำหนักสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ อย่างไรก็ตาม สมาคมแพทย์โรคมะเร็งแนะนำให้ลดน้ำหนักและ ‘ออกกำลังกาย’ เป็นประจำ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมแล้ว ยังช่วยโรคหัวใจและเบาหวานอีกด้วย
ยืนยันโดยงานวิจัยที่พบว่า การออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ เป็นประจำนั้นจะช่วยให้คนเรามีอายุยืนยาวเพิ่มขึ้นถึง 4 ปีครึ่ง นอกจากนั้นยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นมะเร็ง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังช่วยให้ไม่กลับมาเป็นมะเร็งซ้ำอีกด้วย
.
อีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ ‘การนอน’ โดยเฉพาะการนอนดึก ซึ่งมีการศึกษาพบว่า คนที่มาทำงานเป็นกะ โดยเฉพาะคนทำงานกะดึก ที่ต้องนอนกลางวันและต้องตื่นกลางคืนเพื่อไปทำงาน มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนที่ไม่ได้ทำงานเป็นกะ เพราะในร่างกายของคนเราแต่ละคนนั้นจะเหมือนมีนาฬิกาอยู่ เราเรียกว่า Biological Clock ซึ่งจะคอยบอกว่า ตอนไหนควรหลับ ตอนไหนควรตื่น หากเราตื่นหรือนอนผิดเวลา ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียด (Stress hormone) หลายตัว ซึ่งสารเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เติบโตขึ้นมาได้
โดยวิธีป้องกันมะเร็งที่ดีที่สุดก็คือการปรับพฤติกรรมต่างๆ ที่คิดว่าไม่ดีต่อสุขภาพ หันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปลอดสาร โดยเฉพาะการรับประทาน ‘ผัก’ อย่างน้อย 400 กรัม/วัน โดยเลือกผักที่หลากสี และที่สำคัญหลากตลาด คือเปลี่ยนแหล่งซื้อเรื่อยๆ ยกเว้นแต่เราเจอแหล่งที่มั่นใจได้ว่าไม่ใส่ยาฆ่าแมลง ปลูกแบบออร์แกนิกจริงๆ แบบนั้นสามารถรับประทานซ้ำได้ เหตุผลที่แนะนำให้เปลี่ยนสถานที่ซื้อนั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารฆ่าแมลงจากแหล่งซ้ำๆ นั่นเอง