ศัพท์ต้องรู้! ก่อนลงสนามสู้ ‘มะเร็งเต้านม’

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การรู้ศัพท์แสงทางการแพทย์ไว้บ้าง สามารถช่วยให้การพูดคุยของเรากับคุณหมอนั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับคุณหมอที่มีเวลาจำกัดและนัดหมายไม่ง่าย เพราะต้องดูแลคนไข้อีกมากมายอย่างในโรงพยาบาลของรัฐ ทำให้เราจำเป็นต้องรู้ศัพท์เกี่ยวกับโรคที่เราเป็น เพื่อเป็นการบริหารเวลาในการพูดคุยและซักถามข้อสงสัย รวมถึงไม่ต้องนั่งค้างคาใจจนต้องมานั่งพิมพ์ถาม Google ในภายหลัง เดือนนี้ TBCC ขออาสารวบรวมคำศัพท์และตัวย่อทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยควรรู้ ก่อนจะลงสนามสู้ ‘มะเร็งเต้านม’ มาฝาก 
  

Breast Cancer : BCa

คือ มะเร็งเต้านม มักใช้ตัวย่อว่า ‘BCa’ หรือ BCA โดย B มาจากคำว่า Breast และ CA มาจากคำว่า Cancer หรือ Carcinoma (คาร์ซิโนมา) หมายถึง มะเร็งหรือเนื้องอกชนิดร้าย บางแหล่งเรียกว่า ‘เนื้อร้าย’ นั่นเอง  

Breast Cancer Type

คือ ชนิดของมะเร็งเต้านม ซึ่งใช้ประกอบการวินิจฉัยของแพทย์และเตรียมวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น โดยชนิดของมะเร็งเต้านมที่พบบ่อย เช่น 

  • Invasive ductal carcinoma : IDC คือ มะเร็งเต้านมชนิดลุกลามออกนอกท่อน้ำนม กล่าวคือ มะเร็งเต้านมที่เริ่มต้นจากเซลล์ในท่อน้ำนมและแพร่กระจายทะลุผ่านผนังท่อน้ำนม ทำให้มีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านมใกล้เคียง และอาจลุกลามโดยผ่านทางต่อมน้ำเหลืองหรือกระแสเลือดได้  
  • Invasive lobular carcinoma : ILC คือ มะเร็งต่อมน้ำนมชนิดลุกลาม เกิดจากเซลล์ในต่อมน้ำนมมีการเจริญเติบโตผิดปกติ จนเกิดเป็นเนื้อร้ายและสามารถลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านมใกล้เคียง รวมถึงแพร่กระจายไปตามต่อมน้ำเหลืองได้หากตรวจไม่เจอในระยะแรกๆ
  • Ductal carcinoma in situ : DCIS คือ มะเร็งในท่อน้ำนมชนิดไม่ลุกลาม คล้ายกับชนิด IDC ซึ่งเกิดในท่อน้ำนมเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่มะเร็งชนิดนี้จะไม่แพร่กระจายออกจากผนังท่อน้ำนม หรือเป็นมะเร็งในระยะก่อนแพร่กระจาย หากตรวจเจอ มักรักษาด้วยการผ่าตัดและการฉายรังสี

นอกจากมะเร็งเต้านม 3 ชนิดข้างต้นแล้ว ยังมีมะเร็งชนิดที่อาจจะพบไม่บ่อย แต่ค่อนข้างอันตราย เช่น

  • Triple-negative breast cancer  : TNBC คือ มะเร็งเต้านมชนิดที่ขาดตัวรับฮอร์โมนและยีนส์ รู้จักกันทั่วไปว่า ‘ทริปเปิลเนกาทีฟ’ ซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่ขาดตัวรับฮอร์โมนหรือยีนส์ พูดง่ายๆ ว่า เซลล์มะเร็งชนิดนี้จะขาดลักษณะสำคัญที่เป็นกุญแจในการรักษา เพราะโดยปกติแล้ว การรักษามะเร็งเต้านมจะมุ่งเน้นไปที่การกำจัดปัจจัยในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เช่น ฮอร์โมนหรือยีนส์ แต่มะเร็งชนิด TNBC นี้ขาดตัวรับฮอร์โมนและยีนส์สำคัญ ซึ่งทำให้มะเร็งชนิดนี้แพร่กระจายเร็วและรักษายากกว่าชนิดอื่นๆ
  • Inflammatory breast cancer : IBC คือ มะเร็งเต้านมอักเสบ ซึ่งมักจะพบเพียง 1-3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกชนิดเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นมะเร็งชนิดรุนแรงและอันตราย โดยลักษณะของมะเร็งเต้านมอักเสบนั้นมักจะทำให้ผิวนอกมีลักษณะบวมแดงและย่นเหมือนเปลือกส้ม ซึ่งเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำเหลืองและลุกลามมาถึงผิวหนัง ในระยะแรกๆ มะเร็งชนิดนี้อาจมีอาการคล้ายกับโรคเต้านมอักเสบ (Mastitis) เท่านั้น
  • Paget’s disease of the breast คือ มะเร็งหัวนม นับเป็นมะเร็งเต้านมชนิดหนึ่งที่พบไม่บ่อยนัก โดยจะเกิดความเปลี่ยนแปลงของผิวบริเวณหัวนม คล้ายกับผื่นจากโรคผิวหนัง ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีมะเร็งในท่อน้ำนมชนิดไม่ลุกลาม (DCIS) และชนิดลุกลาม (IDC) ร่วมด้วย

Receptors Status

คือ สถานะของตัวรับ จากผลการศึกษาเซลล์ของมะเร็งเต้านมนั้น พบว่าบางเซลล์จะมี ‘Receptors’ หรือเรียกอีกอย่างว่า ตัวรับ แต่บางเซลล์ก็ไม่มี โดยตัวรับที่พบในเซลล์มะเร็งเต้านมที่มีผลต่อการรักษานั้น ได้แก่ 

  • Estrogen Receptor : ER คือ ‘ตัวรับอีสโทรเจน’ ถ้ามีตัวรับนี้ คุณหมอมักจะระบุว่า ER +ve แต่ถ้าไม่มีก็จะระบุเป็น ER -ve
  • Progesterone Receptor : PgR คือ ‘ตัวรับโปรเจสเตอโรน’ ถ้ามีตัวรับนี้ คุณหมอมักจะระบุว่า PgR +ve แต่ถ้าไม่มีก็จะระบุเป็น PgR -ve
  • Human Epidermal Growth factor Receptor : HER2 บางแหล่งเรียกว่า HER2 Receptor หรือตัวรับเฮอร์ทูนั่นเอง ถ้าตรวจพบว่าเซลล์มะเร็งเต้านมนั้นมี HER2 Gene ที่สามารถสร้างโปรตีนเรียกว่า HER2 Receptor คุณหมอมักจะระบุว่า HER2 +ve แต่ถ้าไม่มี HER2 Receptor ก็จะระบุเป็น HER2 -ve

เมื่อรู้ว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีสถานะตัวรับเป็นประเภทใดแล้ว นอกจากจะทำนายความรุนแรงของโรคได้ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คุณหมอจะนำมาประกอบเพื่อวางแนวทางการรักษาได้อีกด้วย เช่น  

  • ในรายที่ตัวรับอีสโทรเจน (ER +ve ) หรือโปรเจสเตอโรน (PgR +ve) ก็ควรได้ยาเพื่อต้าน Estrogen เนื่องจากเซลมะเร็งเต้านมที่มีตัวรับอีสโทรเจนหรือโปรเจสเตอโรนจะเติบโตได้เร็วในภาวะที่มีฮอร์โมนเพศหญิงอีสโทรเจน การให้ยาต้านอีสโทรเจนจึงถือเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยง ทำให้มะเร็งเติบโตช้าลงนั่นเอง
  • ในกรณีที่มีตัวรับเฮอร์ทู (HER2 +ve) ก็ควรได้รับการรักษาแบบพุ่งเป้า (Targeted Therapy) โดยให้ยาไปจับกับตัวรับเฮอร์ทู (HER2 Receptor) ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาดีขึ้นกว่าการให้เคมีบำบัด (chemotherapy) อย่างเดียว ภายหลังการผ่าตัดและหรือการฉายแสง

หมายเหตุ : ในกรณีที่ไม่มีตัวรับทั้ง 3 ชนิดข้างต้น มะเร็งเต้านมนั้นก็จะถูกระบุเป็น Triple Negative หรือชื่อเต็มๆ ว่า Triple-negative breast cancer (TNBC) นั่นเอง 

    Tumor Marker

    คือ สารบ่งชี้มะเร็ง เป็นสารชีวโมเลกุลที่ถูกสร้างและหลั่งมาจากเซลล์มะเร็ง ซึ่งสามารถตรวจพบได้จากเลือดหรือสารคัดหลั่งอื่นๆ ของร่างกายคนเรา แต่การตรวจหาระดับของสารบ่งชี้มะเร็งในเลือดอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งได้ ยังต้องอาศัยการตรวจอย่างอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น การตรวจทางรังสี การตรวจแมมโมแกรม อัลตราซาวนด์ ฯลฯ เหตุผลเพราะ…

    • ระดับสารบ่งชี้มะเร็งบางชนิดอาจจะพบว่าสูงได้ในโรคบางชนิดที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง
    • โรคมะเร็งบางชนิด เมื่อเจาะเลือดตรวจ อาจจะไม่พบว่าสารบ่งชี้มะเร็งสูง โดยเฉพาะมะเร็งในระยะต้นๆ 

    เป็นต้น

    นี่เองทำให้การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งจากเลือดจึงเป็นการตรวจหาสารที่ผลิตจากเซลล์มะเร็งที่สามารถช่วยแพทย์ได้ในการตรวจหามะเร็งบางกรณี หรือเหมาะกับการติดตามผลการรักษา หรือพยากรณ์โรคเท่านั้น เช่น หากพบมีการเปลี่ยนแปลงระดับต่อเนื่องในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ก็อาจจะนำไปสู่การตรวจในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำต่อไป

    สำหรับสารบ่งชี้มะเร็งเต้านมที่ตรวจกันในปัจจุบัน ก็คือ Cancer Antigen 15-3 หรือ CA15-3 ซึ่งเป็นสารโปรตีนประเภทไกลโคโปรตีน สามารถพบค่าสูงได้ในมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งรังไข่ ฯลฯ คุณหมอมักใช้วินิจฉัยมะเร็งเต้านมที่มีการแพร่กระจายหรือเมื่อกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง โดยค่าปกติของ CA15-3 คือ 22 ยูนิต/มิลลิลิตร  

    Digital Mammogram
    and Ultrasound

    คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเอกซ์เรย์แมมโมแกรมและ/หรืออัลตราซาวนด์ ซึ่งเชื่อว่าสาวๆ หลายคนคงคุ้นหูกันดีกับค่า BIRADS หรือชื่อเต็มๆ ว่า Breast Imaging Recording And Data System ผลจากการตรวจแมมโมแกรมที่มีระดับความผิดปกติจาก 1-5 วันนี้เรามาดูว่า แต่ละตัวเลขนั้นหมายถึงอะไรกันบ้าง

    • BIRADS 1 หมายถึง ไม่พบสิ่งผิดปกติเลย ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมติดตามทุกปี
    • BIRADS 2 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ แต่เสี่ยงน้อยที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ควรตรวจติดตามทุกปี
    • BIRADS 3 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า 2% ที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ควรตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดทุก 6 เดือน
    • BIRADS 4 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้ 20-50% ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยชิ้นเนื้อเพิ่มเติม
    • BIRADS 5 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้สูง ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยชิ้นเนื้อ (Biopsy) เพิ่มเติม

    Biopsy : Bx

    คือ การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นการผ่าตัดเพื่อการวินิจฉัย โดยการตัดหรือขริบชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้องอกหรืออวัยวะที่สงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งส่งห้องแล็บตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อพิสูจน์และวินิจฉัยโรคนั่นเอง 

    วิธีนี้จะสามารถยืนยันได้ว่า เนื้องอกหรืออวัยวะนั้นๆ เป็นเนื้องอกธรรมดาหรือมะเร็ง โดยการตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ดังกล่าว สามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

    • Incisional Biopsy คือ การตัดชิ้นเนื้อเพียงบางส่วน มักใช้ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่มากหรือเป็นกลุ่มก้อน ทั้งนี้เพื่อนำผลพิสูจน์นั้นเป็นแนวทางในการวางแผนการรักษาต่อไป
    • Excisional Biopsy คือ การตัดเนื้องอกออกทั้งก้อน มักใช้ในกรณีที่ก้อนเนื้อดังกล่าวมีขนาดไม่ใหญ่มาก และสามารถตัดออกได้ทั้งก้อน โดยไม่ทำอันตรายต่ออวัยวะข้างเคียง

    นอกจากนี้ ยังอาจใช้วิธีที่เรียกว่า Fine Needle Aspiration (FNA) ซึ่งเป็นการแทงเข็มไปตรงกลางก้อนเนื้อ เพื่อดูดเอาเซลล์ออกมาตรวจ

    Breast Cancer Treatment

    คือ การรักษามะเร็ง ซึ่งในปัจจุบันจะมีอยู่ 5 วิธีหลักๆ โดยอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่รักษา ได้แก่

    1) การผ่าตัดเพื่อการรักษา

    สามารถทำได้หลากหลายวิธี ได้แก่

    • Breast Conserving Surgery : BCS คือ การผ่าตัดสงวนเต้า ซึ่งเป็นการตัดเนื้อเต้านมออกเพียงบางส่วน เฉพาะส่วนที่เป็นเซลล์มะเร็ง ส่วนเนื้อเยื่อที่ปกติจะเก็บไว้เพื่อคงรูปทรงของเต้านมเดิม เป็นวิธีที่แผลผ่าตัดมักจะเล็กกว่าและทำได้ง่าย วิธีนี้มักจะเหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะต้นๆ ก้อนไม่โตมาก
    • Total or Simple mastectomy คือ การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด รวมทั้งผิวหนังที่อยู่เหนือก้อนและหัวนม
    • Modified Radical Mastectomy : MRM คือ การผ่าตัดเต้านมแบบถอนรากชนิดปรับปรุง เป็นการผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งหมด รวมทั้งผิวหนังส่วนที่อยู่เหนือก้อนมะเร็ง หัวนม และฐานนม โดยเหลือกล้ามเนื้อหน้าอกไว้ มักทำคู่กับ  Axillary lymph node dissection หรือการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออกทั้งหมดนั่นเอง ในรายที่ไม่ต้องการเลาะต่อมน้ำเหลืองทั้งหมด เพราะกลัวจะเสี่ยงอาการแขนบวมในภายหลัง สามารถขอตรวจ Sentinel lymph node biopsy โดยการฉีดสีไปที่ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ ก่อนจะผ่าตัดนำต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลออกมาให้พยาธิแพทย์ตรวจ ภายใน 30-40 นาที ก็จะทราบผลว่ามีการกระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ ส่วนใหญ่จะทราบผลในระหว่างผ่าตัด หากไม่มีการลุกลาม ก็ไม่จำเป็นต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออก  

    นอกจากการผ่าตัดเพื่อรักษาแล้ว ปัจจุบันยังมี Breast Reconstruction คือ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอีกทางหนึ่ง ซึ่งสามารถผ่าตัดเสริมสร้างทันทีพร้อมการผ่าตัดมะเร็ง (immediate breast reconstruction) หรือจะเสริมสร้างหลังจบการรักษาหรือผ่าตัดมะเร็งไปแล้ว (delayed breast reconstruction) ซึ่งทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ โดยปัจจุบันมีอยู่ 3 เทคนิค คือ 

    1) Autologous technique การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยการใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง เช่น 

    • Latissimus Dorsi Flap : LD Flap คือ การผ่าตัดตกแต่งหรือเสริมสร้างเนื้อเต้านมขึ้นใหม่ โดยใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณที่หลัง 
    • Trasverse Rectus Abdominis Musculocutaneous Flap : TRAM flap คือ การผ่าตัดตกแต่งหรือเสริมสร้างเนื้อเต้านมขึ้นใหม่ โดยใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง 

    2) Tissue Expander-Prosthesis technique คือ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ด้วยถุงเต้านมเทียม เพื่อทดแทนการตัดเต้านมออกบางส่วนหรือทั้งหมด

    3) Lipofilling คือ การเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยการฉีดเสริมด้วยไขมัน

      2) Radiotherapy : XRT

      คือ รังสีรักษา เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์ที่มีพลังงานสูงเข้าทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและทำให้เซลล์มะเร็งตายไปในที่สุด

      3) Chemotherapy : CT

      คือ การรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘คีโม’ ให้เข้าไปทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทั้งนี้ การให้ยาเคมีบำบัดนั้นถูกใช้ในหลายวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อรักษาก็ได้ เพื่อควบคุมไม่ให้มะเร็งแพร่กระจายก็ได้ หรือเพื่อประคับประคองอาการก็ได้ ฯลฯ ปัจจุบันยาเคมีบำบัดนั้น นอกจากชนิดที่ฉีดเข้าเส้นเลือดที่เราคุ้นกันดีแล้ว ก็ยังมียาเคมีบำบัดชนิดรับประทานอีกด้วย  

        4) Targeted Therapy

        คือ การรักษาแบบพุ่งเป้าหรือการรักษามะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์ มักใช้ในรายที่เป็นมะเร็งชนิดเฮอร์ทู (HER2) โดยรักษาเสริมด้วยการให้ยาพุ่งเป้าไปที่ตัวรับเฮอร์ทู ซึ่งเป็นยาฉีดทุก 3 สัปดาห์ เป็นเวลา 1 ปี  

        5) Hormonal Treatment

        คือ การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีฮอร์โมน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ฮอร์โมนบำบัด’ ผ่านการให้ ‘ยาต้านฮอร์โมน’ เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำทั้งในเต้านมข้างเดิมและเต้านมอีกข้าง บางกรณีจะให้ก่อนการผ่าตัดหรือการรักษาเฉพาะที่เพื่อให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง อีกทั้งยังสามารถใช้ยาต้านฮอร์โมนเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคตในกลุ่มเสี่ยงได้อีกด้วย

        โดยคุณหมอจะให้กินต่อเนื่องวันละ 1 เม็ด เป็นเวลา 5 ปี ส่วนในรายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มะเร็งกระจายไปต่อมน้ำเหลือง อาจขยายเวลาเป็น 10 ปี ยาต้านฮอร์โมนที่พบบ่อย เช่น Tamoxifen, Letrozole, Anastrozole และ Exemestane เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีทำลายหรือยับยั้งไม่ให้มีฮอร์โมนเพศหญิงอยู่ในร่างกาย เช่น การผ่าตัดรังไข่ทิ้ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนในหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน เป็นต้น

        ขอบคุณข้อมูลจาก 

        https://www.doctor.or.th
        https://bangpakok3.com
        https://www.phyathai.com
        https://www.nonthavej.co.th
        https://bangkokpattayahospital.com
        https://doh.hpc.go.th
        https://www.nci.go.th
        https://th.yanhee.net

        แชร์ไปยัง
        Scroll to Top