“เปิดตู้เสื้อผ้าทีไร น้ำตาไหลทุกที
เพราะเสื้อตัวนั้นก็ใส่ไม่ได้ ตัวนี้ก็ใส่ไม่สวย
ช่วงนั้นร้องไห้บ่อยมาก…
มากกว่าตอนรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งซะอีก”
เก๋-สุรีรัตน์ วังปลาทอง ผู้จัดการสถานเสริมความงามวัย 43 ปี สาวสวยเก่งและแกร่งที่รักการแต่งตัวมาแต่ไหนแต่ไร จนกระทั่งมะเร็งเต้านมชนิด HER2 มาเยือน เธอตัดสินใจผ่าตัดเต้านมด้านซ้ายออกทั้งหมดเพื่อตัดตอน ลดทอนโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาทำร้ายเธอได้อีกครั้ง จากนั้นเธอก็มุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างให้ชีวิตมีความสุข โดยไม่ยอมจำนนต่อร่างกายที่ขาดหาย เธอพยายามค้นหาวิธีแต่งสวยในแบบของตัวเอง และนั่นเป็นที่มาของ ‘นมเดียวก็เปรี้ยวได้’ สโลแกนประจำกายที่แฝงไปด้วยความสตรอง
“ราว 6 ปีที่แล้ว (2561) จำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่งขณะที่เราอาบน้ำแล้วถูสบู่ แล้วจู่ๆ มือเราก็ไปสะดุดกับก้อนบางอย่างที่เต้านมด้านซ้าย ตอนนั้นก็สงสัย เอ๊ะ! ก้อนอะไร พอนึกย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านั้น เราเคยเจอก้อนนี้ครั้งหนึ่งแล้วและเคยไปตรวจ แต่ครั้งนั้นคุณหมอตรวจโดยการคลำ ก่อนจะวินิจฉัยว่าเป็นแค่อาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ จากนั้นก็ให้กลับบ้านโดยไม่มียากินหรือยาทาใดๆ ทั้งสิ้น
“บังเอิญช่วงนั้นการแกว่งแขนวันละ 100 ครั้ง กำลังเป็นกระแส เราจึงลองทำดู ไม่นานก้อนนั้นก็หายไป พยายามคลำหาเท่าไรก็ไม่เจอ จนมาเจออีกครั้ง ตอนนั้นก็ยังชะล่าใจคิดว่าคงเป็นอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบเหมือนเดิม แต่พอแฟนรู้ แฟนก็เชียร์ให้ไปตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ และไม่ว่าเราจะบ่ายเบี่ยงอย่างไรก็ไม่เป็นผล แฟนก็พยายามชักชวนเชิงบังคับให้ไปตรวจ จนในที่สุดก็ต้องยอมไป”
สัญญาณเตือน
“หลังจากรับการตรวจแมมโมแกรมแล้ว ขณะที่นั่งรอตรวจอัลตราซาวนด์ต่อ เจ้าหน้าที่ก็เดินมาขอให้เรากลับไปตรวจแมมโมแกรมซ้ำอีกครั้งในข้างที่เจอก้อน แว่บแรกเรารู้ได้ทันทีว่า ต้องไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ ซึ่งระหว่างที่แมมโมแกรมรอบสองอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ก็ถามขึ้นมาว่า ‘ที่บ้านหรือญาติพี่น้องมีใครเคยเป็นมะเร็งไหม’ พอเจ้าหน้าที่ยิงคำถามนี้มา เรามั่นใจเลยว่า ใช่แน่ๆ ตอนนั้นเราก็ได้แต่ตอบกลับไปว่า ‘คุณปู่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้วด้วยโรคมะเร็งตับ’ หลังจากแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เสร็จ ก็นัดฟังผลในอีก 7 วันถัดมา
“พอถึงวันฟังผล สิ่งที่คุณหมอแจ้งก็คือ ‘ดูจากภาพแมมโมแกรมแล้ว ลักษณะแบบนี้น่าจะเป็นเนื้อร้าย’ จากนั้นคุณหมอก็ขอเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ ซึ่งก้อนที่พบนั้นมีทั้งหมด 2 ก้อน คือ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา 1 ก้อน ส่วนอีกก้อนอยู่บริเวณหัวนม ขนาดก็ประมาณ 7 มิลลิเมตร และ 1 เซนติเมตรเท่านั้น
“หลังจากเจาะชิ้นเนื้อไปแล้ว คุณหมอก็นัดมาฟังผลอีกครั้ง ซึ่งผล
ออกมาก็เป็นมะเร็งตามที่คาดเอาไว้ แต่คุณหมอก็แจ้งว่า ยังตอบไม่ได้ว่าเป็นระยะไหน แต่ก็ต้องทำการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด จากนั้นคุณหมอก็ถามเรื่องสิทธิประกันสังคม และทำเรื่องส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมให้เสร็จสรรพ”
วันผ่าตัด
“โชคดีมาก เราไปหาหมอที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมราววันจันทร์ คุณหมอก็นัดคิวผ่าตัดในวันอาทิตย์ภายในสัปดาห์นั้นเลย และโดยปกติตามสิทธิประกันสังคมแล้ว คุณหมอจะทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองที่แขนข้างซ้ายออกทั้งหมด แต่เพราะเราเกรงว่าจะมีอาการแขนบวมตามมาภายหลัง จึงปรึกษาขอให้คุณหมอเลาะต่อมน้ำเหลืองออกเพียงบางส่วนเพื่อส่งตรวจก่อน คุณหมอก็เห็นด้วย เพียงแต่การตรวจนี้ไม่อยู่ในสิทธิประกันสังคม เราจำเป็นต้องจ่ายเงินค่าตรวจเองราวหมื่นกว่าบาท
“เดิมทีเราอยากผ่าตัดแบบสงวนเต้า แต่หลังจากคุยกับคุณหมอแล้ว ด้วยความที่มีก้อนมะเร็ง 2 ก้อน โอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำมีสูงมาก อีกทั้งไม่ว่าจะผ่าตัดออกอย่างไร หน้าอกที่เหลืออยู่ก็ไม่เท่ากับอีกข้างแน่นอน เราจึงตัดสินใจผ่าตัดเต้านมด้านซ้ายออกทั้งหมด และวันนั้นคุณหมอก็เลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ข้างซ้ายออกไป 3 ต่อม ก่อนจะให้เจ้าหน้าที่วิ่งไปตรวจที่แล็บของโรงพยาบาลศิริราช ทำให้ทราบว่ามะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง และยังอยู่ในระยะ 0 เท่านั้น ซึ่งปกติผ่าตัดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องให้คีโม
“แต่โชคไม่ดีที่มะเร็งที่เป็นนั้นดันเป็นชนิดดุที่เรียกว่า HER2 คุณหมอจึงแนะนำให้รับคีโมและฉายแสง เพื่อเพิ่มโอกาสหายขาด ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง หลังจากกลับไปพักฟื้นและรักษาแผลที่ผ่าตัดได้ 1 เดือน เราก็กลับมาให้คีโม 4 เข็ม และฉายแสงต่ออีก 25 ครั้ง”
ฝ่าด่านคีโม
“ผลข้างเคียงจากคีโมจะเริ่มหนักตอนเข็ม 3-4 ส่วนเข็มแรกๆ จะมีแค่อาการเวียนหัว เหม็นกลิ่นอาหาร กินอะไรก็จะอาเจียน ซึ่งจะเป็นประมาณ 1 สัปดาห์แรกหลังให้คีโม แต่ก็ยังพอรับมือไหว และสามารถใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ พอเข็มที่ 2 คุณหมอลองเว้นแค่ 2 สัปดาห์ ปรากฏว่าผลเลือดไม่ผ่าน จึงกลับมาตั้งหลักกินใหม่ โดยใช้วิธีกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นไข่ขาว พร้อมเสริมด้วยนมทางการแพทย์ หลังจากนั้นมาผลเลือดก็ผ่านตลอด แต่กินนมทางการแพทย์ได้ไม่นานก็ต้องพัก เพราะแค่เห็นกระป๋องนมก็อยากอาเจียนแล้ว (หัวเราะ) แล้วหันไปกินเมนูโปรดแทนก็คือ ชาบูสุกี้ ซื้อมาทำกินเอง เปลี่ยนเนื้อ เปลี่ยนผักไปเรื่อยๆ
“พอเข็มที่ 3 อาการทางกายไม่เท่าไร แต่เริ่มออกอาการทางใจ แค่รถเลี้ยวเข้าโรงพยาบาลก็เกิดอาการพะอืดพะอมแล้ว ยิ่งตอนกำลังนอนรอให้คีโมบนเตียงคนไข้ แล้วได้ยินรถเข็นทำหัตถการที่พยาบาลเข็นเข้ามา ใจก็เริ่มไม่ดีแล้ว ยิ่งได้เห็นถุงน้ำเกลือหรือสายน้ำเกลือ เราต้องรีบขอถุงจากพยาบาลทันที เพราะเหมือนอาเจียนจะพุ่ง (หัวเราะ)
“จนกระทั่งคีโมเข็มที่ 4 สาหัสมาก นอกจากร่างกายจะไม่มีแรง หายใจไม่เต็มปอด เวียนหัวตลอดเวลาแล้ว ยังมีอาการกินไม่ได้ขั้นสุด เหม็นทุกอย่าง ไม่ใช่แค่อาหาร เหม็นไปถึงคนข้างๆ (หัวเราะ) นอนซมอยู่ 2 วันเต็มๆ เรียกว่า ท้อที่สุดในการรักษามะเร็งครั้งนี้เลยก็ว่าได้ ถึงขั้นบอกกับแฟนไว้ว่า ถ้าวันหนึ่งมะเร็งกลับมาและต้องรับคีโมอีก ไม่ขอรักษาแล้วนะ เพราะเรารู้สึกไม่ไหวแล้วจริงๆ แต่หลังจากนั้นแค่ 4 วัน ร่างกายก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม ความคิดเราก็เปลี่ยน (หัวเราะ) สู้ไหว สู้ได้…สบายมาก หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการฉายแสงต่ออีก 25 ครั้ง โดยฉายแสงครั้งสุดท้ายประมาณเดือนมกราคม 2562 รวมระยะเวลาในการรักษาทั้งหมดประมาณ 6 เดือน”
ชีวิตหลังมะเร็งมาเยือน
“เพราะความสุขของเราอยู่ที่การกิน ฉะนั้น เราจะระมัดระวังเรื่องอาหารเฉพาะในช่วงที่ให้คีโม โดยเน้นกินอาหารที่สุกสะอาดเท่านั้น แต่หลังจบการรักษาก็กินทุกอย่าง มีบ้างที่ช่วงแรกๆ กลัวกินอันนั้นไม่ได้ กินอันนี้ไม่ได้ แต่พอเราศึกษาหาข้อมูลและสอบถามคุณหมอก็พบว่า อดีตผู้ป่วยมะเร็งที่จบการรักษาแล้วสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ กินอาหารได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขนมจีน น้ำพริกกะปิ เนื้อสัตว์ ฯลฯ แค่กินอย่างมีสติ อย่ากินอะไรที่ซ้ำซากจำเจ อะไรที่เรารู้ว่าเป็นความเสี่ยง ก็กินได้…แต่นานๆ ที
“เก๋รู้สึกว่าหากเราต้องใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขหรือข้อห้ามเต็มไปหมด จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างไร ที่สำคัญก่อนที่จะเป็นมะเร็ง เราก็เป็นคนที่รักสุขภาพอยู่พอสมควร ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ หลายคนที่ใกล้ชิดมักจะบอกว่า อาหารที่เรากินแทบจะเป็นอาหารคลีนอยู่แล้ว (หัวเราะ) และที่ผ่านมาเราก็ไม่ใช่สายปาร์ตี้ และไม่แตะอาหารจังก์ฟู้ดเลย ไม่ใช่เพื่อสุขภาพนะ แต่โดยส่วนตัวเราไม่ชอบอยู่แล้ว นั่นทำให้หลังเป็นมะเร็ง วิถีชีวิตเราไม่ได้เปลี่ยนไป เพียงแต่เราโฟกัสไปที่ความสุขมากขึ้น อยากกินก็กิน ไม่อยากกินเราก็ไม่กิน แต่เราจะไม่กดดันตัวเองเรื่องการกิน อย่าให้มะเร็งเข้ามาทำให้ความสุขของเราลดลง
“ทุกวันนี้พยายามใช้ชีวิตให้ปกติที่สุด ถ้าทาง TBCC ไม่ได้มาขอสัมภาษณ์ เก๋ก็ลืมไปแล้วนะว่า ตัวเองเคยเป็นมะเร็งมาก่อน (หัวเราะ) เพราะเราไม่ได้ไปโฟกัสหรือเอามะเร็งมาผูกติดกับเรา ไม่ไปหมกมุ่นอยู่กับมะเร็ง เราแค่รู้สึกว่ามะเร็งก็แค่โรคหนึ่ง เหมือนกับหวัด รักษาหายแล้วก็หายไป ไว้มะเร็งกลับมา เราค่อยสู้กันอีกทีเท่านั้น
“จากเมื่อก่อนเรากลัวมะเร็งนะ แต่พอเกิดขึ้นกับเราจริงๆ กลับรู้สึกว่า มะเร็งก็แค่ก้อนเนื้อก้อนหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะเราโชคดีที่เจอเร็ว และมะเร็งยังไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกายเรา เราจึงยังไม่กลัว รู้แค่ว่า ถ้าเป็น…ก็แค่รักษาไป และโชคดีแค่ไหนแล้วที่เป็นที่ตัวเรา ไม่ใช่คนที่เรารัก”
สวยในแบบของตัวเอง
“ในวันที่ผ่าตัดเต้านม ก็พูดคุยกับคุณหมอเรื่องการเสริมหน้าอกเหมือนกัน แต่คุณหมอแจ้งว่า หากเลือกที่จะเสริมหน้าอก ในกรณีของเรานั้นก็มีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ 0.01 เปอร์เซ็นต์ เพราะก้อนมะเร็งที่พบนั้นอยู่ติดกับผิวหนังมาก แม้จะขูดเนื้อบางส่วนออกไปแล้ว แต่คุณหมอก็ไม่แน่ใจว่าเชื้อมะเร็งจะหมดไปไหม ด้วยความที่เราเป็นคนผิวบางด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราจบความคิดที่จะเสริมหน้าอกไปตั้งแต่วันนั้น
“ปัญหาที่ตามมาก็คือเรากลายเป็นคนที่มีข้อจำกัดในการแต่งตัวเยอะมาก จากเมื่อก่อนที่ชอบใส่เกาะอก สายเดี่ยว คล้องคอ คอลึก คอกว้างได้สบาย กลายเป็นว่าเราต้องหันมาใส่เสื้อคอกลมปิดมิดชิด รู้สึกไม่มั่นใจอยู่พักใหญ่ แต่พอเวลาผ่านมา เราก็สามารถดัดแปลงสิ่งต่างๆ ให้เข้ากับตัวเราได้เอง ไม่ใช่แค่ตัวเก๋หรอก จริงๆ มนุษย์ทุกคนมีฟังก์ชันนี้อยู่ แค่อย่ายอมแพ้ ตัวเก๋เองก็ทดลองใช้บรามาหลากหลายแบบแต่ก็ไม่ลงตัวสักที จนมาพบ ‘ฟองน้ำ’ ที่ปกติสาวๆ จะใช้ดันทรง ความพิเศษของฟองน้ำนี้ก็คือจะมีกาวในตัว สามารถนำไปติดกับบราที่มีอยู่ได้เลย อีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เราสามารถใส่ชุดสวยได้ทุกชุดโดยไม่จำกัด แม้แต่ชุดว่ายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นวันพีช ทูพีช บิกินี่ ฯลฯ ทำให้เรากลับมาเป็นสาวแซ่บได้เหมือนเดิม (ยิ้ม)
“2-3 เดือนหลังจากจบการรักษา เราก็เริ่มออกกำลังกายโดยมีเทรนเนอร์ส่วนตัว นอกจากสุขภาพดีแล้ว เราก็สามารถปั้นหุ่นที่เราต้องการได้ ทุกครั้งที่เราโพสต์ชุดว่ายน้ำลงโซเชียล เพื่อนๆ ก็จะมาชื่นชมและบอกว่า ไม่เชื่อเลยว่านี่คืออดีตผู้ป่วยมะเร็ง บางคนถึงขั้นยกให้เราเป็นแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาออกกำลังกาย เป็นไอดอลในสายสุขภาพเลยก็มี ก็ยิ่งเป็นกำลังใจให้เราดูแลตัวเองยิ่งขึ้นไปอีก
“เก๋อยากบอกสาวๆ ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตกับนมเพียงข้างเดียวว่า มันอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับหรือค้นหาสิ่งที่คลิกกับชีวิตเรา ซึ่งไม่ง่ายเลย แต่เชื่อเถอะว่า วันหนึ่งเราจะเจอ อย่างเก๋เองกว่าจะเจอสิ่งที่ลงตัวกับการแต่งตัวของเราก็ใช้เวลาเกือบปีเหมือนกัน อกหักกับบรามาก็เยอะ แต่ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ในที่สุดเราก็เจอสิ่งที่เราต้องการ”
สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดีเสมอ
“เก๋มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดีเสมอ เราแค่ต้องผ่านไปให้ได้ ตอนที่เป็นมะเร็งแรกๆ เก๋คิดอยู่เสมอว่า เดี๋ยวเราก็หาย และเมื่อเราหายแล้ว เราต้องกลับมาสวย และจะสวยกว่าเดิม หรือตอนที่ผมร่วงจากคีโม เราก็รู้สึกว่า หลังจบการรักษา เดี๋ยวผมก็ขึ้นมาใหม่ โชคดีแค่ไหนที่เรามีโอกาสหัวโล้น (หัวเราะ) จะมีผู้หญิงสักกี่คนที่ชีวิตหนึ่งจะมีโอกาสแบบนี้ ช่วงนั้นก็จะสนุกกับการแต่งตัวและทาปากแดง แต่งตัวแซ่บทุกวัน หรือถ้าเบื่อหัวโล้น เราก็ใส่วิก วันนี้อยากผมยาวก็ใส่วิกผมยาว พรุ่งนี้อยากผมสั้นก็ใส่วิกผมสั้น หรือหากอยากใส่หมวกเก๋ๆ ก็ใส่ ฯลฯ เราพยายามจะสนุกและมีความสุขกับทุกโมเมนต์ในชีวิต ที่สำคัญคือเราส่งต่อพลังนี้ไปถึงคนอื่นๆ ผ่านการโพสต์ภาพและข้อความให้กำลังใจในทุกๆ วัน
“ด้วยนิสัยส่วนตัวเราเป็นคนที่อ่อนไหวง่าย คิดมาก สลัดยาก จากเมื่อก่อนไม่ว่าเรื่องดีหรือไม่ดี เรามักเอากลับมาคิด มาเครียดไปหมด แต่หลังจากผ่านการเป็นมะเร็งแล้ว เมื่อไรที่เรารู้สึกว่ากำลังเผชิญกับพลังลบๆ เราจะเดินหนี หรือใช้วิธีหลบเลี่ยง ไม่รับรู้เลยดีกว่า แต่หากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ คำพูดที่เรามักจะพูดกับตัวเองบ่อยๆ ก็คือ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป… เป็นประโยคที่อยู่กับเรามาตลอดตั้งแต่เล็กจนโต เพราะชีวิตที่ผ่านมาของเก๋ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีอุปสรรคปัญหาที่ต้องฟันฝ่ามาเหมือนกับทุกคน – แต่สุดท้ายเดี๋ยวมันก็ผ่านไปเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ ‘มะเร็ง’ ก็เป็นแค่เรื่องหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา เดี๋ยวก็ผ่านไป ลองย้อนกลับไปมองดูสิ หลายเรื่องในชีวิตที่เราเคยรู้สึกว่าหนักหนาที่สุดในชีวิต แต่พอเวลาผ่านไป มันกลับกลายเป็นเรื่องตลกก็มีเยอะแยะ ฉะนั้น ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งฟูมฟาย บอกตัวเองว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป…”
มะเร็งสอน
“อยากทำอะไร ทำเลย! อย่ารอ! เพราะชีวิตมันไม่แน่นอน เมื่อก่อนเรามักจะคิดว่า เดี๋ยวทำงานเก็บเงินก่อน เราค่อยไปเที่ยว ค่อยไปใช้ชีวิต ค่อยไปมีความสุข ค่อยไปใช้ตอนเกษียณ ฯลฯ ตอนนี้ไม่แล้ว มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน วันนี้เที่ยวได้…เที่ยวเลย กินได้…กินเลย รักตัวเอง เปย์ตัวเอง ให้ความสุขกับตัวเอง จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายทีหลัง
“สำหรับสาวๆ ที่มีนมข้างเดียว หลายคนอาจจะเครียด หมดสนุกกับการแต่งตัว ทำให้ชีวิตเซ็ง เศร้า น่าเบื่อ ไม่แฮปปี้ ซึ่งเก๋เคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว ให้กำลังใจตัวเองและตามหาสิ่งที่คลิกกับตัวเองให้เจอ แล้วชีวิตก็จะกลับมาสดใสได้เหมือนเดิม
“อีกความโชคดีของเก๋ก็คือคนรอบข้างที่คอยให้กำลังใจเราตลอด จำได้ว่าในวันที่คุณหมอแกะผ่าพันแผลที่หน้าอกออก เราตกใจนะ เพราะมันดูเหมือนผู้ชายเลย แต่แฟนนี่แหละที่ทำให้เรากลับมามั่นใจเหมือนเดิม เพราะเขาจะบอกตลอดว่า ไม่เป็นไรหรอก สวยเหมือนเดิม แม้แต่เพื่อนๆ ครอบครัว ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกขาดหาย หรือแปลกแยกจากพวกเขา เราจึงสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยหรืออดีตผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา
“มะเร็งก็เป็นแค่โรคหนึ่งที่สามารถรักษาได้ ยิ่งหากเจอในระยะแรกๆ เข้ารับการรักษาให้ไว สามารถหายขาดได้จริงๆ ฉะนั้น สาวๆ ที่กำลังกลัวจะเป็นมะเร็ง หรือกลัวตรวจแล้วจะเจอ รีบไปตรวจเลยเถอะ และควรไปเสียเงินตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ เพราะจะได้ผลที่แม่นยำกว่าการคลำด้วยมือตัวเอง และยิ่งเราเจอเร็วเท่าไร นั่นหมายความว่า โอกาสหายขาดก็จะสูงกว่า จำนวนเข็มคีโมที่จะจิ้มไปที่ร่างกายเราก็จะน้อยกว่าไปตรวจเจอในระยะท้ายๆ ฉะนั้น สาวๆ ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป สละเวลาไม่กี่ชั่วโมงกับเงินเพียงไม่กี่พัน ตรวจเต้านมอย่างน้อยปีละครั้ง แต่สามารถเซฟชีวิต ลดความเจ็บปวดรุนแรงจากอาการข้างเคียงต่างๆ ให้เราได้…คุ้มมากนะคะ
“สำคัญที่สุดที่เก๋อยากจะบอกผู้ป่วยมะเร็งทุกคน คือ เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา อยากให้มั่นใจในคุณหมอและการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะทุกอย่างมีการวิจัยรองรับ และคุณหมอก็ผ่านการศึกษา รวมถึงมีประสบการณ์ในการรักษาคนไข้มามากมาย ไม่ใช่รักษาเราเป็นคนแรกซะเมื่อไร ฉะนั้น มั่นใจ อย่าท้อ และไปต่อให้จบตามแผนการรักษาที่คุณหมอวางไว้ อย่าหลงทาง อย่าเสียเวลากับสิ่งอื่นๆ เพราะบางทีกว่าจะกลับมารักษาแพทย์ปัจจุบันอีกครั้ง มันอาจจะสายไปแล้วก็ได้”
.