HOW TO : มาสร้างพลังวิเศษจาก ‘กำลังใจ’ เราเอง

นอกจากจะถูกพูดถึงกันในเชิงจิตวิทยาแล้ว ‘กำลังใจ’ ยังมีการศึกษาและวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ โดยงานวิจัยหลายฉบับได้ผลสรุปที่ไปในทางเดียวกันว่า กำลังใจเป็นสิ่งที่สามารถทำให้คนเราเกิดกำลังทางกายขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น…


การศึกษาในผู้ป่วยหนักที่ได้รับการวินิจฉัยว่า อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่เมื่อได้รับกำลังใจที่ดีจากคนรอบข้าง กลับทำให้ร่างกายของเขาสามารถฟื้นฟู และสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานกว่าคำวินิจฉัยที่แพทย์บอกไว้

หรือผลการศึกษาโดยทีมนักวิจัยแห่งวิทยาลัยการแพทย์ Perelman มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พบว่า ผู้ป่วยที่หย่าร้าง แยกกันอยู่กับคู่สมรส หรือคู่สมรสเสียชีวิต มีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นราว 40% ที่จะเสียชีวิตหรือเกิดอาการพิการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในช่วง 2 ปีแรก หลังเข้ารับการผ่าตัดหัวใจสูงกว่าผู้ป่วยที่ยังมีคู่สมรสอยู่ ผลการศึกษาครั้งนี้ยืนยันผลการศึกษาชิ้นก่อนหน้าที่ชี้ว่า ‘กำลังใจ’ ที่ผู้ป่วยได้รับจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะจากคู่สมรส ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดลง
นั่นจึงทำให้เชื่อได้ว่า ‘กำลังใจ’ นั้นสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อร่างกายของคนเรา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่แย่ที่สุดอย่างการป่วยเป็นโรคเรื้อรัง การได้รับกำลังใจหรือพลังบวกจากคนที่รักย่อมผลักดันให้เราอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่หากไม่มีล่ะ! หรือหากคนที่เรารักเขาไม่รู้ว่าจะให้กำลังใจเราอย่างไร หรือวิธีการให้กำลังใจของเขาอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการหรือคาดหวัง…เราจะทำอย่างไรดี?
วันนี้ TBCC อยากชวนทุกคนมารู้จักกำลังใจจากใครคนหนึ่งที่มีเวลาว่างให้เราเสมอ และเขารู้ด้วยว่าเราต้องการกำลังใจแบบไหน ใครคนนั้นก็คือ ‘ตัวเราเอง’ เพราะเราทุกคนสามารถที่จะเป็นเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจ ลูบหลัง ลูบไหล่ หรือแม้แต่โอบกอดเราได้เสมอทุกครั้งที่เราต้องการ

1) หยุดไขว่คว้ากำลังใจจากคนอื่นก่อน 

การขอกำลังใจจากคนรอบข้างที่เรารักและรักเรานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันช่วยเพิ่มพลังวิเศษให้เราแน่นอน เพียงแต่เราต้องเข้าใจก่อนว่า แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่มากมายที่ต้องทำ ในวันที่เราแย่ๆ อยากได้กำลังจากคนรัก วันนั้นคนรักเองอาจจะไม่พร้อมให้เราก็ได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเขา 

การไขว่คว้ากำลังใจที่ไม่ถูกที่ถูกเวลา บางครั้งมันก็ทำให้เราท้อและหมดกำลังใจได้ง่ายๆ ฉะนั้นก่อนกำลังใจจะถูกบั่นทอนลงเรื่อยๆ จนไม่เหลือ เราอยากให้ผู้ป่วยทุกคนหยุดไขว่คว้า ค้นหากำลังใจจากข้างนอก แต่ลองมาสร้างกำลังใจด้วยตัวเอง ซึ่งง่ายกว่า มั่นคงกว่า ยั่งยืนกว่า และมีให้เราได้ทุกเวลาที่ต้องการ

2) ก้าวข้ามความผิดพลาด หยุดตอกย้ำซ้ำเติมตัวเอง

เชื่อว่าผู้ป่วยมะเร็งหลายๆ คน ทันทีที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง นอกจากช็อก ตกใจ ไม่ยอมรับความจริงแล้ว สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นต่อจากนั้นก็คือการค้นหาความผิดพลาดและโทษตัวเองในการใช้ชีวิตที่ผ่านมาในอดีต เช่น เพราะฉันชอบกินหมูกระทะหรือเปล่า รู้อย่างนี้ฉันตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีดีกว่า เพราะฉันไม่ชอบกินผักใช่ไหม ฯลฯ ซึ่งความคิดเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย นอกจากจะทำให้เราจมดิ่งไปกับความผิดพลาดที่อาจจะไม่ใช่สาเหตุของมะเร็งด้วยซ้ำ  

3) มองให้เห็นข้อดีของทุกสิ่ง

ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนมีสองด้านเสมอ เช่นเดียวกับเรื่องราว เหตุการณ์ หรือแม้กระทั่งโรคร้ายที่เกิดขึ้นกับเรา ล้วนมีข้อดีและข้อเสีย ในความทุกข์ทรมานจากการเป็นโรคร้าย ลองมองหาข้อดีที่เกิดขึ้นหรือซ่อนอยู่ ก็จะช่วยให้สิ่งที่เราเผชิญอยู่นั้นไม่ได้เลวร้ายเกินไป เช่น มะเร็งอาจจะทำให้เจ็บปวดจากการรักษา แต่ในขณะเดียวกันมะเร็งก็เข้ามาเตือนให้เราปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตใหม่หมด เพื่อจะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพต่อไป เราได้เห็นถึงคนที่รักเราอย่างแท้จริง เราได้เห็นคุณค่าของเวลา ฯลฯ นอกจากนี้ ก็อย่าลืมมองหาข้อดีของตัวเอง เพราะนั่นจะทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองและมีกำลังใจที่จะสู้ต่อ   

4) ยอมรับความจริง แม้จะเจ็บปวด

เราต้องตระหนักเสมอว่า การให้กำลังใจตัวเองนั้นแตกต่างจากการหลอกตัวเอง หรือหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับความจริง ผู้ป่วยมะเร็งมากมายมักเฝ้าถามคุณหมอซ้ำๆ ว่า โรคที่กำลังเผชิญอยู่นั้นจะรักษาหายขาดได้ไหม ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะคำว่าหายขาดหมายถึงไม่กลับมาเป็นโรคมะเร็งซ้ำอีกครั้ง ในขณะที่มะเร็งเป็นโรคที่มีสถิติกลับมาเป็นซ้ำสูง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสหายขาดได้ เพราะมีผู้ป่วยมากมายเช่นกันที่โรคสงบไปตลอดชีวิต เพียงแต่ต้องอาศัยปัจจัยมากมาย ตั้งแต่พันธุกรรม กระบวนการรักษา การดูแลตัวเอง ไลฟ์สไตล์หลังจบการรักษา ฯลฯ นั่นทำให้ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า จะหายขาดไปตลอดชีวิตไหม สิ่งสำคัญก่อนที่จะสร้างกำลังใจให้ตัวเองได้ก็คือต้องยอมรับและทำความเข้าใจกับตัวโรคให้ได้ก่อน เพื่อจะเผชิญหน้ากับมะเร็งอย่างเข้าใจและไม่เกรงกลัว    

5) บอกรัก-โอบกอด-ปลอบโยนตัวเองให้เป็น

เชื่อว่าความรู้สึกเหนื่อย ท้อ สิ้นหวัง หมดกำลังใจ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งต้องเจอกันแทบทุกคน เพียงแต่ใครจะจัดการปลดปล่อยความรู้สึกเหล่านั้นได้เร็วกว่ากัน บางคนอาจจะจมดิ่งอยู่เป็นเดือนๆ ขณะที่หลายๆ คนอาจจะล้มแล้วลุกขึ้นสู้กลับได้ไว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อร่างกายเรา โดยเฉพาะหากอยู่ระหว่างการรักษา 

ฉะนั้น เราต้องมาเรียนรู้ที่จะรักตัวเองให้เป็น ซึ่งการรักตัวเองไม่ได้หมายความว่า การสร้างเกราะมาปกป้องตัวเราเองจากความเจ็บปวดและโรคร้าย แต่การรักตัวเองนั้นคือการยอมรับตัวเองในแบบที่เราเป็น และเข้าใจว่าเราเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาที่ไม่สมบูรณ์แบบ ผิดพลาดได้ อ่อนแอได้ ร้องไห้ฟูมฟายได้ ฉะนั้นทุกครั้งที่เหนื่อยๆ ท้อๆ ก็โอบกอดตัวเองบ้าง หรือวันไหนที่รู้สึกว่าแย่ก็ลองปลอบโยนตัวเองด้วยการหากิจกรรมที่มีความสุข หรือเที่ยวไปในสถานที่ที่อยากไป ฯลฯ   

6) ชื่นชมและให้รางวัลในความเข้มแข็งของตัวเองบ้าง

เพราะการก้าวข้ามมะเร็งนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย การพูดกับตัวเองด้วยประโยคดีๆ ชื่นชมตัวเอง หรือมอบรางวัลให้ตัวเองบ้างในวันที่เราต้องพยายามทำบางสิ่งที่ยากเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ทุกครั้งค่าเลือดผ่าน สามารถให้คีโมได้ อย่าลืมมอบของขวัญให้สมกับความพยายามของตัวเอง ที่พยายามหม่ำไข่หลายๆ ฟองหรือกินอาหารทุกอย่างอย่างไม่กลัวที่จะอาเจียน หรือหลังจบการรักษา จองตั๋วล่วงหน้าไปเที่ยวที่สถานที่ไหนสักแห่งกับครอบครัว เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จ ฯลฯ 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.thaiheartfound.org
https://www.voathai.com
https://www.alljitblog.com
https://www.youtube.com

แชร์ไปยัง
Scroll to Top