ดร.พัทธนันท์ เนาว์ในสิน : มะเร็ง ณ ชั่วขณะหนึ่ง

“การรักษามะเร็งครั้งที่ 3 นี้ 
ทำเราสะบักสะบอมอยู่พอสมควร
เพราะอาการข้างเคียงมาหมด

และค่อนข้างสาหัส แต่ก็ไม่มีครั้งไหนเลย
ที่เรารู้สึกว่าจะไม่รอด หรือไปต่อไม่ได้
ตรงกันข้ามเรากลับรู้สึกว่า  
เดี๋ยวมันก็ผ่านไป…”

พี่ก้อย-ดร.พัทธนันท์ เนาว์ในสิน นักวิชาการอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้หญิงวัย 53 กะรัต ที่ครั้งหนึ่งเคยฝันอยากเป็นครูดอยและสามารถไปยืนอยู่ในจุดที่สามารถสัมผัสการใช้ชีวิตของคุณครูดอยได้ มีโอกาสทำงานร่วมกับคุณครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (รร.ตชด.) ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร การเดินทางยากลำบาก ไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา และการสื่อสารโทรคมนาคม พบว่าการเป็นครูดอยในถิ่นทุรกันดารนั้นมันไม่ง่ายอย่างที่คิดฝันไว้ ต้องเสียสละความสุขส่วนตัว อยู่ห่างไกลครอบครัว

นับจากวันนั้น มุมมองและความคิดการทำงานบนดอยของเธอก็เปลี่ยนไป การทำความเข้าใจและเรียนรู้สภาพปัญหาของชุมชนชายขอบตามความเป็นจริงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินโครงการ ‘ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับชุมชนชายขอบ ในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริฯ’ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีและโทรคมนาคมเพื่อการสื่อสารด้านการศึกษาให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารเป็นโครงการที่เธอและทีมงานได้ริเริ่ม ปลุกปั้น และพัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกันมากว่า 10 ปี

“เราได้เรียนรู้ว่า การทำสิ่งใดเพื่อคนอื่นนั้น เราจะทำเพราะความสงสารอย่างเดียวไม่ได้ บางครั้งการมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องทุกข์ใจของผู้อื่นมากเกินไป ทำให้เราเกิดความรู้สึกเศร้าหมองตามไปด้วย เราจึงกลับมาทบทวนและปรับเปลี่ยน Mindset เสียใหม่ว่า สิ่งที่เราทำได้คือการนำความรู้ความสามารถที่มีกลับไปช่วยเหลือคุณครูและเด็กๆ ที่นั่น ดีกว่าการนำแต่สิ่งของไปให้หรือเอาเครื่องมือไปให้พวกเขา แต่เราต้องทำให้เขาได้ใช้ประโยชน์ มีทักษะเพิ่มขึ้น และพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกต้อง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในวันที่ไม่มีพวกเรา”

งานสอนชีวิต

ราวปี 2550-2551 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางบุกป่าฝ่าดงของเธอและค่อยๆ ขยับขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆ จนถึงวันนี้มีโรงเรียนตามตะเข็บชายแดนที่ได้รับการดูแลกว่า 23 แห่ง และเธอยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานต่อไปเรื่อยๆ แม้วันนี้ร่างกายของเธอจะถูกรุกล้ำจากมะเร็งมาถึงสามครั้งสามครา  

“พื้นที่ที่เราเข้าไปนั้น ไม่ใช่แค่ไม่มีคอมพิวเตอร์ แต่เป็นพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีทั้งถนน น้ำประปา ไฟฟ้า และเครื่องมือสื่อสารใดๆ เลย บางพื้นที่ใช้เวลาเดินทางถึง 2 วัน ต้องนั่งรถโฟร์วีลขึ้นภูเขา ลงเรือข้ามแม่น้ำ ฯลฯ ถามว่าลำบากไหม ก็ลำบาก แต่ยิ่งลำบาก เรากลับยิ่งอยากลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือ

“เราและทีมงานทุกคนหวังว่า สิ่งที่พวกเราทำจะช่วยให้เกิดความทัดเทียมกับผู้คนบนแผ่นดินนี้ ยิ่งทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีความสุข นี่เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมเราจึงรักในงานที่เราทำ และมีความสุขเสมอที่ได้เดินทางไปช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ทุรกันดาร เพราะเรารู้ว่าค่าตอบแทนในงานที่เราทำ มันไม่ใช่แค่เงินเดือนประจำที่ได้รับ แต่มันคือความภาคภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น และนี่เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากมีชีวิตอยู่ต่อ 

“ไม่ว่ามะเร็งจะกลับมากี่ครั้ง เราก็ยังรู้สึกว่าตัวเองโชคดีกว่าคนอีกมากมาย เพราะถึงเราจะป่วยร้ายแรงแค่ไหน แต่อย่างน้อยเราก็ยังสามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีได้ ในขณะที่อีกหลายชีวิตที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เขาไม่มีโอกาสแม้แต่จะรักษา เพราะการเดินทางเข้ามารับการรักษาในเมืองเป็นเรื่องที่ลำบาก แต่ถามว่าเขารู้สึกท้อแท้สิ้นหวังกับชีวิตไหม คำตอบคือไม่เลย เขากลับมีมุมคิดว่า เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา นี่เองที่ทำให้เรารู้สึกเสมอว่า การป่วยของเราทุกๆ ครั้ง มันเป็นเรื่องเล็กมาก…”

ปฐมบทแห่งมะเร็ง 

“ย้อนหลังกลับไปเมื่อประมาณปี 2554 ตอนนั้นเราไปนอนเฝ้าเพื่อนสนิท ซึ่งรักษามะเร็งเต้านมอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ครั้งนั้นจุดประกายให้เราตัดสินใจไปตรวจเต้านมดูบ้าง ก็ปรากฏว่าพบก้อนที่เต้านมด้านซ้าย แต่ลักษณะเป็นก้อนปกติ คุณหมอจึงให้เฝ้าติดตามผลไปก่อน กระทั่งสองปีต่อมาลักษณะก้อนเริ่มไม่สวย คุณหมอจึงแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ จำได้ว่าพอวันที่ 30 มีนาคม 2556 ผลชิ้นเนื้อออกมาว่าเป็นมะเร็ง 

“ความคิดแรกของเราตอนนั้นก็คือ ‘จนได้…’ แม้จะไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งมาก่อน แต่ด้วยความที่เพื่อนสนิทเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ทำให้เราพอรู้ว่ามะเร็งเต้านมนั้นมีโอกาสรักษาได้หากเจอในระยะแรกๆ และค่อนข้างเข้าใจพัฒนาการของมะเร็งเต้านม ทำให้เราไม่รู้สึกกลัวหรือตกใจอะไรเลย 

“ในวันที่ 4 เมษายน 2556 คุณหมอก็นัดผ่าตัดแบบสงวนเต้าและเลาะต่อมน้ำเหลืองไปตรวจ 3 ต่อม ซึ่งโชคดีที่มะเร็งยังไม่ได้ลุกลาม เราจึงอยู่ในสถานะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะ 1 ชนิด HER2 ซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมพันธุ์ดุ ตามปกติมะเร็งชนิดนี้จะต้องได้รับยามุ่งเป้า แต่ด้วยระเบียบของกรมบัญชีกลางในสมัยนั้น หากไม่ได้เป็นระยะ 2 ยังไม่มีสิทธิ์ได้รับยามุ่งเป้า เราจึงได้รับเพียงยาเคมีบำบัด 6 ครั้ง ฉายแสงอีก 25 + 3 ครั้ง จากนั้นก็ติดตามผลทุก 3-6 เดือน เรื่อยมากว่า 2 ปี”

เผชิญหน้ากับมะเร็งครั้งที่ 2

“กระทั่งปี 2558 ระหว่างที่เราลงพื้นที่ทำงานตามปกติ จู่ๆ ก็เกิดอาการปวดหลังและปวดเข่ามาก แต่ตอนนั้นเราคิดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการเดินทางไปตามแหล่งทุรกันดาร ซึ่งถนนหนทางก็ไม่ดี พอสะสางภารกิจเรียบร้อยก็รีบไปหาคุณหมอ ตั้งใจว่าจะไปรักษาอาการปวดหลังและปวดเข่าเท่านั้น แต่รักษาอยู่ราวเดือนหนึ่ง อาการก็ยังไม่ดีขึ้น พอกลับไปหาคุณหมออีกครั้ง ท่านก็ทดลองให้ทำท่ากายบำบัด แต่กลับไม่ได้ส่งผลต่ออาการปวดของเราเลย วันนั้นท่านพูดมาประโยคหนึ่งว่า ‘ไม่ได้การแล้วละ น่าจะมีอะไรผิดปกติ’ จึงส่งตรวจร่างกายในวันนั้น ก่อนจะสั่งผ่าตัดด่วน

“ด้วยความที่เราไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไปผ่าตัด จึงขอคุณหมอกลับมาส่งลูกไปเรียนพิเศษก่อน (หัวเราะ) และอีกสองวันถัดมาคุณหมอก็ทำการผ่าตัดส่องกล้อง โดยครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นถุงน้ำดีอักเสบ แต่พอมาดูอย่างละเอียดแล้ว ปรากฏว่าไม่ใช่ แต่สาเหตุกลับมาจากมะเร็งได้กระจายไปทั่วช่องท้อง ทั้งตับ ปอด เบียดท่อน้ำดี และลุกลามไปที่กระดูกจึงทำให้มีอาการปวดหลังและเข่า

“กระบวนการรักษาเริ่มต้นขึ้นด้วยการให้ยาเคมีบำบัด 8 ครั้ง และต่อด้วยยามุ่งเป้า ‘เฮอร์เซปติน’ (Herceptin) และ ‘เปอร์เจตา’ (Perjeta) โดยจะให้ทุกๆ 3 สัปดาห์ ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด ครั้งนั้นเราจึงจำเป็นต้องใส่ ‘พอร์ต’ (Port A Cath) เพื่อสะดวกในการรับยามุ่งเป้า โดยรวมทั้งหมดเรารับยามุ่งเป้าไปกว่า 72 ครั้ง”

ภารกิจชีวิตไม่เคยหยุดพัก

“โชคดีที่ยามุ่งเป้าไม่มีผลข้างเคียงมาก ทำให้เราสามารถลงพื้นที่ทำงานได้ตามปกติ เช่น ให้ยามุ่งเป้าวันศุกร์ วันเสาร์ทางทีมงานก็เตรียมรถมารับเพื่อลงพื้นที่ได้เลย เราก็จะนอนหลับไปในรถ พอไปถึงพื้นที่ก็จะทำงานต่อได้เลย อาจจะมีอาการอ่อนเพลียบ้าง แต่ก็พอรับมือไหว 

“หลายคนอาจจะสงสัยว่า ป่วยขนาดนี้ ทำไมไม่หยุดพัก ซึ่งจริงๆ สามารถลาหยุดพักได้ เพียงแต่ด้วยความเป็นข้าราชการ เราจึงรู้สึกและสำนึกอยู่เสมอว่า การที่เราได้รับการรักษาที่ดีได้ก็เพราะองค์กรและประชาชน ฉะนั้น เราจึงอยากทำอย่างไรก็ได้ให้คุ้มกับค่ารักษา-ค่ายาที่เสียไป ที่สำคัญกว่านั้น การได้ทำงานทุกๆ วันยังช่วยให้เราไม่โฟกัสอยู่กับตัวโรค ไม่มีเวลาที่จะปรุงแต่งกับอาการที่เกิดขึ้น เช่น อยากอาเจียน ก็กินยาเดี๋ยวก็หาย อ่อนเพลีย นอนพักสักหน่อยก็ดีขึ้น ฯลฯ ไม่มีเวลาแม้แต่จะถามตัวเองว่า ทำไมต้องเป็นเราที่เป็นมะเร็ง 

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ป่วยทุกคน อะไรที่คิดแล้วฟุ้งซ่าน คิดแล้วทุกข์ คิดแล้วทำให้ตัวเองท้อถอย ฯลฯ เราไม่ควรเสียเวลากับสิ่งเหล่านี้เลย นั่นจึงทำให้เรามุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว รักษา ทำงาน ใช้ชีวิต อะไรที่คิดแล้วไม่ดีกับความรู้สึกตัวเอง เราจะไม่เสียเวลาคิดเลย 

“ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณประสบการณ์ในการทำงาน ที่หล่อหลอมให้เราเป็นคนที่หมั่นพัฒนาจิตใจของเราอยู่เสมอ ขอบคุณงานที่ทำให้เราได้เห็นถึงความลำบากของคนมากมาย ทำให้เรารู้ซึ้งเลยว่า ชีวิตเราโชคดีแค่ไหน ที่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีและเป็นอยู่อย่างไม่ขาดแคลน”

มะเร็งที่ผ่านเข้ามาเป็นครั้งที่ 3

“การติดตามผลดำเนินมาเรื่อยๆ กระทั่งราวเดือนมิถุนายน 2565 เราเริ่มมีอาการปวดหัว แต่ด้วยช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราลงพื้นที่ทุกสัปดาห์ และแต่ละพื้นที่ที่ไปก็ทุลักทุเลมาก จึงทำให้เราคิดว่าน่าจะเป็นอาการเมารถ จึงได้แต่กินยาแก้ปวด ยาแก้เมารถ ซึ่งอาการก็ดีขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นๆ หายๆ เรื่อยมา จนกระทั่งปลายปีอาการปวดหัวเริ่มรุนแรงขึ้น ปวดจนลุกไม่ได้ ขนาดนั่งก็ยังไม่ได้ ถึงขั้นต้องนอนทำงาน หลังจากส่งมอบงานให้น้องๆ ในทีมไปดำเนินการต่อ เราก็รีบไปโรงพยาบาล 

“วันนั้นคุณหมอก็ส่งทำ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ทันที ปรากฏว่าพบก้อนมะเร็งขนาด 3.5 เซนติเมตร ที่สมองส่วนเซรีเบลลัม (Cerebellum) หรือสมองน้อย คุณหมอก็ทำการผ่าตัดด่วน และฉายแสงแบบมุ่งเป้าต่ออีก 3 ครั้ง หลังการผ่าตัดในช่วงแรกๆ เราเดินไม่ได้เลย ต้องทำกายภาพบำบัด และฝึกเดิน ฝึกพูดใหม่ทั้งหมด 

“หลังจากนั้นอีกประมาณ 3 เดือน ก็พบว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังเยื่อหุ้มสมองและสมองส่วนหน้าอีก จึงต้องเริ่มฉายแสงแบบ Hold brain อีกครั้ง ถามว่าตกใจไหม? ก็ไม่ตกใจนะ (หัวเราะ) เพราะเรายังคิดเสมอว่า เราคงยังไม่เป็นอะไร แค่อาจจะต้องกลับมาเจ็บปวดจากการรักษาอีกครั้ง มีบ้างที่ท้อเพราะครั้งนี้เป็นครั้งที่หนักหนาสาหัสที่สุด ทั้งเวียนหัว ปวดหัว เดินไม่ได้ อาเจียน ฯลฯ พอผ่าตัดสมองแล้ว ก็ต้องให้ยาสเตียรอยด์ ตัวก็บวม เดินไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กลับมาหัดเดิน หัดพูดกันใหม่หมด และครั้งนี้ก็เป็นเหตุผลให้สามีตัดสินใจเกษียณและกลับมาอยู่ด้วยกัน ดูแลกัน เดินจูงมือกันอีกครั้ง”

จับมือกันเดินไป

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความโชคดีอย่างหนึ่งที่ทำให้เราผ่านทุกอุปสรรคมาได้ก็คือเรามีสามีและลูกสาวที่เป็นเหมือนเบื้องหลังที่แสนวิเศษ คอยซัปพอร์ตเราในทุกเรื่อง คอยดูแลในยามป่วย ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้เราทำในสิ่งที่เรารักและมีความสุข แม้บางครั้งจะไม่อยากให้ทำหรอก แต่เขาก็ไม่เคยห้าม อย่างมากก็แค่ปรามๆ ว่า ‘บางทีก็ให้มันน้อยๆ หน่อยนะแม่’ (หัวเราะ) 

“ทุกครั้งที่มองลูกสาว เราเห็นใจเขามากเลยนะ เพราะเขาเติบโตมากับเดดไลน์ของเรา ตอนเป็นมะเร็งครั้งแรก เขาอยู่แค่ ม.3 เอง จำได้ว่าพอเรารู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง เราก็คุยกัน เขาก็ไม่ได้แสดงอาการอะไร จนวันหนึ่งเราเปิดประตูห้องเข้าไป เห็นเขาแอบนั่งร้องไห้ วันนั้นเราก็บอกตัวเองเลยว่า เราจะไม่มีวันอ่อนแอให้ลูกและสามีเห็นเด็ดขาด เพราะถ้าเมื่อไรที่เราอ่อนแอ พวกเขาคงจะหวั่นไหว แต่มันก็มีบ้างที่น้ำตาเราไหล แต่เราจะพยายามให้อารมณ์นั้นอยู่กับเราไม่นาน 

“มะเร็งครั้งที่ 2 ตอนนั้นลูกสาวกำลังจะขึ้น ม.6 โดยมีเป้าหมายที่จะศึกษาต่อคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชากายภาพบำบัด และอยากให้แม่อยู่เคียงข้างจนถึงวันที่เขาสำเร็จและภาคภูมิใจในตัวเขา ความฝันของเขาเปลี่ยนไปตามเดดไลน์ของเรา กระทั่งมะเร็งครั้งที่ 3 นี้ เขาก็กำลังจะจบปริญญาตรีพอดี จากที่ลุ้นและถามตัวเองมาตลอดว่า เราจะมีชีวิตอยู่จนได้เห็นลูกสาวจบการศึกษาหรือเปล่า (หัวเราะ) วันนี้ก็ได้คำตอบแล้ว และเราเชื่อว่ามะเร็งทั้งสามครั้งที่ผ่านมา นอกจากเราจะได้เรียนรู้และมีชีวิตอยู่อย่างแข็งแกร่งแล้ว ตัวลูกสาวเองก็ได้เรียนรู้และแข็งแกร่งไปพร้อมๆ กับเราด้วย”

เรียนรู้อยู่กับ ‘มะเร็ง’

“จากเดิมที่ทำงานแบบ Work From Home 100 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงรักษามะเร็งครั้งที่ 3 แต่ทุกวันนี้ก็สามารถกลับมาทำงานได้ปกติ จะมีที่ Work From Home บ้าง Work From Hospital บ้าง ในช่วงที่หมอนัด แต่ทุกอย่างก็ราบรื่น ส่วนหนึ่งต้องขอขอบคุณองค์กร เจ้านาย และน้องๆ ทุกคนในทีมที่คอยซัปพอร์ตเราเสมอ ตอนนี้เหลือแค่การสร้างคนขึ้นมาทำงานแทนเรา ควบคู่ไปกับการคัดลอกร่องรอยการทำงานที่ผ่านมา เพื่อในวันหนึ่งที่ไม่มีเราแล้ว ทีมงานก็ยังสามารถสานต่องานต่อไปได้

“ขณะที่ตัวโรคเอง ปัจจุบันนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการให้ยามุ่งเป้า T-DM1 ระหว่างทางก็มีอาการข้างเคียง เช่น ค่าตับสูงขึ้น ต้องพักการให้ยา และกลับมาให้ยาใหม่เมื่อค่าตับปกติหรืออยู่ในระดับที่ให้ยาต่อได้ และสุดท้ายอาจต้องหยุดการให้ยาไปเลยเพราะตับก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง แต่เราก็พยายามปรับตัว และจับทางว่าเราต้องอยู่กับมะเร็งอย่างไร ถามว่า กลัวตายไหม? เราไม่ได้กลัวตาย ตรงกันข้ามเราศึกษาและเตรียมตัวเองให้พร้อมเสมอที่จะจากไป ทั้งเคลียร์บ้าน บริจาคสิ่งของเหลือใช้ จัดทำพินัยกรรมชีวิต รวมถึงเอกสารเกี่ยวกับ Living will ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพียงแต่ตอนนี้เรายังอยากทำประโยชน์จากงานที่ทำอยู่ และยังเฝ้าดูลูกสาวเติบโตไปเรื่อยๆ แบบไม่สร้างภาระให้ใคร (ยิ้ม)

“ทุกวันนี้เราพยายามทำตัวเป็นของขวัญสำหรับคนรอบข้างที่เรารักและรักเรา พยายามมีความสุขง่ายๆ และทุกข์ให้สั้น ไม่เสียเวลากับความทุกข์ ความเศร้า หรือความเครียดนาน ที่สำคัญคือเราไม่คิดไกล คิดแค่วันต่อวัน อยู่กับปัจจุบัน ทำวันนี้ให้ดีที่สุดพอแล้ว เรารู้สึกว่าแค่ได้มีโอกาสตื่นลืมตาขึ้นมาในทุกเช้า เท่านี้เราก็ดีใจแล้วนะ เราชอบชีวิตตอนเช้า มันเหมือนชีวิตเราได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เราได้เจอคนที่เรารัก ได้มีโอกาสทานอาหารเช้าด้วยกัน ได้นั่งจิบโกโก้ร้อนๆ มองแสงแดดอ่อนๆ แค่นี้ก็มีความสุขที่สุดแล้ว”  

3 สิ่งวิเศษบรรเทา ‘ทุกข์’

“หยุดปรุงแต่ง ยอมรับความจริงให้ได้ และกลับมาอยู่กับปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่ช่วยให้เราผ่านมะเร็งทั้งสามครั้งมาได้อย่างไม่ทุรนทุราย ถ้าเราเป็นมะเร็ง ก็แค่ยอมรับและทำความเข้าใจ อย่างครั้งนี้ที่มะเร็งลุกลามมาที่สมอง ถามว่าทรมานไหม เราปวดหัวนะ แต่พอเรากินยา อาการก็ดีขึ้น มันไม่ได้ถึงขั้นสาหัสอะไร 

“สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยทุกคนควรรู้และทำให้ได้คือหยุดปรุงแต่ง เพราะการปรุงแต่งนั้นทำให้เราทุกข์มากขึ้น เจ็บมากขึ้น ทุรนทุรายมากขึ้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเราอาจจะไม่ได้เจ็บปวดมากมายอย่างที่จิตปรุงแต่งขึ้นมา ฉะนั้น อย่าอยู่กับมะเร็งด้วยความกลัว แต่ให้ดีลกับมะเร็งเป็นเคสๆ ไป เช่น ปวดหัวก็กินยาแก้ปวดหัว, อยากอาเจียนก็กินยาแก้อาเจียน ฯลฯ เชื่อว่าเราทุกคนอยู่กับมะเร็งได้…” 

.

#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#TBCCLifegoeson
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

แชร์ไปยัง
Scroll to Top