Dance Therapy : มาแดนซ์กระจาย…ไล่มะเร็งให้กระจุย!

รู้หรือไม่ว่าการเต้นนอกจากความสนุกสนานแล้ว ภายใต้ท่วงท่าการเคลื่อนไหวอย่างอิสระนั้นยังช่วยฟื้นฟูร่างกาย กระทั่งกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ระบบน้ำเหลือง และระบบต่างๆ ในร่างกายอีกมากมาย ยิ่งไปกว่านั้น การเต้นยังสามารถสื่อสาร เสริมความเข้าใจระหว่างกัน รวมถึงความเข้าใจในตัวเอง หลายประเทศทั่วโลกจึงพัฒนาการเต้นไปสู่ศาสตร์แห่งการบำบัด ทั้งบำบัดทางกายและเยียวยาทางใจ 

เต้นรำบำบัดกาย

การเต้นเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งเอ็นดอร์ฟิน จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกสดชื่นและมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้ลุกขึ้นเต้น นอกจากนี้ การเต้นอย่างสม่ำเสมอช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างการเชื่อมต่อระบบประสาทใหม่ที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายจากโรคและอาการบาดเจ็บ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุลงได้ถึง 76 เปอร์เซ็นต์!!! นั่นทำให้องค์กร Dance for PD® ในอเมริกาได้นำการเต้นเข้าไปบำบัดรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันอย่างจริงจังมานานหลายปีแล้ว

เต้นรำเยียวยาใจ

 Dance/Movement Therapy แปลตรงตัวง่ายๆ ก็คือศาสตร์การเต้นหรือการเคลื่อนไหวบำบัด ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปี 1950 โดยนำศิลปะแห่งการเคลื่อนไหวร่างกายมาใช้ประโยชน์ในการบำบัดรักษาจิตใจ กระทั่งในปี 1966 American Dance Therapy Association ถูกก่อตั้งขึ้น ‘การเต้นบำบัด’ ก็กลายเป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากการบำบัดด้วยการพูดคุย 

ในกระบวนการของการเต้นบำบัดนั้น จะมีตั้งแต่การหายใจ ทำสมาธิ เทคนิคการยืดเส้น และลองเคลื่อนไหวร่างกายไปตามความรู้สึกข้างใน โดยนักบำบัดจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สร้างพื้นที่ปลอดภัยและปล่อยให้ผู้รับการบำบัดลองเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ จากนั้น นักบำบัดจะมองหาท่าทางที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซึ่งดูมีความหมายกับบุคคลนั้น ก่อนจะเข้าสู่การพูดคุยและมองหาสิ่งที่อยู่ภายใต้ท่าทางการเคลื่อนไหวนั้น 

DIER (The Dinka Initiative to Empower and Restore) เป็นอีกโครงการหนึ่งที่นำศาสตร์การเต้นบำบัดมาเยียวยาจิตใจของวัยรุ่นชาวแอฟริกันที่ลี้ภัยจากสงครามมาอาศัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลายคนมีบาดแผลทางจิตใจที่สร้างความทรมานระยะยาว บางคนตกอยู่ในสภาพตัดขาดจากตัวเองและมีแนวโน้มจะแยกตัวออกจากสังคม

David Alan Harris นักศิลปะบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว ผู้ก่อตั้งโครงการ DIER ได้ประยุกต์การเต้นบำบัดเข้ากับรูปแบบการเต้นและตีกลองแบบ Dinka ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของแอฟริกา ทำให้เด็กๆ ได้ฟื้นฟูจิตใจควบคู่ไปกับเข้าใจรากของตัวเอง ทั้งยังเปลี่ยนแรงกระตุ้นด้านลบซึ่งมีแนวโน้มก่อให้เกิดความรุนแรงมาเป็นแรงผลักดันในทางบวกที่สร้างสรรค์ พูดง่ายๆ ว่า แทนที่จะระบายความอัดอั้นในใจผ่านความรุนแรงก็นำแรงนั้นมาลงกับการเต้นแทนนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังพบงานวิจัยอีกหลากหลายชิ้นที่พิสูจน์ว่า การเต้นนั้นยังช่วยลดระดับความเครียด ความวิตกกังวล รวมถึงลดอาการซึมเศร้าและความทุกข์ทางใจ ไปจนถึงช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเพศอีกด้วย

แดนซ์กระจายให้ไกลมะเร็งเต้านม

ในเมืองไทย แม้การเต้นบำบัดจะยังอยู่ในวงจำกัด แต่การเต้นและรำสำหรับคนไทยแล้วก็ถือว่าอยู่ในสายเลือด ไม่เชื่อก็ดูตามงานบุญ งานแห่ต่างๆ เรามักจะเห็นบรรดานักเต้นทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นมาโชว์ลีลากันให้เห็นจนเป็นภาพชินตา รวมถึงการเต้นในฐานะการออกกำลังกายก็มีมากมายเกลื่อนกลาดทั้งหน้าห้างสรรพสินค้าไปจนถึงตามหมู่บ้าน ทั้งแอโรบิก ซูมบ้า บาสโลบ รำวง ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการเต้นสไตล์ไหน พี่ไทยเราก็วาดลวดลายได้แบบไม่หวั่นเกรง และนอกจากจะได้สุขภาพทางกายแล้ว การเต้นยังทำให้ได้เพื่อนคลายเหงา ห่างไกลจากโรคซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี

ด้วยคุณประโยชน์มากมายของการเต้นนี้เอง ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อมะเร็งเต้านม ผุดโครงการ ‘เต้นรำบำบัด’ ขึ้นเมื่อสองปีก่อน โดยมี คุณครูลิซ (Liz-Madeleine Williams) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Clinical Dance Therapist มามากกว่า 25 ปี เป็นผู้สอนและออกแบบท่าเต้นให้เหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะ ทั้งที่เป็นผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเต้านม หลังการฉายรังสีที่เต้านม และผู้ป่วยที่จบการรักษาแล้ว เนื่องจากจะช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของระบบเลือดและน้ำเหลือง โดยกิจกรรมการเต้นบำบัดในแต่ละครั้งนั้นจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมพยาบาลมืออาชีพของศูนย์ฯ ด้วยอีกแรง

ข้อควรระวัง! สำหรับขาแดนซ์ทั้งหลาย

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งโดยทั่วไปนั้น แพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกายในระดับปานกลาง ก็คือ 55-70 เปอร์เซ็นต์ของอัตราชีพจรสูงสุด เป็นเวลา 30 นาที ทุกวัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ รวมถึงเต้นรำ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการกดหรือกระแทกข้อต่อต่างๆ ยิ่งเป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาและในระยะฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษาอาจจะต้องระวังพิเศษ หรือทางที่ดีที่สุดคือพักก่อนนนน… เช่น 

  • ผู้มีอาการโลหิตจางอย่างรุนแรง
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง
  • ผู้มีอาการอ่อนล้าจากการรักษา
  • ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาท อาจจะมีปัญหาในการทรงตัว
  • ผู้ที่ยังติดอุปกรณ์ต่างๆ หลังการรักษา เช่น สายเดรน เป็นต้น

นั่นเองที่ทำให้ ‘โครงการเต้นรำบำบัด’ จึงรับเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่จบการรักษาแล้วและได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์เจ้าของไข้ระบุข้อความว่า สามารถปฏิบัติกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางได้ เท่านั้น และหากเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำเป็นต้องมีจดหมายอนุญาตจากแพทย์เจ้าของไข้ระบุข้อความว่า สามารถปฏิบัติกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางได้ โดยปัจจุบัน โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างพักเบรก สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ ‘โครงการเต้นรำบำบัด’ หรือติดต่อขอรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการเต้นรำบำบัดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2256-4991-2 

การเต้นรำ ไม่ว่าจะในฐานะของการออกกำลังกาย บำบัดโรค บำบัดกาย บำบัดใจ ใดๆ ก็ตามแต่ ผู้ป่วยมะเร็งและอดีตผู้ป่วยมะเร็งทุกคนควรพึงระวังอย่างเคร่งครัด อย่าคิดว่าคนอื่นทำได้ ฉันต้องทำได้ เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ต้องเลือกให้เหมาะสมกับสภาวะและความพร้อมของตัวเอง หรือดีที่สุดก็คือขอคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลเราอยู่ – นั่นล่ะถึงจะสนุกได้และปลอดภัยด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก 
https://th.healthy-food-near-me.com
https://www.voathai.com
https://hmong.in.th
https://qscbc.org

แชร์ไปยัง
Scroll to Top