พัสวีร์ บำเพ็ญเกียรติกุล : ป่วยแค่กาย ใจอย่าป่วย!

“ต่อให้หมอเก่งแค่ไหน ยาดีอย่างไร
ถ้าใจเราไม่สู้ เอาแต่คิดลบร้าย
สุดท้ายก็คงไม่รอด ฉะนั้น กายป่วย 
อย่าปล่อยให้ใจป่วยตาม!”  

เนต-พัสวีร์ บำเพ็ญเกียรติกุล Business Development Manager คนเก่งที่พ่วงท้ายตำแหน่งคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหัวใจแกร่งวัย 36 ปี อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายเมื่อ 3 ปีก่อน หลังตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะ Single Mom ดูแลลูกชายสองคนตามลำพังได้เพียงปีเดียว เธอก็พบว่าเต้านมด้านซ้ายของเธอมีก้อนบางอย่างนูนขึ้นมา แต่เพราะไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ เธอจึงปล่อยทิ้งไว้และใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ จนกระทั่งหนึ่งเดือนต่อมา ก้อนนั้นเริ่มขยายขนาดขึ้นจนเห็นได้ชัด นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอตระหนักได้ว่า ร่างกายเริ่มส่งสัญญาณเตือนอะไรบางอย่าง

สัญญาณเตือน…

“ต้องออกตัวก่อนว่าเนตจะเป็นพวกที่ไม่ชอบหาหมอ ถ้าป่วยเล็กๆ น้อยๆ ส่วนใหญ่จะทนหรืออย่างมากก็แค่หายาทาน น้อยครั้งมากที่จะไปหาหมอ นอกจากจะป่วยจนไม่ไหวจริงๆ ฉะนั้น เรื่องการตรวจสุขภาพประจำปีจึงแทบไม่ได้ใส่ใจเลย พอวันหนึ่งมีก้อนขึ้นมา ในใจก็คิดแล้วว่าร่างกายเราคงจะผิดปกติ แต่ก็ยังไม่คิดว่าจะเป็นโรคร้ายแรงอะไร 

“ตอนนั้นเนตตัดสินใจไปหาหมอโดยใช้สิทธิ์บัตรทอง 30 บาท ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง พอคุณหมอเห็นก็ส่งตรวจอย่างละเอียด ทั้งตรวจเลือด ตรวจแมมโมแกรม อัลตราซาวด์ และยังส่งเราไปสแกนกระดูก (Bone Scan) ฯลฯ ก่อนจะเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ 

“ในวันที่เจาะชิ้นเนื้อนั้น คุณหมอก็แจ้งว่า ผิวของก้อนที่เจาะออกมานั้นมีลักษณะขรุขระ ซึ่งมีโอกาสเป็นมะเร็งอยู่พอสมควร แต่ก็ยังไม่คอนเฟิร์มแน่ชัด ให้เรารอผลตรวจชิ้นเนื้อจากแล็บเสียก่อน จากความรู้สึกเฉยๆ ชิลๆ ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นความกังวลขึ้นทีละนิด ระหว่างรอผลชิ้นเนื้อเกือบ 2 สัปดาห์ ตอนนั้นอึดอัดมาก จนรู้สึกว่า ถ้าจะเป็น…ก็ให้เป็นไปเลย! เราไม่อยากรอแล้ว เราอยากเดินหน้าต่อ ถ้าเป็นก็แค่รักษาไป…

“จนวันที่ไปฟังผล จำได้เลยว่าแม้จะทำใจมาพอสมควร แต่ก็ยังรู้สึกตุ๊มๆ ต่อมๆ และด้วยความที่ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เรามาหาหมอทุกสัปดาห์ แต่ก็ไม่เคยปริปากบอกป๊ากับแม่ว่ามาทำอะไร เพราะไม่อยากให้ท่านเป็นห่วง แต่ก็ไม่วายที่แม่จะเริ่มสงสัยและขอตามมาด้วย” 

ปฏิวัติวิธีคิด พิชิตโรค

“ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่าตัวเองก็ทำใจมาพอสมควรแล้ว แต่พอหมอแจ้งผลชิ้นเนื้อว่าเป็นเนื้อร้ายเท่านั้น น้ำตาเราไหลทันที แต่ห่วงที่สุดคือความรู้สึกของ ‘แม่’ ที่นั่งอยู่ข้างๆ เพราะท่านอายุมากแล้ว ไม่อยากให้ท่านเป็นห่วงหรือต้องมาดูแลเราอีกแล้ว ไหนจะป๊าที่กำลังรอฟังผลอยู่ที่บ้าน และลูกๆ ทั้งสองอีก นั่นทำให้เราอ่อนแอไม่ได้ หลังจากปล่อยให้ตัวเองเฟลอยู่หนึ่งสัปดาห์เต็มๆ เราก็ลุกขึ้นปรับวิธีคิดใหม่  

“หนึ่งสัปดาห์ที่จมอยู่กับคำถามที่วนไปวนมาในหัวว่า ทำไมต้องเป็นเรา เราก็ดูแลตัวเองดีอยู่นะ ออกกำลังกาย เข้ายิม ฯลฯ แต่พอถึงจุดหนึ่ง เรากลับพบว่าจริงๆ แล้วทางครอบครัวฝั่งคุณพ่อก็มีประวัติคนที่ป่วยเป็นมะเร็งอยู่หลายคน ซึ่งทำให้เกิดความคิดว่า เอ้อ! อย่างน้อยก็โชคดีจังที่มะเร็งตกทอดมาที่เรา ไม่ใช่คุณพ่อ เพราะเรารู้สึกว่าเราน่าจะรับมือกับโรคมะเร็งได้ดีกว่า

“ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่เราทำงานด้านประกันมา ทำให้มีโอกาสศึกษาและรู้จักมะเร็งพอสมควร เพราะเราต้องให้ข้อมูลกับลูกค้า ในความคิดของเราตอนนั้นมะเร็งจึงไม่ได้น่ากลัว เรารู้สึกว่า ‘มะเร็งก็เป็นแค่โรคโรคหนึ่ง’ ฉะนั้น เมื่อเป็นแล้วก็แค่รักษาไปและใช้ชีวิตต่อ 

“อย่าไปโฟกัสกับเรื่องที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ปล่อยมันไป อย่าให้มันมามีตัวตนในชีวิตเรา ใช้ชีวิตอย่างปกติ เดี๋ยววันหนึ่งมันก็ไปจากเราเอง เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้หรอกที่จะอยู่กับเราตลอดไป ไม่ว่าทุกข์หรือสุข เรื่องดีหรือเรื่องร้าย รวมถึงโรคร้ายอย่างมะเร็ง ฉะนั้น โฟกัสเรื่องที่ทำให้เรามีความสุขหรือสำคัญกับเราดีกว่า ป่วยก็แค่รักษาไปตามคำแนะนำคุณหมอ แต่อย่าไปให้ความสำคัญจนทำให้ชีวิตเราทุกข์”   

ป๊าและแม่อยู่เคียงข้างไม่ห่าง

ป่วยกาย แต่ใจสู้

“หลังจากผ่านระยะทำใจมาก็เข้าสู่กระบวนการรักษา โดยเริ่มจากการให้คีโม 4 ครั้งก่อน ซึ่งตอนนั้นเราไม่มีอาการแพ้ใดๆ เลย นอกจากผมร่วงอย่างเดียว โดยส่วนตัวก็คิดว่าน่าจะมาจากการดูแลสุขภาพและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอที่ผ่านมาของเรานี่แหละ ที่ทำให้ร่างกายรับมือกับคีโมได้เป็นอย่างดี 

“หลังคีโม 4 ครั้งผ่านไป ก็เข้าสู่ขั้นตอนการผ่าตัดซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบสงวนเต้า โดยตัดเฉพาะก้อนเนื้อร้ายขนาด 3 เซนติเมตรทิ้ง และเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ซ้ายออก เนื่องจากมะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว นั่นทำให้เราได้รับการวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะ 2 กำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 และต้องให้คีโมต่ออีก 12 ครั้ง ก่อนจะถูกส่งตัวมาฉายแสงอีก 40 ครั้ง ที่โรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็งกรุงเทพฯ แถวซอยอารีย์ ซึ่งรวมระยะเวลาในการรักษาตัวทั้งหมดกว่า 1 ปีเต็ม”

การดูแลร่างกายไม่มีวันสูญเปล่า

“ระหว่างที่รักษาตัวนั้น เนตก็ยังใช้ชีวิตปกติ ไม่ว่าจะเป็นทำงาน ออกกำลังกาย จะลางานก็เฉพาะช่วงที่ต้องผ่าตัดและพักฟื้นเท่านั้น นอกนั้นก็จะทำงานตามปกติ อาจจะเป็นเพราะช่วงที่ให้คีโม คุณหมอจะให้ยาแก้แพ้ก่อน หลังจากให้คีโม ส่วนใหญ่ก็จะมีแค่อาการอ่อนเพลียบ้าง แต่หลังจากนอนพักสัก 1 ชั่วโมง ก็จะดีขึ้นและสามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น ถ้าหมอนัดให้คีโมช่วงเช้า ช่วงบ่ายเราก็จะเข้าออฟฟิศตามปกติ หรือถ้าเป็นช่วงฉายแสง เราก็จะขอคุณหมอให้นัดหลังเลิกงาน พอเลิกงาน ก็ไปฉายแสงแล้วก็เดินทางกลับบ้าน ทำให้แทบไม่ได้ลางานเลย

“แม้แต่วันที่โกนผมเพราะผมร่วงจากการทำคีโม ก็จะมีแต่คนถามเราว่า ‘ไปบวชมาเหรอ ไปบวชวัดไหนมา’ (หัวเราะ) ไม่มีใครคิดว่าเราป่วยสักคน ทั้งหมดนี้ก็ต้องยกความดีให้การออกกำลังกายและการดูแลตัวเองตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ในช่วงที่รักษาตัวนั้นจะออกกำลังกายน้อยลงมาก ก็ยังไม่วายไปหาโปรตีนและวิตามินเสริมมากิน โดยเป้าหมายหลักก็เพื่อหุ่นล้วนๆ เลย (หัวเราะ) แต่โชคดีที่ได้สุขภาพมาเป็นของแถมด้วย ซึ่งน่าจะมีส่วนให้ร่างกายเราสามารถรับมือกับการรักษาได้เป็นอย่างดีทางหนึ่ง”

มองโรคในแง่ดี

“ในกระบวนการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด ฉายแสง หรือผลข้างเคียงจากการให้คีโม แทบไม่มีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกกลัวหรือรู้สึกว่ายากลำบากเลย แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดที่สุดในระหว่างการรักษา น่าจะเป็นการนั่งเฉยๆ กว่า 2 ชั่วโมง ในระหว่างให้คีโมมากกว่า ถ้าเลือกได้ก็อยากให้มียาคีโมที่สามารถฉีดแล้วกลับบ้านได้เลย (หัวเราะ) ไม่ต้องนั่งรอนานๆ 

“อีกเรื่องก็น่าจะเป็นเรื่อง ‘เข็ม’ ด้วยความที่ต้องให้คีโมอย่างต่อเนื่องและไปครั้งหนึ่งก็จะมีการฉีดยาแก้แพ้ เจาะแขนเพื่อให้คีโม บางครั้งก็ต้องเจาะเลือดตรวจ ฯลฯ ซึ่งเราโดนอย่างนั้นซ้ำๆ จากคนที่ไม่เคยกลัวเข็ม ก็กลายมาเป็นคนที่เห็นเข็มแล้วเริ่มขยาดไปพักใหญ่เลย 

“แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา ไม่ว่าจะดีหรือร้าย มันก็อยู่ที่ ‘วิธีคิด’ ของเราเอง มะเร็งก็เช่นกัน หากมองว่ามันแค่ความเจ็บป่วยทางร่างกาย ใจเราไม่ป่วยไปด้วย เดี๋ยวมันก็ผ่านไป แต่คนส่วนใหญ่พอรู้ตัวว่าป่วยเป็นมะเร็ง ใจป่วยนำกายไปก่อนเลย ยิ่งไปเจอผู้หวังดีเข้ามาเตือนนั่นเตือนนี่ อย่ากินอันนั้นนะ อย่าทำอย่างนี้นะ ฯลฯ ก็ไม่กล้ากินอะไรเลย พานให้ร่างกายอ่อนแอ ไม่พร้อมรับการรักษา บางคนก็เตลิดไปรักษาแพทย์ทางเลือก กว่าจะกลับตัวได้ บางครั้งก็ไม่ทันแล้ว

“ฉะนั้น ไม่ใช่ทุกความหวังดีจะดีกับตัวเรา เราจึงจำเป็นต้องรู้จักเลือกให้เป็น และรู้จักแยกแยะปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ปัญหาครอบครัวก็เรื่องหนึ่ง ปัญหางานก็เรื่องหนึ่ง ปัญหาสุขภาพก็เรื่องหนึ่ง และค่อยๆ แก้ไขไปทีละเรื่อง อย่ามัดรวมปัญหาทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันแล้วมานั่งทุกข์โดยไม่จำเป็น”

ซิงเกิลมัมหัวใจแกร่ง  

“จะว่าไปโรคมะเร็งก็แทบจะดูเป็นเรื่องธรรมดาไปเลยนะ เมื่อเราเคยผ่านช่วงที่เราต้องตัดสินใจเดินออกมาเพื่อใช้ชีวิตซิงเกิลมัมที่ต้องดูแลลูกชายทั้งสองตามลำพัง — นั่นหนักกว่าเยอะ เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องเราคนเดียว แต่เราต้องคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของลูกๆ ทั้งสองด้วยว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร รับได้ไหม รวมถึงป๊ากับแม่จะรู้สึกอย่างไร ฯลฯ ทำให้เราต้องคิดเยอะและซับซ้อนมาก แต่สำหรับมะเร็งถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวเรา เมื่อเป็นแล้วเราก็รักษาไป หมอให้ทำอะไร เราก็แค่ทำตามคำแนะนำของหมอ…แค่นั้น จบ! ทำให้มะเร็งไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตเนตมากนัก

สองหนุ่ม…กำลังใจสำคัญ

“ส่วนหนึ่งเนตก็เชื่อว่า เป็นมะเร็งไม่ใช่ต้องตายกันทุกคน อย่างลุงของเนตซึ่งก็เป็นมะเร็ง หมอวินิจฉัยว่าจะอยู่ได้อีกแค่ 6 เดือนเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ผ่านมาหลายปีแล้วก็ยังมีใช้ชีวิตได้ปกติ นั่นยิ่งพิสูจน์ให้เรารู้ว่า จะรอดหรือร่วง…บางทีมันไม่ได้อยู่ที่หมอหรือยาเท่านั้น แต่มันอยู่ที่ใจและวิธีคิดของเราด้วย ต่อให้หมอเก่งแค่ไหน ยาดีอย่างไร ถ้าใจเราไม่สู้ เอาแต่คิดลบร้าย สุดท้ายก็คงไม่รอด ฉะนั้น กายป่วย อย่าปล่อยให้ใจป่วยตาม — นั่นสำคัญที่สุด   

“เนตเชื่อว่า เรามีโอกาสเป็นมะเร็งกันได้ทุกคน อยู่ที่จะเป็นเมื่อไรเท่านั้นเอง และเมื่อเป็นแล้ว โอกาสที่จะหายขาดก็มีน้อยมาก หากวันหนึ่งมะเร็งจะกลับมาอีกครั้ง เราก็แค่รักษากันไป ทุกวันนี้ก็แค่เตรียมร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับมะเร็งอีกครั้ง ทำร่างกายให้แข็งแรง มีความสุขกับทุกๆ วัน และใช้ชีวิตไปตามปกติ

“จำไว้เสมอว่า ไม่ว่าชีวิตเราจะเจออะไรหรือเป็นอะไรก็ตาม ทุกอย่างอยู่ที่ใจและวิธีคิดของเราเอง มะเร็งก็แค่โรคโรคหนึ่ง รักษาได้ มะเร็งไม่ได้เท่ากับความตาย มะเร็งไม่ใช่ความทุกข์ แต่ที่เราทุกข์ก็เพราะใจเราเอง ความคิดเราเอง ฉะนั้น ป่วยกาย…อย่าปล่อยให้ใจป่วยตามเด็ดขาด” 

#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC

แชร์ไปยัง
Scroll to Top