5 เรื่องจริง! ‘มะเร็งเต้านม’ ที่คุณ (อาจ) ยังไม่รู้

01

มะเร็งเต้านม
มีมากว่า 3,500 ปีแล้ว

คุณเชื่อไหม ?

ใครที่เคยคิดว่ามะเร็งเต้านมเป็นโรคอุบัติใหม่ เปลี่ยนความคิดได้เลย เพราะพบว่ามีการบันทึกเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมมามากกว่า 3,500 ปีมาแล้ว โดยแพทย์อียิปต์ไม่ปรากฏชื่อได้บรรยายไว้ว่า มีโรคที่เกี่ยวกับก้อนที่เต้านมและเป็นก้อนที่ไม่สามารถจะรักษาให้หายขาดได้

กระทั่ง 460 ปี ก่อนคริสตกาล ฮิปโปเครติส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์ (The Father of Medicine) ของชาวตะวันตกได้บรรยายเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมว่า เป็นโรคของ Humor โดยเขาเชื่อว่า ร่างกายของคนเรานั้นจะประกอบด้วย 4 humor ได้แก่ เลือด เสมหะ น้ำดีสีเหลือง และน้ำดีสีดำ ซึ่งประกอบเป็นธาตุต่างๆ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) หาก Humor ทั้งสี่ไม่สมดุลเมื่อไร เราก็จะป่วยหรือเสียชีวิตได้ โดยมะเร็งเต้านมนี้ก็เกิดจากความไม่สมดุลของ Humor ที่เรียกว่า ‘น้ำดีสีดำ’ (Melon chole) ซึ่งมีมากเกินไป  และหากไม่ได้รับการรักษา สุดท้ายก็จะมีลักษณะแข็งและมีสีดำ กระทั่งแตกปะทุออกมาเป็นน้ำสีดำทางผิวหนังในที่สุด 

02

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
ที่อายุน้อยที่สุด

อายุเท่าไร…คุณรู้ไหม ?


เว็บไซต์เดลิเมล์ของอังกฤษได้เปิดเผยเรื่องราวของ เอลิชา ฮันเตอร์ (Aleisha Hunter) เด็กหญิงชาวแคนาดาที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เธอคือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่อายุน้อยที่สุดในโลก

ย้อนหลังไปราวเดือนธันวาคม 2551 ขณะที่แม่กำลังเช็ดตัวหนูน้อยวัย 2 ขวบอยู่นั้น  ได้คลำไปพบก้อนเนื้อแข็งเล็กๆ ขนาดเท่าถั่วที่หน้าอกของเธอโดยบังเอิญ จึงพาไปพบแพทย์ แต่ครั้งนั้นทางโรงพยาบาลแจ้งว่าไม่มีอะไรร้ายแรง เอลิชาจึงถูกส่งตัวกลับบ้าน

เวลาผ่านไป ก้อนเนื้อนั้นก็ยังคงเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเดือนมกราคม 2552 ซึ่งขณะนั้นเอลิชาอายุได้ 3 ขวบ เธอเกิดอาการปวดจนถึงขั้นนอนไม่หลับ แม่จึงพาเธอไปพบแพทย์อีกครั้ง ปรากฏว่าเธอถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตอน 3 ขวบ!

โดยก้อนมะเร็งขยายขนาดจากเมล็ดถั่วกลับกลายเป็นก้อนมะเร็งขนาดกว่า 2 เซนติเมตร แพทย์จึงตัดสินใจทำการผ่าตัดเต้านมให้หนูน้อยทันที และนำต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออกกว่า 16 ต่อม เพื่อดูว่ามะเร็งแพร่กระจายหรือไม่ และโชคดีมากที่มันยังไม่ลุกลาม ทำให้เธอไม่ต้องรับเคมีบำบัดหรือฉายรังสีแต่อย่างใด

เคสของหนูน้อยเอลิชาสร้างความตื่นตะลึงให้บรรดาแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยพบมะเร็งเต้านมในเด็กอายุน้อยเท่านี้มาก่อน จากเหตุการณ์นี้เองทำลายสถิติของ ฮันนา โพเวล-อุสแลม (Hannah Powell-Auslam) เด็กหญิงชาวแคลิฟอร์เนีย วัย 10 ขวบ ที่เคยได้รับการบันทึกว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่อายุน้อยที่สุดในโลกเมื่อปี 2552 ลงในทันที

03    

‘ก้อนมะเร็งเต้านม’
รสชาติแบบไหน…

ใครจะอยากรู้? 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! ในศตวรรษที่ 18 มีความเชื่อว่า มะเร็งเป็นโรคเฉพาะที่ นั่นจึงทำให้เริ่มมีการใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัดเจ้าก้อนมะเร็ง และในปี 1759  Jean Astruc แพทย์ชาวฝรั่งเศสได้ทำการทดลองนำก้อนมะเร็งเต้านมและเนื้อวัวไปย่างในเตาอบ จากนั้นก็นำมาเคี้ยวกิน! เพื่อเปรียบเทียบรสชาติระหว่างเนื้อวัวที่ปรุงสุกแล้วกับมะเร็งเต้านม ปรากฏว่า ‘รสชาติเหมือนกัน’

นั่นทำให้ Jean Astruc สรุปว่า เนื้อเยื่อของมะเร็งเต้านมนั้นไม่ได้มี ‘น้ำดี’ หรือกรดมากเกินไปดังความเชื่อ Humoral Theory ของกาเลน (Galen) ลูกศิษย์ของฮิปโปเครติส ที่เคยเชื่อว่า มะเร็งเกิดจากน้ำดีสีดำมากเกินไป การทดลองครั้งนี้ของ Jean Astruc ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติความเชื่อเก่าๆ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาสาเหตุของมะเร็งเต้านมอีกครั้ง

04

ผู้หญิงที่ไม่มีกิจกรรมทางเพศอย่างสม่ำเสมอ

มักเป็นมะเร็งเต้านม…จริงดิ?

อย่าเพิ่งตกใจ! เพราะนี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานปรัมปราจากทฤษฎีของ Bernardino Ramazzini’s ในปี 1713 ที่พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ในสมัยนั้นมักเป็น ‘แม่ชี’ นักบวชหญิงที่ถือพรหมจรรย์ ซึ่งดันไปสอดคล้องกับความเชื่อของ Ramazzini ที่อ้างว่า หญิงใดก็ตามที่ไม่มีกิจกรรมทางเพศที่สม่ำเสมอ อวัยวะสืบพันธุ์ รวมถึงเต้านมที่ไม่ได้ใช้งาน จะเริ่มเน่าเปื่อยและทำให้เกิดมะเร็งตามมา

ขณะเดียวกัน หญิงใดที่มีกิจกรรมทางเพศอย่างสม่ำเสมอ แต่ยังไม่วายเป็นมะเร็งเต้านมเช่นกัน Friedrich Hoffman แพทย์ชาวปรัสเซียก็อธิบายว่า หญิงกลุ่มนั้นอาจจะมีกิจกรรมทางเพศที่รุนแรง จนทำให้เกิดการอุดตันของระบบน้ำเหลือง จนนำไปสู่การเป็นมะเร็งเต้านมในที่สุด

เหล่านี้ล้วนเป็นข้อสันนิษฐานที่นำไปสู่การศึกษาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกลบล้าง ทำลาย จากการศึกษา ค้นพบ จนได้ทฤษฎีใหม่ๆ มากมาย ซึ่งนอกจากทฤษฎีว่าด้วยเรื่องเพศที่เป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านมแล้ว ยังมีทฤษฎีอื่นๆ เช่น ความซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเราเกิดมะเร็งเต้านม เพราะทำให้เส้นเลือดหดตัวจนเกิดการแข็งตัวของเลือด หรือบางทฤษฎีก็เชื่อว่า วิถีชีวิตของคนเมืองที่ไม่ได้ใช้แรงกาย (Sedentary Lifestyle) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ เป็นต้น

สาเหตุของมะเร็งเต้านมนับว่าเป็นเรื่องลึกลับมากในศตวรรษที่ 18  เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า มะเร็งเต้านมนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ แม้กระทั่งถึงปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นปริศนาที่มีเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น

05    

‘ริบบิ้น’

ตัวแทนมะเร็งเต้านม

ไม่ใช่สีชมพู…รู้หรือเปล่า?   


ทั่วโลกเริ่มมีการใช้ ‘ริบบิ้น’ เป็นสัญลักษณ์ในการตระหนักและการรณรงค์สนับสนุนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 กระทั่งในปี 2534 ชาร์ลอตต์ ฮาลีย์ (Charlotte Haley) ผู้หญิงที่ต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านมวัย 68 ปี ได้ออกมาปลุกระดมผู้คน โดยเธอแนบริบบิ้นสีพีชกับการ์ดที่มีข้อความว่า

“The National Cancer Institute’s annual budget is $1.8 billion, only 5 percent goes for cancer prevention. Help us wake up legislators and America by wearing this ribbon.”
(สถาบันมะเร็งแห่งชาติมีงบประมาณประจำปีอยู่ที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์ แต่ใช้งบในการป้องกันมะเร็งเพียง 5% เท่านั้น มาร่วมกันปลุกระดมสมาชิกสภานิติบัญญัติและประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยการติดริบบิ้นชิ้นนี้)

Charlotte Haley
ชาร์ลอตต์ ฮาลีย์’ และการ์ดพร้อมริบบิ้นสีพีชของเธอ

เธอเดินทางไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อแจกการ์ดและริบบิ้นจำนวนหลายพันใบให้กับคนที่ผ่านไปมา ต่อมาในปี 2535 เอเวอร์ลิน ลอเดอร์ (Evelyn Lauder) นักธุรกิจหญิงชาวออสเตรีย นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ใจบุญแห่งเอสเต ลอเดอร์ แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังระดับโลก ซึ่งเคยต่อสู้กับมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองเช่นกัน ได้ร่วมกับอเล็กซานเดอร์ เพนนีย์ (Alexander Penney) อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร Vogue นักเขียนอิสระที่มีผลงานติดอันดับหนังสือขายดีของ New York Times ส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักถึงเรื่องมะเร็งเต้านม

ด้วยทั้งสองชอบแนวคิดของชาร์ลอตต์ในการให้ริบบิ้น พวกเขาจึงทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสัญลักษณ์ริบบิ้น โดยเปลี่ยนจากสีพีชเป็น ‘สีชมพู’ แทน เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงได้รับรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น ทำให้สัญลักษณ์ริบบิ้นสีชมพู (Pink Ribbon) เป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับสากล

ปัจจุบัน ชาร์ลอตต์ ฮาลีย์ ผู้ริเริ่ม ‘ริบบิ้นมะเร็งเต้านม’ เสียชีวิตลงแล้ว เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ด้วยวัย 91 ปี ที่บ้านของเธอในรัฐแคลิฟอร์เนีย ทิ้งไว้เพียงเรื่องราวของ ‘ริบบิ้นสีพีช’ สัญลักษณ์แรกแห่งมะเร็งเต้านมในโลก  

ขอบคุณข้อมูลจาก
ประวัติศาสตร์การรักษามะเร็งเต้านม โดยนายแพทย์ชลทิศ อุไรฤกษ์กุล ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี
https://www.dailymail.co.uk
https://www.dailymail.co.uk
https://acsjournals.onlinelibrary.wiley.com
https://www.goodhealthcommunity.co.th
https://www.bcaction.org

แชร์ไปยัง
Scroll to Top