สรินยา กูเทียเรซ : สัญญาณเตือนของชีวิตที่เรียกว่า ‘มะเร็ง’


“มะเร็งเป็นเสมือนกริ่งเตือนภัยให้เรารู้ว่า
ความตายจะมาถึงเมื่อไร…ไม่มีใครรู้”

หนูเล็ก-สรินยา (เล็กเปี่ยม) กูเทียเรซ อดีตนักศึกษาปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา วัย 44 ปี ผู้หญิงที่มีความฝันอยากมีโรงเรียนอนุบาลเป็นของตัวเอง ว่าที่เจ้าสาวที่กำลังจะเข้าสู่ประตูวิวาห์หลังเรียนจบ ทุกอย่างถูกวางแผนไว้และกำลังใกล้จะเป็นจริงเต็มที จนกระทั่งเธอมาพบว่าตัวเองกำลังเป็นมะเร็งเต้านม ชนิดเฮอร์ทู (HER2) ระยะ 3 เฉียดเข้าสู่ระยะ 4 ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ทุกอย่างคล้ายพังลงทันที

“ราวปี 2558 ตอนนั้นเรากำลังยืนอยู่จุดที่สูงที่สุดในชีวิต ทุกอย่างดูสวยงามไปหมด เรากำลังจะประสบความสำเร็จ ความฝันของเรากำลังใกล้เป็นความจริง เราเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว เราได้พบกับผู้ชายที่รักเราและกำลังจะแต่งงานกัน มีแพลนจะมีลูกด้วยกัน ทุกอย่างมันอยู่ในแผนของเราหมด ยกเว้นมะเร็ง และในวันที่มะเร็งเข้ามา มันเหมือนเป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่ของชีวิต ทุกอย่างที่วาดไว้ มันหายวับไปในพริบตา”

มะเร็ง…เล่นตลก

“ในวันที่เราพบมะเร็งนั้น เป็นวันที่เราพาคุณแม่ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยความที่คุณแม่เป็นผู้หญิงที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต และท่านมักเสียดายเงินที่จะไปตรวจสุขภาพหรือดูแลสุขภาพตัวเอง วันนั้นก็รู้สึกว่าอยากพาท่านไปตรวจสุขภาพ โดยเลือกโรงพยาบาลที่เราคิดว่าดีที่สุดเลย และออกอุบายบอกคุณแม่ว่า เราได้บัตรของขวัญให้ไปตรวจสุขภาพฟรีมา แต่จริงๆ แล้วเสียเงินค่าคอร์สตรวจสุขภาพครั้งนั้นไปเกือบ 3 หมื่นบาท

“วันนั้นระหว่างที่รอคุณแม่ตรวจสุขภาพอยู่ เราหันไปเห็นป้ายโฆษณาว่า ทางโรงพยาบาลกำลังมีโปรโมชันตรวจเต้านม 6,900 บาท ก็เริ่มสนใจ เพราะราว 3 ปีก่อน เราเคยตรวจเต้านมแล้วพบว่ามีซีสต์เม็ดเล็กๆ ที่เต้านม ซึ่งแพทย์บอกว่าไม่ได้เป็นอันตรายอะไร แต่ให้มาติดตามผลอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูว่าจะมีการขยายขนาดไหม ด้วยภารกิจต่างๆ ในชีวิต เราก็ลืมไปเลย ไม่เคยกลับไปตรวจร่างกายอีกเลย จนมารู้สึกเจ็บแปลบๆ ที่หน้าอกบ้างช่วงหลังๆ วันนั้นจึงตัดสินใจตรวจดูซะหน่อย ไหนๆ ก็ต้องรอคุณแม่อยู่แล้ว


“หลังคุณหมอตรวจอัลตราซาวด์ดูเท่านั้น สีหน้าก็แปลกไป เรารู้แล้วว่าคงไม่ปกติ จากนั้นท่านก็ขอให้ทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย (Biopsy) ทันที ก่อนจะนัดมาฟังผลอีกครั้ง วันนั้นเราไปกับเพื่อนสนิท จำได้ว่า พอคุณหมอแจ้งว่าเราเป็นมะเร็งและต้องตัดเต้านมทิ้ง ความรู้สึกตอนนั้นคือ ไปไม่เป็น! ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิต สำคัญที่สุดคือเราไม่อยากจะตัดเต้านมของเราทิ้ง 

“หลังจากฟังผลแล้ว เรากลับไปร้องไห้อยู่ 3 สัปดาห์เต็มๆ โดยยังไม่บอกใครที่บ้าน เพราะรู้ว่าถ้าทุกคนรู้ ต้องทุกข์ไปกับเราแน่นอน จึงปิดเป็นความลับ แต่โทรไปบอกแฟนชาวอเมริกันที่คบกันมากว่า 4 ปี เป็นคนแรก จำได้ว่าเขาร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร เสียใจมาก ตอนนั้นรู้แล้วว่า เราหวังพึ่งใครไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) ต้องลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเองแล้ว

“พอตั้งสติได้ก็เสิร์ช Google หาข้อมูลทันทีว่า มีแพทย์ท่านไหนบ้างที่เก่งเรื่องมะเร็งเต้านม ก็เจออาจารย์หมอท่านหนึ่งซึ่งประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเดียวกันนี่แหละ เราไม่รอช้า โทรไปนัดเพื่อขอความคิดเห็นที่สองทางการแพทย์ (second opinion) จากคุณหมอทันที”

เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการรักษา ‘ชีวิต’

“วันที่เข้าไปพบคุณหมอ ประเด็นหลักที่เราต้องการปรึกษา นอกจากการไม่ตัดเต้านมทิ้งแล้ว เราอยากจะประวิงเวลารักษาไปก่อน เพราะอยากไปเรียนปริญญาเอกให้จบ ได้ชื่อว่าเป็น ‘ด็อกเตอร์’ ให้เตี่ยกับแม่ได้ภูมิใจก่อน แต่คุณหมอก็เตือนสติว่า ‘ระยะที่เป็นอยู่นั้นมันเฉียดระยะสุดท้ายเต็มที ถ้าเลือกที่จะไปประสบความสำเร็จก่อน ตอนนั้นหมอคิดว่าอาจจะไม่ทันแล้ว’ นั่นทำให้เราตัดสินใจว่า เลือกรักษาชีวิตและลมหายใจของเราไว้ก่อนดีกว่า เพราะถึงได้ความสำเร็จมา ได้เป็นด็อกเตอร์ตามที่หวัง แต่ไม่เหลือลมหายใจ แม่กับเตี่ยก็คงไม่ดีใจแน่ๆ จึงเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างเต็มรูปแบบ

“หลังการผ่าตัดก้อนมะเร็งซึ่งมีขนาดเท่าไข่ไก่ใบย่อมๆ จำนวน 2 ก้อน บริเวณหน้าอกด้านซ้ายค่อนไปทางแขนและใต้รักแร้เรียบร้อยแล้ว คุณหมอก็ขอก้อนมะเร็งนั้นไปเป็นเคสให้นักศึกษาทำการศึกษาต่อ จากนั้นก็ผ่าตัดใส่พอร์ต (Port-A-Cath) ที่หน้าอกด้านขวา เพื่อจะช่วยลดการแทงเข็มซ้ำๆ ทางหลอดเลือดดำ เนื่องจากตอนที่เราเป็นมะเร็งนั้น น้ำหนักลงเหลือ 41 กิโลกรัม เส้นเลือดจึงเล็กมาก การใส่พอร์ตนี้จึงช่วยให้ง่ายต่อการให้คีโม ก่อนจะเดินหน้าให้คีโม 8 ครั้งทันที

“คีโม 8 เข็ม ผ่านไปอย่างยากลำบาก เพราะเอฟเฟกต์ของยาที่ค่อนข้างแรง ทำให้นอกจากร่างกายที่ทรุดลงเรื่อยๆ แล้ว อารมณ์ต่างๆ ก็แปรปรวน ถึงขั้นไม่อยากมีใครเข้าใกล้ หลานที่มาดูแลเราระหว่างให้คีโม แอบไปร้องไห้บ่อยๆ เพราะเราทั้งวีน ทั้งเหวี่ยง ผิดเป็นคนละคน

“พอคีโมครั้งที่ 8 ผ่านไป ปรากฏว่าร่างกายเราไม่ตอบสนองต่อยาเคมี ทำให้คุณหมอต้องปรับแผน เปลี่ยนยาตัวใหม่ และขอให้คีโมต่อรอบสองอีก 8 ครั้ง ซึ่งตอนนั้นเราก็ยอม จนกระทั่งมาถึงคีโมครั้งที่ 4 ตอนนั้นร่างกายเริ่มไม่ไหวแล้ว เหนื่อย ทำอะไรไม่ไหวแล้ว ปวดกระดูก ไข้ขึ้น หนาวสั่นเข้ากระดูก หายใจเองไม่ได้ เหมือนคนกำลังจะจมน้ำอยู่ตลอดเวลา จนต้องเข้าไอซียู และมีคุณหมอถึง 3 ท่าน เข้ามาดูแลเคสเรา”

เฉียดตายใน ‘ไอซียู’

‘คุณแม่’ กำลังใจสำคัญในการก้าวผ่านมะเร็งของคุณหนูเล็ก

“9 วัน ในไอซียูคือช่วงเวลาที่เราเข้าใกล้ความตายที่สุดในชีวิตแล้ว เราไม่รู้สึกตัว ได้ยินแต่เสียงแม่ร้องไห้อยู่ไกลๆ ตลอดเวลา ความรู้สึกเหมือนเราพร้อมจะไปได้ทุกเมื่อ และจากการวินิจฉัยพบว่าเรามีอาการปอดอักเสบ มีเชื้อราในปอด ซึ่งเป็นเอฟเฟกต์จากการให้คีโม พออาการเริ่มดีขึ้น เราจึงตัดสินใจบอกคุณหมอว่า ‘ขอยุติการให้คีโม เพราะถ้าให้ต่อไป เราก็คงไม่รอดแน่ๆ’ คุณหมอก็ยินยอม แต่หลังจากนั้น 3 วัน คุณหมอก็สั่งให้เรากลับมาฉายแสงต่อทุกวันติดต่อกัน 30 วันไม่หยุด

“หลังจบกระบวนการรักษาด้วยการฉายแสง เราก็กลับมาหาคุณหมออีกครั้ง คุณหมอก็ยืนยันว่าเราควรจะให้คีโมต่อ พอได้ยินดังนั้น เราก็ตัดสินใจไม่ไปหาคุณหมออีกเลย (หัวเราะ) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่เราไตร่ตรองแล้วว่า ถ้าให้คีโมต่อ เราคงไม่ตายเพราะมะเร็ง แต่น่าจะตายด้วยคีโมแน่ๆ ระหว่างนั้นทางแฟนก็พยายามหาข้อมูลจนไปรู้จักกับศูนย์การแพทย์แบบบูรณาการแห่งหนึ่ง ซึ่งเน้นการรักษาในแนวทางธรรมชาติบำบัด เขาก็แนะนำให้เราไปรักษาตัวที่นั่น เราก็ยินยอมไปแต่โดยดี”

เปลี่ยนแนวทางการรักษา

“การรักษาแรกที่เราได้รับที่ศูนย์การแพทย์แบบบูรณาการนั้นก็คือ Colon Hydrotherapy หรือการสวนล้างลำไส้ เพื่อกำจัดของเสียและสารพิษที่ตกค้างหลังการให้คีโมออกจากลำไส้ จากนั้นเข้าสู่การดีทอกซ์สารพิษตกค้างจากยาเคมีบำบัดในตับ (Liver Detox) ก่อนจะ Lymphatic Drainage โดยการใช้แสงเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำเหลือง

“หลังทำการขับสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกายแล้ว ก็จะเข้าสู่โปรแกรม H.O.T. Ozone เพื่อให้เลือดของเรามีโอโซนบริสุทธิ์เข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน รวมถึงระบบเซลล์ สร้างพลังงานดี ลดการเสื่อมและกลายพันธุ์ของเซลล์ต่างๆ จากนั้นก็ต่อด้วยโปรแกรม Chelation เพื่อล้างสารพิษโลหะหนักในร่างกาย ต่อด้วย Magadose หรือการใช้วิตามินซีเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ก่อนจะเข้าโปรแกรม NK Cell เพื่อกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้ดีขึ้น เป็นการเสริมภูมิคุ้มกันอีกทางหนึ่ง  

“หลังจากรักษาจนร่างกายดีขึ้นและไม่พบเชื้อมะเร็งแล้ว แต่เราก็ยังต้องไปติดตามผลและเข้าโปรแกรมดูแลสุขภาพกับทางศูนย์อย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็นการทำ H.O.T. Ozone ดีทอกซ์ลำไส้ หรือการให้วิตามิน ฯลฯ เพราะมะเร็งเป็นโรคที่เราประมาท หลงลืม หรือเผลอไม่ได้เลย มันสามารถกลับมาเซย์ฮัลโหลเราเมื่อไรก็ได้ ฉะนั้น หน้าที่ของเราคืออย่าหยุดที่จะดูแลตัวเอง ท่องไว้ว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่เราวางมือ วางใจกับมันไม่ได้เลย เราต้องระแวดระวังอยู่ตลอดเวลา หนูเล็กเชื่อว่า ทุกคนล้วนมีเซลล์มะเร็งอยู่ในตัว อยู่ที่ว่ามันจะแผลงฤทธิ์หรือแสดงตัวตนออกมาหรือไม่ และเมื่อไรเท่านั้นเอง ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของเราล้วนๆ”

มะเร็งคือของขวัญ

“หนูเล็กเชื่อเสมอว่าในเรื่องร้ายๆ มันมักจะซ่อนเรื่องดีๆ ไว้เสมอ อย่างการที่มะเร็งเข้ามาในชีวิตเราครั้งนี้ เราได้เรียนรู้และรู้ซึ้งอะไรมากมายหลายอย่าง ทำให้เราได้รู้จักความสุขง่ายๆ ที่ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมากมาย สอนให้เรารู้จักคัดกรองสิ่งต่างๆ รวมถึงผู้คนในชีวิตเรา ให้โอกาสเราได้มองเห็นสิ่งผิดพลาดในอดีต และให้โอกาสเราได้กลับไปแก้ไขอีกครั้ง

คุณอิริค กูเทียเรซ (Eric Gutierrez) ผู้ชายที่อยู่เคียงข้างเธอเสมอ ไม่ว่าชีวิตจะต้องเจออุปสรรคใดๆ ก็ตาม

“มะเร็งครั้งนี้ ทำให้เราได้รู้ว่ามีผู้ชายคนหนึ่งที่รักเรามากเหลือเกิน เขาไม่ได้รักเราแค่ภายนอก แต่เขารักเราแม้ในวันที่เรากำลังจะตาย เชื่อไหมว่า ระหว่างที่หนูเล็กกำลังให้คีโมครั้งที่ 4 ผมร่วงหมดหัวแล้ว น้ำหนักขึ้นมากว่า 15 กิโลกรัม ร่างกายทรุดโทรม หน้าก็บวมสเตียรอยด์ แต่เขากลับจูงมือเราไปจดทะเบียนสมรส เพราะกลัวว่าจะไม่ได้แต่งงานกับเรา ทุกวันนี้เขาจะบอกกับเราเสมอว่า ‘ผมรู้จักกับคุณถึงกระดูกและจิตวิญญาณ’ เพราะระหว่างที่เขามาดูแลเรานั้น เขาเห็นทุกอย่าง เห็นถึงกระดูก กะโหลก จากการเอกซเรย์ เห็นตัวตนไปจนถึงจิตวิญญาณจริงๆ ซึ่งไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไร เขาก็ยังอยู่ข้างๆ พร้อมจะจับมือสู้ไปกับเรา—ไม่หนีไปไหน

“และที่สำคัญที่สุด มะเร็งครั้งนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่าเราจะรับมือกับมะเร็งได้อย่างไร ในวันที่ ‘แม่’ ผู้หญิงที่เรารักที่สุดในชีวิตป่วยเป็นมะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทู ระยะ 3 เฉียด 4 เมื่อสองปีที่แล้ว ต้องให้คีโม 18 ครั้ง ฉายแสงกว่า 30 ครั้ง ในวัย 65 ปี ตอนนั้น หากเราไม่เคยเป็นมะเร็ง เราก็คงสติแตกแน่ๆ โชคดีที่เราเป็นมะเร็งมาก่อน เรารู้ว่าจะช่วยให้แม่รอดพ้นจากมะเร็งมาได้อย่างไร และสุดท้ายเราทั้งสองกอดคอกันสู้มะเร็ง จนเอาชนะมาได้

“ทุกวันนี้ ทั้งหนูเล็กและแม่เรามีเป้าหมายเหมือนๆ กัน คือหลังจากเรารักษาชีวิต รักษาลมหายใจไว้ได้แล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือทำอย่างไรก็ได้ที่จะดูแลและรักษาชีวิตของเราให้อยู่ต่อไปอย่างยาวนานที่สุด และมีความสุขที่สุด หลังจากเราผ่านมะเร็งมาได้ ที่เหลือต่อจากนี้มันคือกำไรชีวิตแล้ว  

“แม้วันหนึ่งมะเร็งจะกลับมา หนูเล็กก็เชื่อเสมอว่า ถ้าเราผ่านมันมาได้ครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งหน้าเราก็ต้องผ่านมันไปได้อีก ยิ่งเรารบ เราก็ยิ่งช่ำชอง ถ้ากลับมา เราก็แค่รักษาเท่านั้น แต่ครั้งนี้เราจะรู้เลยว่า คุณหมอจะจิ้มตรงไหนบ้าง (หัวเราะ)”  



“ทุกครั้งที่หนูเล็กย้อนคิดกลับไป
ในวันที่เป็นมะเร็ง หนูเล็กจะขอบคุณเสมอ
ที่มะเร็งเข้ามาในวันที่เรายังมี…
แรงกาย แรงใจต่อสู้กับมัน
มะเร็งสำหรับเราแล้ว มันไม่ใช่ความโชคร้าย
แต่มันคือของขวัญที่เข้ามาเตือนสติเรา
เป็นเหมือนกริ่งเตือนภัยในชีวิต
มะเร็งสอนให้เรารู้ซึ้งว่า
แค่เรายังมีลมหายใจ
นั่นคือกำไรชีวิตแล้ว”

:: สรินยา (เล็กเปี่ยม) กูเทียเรซ ::

ฝากทิ้งท้าย

“หนูเล็กอยากให้เราลองวาดภาพตัวเองไว้ในกระดาษ และทุกครั้งที่กินหมูกระทะ กินของทอด กินไส้กรอก กินฟาสต์ฟู้ด นอนดึก ฯลฯ หรือทำอะไรก็แล้วแต่ที่ทำร้ายสุขภาพตัวเอง ให้เราลองใช้ดินสอเติมจุดเล็กๆ ลงบนภาพสัก  1 จุด แล้วเวลาผ่านไป 10 วัน ลองกลับมาดูว่า ภาพที่วาดนั้นมีกี่จุด หรือเวลาผ่านไป 1 เดือน ร่างกายของเรามีกี่จุด หรือเวลาผ่านไปสัก 1 ปี ภาพร่างกายเรามีกี่จุด  

“มะเร็งเข้ามาทำให้เรารู้ว่า ที่ผ่านมาเราละเลยการดูแลตัวเองมากแค่ไหน อย่าคิดว่าเรายังเด็ก เรายังอายุน้อย เรายังแข็งแรง ฯลฯ แล้วจะใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้ เพราะทุกอย่างที่เราทำในวันนี้ มันมีผลต่อเราในวันหนึ่งแน่นอน อยู่ที่ว่าจะเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง ฉะนั้น อย่าเอาแต่ทำร้ายร่างกายตัวเอง แต่จงพยายามฟังเสียงร่างกายตัวเอง และดูแลตัวเราตั้งแต่วันนี้เถอะค่ะ”

แชร์ไปยัง
Scroll to Top