โนบรากัน…สักวัน (ไหม?)

บราคือสาเหตุของมะเร็งเต้านม…จริงหรือไม่?!

Dressed To Kill : The Link between Breast Cancer and Bras หนังสือที่มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการใส่ชุดชั้นในและมะเร็งเต้านม โดยสองนักวิจัย Sydney Singer และ Soma Grismaijer ที่สรุปไว้ว่า การสวมชุดชั้นในติดต่อกันนานเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่า!

นั่นเป็นเพราะว่าการสวมใส่บรารัดแน่นเป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการไหลเวียนของต่อมน้ำเหลือง พูดง่ายๆ แทนที่สารพิษหรือของเสียที่อยู่ในต่อมน้ำเหลืองจะถูกขับออกไป กลับเกิดการเก็บสะสม เนื่องจากการถูกรัดแน่นจากบรา โดยเฉพาะบราที่มีโครง! ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง นั่นจึงเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมในอนาคต และนำมาสู่ต้นตอของความเชื่อที่ว่า

‘ใส่บรานานๆ’
‘ใส่บราขนาดเล็กเกิน’
‘ใส่บราขณะนอนหลับ’
อาจมีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมได้

แม้สองนักวิจัย Sydney Singer และ Soma Grismaijer จะมีการตีพิมพ์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างบรากับมะเร็งเต้านมในแง่ลบออกมา แต่ก็มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านและยังไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนที่ยืนยันถึงการอ้างอิงนี้ว่าเป็น ‘ความจริง’ แต่อย่างใด นั่นเท่ากับว่า ความสัมพันธ์ของการใส่บราและมะเร็งเต้านมนั้น…ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจน

แต่ถึงอย่างนั้น ทั่วโลกก็มี ‘วันโนบราสากล’ (National No Bra Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม และเป็นเดือนแห่งการรณรงค์มะเร็งเต้านมของทุกปี ว่ากันว่าวันโนบราสากลนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 9 กรกฎาคม 2554 ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ก่อนจะเลื่อนมาเป็นวันที่ 13 ตุลาคม ในอีก 3 ปีถัดมา โดยทุกๆ ปีจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น สนับสนุนให้ผู้หญิง ‘ทิ้งเสื้อชั้นในไว้ที่บ้าน’, รณรงค์ให้ใช้แฮชแท็ก #nobraday บนโซเชียลมีเดีย, จัดการแข่งขันบาสเกตบอลหญิงเป็นเวลา 24 ชั่วโมงในวันนี้, ระดมทุนเพื่อใช้ในการวิจัยต่างๆ ฯลฯ

สาวๆ โยนยกทรงขึ้นไปในอากาศระหว่างงาน Pink Bra Bazzar งานที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความตระหนักในมะเร็งเต้านม ณ หอไอเฟล กรุงปารีส

ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อรณรงค์ปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับ ‘การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม’ ด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่สามารถรักษาได้…หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งเวลาที่ดีที่สุดในการตรวจเต้านมคือประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มมีประจำเดือน และอย่าลืมใส่ใจในการตรวจคัดกรองกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำทุกปี

แม้ว่าปัจจุบันเรายังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่า การใส่บรานั้น…ตกลงมันมีผลดีหรือผลร้ายกันแน่? แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมายืนยันว่า การไม่ใส่บราก็มีข้อดีหลายอย่าง เช่น  

Jean-Denis Rouillon ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาชาวฝรั่งเศส ได้ทำการศึกษาหน้าอกของผู้หญิงหลายร้อยคนในช่วง 15 ปี และพบว่าโดยทั่วไปแล้วผู้ที่ไม่สวมเสื้อชั้นในจะมีหัวนมที่สูงขึ้นและมีตำแหน่งที่ดีกว่าผู้ที่สวมใส่ทุกวัน บราไม่มีความจำเป็นต่อผู้หญิงเลย เพราะไม่สามารถป้องกันหน้าอกจากความหย่อนคล้อยตามแรงโน้มถ่วง แต่กลับยิ่งทำให้หน้าอกอ่อนแอและไม่กระชับอีกด้วย

เช่นเดียวกับ Dr.Daniel Mills จากสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งอเมริกา (American Society for Aesthetic Plastic Surgery) ก็อธิบายไว้ว่า “หน้าอกของผู้หญิงจะหย่อนคล้อยไปตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น จุดประสงค์ของการใส่บราก็คือเพื่อช่วยเสริมให้หน้าอกของผู้หญิงมีรูปทรงที่ดีตามที่ต้องการ แต่ไม่สามารถป้องกันการหย่อนคล้อยของหน้าอกได้”

ขอบคุณภาพจาก www.littlelifts.org.uk

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีแคมเปญมากมายที่ใช้เดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแห่งการรณรงค์มะเร็งเต้านมนี้เป็นโอกาส ‘โนบรา’ อย่างเป็นทางการ เช่น แคมเปญเปลี่ยนให้ผู้ชายสวมชั้นในแต่ผู้หญิงไร้บรา, แคมเปญให้ผู้ชายปลดตะขอเสื้อชั้นในสตรี, การโยนยกทรงขึ้นไปในอากาศ ฯลฯ ทั้งนี้ นอกจากเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาสนใจถึงโทษภัยของมะเร็งเต้านม ยังสนับสนุนให้ผู้หญิงกล้าปฏิเสธเสื้อชั้นในและรู้จักให้อิสระกับเต้านมตัวเองบ้าง

มาถึงบรรทัดนี้ สาวๆ หลายคนอาจจะมีความคิดที่อยากจะโยนเสื้อในทิ้งถังขยะ แต่ช้าก่อน! เพราะการศึกษาข้างต้นนั้นทำในผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นเมื่อเทียบกับประชากรหญิงทั่วโลก และบราก็ไม่ใช่จอมวายร้ายซะทีเดียว ตรงกันข้ามกลับเป็นผู้ช่วยเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจของสาวๆ อย่างเราได้ โดยเฉพาะสาวไทยที่ยังมีค่านิยมโดยทั่วไปว่า เสื้อชั้นในยังจำเป็นอยู่เมื่อต้องพบเจอผู้คน ฉะนั้น สวมใส่บ้าง และไม่ลืมที่จะให้อิสระกับร่างกายบ้างในเวลาส่วนตัว เช่น เวลาอยู่บ้าน หรือโดยเฉพาะ ‘เวลานอนหลับ’ ที่เสื้อชั้นในอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการหลับลึก เช่น เสื้อในที่รัดแน่นเกินไป หรือการสวมเสื้อในนอนท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว ก็อาจจะทำให้เหงื่อสร้างความรำคาญและนอนหลับยากขึ้นได้  

ถึงแม้ยังไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ที่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า การใส่บรานอนมีผลต่อการนอนหลับหรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การนอนแบบ ‘โนบรา’ นั้นสบายกว่ากันเยอะ…คุณว่าไหมล่ะ?   

ขอบคุณข้อมูลจาก
นพ.สาธิต ศรีมันทยามาศ ศัลยแพทย์มะเร็งเต้านม
ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
www.phyathai.com
www.awarenessdays.com
www.samitivejhospitals.com
www.littlelifts.org.uk
www.youtube.com
www.pri.org
www.mirroredimages.net

แชร์ไปยัง
Scroll to Top