อย่าปล่อยให้ ‘มะเร็ง’ พรากความสวยไปจากเรา
รับมือกับความโทรม คล้ำ ดำ หมอง
ด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้
จะป่วยหรือไม่ป่วย ความสวยต้องยังอยู่!
อาการช็อก เศร้า กลัว เสียใจ ฯลฯ หลังรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เป็นเรื่องธรรมชาติ-ธรรมดาที่เป็นกันได้ทุกคน แค่อย่าไปจมปลักอยู่กับมันนาน ถ้ายังมีลมหายใจ ให้ท่องเข้าไว้ว่า “ชีวิตต้องเดินหน้าต่อ” เราอยากให้โลกใบนี้จดจำเราในแบบไหน? แบบคนขี้แพ้หรือนักสู้ยิบตา เราเลือกได้
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งแล้ว นอกจากการต่อสู้กับโรคร้ายและกระบวนการรักษาที่ต้องใช้ความอดทนสูงมากกกก…แล้ว ผลข้างเคียงจากการรักษาก็ธรรมดาซะที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นผิวที่แห้งกรัง แพ้ง่าย ดำคล้ำ เพราะไวต่อแสงมากขึ้น, โปรตีนที่ลด กล้ามเนื้อที่ฟีบ นำพาความโทรมมาเยือนอย่างปฏิเสธไม่ได้, เส้นผมที่ร่วงกรูจนต้องจำใจโกน ยังไม่นับขนคิ้ว ขนตาที่พากันจากไปแบบไม่ร่ำลา กระทั่งเล็บขบ เล็บดำ ผิวหนังหนาและดำจากการฉายแสง ฯลฯ
สารพัดสารพันที่มาบั่นทอน ‘ความมั่นใจ’ ของผู้ป่วยมะเร็งหลายๆ คน จนบางครั้งกลัวการพบปะผู้คน กักขังตัวเองอยู่แต่ในห้อง ซึ่งดูเหมือนไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจสักเท่าใด วันนี้เราจึงขอรวบรวม 3 ไอเท็ม ผู้ช่วยบอกลาความโทรม เพิ่มความสดใส เรียกความมั่นใจให้ตัวเองกลับมาอีกครั้ง ง่าย! ทำได้ทุกคน! และเห็นผลจริง!
01 มอยส์เจอไรเซอร์
เพราะการรักษามะเร็งอย่างคีโมหรือเคมีบำบัดนั้น มันไม่ได้ทำลายแค่เซลล์มะเร็ง แต่ทำลายเราตั้งแต่ผม ผิว ยันเล็บ เป็นธรรมดาที่หลังการรักษาเราจะพบว่า นอกจากผมร่วงและเล็บที่มีริ้วดำเกิดขึ้นแล้ว ผิวที่เคยนุ่ม ชุ่มชื้น กลายเป็นแห้ง แตก และแพ้ง่าย
นั่นทำให้หนึ่งใน 3 ไอเท็มที่ผู้ป่วยมะเร็งขาดไม่ได้ ขอย้ำว่า ขาดไม่ได้! ก็คือ มอยส์เจอไรเซอร์ หรือครีมบำรุง ฟื้นฟูผิวให้ชุ่มชื้น ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกอยู่มากมาย โดยสามารถแบ่งตามเนื้อสัมผัสได้ 3 แบบหลักๆ คือ โลชั่น ครีม และบาล์ม (Ointment)
ในระหว่างการรักษานั้น เนื้อโลชั่นควรพักไว้ก่อนได้เลย เพราะอาจจะให้ผลลัพธ์ได้ไม่ดีพอ แนะนำให้ใช้เป็นมอยส์เจอไรเซอร์เนื้อครีม จึงจะเอาอยู่ หรือในบางรายที่ผิวเกิดผื่นจากการรักษาให้เพิ่มระดับมาใช้ ‘เนื้อบาล์ม’ จึงจะดีที่สุด
สำคัญที่สุด ต้องจำไว้ว่า เมื่อเป็นมะเร็ง…เราคือคนใหม่ อะไรที่เคยใช้ได้ อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว อะไรที่เคยหอม อาจจะกลายเป็นเหม็น ฉะนั้น หลังเริ่มต้นการรักษาจึงควรเทสต์ทุกอย่าง…ก่อนการใช้จริง! หากครีมเดิมใช้ไม่ได้ ต้องหยุดพัก หาตัวช่วยใหม่ โดยเน้นไปที่มอยส์เจอไรเซอร์เนื้อครีมที่มีส่วนผสมของสารที่ช่วยเติมเกราะป้องกันให้กับผิวเรา อาทิ Ceramide, Omega 3, Omega 6 หรือ PEA (Palmitamide MEA) ที่จะช่วยลดการระคายเคืองของผิวหนัง และหลีกเลี่ยงสารจำพวก AHA, กรดวิตามิน A, Retin-A และบรรดากรดทั้งหลายแหล่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการระคายเคืองผิว
02 ครีมกันแดด
หลังการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่ (แต่ไม่ใช่ทุกคน) ผิวจะคล้ำ ดำ โทรมขึ้น แต่นั่นไม่ได้เป็นผลจากการรักษา หากแต่การรักษาทำให้ ‘ผิว’ ของเราไวต่อแสง ตากแดดนิดหน่อยก็จะคล้ำ ดำง่ายกว่าปกติ นั่นเป็นเหตุผลที่ ‘ครีมกันแดด’ เป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่ผู้ป่วยขาดไม่ได้เด็ดขาด
โดยการเลือกครีมกันแดดนั้น อาจจะไม่ต้องพุ่งเป้าไปที่ SPF สูงปรี๊ดดดดด… แค่ SPF มากกว่า 15 หรือ SPF 30 นิดๆ ก็เพียงพอแล้ว สำคัญที่สุด คือ เน้นทาให้บ่อยและสม่ำเสมอ เช่น ทุก 2-6 ชั่วโมง ตามแต่สรรพคุณของครีมกันแดดแต่ละตัว และหากเป็นไปได้ แนะนำให้เลือกครีมกันแดดที่เป็น Physical Sunscreen เนื่องจากไม่ทำให้ผิวเกิดความร้อน ไม่ตกค้างหรือดูดซึมสู่ผิว ทำหน้าที่คล้ายกระจกเงาสะท้อนหรือหักเหรังสี UV ออกไปจากผิว ต่างจากแบบ Chemical Sunscreen ซึ่งจะดูดซับรังสี UV ไม่ให้ทะลุผ่านไปยังผิวหนังได้ แล้วคายออกในรูปแบบความร้อน นั่นจึงทำให้ครีมกันแดดแบบ Physical อ่อนโยน ไม่ระคายเคืองผิว และมีโอกาสเกิดการแพ้น้อยกว่า เหมาะสำหรับเด็กหรือผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย
03 ลิปบาล์ม
ภาวะริมฝีปากแห้งเป็นของแถมจากการรักษาที่พบได้ในผู้ป่วยแทบทุกคน นอกจากการเลือกรับประทานอาหารอ่อนที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักแล้ว ‘ลิปบาล์ม’ ยังเป็นอีกหนึ่งตัวที่ช่วยบรรเทาอาการริมฝีปากแห้งแตกได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะมี SPF หรือไม่ หรือเป็นลิปออร์แกนิกดีไหม ไม่สำคัญเท่า การเทสต์ทุกอย่าง…ก่อนการใช้จริง! เพราะออร์แกนิกก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะไม่แพ้ ฉะนั้น เทสต์ก่อน ปลอดภัยกว่า การเทสต์นั้นรวมไปถึงการเทสต์กลิ่นไปด้วยในตัว เพราะในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการเหม็นกลิ่นบางอย่าง แม้กลิ่นนั้นจะเคยชอบมาก่อนก็ตาม
นี่คือ 3 ไอเท็มพื้นฐานที่ผู้ป่วยมะเร็งควรรู้! ควรทำ! ก่อนผิวพังหลังการรักษา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเยอะหรือแพงหูฉี่ แค่สม่ำเสมอและมีวินัย รับรองว่าเราจะได้เห็น ‘ความมั่นใจ’ อยู่ในรอยยิ้มของเราในทุกครั้งที่ส่องกระจก เพราะไม่มีใครในโลกนี้ที่จะเป็นกำลังใจให้เราได้ดีกว่าตัวเราเอง สู้ไปพร้อมกันนะคะ
ที่มา: www.chulacancer.net, www.chulacancer.net, https://www.sanook.com/health/15701