กำไลทิพย์ ศิริธรรมขันติ : ความรัก โยคะ และมะเร็ง

“ความรักทำให้เราชนะทุกอย่าง
ถ้าถามว่าวันนี้เราข้ามผ่านมะเร็งมาได้อย่างไร
คำตอบก็คือความรักจากครอบครัวนี่แหละ
มันทำให้เราสู้…สู้ไม่ถอย เพราะเรารู้ว่าเราจะสู้ไปเพื่อใคร?” 

‘ลูกสาว’ กำลังใจสำคัญ

ทิพย์-กำไลทิพย์ ศิริธรรมขันติ ผู้ก่อตั้งชานติโยคะเชียงราย (Shanti Yoga Chiangrai) และพนักงานประจำของบริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ผู้ค้นพบความหมายของการมีชีวิตอยู่หลังผ่านการเป็นมะเร็งเต้านมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

“ครั้งแรกที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง จำได้ว่าร้องไห้หนักมาก ร้องไห้อยู่ในรถคนเดียวหน้าออฟฟิศ มันมีแต่คำถามที่วนเวียนอยู่ในหัวว่า ทำไมต้องเป็นเรา ทำไมๆๆๆ ด้วยความที่เราเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ลูกสาวก็เพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และต้องดูแลแม่วัย 70 ปี รวมถึงน้องๆ ที่ยังอยู่ในช่วงของการตั้งหลักปักฐาน ทำให้เราเป็นห่วงไปหมด และที่ผ่านมาเราก็เป็นคนที่ออกกำลังกายเยอะมาก ทั้งวิ่ง ปั่นจักรยาน แอโรบิก เข้ายิม รวมถึงโยคะ ที่สำคัญตอนนั้นก็อยู่ระหว่างกำลังก่อร่างสร้างสตูดิโอโยคะ โดยวันที่ไปพบก้อนเนื้อก็เป็นวันเดียวกับวันที่เราได้รับประกาศนียบัตร Teacher Training Course พร้อมจะเป็นครูโยคะเต็มตัว แต่พอมะเร็งเข้ามาในชีวิต มันเหมือนทุกอย่างกำลังจะพังทลาย”

โยคะเปลี่ยนชีวิต

กว่า 10 ปีมาแล้วที่ชีวิตของเธอได้รู้จักกับโยคะผ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า ฮารี โอม โยคี ผลงานโดย ครูจิรศักดิ์ ศรีพันธ์ุเดช เจ้าของรายาโยคะ เชียงราย พออ่านหนังสือจบ เธอก็ถือหนังสือเล่มนั้นไปสมัครเรียนโยคะกับครูผู้เขียนทันที นั่นเป็นก้าวแรกที่ทำให้ชีวิตเธอเข้าไปคลุกคลีอยู่กับโยคะเรื่อยมา

“หลังจากฝึกโยคะมาเกือบ 10 ปี เราก็มีโอกาสได้มาเรียนโยคะกับ มาสเตอร์อนูป (Master Anup Gupta) ซึ่งเป็นครูโยคะที่เดินทางมาจากประเทศอินเดีย เรียนไปเรียนมาก็สนิทสนมกัน จนวันหนึ่งมาสเตอร์อนูปก็มาเที่ยวที่บ้าน พอมาเห็นที่ดินข้างบ้านก็ถามขึ้นมาคำหนึ่งว่า “เอ้า! ทำไมยูไม่เปิดสตูดิโอโยคะเลยล่ะ” นั่นจุดประกายให้เราคิดจะเปิดสตูดิโอโยคะขึ้น โดยชวนครูโยคะผู้หญิงที่เรียนกับมาสเตอร์อนูปด้วยกันมาเป็นหุ้นส่วน แต่ปรากฏว่าพอสตูดิโอก่อสร้างเสร็จ หุ้นส่วนท่านนั้นกลับเปลี่ยนใจ ทำให้เราต้องเปลี่ยนแผนใหม่หมด แล้วบังเอิญช่วงนั้นครูจิรศักดิ์ ครูโยคะคนแรกในชีวิตก็เปิดสอน Teacher Training Course พอดี เราจึงตัดสินใจลงเรียนทันที เพราะคิดว่าเปิดเอง สอนเองเลยแล้วกัน”

เมื่อมะเร็งมาเยือน

กว่า 6 เดือนเต็มกับการฝึกฝนโยคะภาคปฏิบัติทุกวันหลังเลิกงาน และเรียนภาคทฤษฎีในวันเสาร์-อาทิตย์ทุกสัปดาห์จนครบ 200 ชั่วโมง ความหวังและความฝันของเธอกำลังใกล้จะเป็นจริง แต่แล้วทุกอย่างก็แทบจะพังครืนลง

“วันที่รับใบประกาศนียบัตร เรากลับมานอนดูทีวีอยู่บ้าน จู่ๆ มือเราก็เหมือนไปปัดถูกก้อนเนื้อที่หน้าอกข้างขวา ด้วยความที่เราไม่มีอาการอะไรมาก่อนเลย แถมก่อนหน้านี้เราก็ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ปั่นจักรยานที 50-60 กิโลเมตร ได้สบายๆ พอมาเจอก้อนเนื้อก็ยังคิดว่าคงไม่เป็นไร แต่ก็ไม่รอช้า วันรุ่งขึ้นก็ไปตรวจที่โรงพยาบาล ทั้งอัลตราซาวด์และเมมโมแกรม

“พอคุณหมอเห็นภาพก็บอกเรามาคำหนึ่งว่า “ผมสงสัยว่าก้อนเนื้อนี้ไม่ปกติ เพราะผิวมันขรุขระ ไม่เรียบ ผมขอตัดชิ้นเนื้อไปตรวจนะ” คุยกันเสร็จ หมอก็ให้ขึ้นเตียงเลย ทำการผ่าตัดเล็กแค่ 30 นาที กรีดเอาก้อนเนื้อทั้งก้อนไปตรวจ จำได้เลยว่าวันนั้นเป็นวันศุกร์ พอวันอังคารถัดมาคุณหมอก็นัดไปล้างแผล ปรากฏว่าผลออกมาพอดี คุณหมอจึงเรียกเข้าไปคุย คำเดียวที่เราได้ยินวันนั้นคือ คุณเป็นมะเร็งระยะที่ 2 หลังจากนั้นเราก็แทบไม่ได้ยินอะไรอีกเลย”

หลังจากคุณหมอคุยเรื่องแนวทางการรักษาเสร็จเรียบร้อย เธอขอผลตรวจทั้งหมดกลับมา จากนั้นก็ขับรถไปจอดอยู่หน้าออฟฟิศแล้วนั่งร้องไห้อยู่คนเดียวในรถนานกว่าครึ่งชั่วโมง ก่อนจะฉุกคิดบางอย่างขึ้นมาได้  

“ระหว่างที่ร้องไห้ฟูมฟายอยู่นั้น เราก็นึกขึ้นได้ว่ามีลูกค้าคนหนึ่งเขาเคยเป็นมะเร็งและไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ แล้วหาย เราก็โทรไปหาและให้เขาช่วยแนะนำหมอให้ เขาก็จัดการโทรนัดแนะคุณหมอให้เร็วที่สุดก็คือวันรุ่งขึ้น เราก็ตอบตกลงทันที และจองตั๋วเครื่องบินในรถตอนนั้นเลย พอเสร็จแล้วก็เดินเข้าออฟฟิศ บอกข่าวลูกน้องทุกคน หลังเลิกงานก็กลับบ้านมาบอกแม่ วันรุ่งขึ้นก็บินไปกรุงเทพฯ เลย”

‘คุณแม่’ ต้นแบบของความเด็ดเดี่ยว

อยากรอด…ต้องเร็ว

มาถึงกรุงเทพฯ เธอถือเอกสารผลตรวจทั้งหมดมาหาคุณหมอที่นัดไว้ พอคุณหมออ่านผลและตรวจอย่างละเอียดแล้วก็เสนอวิธีการรักษา 2 ทาง คือ ทางที่หนึ่งตัดทิ้งทั้งเต้า หรือทางที่สองคือคว้านเนื้อรอบก้อนเนื้อร้ายนั้นแล้วทำการฉายแสง 30 วัน

“คำตอบเดียวของเราตอนนั้นคือตัดทิ้งทั้งเต้า ด้วยความที่เราอยู่ไกล ไม่สะดวกในการฉายแสง การตัดทิ้งไปเลยน่าจะง่ายที่สุด และถึงมีหรือไม่มีก็ไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตอยู่แล้ว พอได้คำตอบแล้วก็นัดคิวผ่าตัดกับคุณหมอทันที โดยในระหว่างผ่าตัดคุณหมอก็ช่วยดูว่ามะเร็งลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้หรือเปล่า โดยการฉีดสีเข้าไป ถ้าลามไปก็ต้องทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองออก แต่โชคยังดีที่ยังไม่ลุกลาม ยังเป็นแค่ระยะเริ่มต้น ตอนนั้นเราก็คิดว่าจบแล้วล่ะ กลับมาเชียงรายก็ยังมาเปิดสตูดิโอโยคะ โดยมาสเตอร์อนูปอาสาจะช่วยดูแลให้ 2 เดือน ก่อนจะกลับไปอินเดีย

“แต่พอสัปดาห์ถัดมา เราก็มาติดตามผลตามนัด คุณหมอกลับบอกว่า “คุณต้องให้คีโมนะ” ตอนนั้นเราก็ไม่เข้าใจ เอ้า! ทำไมต้องให้คีโมล่ะ จึงถามคุณหมอไปตรงๆ ว่า “ถ้าไม่ให้คีโมได้ไหม” เพราะที่ผ่านมาเราได้รับข้อมูลว่า การให้คีโมมันจะไปฆ่าทั้งเซลล์ดีและเซลล์ไม่ดีในร่างกายของเราหมด แต่คุณหมอก็พยายามยกหลักฐานยืนยันว่า ผลจากการรักษาด้วยคีโมนั้นมีเปอร์เซ็นต์การหายจากโรคมะเร็งสูง โดยเฉพาะมะเร็งในระยะเริ่มต้น สามารถหายได้แทบ 100 เปอร์เซ็นต์ และในเคสของเราก็ให้คีโมแค่ 4 ครั้ง โดยเว้นระยะ 3 สัปดาห์/ครั้ง คุณหมอก็บอกว่า ดูจากสภาพร่างกายของเราตอนนี้มันทำได้สบาย แต่ถ้าเราปล่อยไว้ หากมะเร็งกลับมาอีกในวันหนึ่ง วันนั้นเราอาจจะไม่แข็งแรงพอที่จะให้คีโมแล้วก็ได้ และตอนนั้นการรักษาก็ยุ่งยากขึ้นไปอีก ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เราตัดสินใจให้คีโมในที่สุด”

ด้วยความไม่สะดวกในการให้คีโมที่กรุงเทพฯ เธอตัดสินใจขอคุณหมอกลับมาให้คีโมที่เชียงราย โดยใช้สิทธิ์ประกันสังคมซึ่งสามารถเบิกได้ทั้งหมด ทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายในการคีโมไปกว่าล้านบาท แต่ก็ใช้เวลาไปกว่า 5 เดือนในการรักษาตัว

“เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า โรคมะเร็งนี้ ถ้าเจอเร็ว รีบรักษา แล้วจะรอด อย่างเรารู้ตัวว่าเป็นมะเร็งวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ผ่าตัดเต้านมทิ้งวันที่ 30 พฤษภาคม 2558 จากนั้นก็คีโมอีกเกือบ 5 เดือน บางคนกลัวจะเจอ ไม่กล้าไปตรวจ พอมารู้ตัวอีกทีมันก็สายไปแล้ว ฉะนั้น อย่ากลัวที่จะเจอมัน รีบตรวจ ถ้าเจอก็รีบรักษา อย่าปล่อยไว้นาน มันอาจจะยิ่งลุกลาม ถ้าอยากหาย เราต้องแกร่ง ต้องตัดสินใจให้เร็ว แล้วเราจะผ่านมันไปได้ ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจเรานี่แหละ”

‘เจ๊หงษ์’ คู่ซี้ต่างวัย ในงาน 112 ปี สามัคคีวิทยาคม มินิมาราธอน

ฟิตเข้าไว้…มีชัยไปกว่าครึ่ง

ระหว่างที่รักษาตัว ชานติโยคะเชียงราย สตูดิโอโยคะแรกในชีวิตของเธอก็ดำเนินการไปอย่างช้าๆ หลังจากมาสเตอร์อนูปกลับประเทศอินเดียก็มีครูผู้ช่วยมาดูแลให้ต่อ ก่อนจะลาออกไปเปิดสอนเอง นั่นก็เป็นจังหวะเดียวกับการรักษาของเธอเสร็จสิ้นลง และกลับมาเป็นครูโยคะเต็มตัว       

“โยคะกับมะเร็งมันเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง ในขณะที่โยคะสอนให้เราอยู่กับตัวเอง มีสมาธิจดจ่ออยู่กับลมหายใจและท่วงท่า มะเร็งก็สอนให้เราหันกลับมาอยู่กับตัวเอง ดูแลตัวเอง เปลี่ยนตัวเอง ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น จากที่เคยเป็นคนอารมณ์ร้อน ขี้โมโห จริงจัง ซีเรียสกับทุกอย่าง พอมะเร็งเข้ามา มันทำให้เราเห็นสิ่งเหล่านี้ แล้วเราก็เปลี่ยนตัวเองใหม่หมด คิดบวก คิดง่าย ไม่ซีเรียส ถึงขนาดนั่งคุยกับมะเร็งได้ คุยกันทุกวันว่า ถ้าจะอยู่กับเราก็อยู่ด้วยกันดีๆ อย่าดื้อ เป็นเพื่อนกันได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ออกฤทธิ์ออกเดช ถ้าชั้นตาย แกก็ตายเหมือนกันนะ (หัวเราะ)

“มีหลายคนถามเราว่าเสียดายไหมที่ออกกำลังกายมาทั้งชีวิต แต่วันหนึ่งดันมาเป็นมะเร็งอย่างนี้ คำตอบคือ ไม่เลย! เพราะลึกๆ เราเชื่อเสมอว่าทุกอย่างมันถูกกำหนดมาแล้ว เราเตรียมความพร้อมร่างกายเพื่อมาเจอมะเร็งในวันนี้ ทุกครั้งที่เราไปให้คีโมและต้องอยู่ท่ามกลางผู้ป่วยมะเร็งที่มาให้คีโมด้วยกัน เราจะรู้สึกว่า ที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา ขณะที่คนอื่นดูอ่อนแรงเหมือนจะล้มได้ตลอดเวลา แต่เรากลับดูเหมือนคนแพ้ท้องมากกว่า เพราะหลังให้คีโมทุกครั้งจะมีอาการแค่มึนๆ พะอืดพะอม อยากกินนั่น อยากกินนี่ อยากกินของเปรี้ยวๆ เชื่อไหม เราต้องติดมะขามเปียกไว้ใกล้ตัวตลอดเวลา ขนาดนอนยังต้องวางไว้บนหัวเตียง จะลำบากหน่อยก็ตอนกลางคืนที่ต้องลุกเปิดปิดแอร์เกือบตลอดคืน เพราะร่างกายมันจะร้อนๆ หนาวๆ นั่นเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของการเป็นมะเร็งแล้ว แต่เมื่อเราผ่านมันมาได้ เราจะรู้เลยว่า ชีวิตที่เหลืออยู่นี้ไม่มีอะไรยากเกินไปสำหรับเราอีกแล้ว”

มะเร็งสอนให้รู้ว่า…

มะเร็งที่เธอเผชิญมานั้นเป็นมะเร็งจากภาวะระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) สูงเกินไป ทำให้ต่อมน้ำนมผิดปกติและเกิดเนื้อร้ายตรงเต้านม หลังผ่าตัดและให้คีโมจบแล้ว เธอจำเป็นต้องกินยาต้านฮอร์โมนไปอีก 5 ปี และติดตามผลทุกๆ 6 เดือน

“มะเร็งสอนให้เรารู้ว่า เราประมาทกับชีวิตไม่ได้แม้สักวินาทีเดียว อย่าคิดว่าฉันออกกำลังกาย ฉันแข็งแรง แล้วฉันจะไม่เป็นโรคอะไร มันไม่มีอะไรการันตีได้เลย ทุกวันนี้เราจึงใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด มีความสุขกับคนที่เรารัก กับสิ่งที่เรารัก เลิกคิดถึงอดีตที่เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ และเลิกกังวลถึงอนาคตที่มันยังมาไม่ถึง สำหรับเราแล้วชีวิตหลังการเป็นมะเร็งมันคือโบนัส เราเหมือนตายและเกิดใหม่ ฉะนั้น แค่ทำวันนี้ นาทีนี้ให้ดีที่สุดพอแล้ว”

ในวัย 54 ปี กำไลทิพย์ยังคงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสของบริษัทมหาชนไปพร้อมๆ กับการแบ่งปันความรู้ในฐานะครูโยคะอย่างเต็มกำลัง และยังคงออกกำลังกายไม่เคยขาด เพราะเธอเชื่อว่าการออกกำลังกายคือหนึ่งใน 4 สิ่งที่จะทำให้เธอห่างไกลมะเร็งได้ นอกเหนือจากอาหาร อากาศ และอารมณ์

“เราเชื่อในทฤษฎีแรงดึงดูด เมื่อเราคิดดี เราก็จะเจอแต่คนดีๆ ทุกวันนี้รอบตัวเรามีแต่คนดีๆ คิดดีๆ อารมณ์ดีๆ หนึ่งในนั้นก็คือเจ๊หงษ์ กัลยาณมิตรวัย 66 ปี ที่สนิทกันเพราะโยคะ พอเราป่วยเป็นมะเร็ง เขาก็อาสาทำอาหารสุขภาพมาให้ทุกวัน ชวนไปออกกำลังกาย ชวนกันไปทำบุญ เป็นเหมือนคู่ซี้ต่างวัยที่ตัวติดกันมาก เจ๊หงษ์จะเป็นเหมือนนาฬิกาปลุก ตีสี่จะโทรมาปลุกละ ชวนไปวิ่งด้วยกัน วิ่งกันวันละ 10 กว่ากิโลฯ พอหกโมงเช้ากลับบ้านมาอาบน้ำ สอนโยคะ 1 คลาส จากนั้นก็แต่งหน้าแต่งตัวไปทำงานต่อ พอเลิกงานก็กลับมาสอนโยคะอีก 2 คลาส เสาร์-อาทิตย์ว่างๆ ก็หากิจกรรมทำ ไม่เคยเหงา ปั่นจักรยานบ้าง เดินป่า ปีนเขา บางทีก็ทำเบเกอรี่ ทำกิมจิขายไปตามประสา ทำอะไรก็ได้ที่เรามีความสุข เพราะมะเร็งสอนให้เรารู้ว่า เราตายได้ทุกวินาที ฉะนั้น อยากทำอะไร ถ้ามันไม่ได้เดือดร้อนใคร รีบทำเลย อย่ารีรอ!

“อย่ามัวแต่คิดว่าฉันเป็นมะเร็งแล้วฉันต้องตาย เพราะถ้าคิดอย่างนั้นมันจะยิ่งเครียด และชวนให้คนรอบข้างเครียดไปด้วย พอเครียดทุกอย่างในร่างกายก็รวนไปหมด อาหารไม่ย่อย นอนไม่หลับ ฯลฯ สักพักก็จะตายจริงๆ ตามที่เราคิดนั่นแหละ ฉะนั้น ทำร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงเข้าไว้ เพื่อพร้อมสู้กับทุกอย่าง ไม่ใช่แค่มะเร็ง ทุกวันนี้โควิดอาจจะร้ายกว่ามะเร็งด้วยซ้ำ อย่าประมาทเชียว”  เธอทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี

#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC

แชร์ไปยัง
Scroll to Top