
“บนโลกใบนี้ เราจะไม่รู้เรื่องอะไร
หรือเรื่องของใครก็ได้
แต่เรื่องตัวเอง เราต้องรู้!
โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง
นอกจากชนิด ระยะ
และแผนการรักษามะเร็งแล้ว
สิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้
คือรู้ให้ทันโรคที่เป็นอยู่”
พลอย-กัญณัฎฐ์ พิมไธสง คุณแม่ลูกสอง อินฟลูเอนเซอร์ด้านการดูแลสุขภาพวัย 49 ปี อดีตผู้ป่วยที่พบยีนมะเร็งเต้านม มรดกทางพันธุกรรมอย่างไม่คาดคิด เพราะตั้งแต่เล็กจนโต ในครอบครัวรวมถึงญาติสนิทของเธอไม่เคยมีใครเป็นมะเร็งมาก่อน จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เธอกลับตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านม ร้ายกว่านั้นคือเธอพบมะเร็ง 2 ชนิด ในเต้านมข้างเดียวกัน คือ HER2 Positive ระยะ 2B และชนิดฮอร์โมนในระยะ 0 ซึ่งยังไม่ออกจากท่อน้ำนม
“สมัยสาวๆ ด้วยความที่เราชอบเล่นบีบีกัน จึงชวนเพื่อนๆ มาตั้งทีมบีบีกันชื่อว่า ‘ไฉไล’ ออกตระเวนแข่งขันชิงถ้วยรางวัลไปทั่วประเทศ กระทั่งติดหนึ่งใน 8 ทีมสุดท้ายในสนามระดับประเทศ และเป็นทีมเดียวที่เป็นทีมหญิงล้วน หลังจากนั้นไม่นานบีบีกันก็เลิกฮิต ต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปทำอย่างอื่น แต่ทั้งหมดก็ยังวนเวียนอยู่กับในสายสุขภาพ บางคนไปถีบจักรยานจริงจัง บางคนก็ขับบิ๊กไบค์ ส่วนพลอยก็หันมาเล่นฟิตเนสและดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดีตลอดมา โดยไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งเราจะมาเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม”
มะเร็งที่รัก
“สองปีก่อนที่จะพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านม พลอยเคยไปเสริมหน้าอกมา และจู่ๆ วันหนึ่งก็มีอาการคันจี๊ดๆ รอบๆ ปานนมด้านซ้าย แต่อาการนี้จะเกิดเป็นช่วงๆ แต่เกิดซ้ำจุดเดิม ตอนนั้นเราเข้าใจว่าอาจจะเป็นอาการข้างเคียงจากการเสริมหน้าอกจึงไม่ได้ใส่ใจอะไร จนกระทั่ง 4-5 เดือนหลังจากนั้นเราก็คลำเจอ ‘ก้อน’ แต่ก็ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็นอะไรร้ายแรง หายาแก้อักเสบและยาลดบวมมากิน แต่กินไปสองรอบก็ยังไม่หาย จึงตัดสินใจไปตรวจอัลตราซาวนด์และแมมโมแกรมที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พอคุณหมอเห็นฟิล์มก็บอกทันทีว่า ‘หน้าตาก้อนนั้นสุ่มเสี่ยงไปทางมะเร็งนะ’ โดยก้อนที่พบนั้นมีขนาดประมาณ 1.8 เซนติเมตร คุณหมอจึงแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อตรวจ
“วันรุ่งขึ้นเราตัดสินใจนำผลตรวจทั้งหมดไปที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และขอเจาะชิ้นเนื้อที่นั่น เพราะรู้สึกว่าเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งน่าจะดีกว่า กระทั่งรู้ผลแน่ชัดว่าชิ้นเนื้อนั้นเป็นมะเร็ง จึงขอผลชิ้นเนื้อไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง แต่ด้วยความที่เราเสริมหน้าอกมา และมะเร็งที่เป็นนั้นยังไม่ลุกลาม คุณหมอจึงไม่แนะนำให้ผ่าตัดยกเต้า แต่การผ่าตัดมะเร็งแบบสงวนเต้าก็จำเป็นต้องใช้ศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญสูง เพราะหากผ่าตัดไปถูกซิลิโคนก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ ทางโรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทองจึงส่งตัวกลับมาผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์”
โชคดีที่มีซิลิโคน
“พลอยใช้เวลาในการดำเนินเรื่องการส่งตัวระหว่างโรงพยาบาลไปมาอยู่ราว 1 เดือนครึ่ง จนกระทั่งได้คิว MRI ก่อนผ่าตัด ซึ่งพบว่าจากก้อนขนาด 1.8 เซนติเมตร ขยายขนาดขึ้นมาเป็น 4.8 เซนติเมตร อย่างน่าตกใจ แต่คุณหมอบอกว่า ‘โชคดีมากที่มะเร็งติดซิลิโคน’ จากเดิมที่เราโทษซิลิโคนมาตลอดว่า อาจจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็ง กลายเป็นว่าตอนนั้นต้องเปลี่ยนมุมคิดใหม่ หันมาขอบคุณซิลิโคนทันที (หัวเราะ)

“เพราะคุณหมอบอกว่า หากไม่มีซิลิโคน มะเร็งน่าจะลุกลามกินเนื้อหน้าอกด้านล่างของเราแล้ว เพราะก้อนขนาด 4.8 เซนติเมตรนั้น โดยปกติจะต้องลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองไปแล้ว แต่ด้วยความที่หน้าอกของเรามีซิลิโคนกั้นไว้ ทำให้มะเร็งไม่สามารถแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือซอกกระดูกด้านล่างเต้านมได้ และจากสถิติ หากมะเร็งลุกลามเข้าไปยังซอกกระดูกแล้ว ก็ยากต่อการผ่าตัดก้อนมะเร็งให้หมดไปได้ นั่นเองเพิ่มโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูง จากที่โทษซิลิโคนมาตลอด วันนั้นก็ต้องหันมาขอบคุณซิลิโคนที่ช่วยชีวิตเราไว้”



เราป่วย คนรอบข้างต้องไม่ป่วย
“ก่อนหน้าที่พลอยจะเป็นมะเร็งราว 4 ปี คุณแม่ของพลอยเกิดอุบัติเหตุล้มจนเลือดคั่งในสมอง ต้องผ่าตัดสมอง ช่วยตัวเองไม่ได้อยู่เป็นเดือน ซึ่งช่วงเวลานั้นพลอยก็ต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อกลับไปดูแลท่าน และเราได้เรียนรู้ว่า การดูแลคนป่วยค่อนข้างเป็นงานที่หนักและเหนื่อยทั้งกายและใจ ไม่นับที่ต้องเครียดเรื่องค่ารักษาพยาบาลอีก หลังจากนั้น 2 ปี คุณพ่อก็มาป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดอีกคน ก็ยิ่งตอกย้ำให้เราเข้าใจถึงความหนักอึ้งของงานดูแลคนป่วย
“หลังจากคุณพ่อล้มป่วยสองปี เราก็มาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งอีกคน ตอนนั้นบอกกับตัวเองเลยว่า เราป่วย คนรอบข้างต้องไม่ป่วยไปกับเรา เพราะเรารู้ว่าทุกคนล้วนมีหน้าที่เป็นของตัวเอง และการดูแลคนป่วยนั้นไม่สนุกเลย เราจึงพยายามเป็นคนป่วยที่ดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้ใครต้องมานั่งดูแลหรือเดือดร้อนไปกับความป่วยของเรา และพลอยรู้สึกโชคดีมากนะที่เป็นมะเร็ง เพราะอย่างน้อยมะเร็งก็ยังใจดีที่ให้เราสามารถไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้ สามารถไปโรงพยาบาลลำพังได้ (ยิ้ม)
“ตลอดการรักษาตั้งแต่ผ่าตัด ให้เคมีบำบัด 8 ครั้ง ซึ่งแบ่งเป็นสูตรน้ำแดง 4 ครั้ง และสูตรน้ำขาว 4 ครั้ง โดยระหว่างได้รับเคมีบำบัดสูตรน้ำขาวก็จะได้ยามุ่งเป้าควบคู่ไปด้วย รวมทั้งหมด 18 ครั้ง เราจะไปโรงพยาบาลด้วยตัวเอง จะมีแค่ช่วงการฉายแสงที่มีหลานชายมารับส่ง เพราะต้องไปฉายแสงทั้งหมด 30 แสง ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทยทุกวัน
“เนื่องจากในปีนั้นที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ยังไม่มีเครื่องฉายแสงแบบกลั้นหายใจ ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีที่ปกป้องหัวใจผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่พบก้อนมะเร็งที่หน้าอกด้านซ้าย เพราะการฉายแสงด้วยเครื่องทั่วไปนั้นอาจจะทำให้เกิดพังพืดที่หัวใจได้ในอนาคต เราจึงต้องเดินทางไปฉายแสงด้วยเครื่องฉายแสงแบบกลั้นหายใจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทยทุกวัน โดยบางวันก็ต้องกลับมารับยาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทำให้ร่างกายค่อนข้างล้าพอสมควร หลานชายจึงอาสามารับส่งจนจบการฉายแสง”




รู้ (ให้) ทันมะเร็ง
“เชื่อไหมว่า ช่วงที่ไปขอใบส่งตัวเพื่อไปฉายแสงจากโรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเราต้องไปฉายแสงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย เพราะเขาก็มีโรงพยาบาลเครือข่ายที่สามารถฉายแสงได้เหมือนกัน แต่เราก็พยายามอธิบายและทำทุกทางให้เขาเข้าใจ จนได้ใบส่งตัวไปฉายแสงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทยในที่สุด
“พลอยมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมักจะโยนทุกอย่างให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของคุณหมอ โดยไม่รู้เลยว่าคุณหมอแต่ละคนก็มีหน้าที่รับผิดชอบและต้องดูแลคนไข้มากมาย บางครั้งก็อาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง หรือพลั้งเผลอโดยไม่ได้ตั้งใจ ฉะนั้น ที่พึ่งที่ดีที่สุดของเราก็คือตัวเราเอง เราก็ต้องสู้เพื่อตัวเองด้วย อย่าโยนทุกอย่างไปให้คุณหมอ
“พลอยก็เริ่มจากที่ไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับมะเร็ง แต่ด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอดสูงมาแต่ไหนแต่ไร ทำให้เราขวนขวายและไม่ยอมแพ้กับอะไรง่ายๆ สำคัญที่สุดคือหากอยากรู้อะไร ต้องรู้ให้ได้ รู้ให้ไว เพราะเรารู้ว่าถ้าเพียงแค่รู้ แต่ช้าไป บางครั้งก็สายเกินแก้ นี่เป็นเหตุผลแรกๆ ที่ทำให้พลอยตัดสินใจแชร์ประสบการณ์การรักษาและความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่เรารู้ ไม่ว่าจากประสบการณ์ตรง หรือจากที่เรามีโอกาสได้พูดคุย ซักถามคุณหมอ ฯลฯ เพื่อหวังว่าจะทำให้ผู้ป่วยทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้อง
“เนื่องจากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พลอยพบกับเพื่อนผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เยอะมาก ทำให้เราเรียนรู้ว่า หมอมะเร็งที่รักษามะเร็ง บางคนก็ไม่ได้รู้จักมะเร็งดีพอ หมอมะเร็งบางคนอายุมาก ประสบการณ์การรักษาสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเก่งกว่าหมอมะเร็งอายุน้อยๆ เพราะพลอยได้รับฟังเรื่องราวจากผู้ป่วยหลายท่านที่ได้รับการรักษาแบบผิดๆ จากหมอมากประสบการณ์มาเยอะมาก
“พลอยจะบอกทุกคนเสมอว่า Second Opinion และ Third Opinion เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ที่สำคัญกว่าคือตัวผู้ป่วยเองต้องไม่ปิดหูปิดตาตัวเอง ป่วยแล้ว ต้องเปิดหูเปิดตา หาความรู้ให้มากที่สุด เพราะการได้รับการรักษาที่ผิด อาจจะทำให้เรากลับมาเป็นมะเร็งซ้ำเร็วขึ้น หรืออาจจะทำให้โอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งน้อยลงเรื่อยๆ ฉะนั้น ผู้ป่วยอย่างเราต้องรู้ให้เท่าทันโรค หากคุณหมอไม่มีเวลาพูดคุย ตอบคำถาม หรือให้รายละเอียด เราก็ต้องขวนขวายหาความรู้จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

“ทุกวันนี้ คนไทยทุกคนอาจจะเข้าถึงการรักษาแล้วละ แต่โอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้องนั้นอาจจะยังไม่เท่าเทียมกัน และการมานั่งรอให้แก้ไขทั้งระบบอาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากหรืออีกนาน ฉะนั้น สิ่งที่ผู้ป่วยอย่างเราๆ จะทำได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ คือ หาความรู้ใส่ตัวและอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ แม้หมอจะอายุมาก มีประสบการณ์สูงก็ตาม หากทำให้เราเกิดความไม่แน่ใจเมื่อไร ให้หา Second Opinion ได้ทันที หรือหากความคิดของคุณหมอทั้งสองท่านไม่เหมือนกัน เกิดความสับสน ก็ให้หา Third Opinion มาช่วย ซึ่งปัจจุบันหมอมะเร็งมีเยอะมาก บางท่านมีบริการปรึกษาทางออนไลน์ และเราสามารถขอคำปรึกษา โดยอาจจะไม่ได้เป็นคนไข้คุณหมอท่านนั้นก็ได้ แค่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายนิดหน่อย ซึ่งพลอยเชื่อว่าคุ้ม! ดีกว่ามานั่งเสียดายและเสียใจทีหลัง”



สะพานแห่งความเข้มแข็ง
“มะเร็งสำหรับพลอยไม่ต่างอะไรกับ ‘สะพานแห่งความเข้มแข็ง’ มะเร็งทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เราจะอยู่กับโรคนี้ได้ก็ต่อเมื่อเรามีความเข้มแข็งในใจ มะเร็งทำให้เราเข้มแข็งขึ้น นอกจากนี้มะเร็งยังเป็นเหมือนสะพานที่ทำให้เราออกเดินทางค้นหาความสุขจาก ‘ความทุกข์’ ที่เกิดขึ้น เราอาจจะเคยทุกข์จากการเป็นผู้ป่วยมะเร็ง และพอเกิดทุกข์ เราก็พยายามมองหาความสุข และนี่เองที่ทำให้เราหันไปศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง ตั้งแต่คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปจนถึงการปฏิบัติ ซึ่งต้องขอบคุณมะเร็งที่นำพาให้เราค้นหาหนทางแห่งความสุขจนเจอ
“ถ้าเราไม่ได้เจอมะเร็ง วันนี้เราก็คงยังอยู่ในโลกแห่งความวุ่นวาย แต่พอมะเร็งเข้ามา ทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์อย่างเข้าใจ และพบว่าความสุขง่ายๆ ที่เราสร้างได้ทันทีก็คือ ‘การให้’ โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งสามปีที่ผ่านมา พลอยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและกัลยาณมิตรให้ผู้ป่วยมะเร็งหลายต่อหลายท่าน บางคนอยู่เคียงข้างกันตั้งแต่วันที่เขาป่วยจนกระทั่งจากไป ซัพพอร์ตทั้งทางกายและทางใจ จนวันหนึ่งเราก็รู้สึกว่า คงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถช่วยเขาสลัดความทุกข์ได้อย่างแท้จริงก่อนที่เขาจะจากไป…
“เพราะไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่ตาย ทุกคนต้องตาย ไม่ตายด้วยโรคมะเร็ง ก็ต้องตายด้วยสาเหตุอื่นอยู่ดี นี่จึงเป็นที่มาของภารกิจชีวิตในวันนี้ที่เราอยากมุ่งปฏิบัติธรรมจนได้เห็นพระรัตนตรัยในกายเราเอง และเมื่อถึงวันนั้นเราคงพร้อมที่จะช่วยเหลือ…ไม่ใช่แค่ผู้ป่วย แต่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทุกคนได้อย่างแท้จริง”

