อย่าปล่อยให้ ‘นม’ ป่วย

…..มีอาการบวมแดง
…..มีอาการผิวหนังบริเวณเต้านมแห้ง แตก
…..มีผื่นคันที่รักษาไม่หาย เช่น บริเวณหัวนมหรือลานนม
…..รู้สึกร้อนเผ่าที่เต้านม
…..มีอาการเจ็บหรือปวดผิดปกติ แม้หมดประจำเดือน
…..พบ ‘ก้อน’ ใต้ผิวเต้านม
…..รูปร่างเต้านมเปลี่ยนไป
…..ผิวหนังเต้านมมีรอยบุ๋ม หรือมีการหดรั้ง
…..ผิวหนังเต้านมนูนขึ้นมา
…..ผิวขรุขระคล้ายเปลือกส้ม
…..หัวนมมีอาการบุ๋ม
…..การชี้ของหัวนมเปลี่ยนทิศทาง
…..พบน้ำเหลือง เลือด หรือของเหลวไหลออกจากหัวนม
…..มีแผลที่หายยากบนผิวเต้านม หรือหัวนมและลานนม
      ฯลฯ

อาการข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในสัญญาณเตือนให้สาวๆ รู้ว่า  เต้านมของเรากำลังป่วย!  และไม่ควรละเลยหรือมองข้าม เพราะอาการต่างๆ ข้างต้น อาจจะเป็นอาการเริ่มต้นของโรคบางโรค ซึ่งไม่ได้มีแค่ ‘มะเร็งเต้านม’ เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายโรคที่สามารถรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ ลุกลาม และรุนแรงจนเกินเยียวยาได้

‘เต้านม’ เป็นโรคอะไรได้บ้าง?

ถุงน้ำในเต้านม
(Breast cysts) 

อาการ :

พบก้อนและมีอาการเจ็บหรือไม่ก็ได้

ถุงน้ำในเต้านมหรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ ‘ซีสต์’ นั่นเอง ซึ่งเกิดจากน้ำขังในเต้านม พบได้บ่อยและบางกรณีสามารถยุบหายไปได้เอง อาการเริ่มต้นมักจะมีอาการเจ็บและคลำพบก้อน และหลายครั้งก็ไม่มีอาการเจ็บ หากถุงน้ำมีขนาดเล็ก แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดว่า ก้อนที่พบนั้นคือถุงน้ำชนิดไม่ร้ายแรงจริงๆ หรือไม่ 

ภาวะถุงน้ำในเต้านมไฟโบรซิสติก
(Fibrocystic breast changes) 

อาการ :

พบพังผืด แผ่นหนา หรือก้อนที่เต้านม หรือท่อน้ำนมขยาย มีอาการเจ็บหรือไม่ก็ได้

นับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายภาวะ  เช่น มีถุงน้ำ, ท่อน้ำนมขยายหรือโป่งพอง, มีพังผืด ฯลฯ มักเกิดในช่วงที่ฮอร์โมนเพศหญิงผิดปกติ เช่น ก่อนมีประจำเดือน อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ฯลฯ พบได้ทั่วไปในหมู่สาวๆ วัย 30-50 ปี และมักหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่หากพบว่าก้อนหรือถุงน้ำที่คลำพบนั้นไม่หายไป หรือมีการขยายขนาดขึ้น ไม่ว่าจะมีอาการเจ็บหรือไม่ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วนเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด

ก้อนเต้านมจากเซลล์ไขมัน
ในเต้านมถูกทำลาย
(Traumatic fat necrosis) 

อาการ :

พบก้อนที่เต้านมและมีอาการบาดเจ็บจากการถูกกระทบกระเทือน

ส่วนใหญ่ก้อนเต้านมชนิดนี้มักเกิดจากความเสียหายของเนื้อเยื่อ มักเกิดขึ้นจากการที่เต้านมได้รับการกระทบกระเทือนรุนแรง เช่น ได้รับอุบัติเหตุ กระแทก ชนจนได้รับบาดเจ็บ มีเลือดออกในเต้านม ส่วนใหญ่มักเกิดในสาวๆ ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ เพราะเมื่อเกิดการบาดเจ็บจะทำให้ไขมันในเต้านมอักเสบ จากนั้นเกาะรวมกันเป็นก้อนในเต้านม ซึ่งหากอาการไม่รุนแรงมากก็สามารถหายเองได้ แต่ในบางรายที่รุนแรงมาก แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดออก

เต้านมอักเสบ
(Breast infection or Mastitis) 

อาการ :

เต้านมเกิดการติดเชื้อ มีอาการปวด มีไข้ บางรายพบก้อนแข็งในเต้านม

ภาวะนี้มักพบได้บ่อย
ในคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร

สาเหตุเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำนม จนทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดอาการปวดเต้านม บางรายเป็นไข้ หนาวสั่น และอาจจะคลำเจอก้อนแข็งในเต้านม 

ฝีเต้านม
(Breast abscess)

อาการ :

เต้านมเกิดก้อนฝีหนอง บวม แดง ร้อนเผ่า และเจ็บ

ผู้ป่วยมักคลำพบก้อนฝีในเต้านมได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเกิดจากการอักเสบภายในเต้านมจนเกิดเป็นฝีหนอง ส่วนใหญ่เป็นอาการต่อเนื่องมาจาก ‘เต้านมอักเสบ’ ซึ่งมักจะมีอาการบวม แดง ร้อน และเจ็บ ร่วมกับการคลำพบก้อนฝีในเต้านม 

ภาวะที่มีของเหลว
ไหลออกมาจากหัวนม
(Nipple discharge) 

อาการ :

มีของเหลวที่ไหลออกมาจากเต้านมข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้

ภาวะนี้เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น เป็นอาการจากเนื้องอกเต้านมชนิดไม่รุนแรง หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาทางจิตเวช ยาลดความดันโลหิต ยาลดกรด ยาแก้คลื่นไส้ ยาคุมกำเนิด ฯลฯ รวมถึงระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น คุณแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือช่วงใกล้คลอด รวมถึงหลังจากคลอดบุตร เป็นต้น แต่หากมีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม โดยไม่มีปัจจัยอื่นๆ กระตุ้น และมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นน้ำสีใส น้ำสีเหลืองใส หรือมีเลือดปน แนะนำให้ไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด 

เนื้องอกในเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง
(Fibroadenoma)

อาการ :

พบก้อนแข็งในเต้านม  

นับเป็นก้อนเนื้อชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในสาวๆ อายุตั้งแต่ 15-35 ปี มักมีลักษณะแข็งและมีขนาดประมาณ 1-5 เซนติเมตร เป็นก้อนเนื้อชนิดที่ไม่ร้ายแรง และไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ตามปกติมักหายได้เอง แต่เพื่อความปลอดภัยที่สุด เมื่อพบก้อนในลักษณะนี้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุว่า ก้อนที่พบนั้นเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง และไม่ใช่มะเร็งแน่นอน

มะเร็งเต้านม
(Breast Cancer) 

อาการ :

พบก้อนแข็งกว่าก้อนเนื้อชนิดอื่นๆ มักไม่มีอาการเจ็บ

มักพบมากในผู้หญิงวัย 40-50 ปีขึ้นไป สาเหตุเกิดจากเซลล์เต้านมกลายพันธ์ุและเจริญเติบโตผิดปกติ จนกลายเป็นเนื้องอก มีลักษณะเป็นก้อนแข็งกว่าก้อนเนื้อชนิดอื่น และอาจทำให้เกิดอาการผิวหนังดึงรั้ง หัวนมดึงรั้ง รวมถึงอาจจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย

นับเป็นฝันร้ายของทั้งสาวแท้ สาวเทียม รวมถึงหนุ่มๆ ก็มีโอกาสเป็นได้ เพราะก้อนเนื้อชนิดนี้สามารถลุกลาม และทำลายอวัยวะหรือเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง

TBCC จึงอยากชวนสาวๆ ทุกคน หมั่นใส่ใจ สัมผัส สังเกตเต้านมตัวเองอยู่เสมอ หากคลำเจอก้อนในเต้านมและพบว่าก้อนนั้นไม่ยุบลงเอง แม้ผ่านพ้นช่วงมีประจำเดือนไปแล้ว หรือก้อนอาจจะขยายขนาดขึ้น หรือพบว่ามีก้อนเกิดใหม่ในเวลาใกล้ๆ กัน หรือพบว่าขนาดหรือรูปร่างเต้านมเปลี่ยนไป มีความผิดปกติของผิวหนังบริเวณเต้านม หรือบริเวณหัวนมผิดรูป บุ๋ม หรือมีของเหลวไหลออกมา ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ในรายที่ยังไม่พบความผิดปกติใดๆ ก็อย่าชะล่าใจ ควรเฝ้าระวังเต้านม ด้วยการเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี ด้วยความปรารถนาดีจาก TBCC  

.

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.namarak.com
https://bangkokpattayahospital.com
https://www.samitivejhospitals.com
แชร์ไปยัง
Scroll to Top