กันตินันท์ พันธ์วงศ์ : หลักสูตรวัดใจบนสังเวียนมะเร็ง

“ถ้ามะเร็งไม่เข้ามาในชีวิต…
เราคงไม่มีวันรู้เลยว่า ตัวเองเจ๋งแค่ไหน
เราคงไม่มีวันรู้เลยว่า ตัวเองอึด ถึก

ทนได้มากแค่ไหน และเมื่อเราผ่านจุด
ที่ไม่คิดว่าจะหายใจไหวมาได้
ก็ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ยากเย็นเกินไปแล้ว”

ครูบ๊วย-กันตินันท์ พันธ์วงศ์ พนักงานบริษัทเอกชนวัย 39 ปี อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด HER2 Positive ระยะ 3 และกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งหลังจบการรักษาไปเพียง 2 ปีครึ่ง โดยครั้งหลังนั้นเธอต้องตัดสินใจตัดเต้านมด้านซ้ายทิ้งเพื่อรักษาชีวิตตัวเองไว้ ปฐมบทแห่งการวัด ‘ใจ’ ตัวเองบนสังเวียนมะเร็ง และจุดเริ่มต้นในการแบ่งปันไม่มีที่สิ้นสุดผ่านโครงการสอนฟรีเพื่อผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะ โดยประเดิมที่วิชาการทำผ้ามัดย้อมง่ายๆ จากครามธรรมชาติเป็นคอร์สแรก

“โครงการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกตอนมะเร็งกลับมารอบที่สอง หลังผ่าตัดเต้านมแล้ว ด้วยความที่เราไม่ได้ทำงาน เราก็เริ่มมองหาอาชีพเสริมระหว่างรักษาตัว ก็ไปเจองานมัดย้อมของญี่ปุ่น แล้วรู้สึกชอบ สวยดี แถมยังสร้างรายได้ให้เราได้ จึงไปลงคอร์สเรียน และกลับมาต่อยอดด้วยตัวเองผ่านหนังสือบ้าง อินเทอร์เน็ตบ้าง จนชำนาญและสามารถหารายได้จากมันได้

“ระหว่างนั้น เพื่อนฝูงก็จะแวะเวียนกันมาไม่เคยขาด บางคนมาช่วยซื้อ บางคนมาช่วยขาย หนักหน่อยก็มาช่วยซัก ตาก รีด ไลฟ์สดขายให้ ด้วยความที่เราอยู่ระหว่างการให้คีโม บางวันจึงอ่อนแรงจนทำอะไรไม่ไหว แต่ออเดอร์ลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หยุดไม่ได้ ลูกค้าบางคนพอรู้ว่าเราเป็นมะเร็งก็ติดต่อเข้ามาขอซื้อผ้า พอเราบอกว่าราคา 200 บาท เขาโอนมาให้เลย 500 บาท บางวันไปส่งผ้าไม่ไหว ลูกค้าก็พร้อมจะเข้าใจ รอได้…”

แทนคำขอบคุณ

“สิ่งที่เราพบเจอระหว่างทางเหล่านี้ มันทำให้เรารู้เลยว่า ชีวิตคนเราไม่ได้โดดเดี่ยวอะไรขนาดนั้น เราเริ่มมองโลกเปลี่ยนไป เรามองเห็นชีวิตที่ไม่ได้มีแค่ตัวเราเป็นศูนย์กลางจักรวาล ชีวิตเราไม่ได้มีแค่เรื่องงาน เรื่องเงิน แต่ชีวิตมีอะไรมากกว่านั้น…

“นั่นเป็นที่มาของการอยากแบ่งปันอะไรสักอย่างออกไปบ้าง และมาลงเอยด้วยโครงการสอนทำผ้ามัดย้อมฟรี โดยกลุ่มเป้าหมายแรกที่มองไว้ก็คือ ผู้ป่วยมะเร็ง เพราะใกล้ตัวที่สุดในตอนนั้น แต่พอทำจริงก็มีผู้ป่วยโรคเบาหวานมาขอเรียนด้วย หรือบางคนหายจากมะเร็งไป 7-8 ปี ก็มาขอเรียนด้วย เราก็ยินดีสอนให้หมด

“จริงๆ แนวคิดหลักของโครงการนี้ก็คือ เราต้องการแค่ดึงโฟกัสผู้ป่วยออกจากความกลัว ความวิตกกังวล หรือการหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง จมอยู่กับโรคที่เป็น พาตัวเองออกมาเจอโลก พบปะผู้คน ได้พูดคุย แลกเปลี่ยน แชร์ประสบการณ์ ผ่านการทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง ซึ่งตอนนั้นเรามีอุปกรณ์การทำผ้ามัดย้อมอยู่เต็มบ้าน เราสามารถแบ่งปันให้ผู้เรียนได้เลยโดยไม่ต้องซื้อหาเพิ่มเติม จึงเลือกใช้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมแรกของโครงการ โดยเราหวังลึกๆ ว่า สิ่งที่ผู้ป่วยทุกคนได้เรียนรู้ไปจากเรา จะช่วยให้เขาสามารถพาตัวเองออกมาจากความทุกข์เศร้าได้บ้างไม่มากก็น้อย

“โครงการแรกนั้นดำเนินมาเพียงระยะสั้นๆ จนบ๊วยให้คีโมครบ 4 เข็ม ก็ต้องมีอันพักไป เพราะเรากลับมาทำงานประจำ จนถึงวันนี้แม้จะอยากกลับมาทำอีกครั้ง แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง สำคัญที่สุดก็คือเรื่องสถานที่รองรับผู้เรียนซึ่งเรายังหาไม่ได้ ทำให้โครงการนี้ยังอยู่ระหว่างพัก แต่ก็หวังไว้ว่าวันหนึ่งเมื่ออะไรลงตัวกว่านี้ ก็อยากจะกลับมาทำให้ยั่งยืน ชัดเจน และเป็นเสมือน HUB สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งสอนและช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น มีเพจกลางสำหรับฝากขายงานให้แก่ผู้มาเรียน เป็นต้น

“ทั้งหมดบ๊วยเพียงอยากจะบอกผู้ป่วยมะเร็งทุกคนว่า คุณไม่ได้เป็นผู้ป่วยมะเร็งเพียงคนเดียวในโลก อย่ามัวโหยหาไขว่คว้าการดูแล เอาใจใส่ หรือกำลังใจจากคนอื่นอยู่เลย เพราะในโลกนี้มันมีคนที่ป่วยหนักกว่าเราอีกมากมาย–ซึ่งเขากำลังสู้และสู้ไม่ถอย ก้าวออกมา เปิดตามองโลก มาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนกัน แล้วจะรู้ว่า สิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่นั้น มันเล็กนิดเดียว แล้วอีกเดี๋ยวมันก็จะผ่านไป…”

ใกล้ตัวกว่าที่คิด

“ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2556 ระหว่างที่อาบน้ำ มือเราบังเอิญคลำไปโดนก้อนที่หน้าอกข้างซ้าย แต่พอคลำหาอีกทีก็ไม่เจอ จึงไม่ได้คิดอะไร แต่หลังจากนั้นเพียงสองสัปดาห์เต้านมข้างซ้าย ซึ่งปกติจะเล็กกว่าข้างขวา กลับบวมใหญ่ขึ้นมาจนเห็นได้ชัดจึงรีบไปหาหมอ

“คุณหมอก็สั่งอัลตราซาวด์ แมมโมแกรมและวินิจฉัยว่าเป็นซีสต์ ต้องทำการผ่าตัดเล็กเพื่อเอาก้อนซีสต์ออก ซึ่งเราก็ตัดสินใจผ่าตัดในวันนั้นเลย กระทั่งสองวันต่อมา หมอนัดเอาท่อน้ำเหลืองซึ่งติดตัวมาวันผ่าตัดออก จำได้ว่าขณะที่นอนให้พยาบาลทำแผลอยู่นั้น คุณหมอก็เดินเข้ามาแจ้งผลชิ้นเนื้อว่า เราเป็นมะเร็ง ต้องทำการผ่าตัดด่วน ตอนนั้นช็อกเลย! พูดอะไรไม่ออก นอนน้ำตาไหล ด้วยวัย 30 ปี และไลฟ์สไตล์ชีวิตที่ค่อนข้างรักสุขภาพด้วยซ้ำ เราไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการเป็นมะเร็งมาก่อน แม้คุณยายจะมีประวัติเคยป่วยเป็นมะเร็งมดลูก แต่เราก็ไม่เคยคิดว่ามะเร็งจะใกล้ตัวเราขนาดนี้

“หลังจากทำแผลเสร็จก็เข้าไปคุยกับคุณหมอ สรุปว่าวันนั้นคุณหมอแนะนำให้ตัดทิ้งทั้งเต้า แต่พอเราถามกลับว่า ทำไมต้องตัด เราเป็นมะเร็งชนิดไหน ระยะใด และก้อนที่เหลือใหญ่ขนาดไหน เรากลับไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน นอกจากจะต้องผ่าตัดออกมาดูก่อน ระหว่างที่คุยไปก็ค้านอยู่ในใจตลอดเวลา เพราะเรารู้สึกว่า “นมนะ…มีน้อยก็ยังดีกว่าไม่มี” (หัวเราะ) จึงขอกลับมาตั้งหลักก่อน เพราะเราไม่รู้ถึงความจำเป็นว่าทำไมต้องตัดทิ้งทั้งเต้า ระหว่างนั้นเราก็โทรไปหาเพื่อนๆ ที่สนิทให้ช่วยหาโรงพยาบาลที่รักษามะเร็งแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบให้ สุดท้ายก็ได้คำตอบที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์”

บนสังเวียนมะเร็ง

“วันรุ่งขึ้น บ๊วยเดินทางไปที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเป็นความโชคดีมากที่ได้พบกับ อาจารย์ นพ.มาวิน วงศ์สายสุวรรณ ซึ่งคุณหมอตอบทุกคำถามที่เราต้องการรู้ได้อย่างชัดเจน และเพียงพอต่อการเดินหน้ารักษาต่อโดยไม่มีความกังวล สงสัย หรือคาใจใดๆ เลย และโชคดียิ่งกว่านั้นก็คือ แม้จะไม่ได้ทำเรื่องหรือนัดหมายกันมาก่อน แต่คุณหมอก็ยินยอมรับเคสเราไว้ในความดูแล แต่ที่เห็นจะเป็นความโชคดีที่สุดก็คือ คุณหมอบอกว่าเคสของเรานั้นสามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้  

“กระบวนการรักษาเริ่มต้นด้วยการนัดผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากจะรอคิวเตียงผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ต้องรอนานถึง 2 เดือนเป็นอย่างต่ำ จึงใช้วิธีไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลอื่นที่คุณหมอออกตรวจ ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นเราก็ได้รับการผ่าตัดและกลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด HER2 Positive ระยะ 3 อย่างเป็นทางการ เนื่องจากมะเร็งมีขนาดก้อนราว 4×4 เซนติเมตรกว่าๆ และลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง

“หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นก็เข้าสู่กระบวนการให้คีโม ซึ่งเราขอย้ายกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ประกันสังคมที่มี ซึ่งคุณหมอมาวินก็ยังกรุณาเขียนใบสั่งยาที่ต้องได้รับมาให้ เนื่องจากในวันแรกที่เจอคุณหมอนั้น เราถามคุณหมอว่าโอกาสจะรักษาหายนั้นมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ คำตอบคุณหมอคือ 50-50 วันนั้นเราก็ถามคุณหมอมาวินตรงๆ ว่า  50 เปอร์เซ็นต์ที่จะหายนั้น เราต้องทำอย่างไรบ้าง หนึ่งในคำแนะนำนั้นก็คือการได้รับคีโมอย่างน้อย 8 เข็ม ห้ามต่ำกว่านี้ และได้ต้องรับยาตามที่คุณหมอสั่ง ซึ่งท่านก็กรุณาเขียนใบสั่งยาให้ในวันที่เราขอกลับมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิ์ประกันสังคม” 

วินาทีที่ต้องสู้   

“หลังกลับมาใช้สิทธิ์ประกันสังคมที่โรงพยาบาลเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทางโรงพยาบาลไม่มียาตัวที่คุณหมอมาวินระบุไว้ เราต้องไฟต์ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มา หลังจากให้คีโมมาจนถึงเข็มที่ 3 เราก็ทำเรื่องย้ายไปยังโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อให้คีโมต่อจนถึงเข็มที่ 8 ก่อนจะฉายแสงต่ออีก 28+5 คือ ทำทุกอย่างเต็ม MAX ที่ร่างกายจะรับไหว โดยเราก็ได้รับผลข้างเคียงแทบทุกอย่างที่คนให้คีโมต้องเจอ

“ถ้าถามว่าทนได้อย่างไร ตอบได้คำเดียวว่า วินาทีนั้นมันต้องทน มันต้องสู้ เพราะเราไม่มีชอยส์ให้เลือก (หัวเราะ) ฉะนั้น สิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนต้องต่อสู้ไม่ใช่มะเร็งนะ แต่เป็นจิตใจของเราเองนี่แหละ มะเร็งปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอเลย หน้าที่เดียวของเราคือรักษากายและใจให้พร้อมรับการรักษาเท่านั้นพอ 

“จำได้ว่าบ๊วยให้คีโมเข็มแรก แทบไม่มีอาการใดๆ เลย แต่พอเข็มที่สองเท่านั้น บอกได้เลยว่าชอกช้ำ ก่อนจะผมร่วงหมดหัวในเข็มที่ 3 และเริ่มนอนร้องไห้ในเข็มที่ 4 เพราะขยับตัวนิดเดียวปวดกระดูกไปหมดทั้งตัว กระดิกนิ้วยังทรมาน ร่างกายทรุดลงเรื่อยๆ แต่ก็พยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้ร่างกายตัวเองพร้อมรับยาคีโมเข็มต่อๆ ไป เพราะเป้าหมายเดียวของเราตอนนั้นคือการรับคีโมให้ครบ 8 เข็ม โดยไม่เลตตามที่คุณหมอมาวินกำชับไว้ หากผิดไปจากนี้ เปอร์เซ็นต์ที่จะหายก็จะลดลงเรื่อยๆ

“ทุกๆ สามสัปดาห์ เราต้องไปให้คีโมให้ตรงตามกำหนด ปกติสัปดาห์แรกหลังให้ยามา เราจะนอนซมเป็นผัก พอสัปดาห์ที่สอง มีแรงพอกินข้าวได้ ก็จะกินให้มากที่สุด จำได้ว่ากินไปร้องไห้ไป กินข้าวทั้งน้ำตาบ่อยมาก และวันหนึ่งๆ ก็จะพยายามกินให้ได้ 8 มื้อ เพราะแต่ละมื้อเรากินได้ไม่เยอะ พยายามกินไข่ขาวให้ได้วันละ 7-8 ฟอง เป็นอย่างน้อย ไม่อยากกินก็ต้องกินให้ได้ กินแล้วอาเจียน อาเจียนเสร็จก็แปรงฟัน บ้วนปาก แล้วกลับมากินต่อ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดใหม่ พร้อมรับยาคีโมเข็มต่อไปได้ในสัปดาห์ที่ 3 ชีวิตวนอยู่อย่างนั้น 8 รอบ ซึ่งก็ผ่านมาได้…แบบเฉียดฉิว เพราะราวคีโมเข็มที่ 6 ดันไปกินน้ำผักผลไม้ปั่น โชคดีที่วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ต้องไปตรวจเลือด ปรากฏว่าผลเลือดตก จนพยาบาลถามว่าไปทำอะไรมา ซึ่งก็น่าจะเป็นแบคทีเรียในผักผลไม้สดที่กินเข้าไปแน่ๆ ตั้งแต่นั้นมาเลิกกินเลย วันไหนอยากกินผักผลไม้ จะใช้วิธีลวกน้ำร้อนก่อนแล้วค่อยกิน และด้วยความที่ไหวตัวทันทำให้การให้คีโมครั้งนั้นไม่ต้องเลื่อนออกไป”

ศึกวัด ‘ใจ’ รอบสอง

“พอจบจากคีโม 8 เข็ม ก็เข้าสู่การฉายแสงต่ออีก 28+5 ครั้ง ซึ่งอาการพอๆ กับการให้คีโมเลย คือ มึน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง แต่ไม่อาเจียนเท่านั้น แต่ในที่สุดก็ผ่านมาได้ โดยรวมระยะเวลาในการรักษาตัวและพักฟื้นทั้งหมดกว่า 1 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นเวลาที่เราได้รู้เลยว่า ตัวเองนั้นอึดได้มากกว่าที่เราคิด และเหตุผลเดียวที่ทำให้เราอึดได้ขนาดนั้นก็คือ เรายังไม่อยากตาย ด้วยวัยเพียง 30 ปี และมีเป้าหมายมากมายในชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเรามีแพลนจะแต่งงานกับคนที่เรารัก ฉะนั้น เรายอมแพ้ไม่ได้

“หลังจบการรักษา คุณหมอก็แจ้งว่า ภายใน 2 ปี เรามีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ 50 เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นเราก็ทำทุกอย่างตามคำแนะนำคุณหมออย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การนอน การออกกำลังกาย ความเครียด ฯลฯ เพื่อไม่ให้ตัวเองกลับมาเป็นรอบสอง กระทั่งสองปีผ่านไป ผลการฟอลโลอัปปกติดีทุกอย่าง ตอนนั้นฉลองทันที เย้! เราทำได้แล้ว แต่ 6 เดือนต่อมา มะเร็งก็กลับมาอีกครั้ง…

“ครั้งนี้เราอยู่ในความดูแลของ นพ.พุทธิพร เย็นบุตร โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลตามสิทธิ์ประกันสังคมที่เรามี ซึ่งคุณหมอบอกเลยว่า คราวนี้เก็บเต้านมไว้ไม่ได้แล้ว ต้องตัดทิ้งทั้งหมดนะ วินาทีนั้นเรารู้สึกได้เลยว่า ถ้าเก็บเต้านมไว้คือตายแน่ จึงตอบรับทันที และด้วยความที่ยังอายุน้อย คุณหมอจึงเสนอจะเสริมหน้าอกให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แลกกับการเป็นเคสสอนนักศึกษาแพทย์ แน่นอนว่าเราก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะได้เป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อวิทยาทานให้แก่นักศึกษาทั้งหลายตั้งแต่ยังมีลมหายใจอยู่ (หัวเราะ)

“พอถึงวันผ่าตัด คุณหมอใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง ในการผ่าตัดเต้านมเดิมออกและเสริมหน้าอกด้านซ้ายให้เราใหม่ โดยการใช้ไขมันจากหน้าท้องของเราเอง จำได้ว่าเช้าวันรุ่งขึ้นพอคุณหมอมาตรวจ เราก็โวยทันที “ทำไมคุณหมอไม่บอกว่ามันเจ็บขนาดนี้”  คุณหมอหันมายิ้มแล้วตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “หมอจะรู้ได้ไง หมอก็ไม่เคยผ่าตัวเอง” ทั้งที่ยังเจ็บอยู่ เจ็บทั้งหน้าอก เจ็บทั้งหน้าท้อง ก็ไม่วายต้องหัวเราะมุกของคุณหมอ”

ท้อได้…แต่ต้องไปต่อ

“การผ่าตัดครั้งนั้นใช้เวลาพักฟื้นนานเป็นเดือนๆ แต่โชคยังดีที่ผลชิ้นเนื้อรอบนี้ไม่ใช่ HER2 Positive และยังอยู่แค่ระยะ 2 ทำให้การให้คีโมลดลงเหลือแค่ 4 เข็ม และไม่ต้องฉายแสง เพราะมะเร็งรอบก่อนเราฉายแสงไปเต็ม MAX แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่า ท้อมาก… เพราะหลังจากจบการรักษามะเร็งครั้งแรกนั้น ชีวิตเราติดลบ ทั้งเรื่องเงิน เรื่องงาน เรื่องความรัก พอชีวิตเริ่มตั้งหลักได้ มีงาน มีเงิน ชีวิตกำลังจะกลับมาสมดุล เรากลับพบว่าตัวเองมาเป็นมะเร็งอีกรอบ และที่แย่ที่สุดคือรอบนี้ไม่มีประกันชีวิตเหมือนรอบก่อน ทำให้ไม่มีเงินทุนประคองตัวระหว่างที่รักษาตัวแล้ว จึงรู้สึกเคว้งอยู่พอสมควร

“ที่สำคัญเรารู้เลยว่า ครั้งนี้เรากลัวมาก เรากลัวมะเร็งลามไปที่สมอง กระดูก กลัวว่าจะไม่รอด กลัวว่าจะผ่านมันไปไม่ได้ กลัวร่างกายจะรับยาแล้วทนไม่ไหว กลัวสารพัด เราพยายามปลุกพลังใจของตัวเองทุกๆ เช้า และพยายามแยกปัญหาเป็นเรื่องๆ และค่อยๆ แก้ไขไปทีละเรื่อง เช่น สุขภาพก็พยายามดูแลให้ดีที่สุด กินให้ได้มากที่สุด เรื่องเงินก็หารายได้เสริม และจำใจขายรถที่ใช้อยู่ทุกวัน เพื่อจะเก็บเงินก้อนไว้ใช้จ่ายในช่วงที่รักษาตัว และการประคองสถานะการเงินนี่แหละคือความยากอย่างหนึ่งของมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ เมื่อชีวิตต้องเผชิญกับมะเร็ง – เรียกได้ว่า ป่วยครั้งหนึ่ง…จนไปหลายปีทีเดียว (หัวเราะ)”

โลกที่เปลี่ยนไป

“หัวใจสำคัญที่พาเราก้าวผ่านปัญหาต่างๆ นอกจากสติและจิตใจแล้ว บ๊วยเชื่อว่า ‘น้องแมว’ กับ ‘น้องเหมียว’ สุนัขพันธุ์ชิสุสองตัวที่บ๊วยเลี้ยงไว้ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้เราสามารถผ่านวันที่แย่ๆ มาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เพราะทุกครั้งที่เราเหนื่อย ล้า แทบจะหายใจไม่ไหว แต่พอเขาเดินเข้ามานั่งใกล้ๆ มันทำให้เราตระหนักได้ว่า เราตายไม่ได้ เราต้องอยู่ดูแลเจ้าสองตัวนี้ต่อไป ซึ่งในที่สุดเราก็ผ่านมาได้จริงๆ

“จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ผ่านมากว่า 9 ปีแล้ว มะเร็งสอนอะไรหลายอย่าง เปลี่ยนมุมมองต่อโลกของเราอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยเป็นศูนย์กลางจักรวาล เอาแต่ใจ อยากทำต้องได้ทำ ความดันทุรังค่อนข้างสูงงง… วันนี้เรากลายเป็นคนที่แคร์ความรู้สึกคนอื่น เลิกตัดสินตีความคนอื่น ปล่อยวาง ไม่ยึดติด เป้าหมายที่เคยมีก็เปลี่ยนไป และเป้าหมายเดียวในวันนี้ของบ๊วยก็คือ ความสุข–เราอยากมีความสุขกับสิ่งง่ายๆ ในทุกวันที่เรายังมีลมหายใจ  

“สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ประมาท เพราะโรคมะเร็งนั้นเป็นกันได้ทุกคน เป็นแล้ว รักษาหายแล้ว ก็กลับมาเป็นใหม่ได้ ฉะนั้นดูแลร่างกายและจิตใจให้พร้อมรับมือกับมัน และเมื่อมะเร็งมาเยือนให้ท่องจำซ้ำๆ ไว้เลยว่า ถ้าคนอื่นหายได้ เราก็ต้องหายได้--เชื่อสิ!

#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC

แชร์ไปยัง
Scroll to Top