‘ก้อน’ แบบนี้…มะเร็งเต้านมใช่ไหม

เดือนนี้ ขอรวบรวมคำถามอาการเกี่ยวกับ ‘ก้อน’ ที่หน้าอกมาฝาก ก้อนมะเร็งมีลักษณะแบบใด ก้อนแบบไหนที่ใช่ ก้อนแบบไหนที่ไม่ชัวร์ ไปคลายข้อสงสัยพร้อมๆ กันกับคุณหมอปุ๊ก (ผศ. พญ.ศศิธร สุจริตธนะการ) จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันได้เลย  

ก้อนมะเร็งจำเป็นต้องโตขึ้นรวดเร็วทุกกรณีหรือไม่ ?

ไม่จำเป็นค่ะ แต่ส่วนใหญ่มะเร็งอาจจะมีการโตขึ้น แต่จะเร็วหรือช้าขึ้นกับชนิดของมะเร็งเต้านม หากเป็นมะเร็งที่มีการลุกลามเร็ว เติบโตเร็ว ตัวก้อนจะมีการโตได้เร็ว แต่มะเร็งบางชนิดอาจจะโตขึ้นได้ช้าๆ แต่จะมีการโตขึ้นเรื่อยๆ ได้ค่ะ

ก้อนมะเร็งมักมีลักษณะแข็งหรือไม่ ?

ก้อนมะเร็งส่วนใหญ่จะมีลักษณะแข็ง ผิวไม่เรียบ มีการดึงรั้งอวัยวะข้างเคียง เช่น ผิวหนังหรือผนังทรวงอกได้ค่ะ แต่มะเร็งบางชนิดที่พบได้น้อย อาจจะมีลักษณะเป็นก้อนนิ่มได้เช่นกันค่ะ

ก้อนมะเร็งต้องมีลักษณะลุกลาม หรือนูนขึ้นที่ผิวหนังใช่หรือไม่ ?

จากที่ตอบไปแล้ว ก้อนมะเร็งส่วนใหญ่จะมีการดึงรั้งอวัยวะข้างเคียง เช่น ผิวหนังหรือผนังทรวงอกได้ค่ะ แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจพบทุกราย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อนว่าอยู่ตื้นใกล้ผิวหนังหรือไม่ และมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ทำให้เกิดการดึงรั้งได้หรือไม่

ก้อนที่มีแผลแตกร่วมด้วย มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งได้สูงใช่หรือไม่ ?

ใช่ค่ะ หากมีก้อนที่เต้านมที่โตขึ้นเรื่อยๆแล้วมีแผลแตกร่วมด้วย จะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้สูง แต่อย่างไรก็ตามควรจะตรวจอย่างละเอียดอีกทีเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค เนื่องจากโรคบางอย่างของเต้านม เช่น การอักเสบของเต้านม อาจจะทำให้มีแผลแตกร่วมด้วยได้ค่ะ

การมี ‘ก้อนที่เต้านม’ ร่วมกับมี ‘ก้อนที่รักแร้’ อาจจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้จริงหรือไม่ ?

จริงค่ะ เนื่องจากมะเร็งเต้านมมักมีการลุกลามและแพร่กระจายได้ โดยการกระจายมักจะแพร่ไปตามทางเดินน้ำเหลือง ซึ่งต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้จะเป็นต่อมน้ำเหลืองหลักที่มีโอกาสแพร่กระจายมาได้มากที่สุดค่ะ ดังนั้นหากตรวจพบก้อนที่เต้านมร่วมกับมีก้อนที่รักแร้ อาจจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ค่ะ

เต้านมมีขนาดการเปลี่ยนแปลงไป เช่น ใหญ่ขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นแค่ไหน จึงควรรีบมาหาหมอ ?

หากเต้านมมีขนาดเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะข้างใดข้างหนึ่งหรือบางส่วน ควรจะไปตรวจกับแพทย์ เนื่องจากขนาดที่เปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดจากมีก้อนที่เต้านมร่วมด้วยได้ค่ะ 

หากพบว่ามีอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการลุกลามของโรค อีกทั้งยังช่วยให้เราทราบแน่ชัดว่า สิ่งผิดปกตินั้นเป็นโรคร้ายที่เรากังวลอยู่หรือไม่ จะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะมะเร็งเต้านมรู้เร็ว รักษาเร็ว…ก็หายได้นะคะ

ผศ. พญ.ศศิธร สุจริตธนะการ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แชร์ไปยัง
Scroll to Top