6 SEX TIPs : อย่าให้ชีวิตรักพัง! หลังรอดมะเร็ง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า… 
มะเร็งเข้ามาเปลี่ยนอะไรมากมายในชีวิตเรา
ไม่เว้นแม้ ‘ชีวิตรัก’ ของเราด้วย

มีการศึกษาพบว่า กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมนั้นมักมีปัญหาทางเพศ ถึงขนาดเป็นที่มาของความสัมพันธ์ที่สั่นคลอน หรือบางครั้งขาดสะบั้นในเวลาอันรวดเร็วหลังการรักษามะเร็งจบลง เดือนนี้ TBCC ขอส่งต่อ 6 วิธีเยียวยา SEX หลังการรักษามะเร็ง ผ่านเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสมดุลชีวิตรัก ยืดระยะเวลาความสุขและความสัมพันธ์คู่ชีวิตให้ยั่งยืน ชีวิตรอดแล้ว…รักก็ต้องรอดด้วย! 

01 มี SEX ได้ไหม — เมื่อไรล่ะ?

น่าจะเป็นคำถามที่ค้างคาใจไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง แต่ยังรวมไปถึงคู่รักของผู้ป่วยทั้งหลาย ที่อาจจะไม่แน่ใจว่า SEX จะส่งผลร้ายกับผู้ป่วยหรือเปล่า คำตอบคือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้นมี SEX ได้ ตราบใดที่ยังมีความต้องการ มีกำลัง และสะดวก (ใจ) 

ส่วนใหญ่หลังการผ่าตัด หรือระหว่างการทำเคมีบำบัดหรือฉายแสงนั้น ผู้ป่วยมักจะไม่อยากมี SEX อยู่แล้ว ด้วยใจที่มุ่งมั่นกับการรักษาและภาวะร่างกายที่ต้องใช้เวลาพักฟื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ทำเคมีบำบัดนั้น เม็ดเลือดขาวต่ำ ภูมิต้านทานน้อย นอกจากร่างกายจะอ่อนแรงแล้ว ภูมิคุ้มกันที่ถดถอยลงอาจจะเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย จึงควรงดกิจกรรมบนเตียงไปก่อนเพื่อความปลอดภัย แต่ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ การมี SEX เกิดขึ้นได้ แต่อาจต้องใช้ตัวช่วย เช่น ถุงยางอนามัย ฯลฯ ในช่วงสองสามวันหลังการทำเคมีบำบัด หรือใช้วิธีอื่นๆ ทดแทนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทั้งนี้ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัยสูงสุด 

02 ร่างใหม่ เปิดใจเปลี่ยน

แน่นอนว่าหลังการรักษามะเร็งเต้านม ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญเสียเต้านมไป บางคนเต้าเดียว บางคนก็ทั้งสองเต้า ผลข้างเคียงจากการรักษาชีวิตรอดนี้ไม่ได้ท้าทายแค่ตัวเราเท่านั้น แต่ยังท้าทายจิตใจของคู่ชีวิตข้างกายของเราไม่น้อยเช่นกัน

ในขณะที่เรากำลังกังวลกับรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป เกิดความไม่มั่นใจ คู่รักเองก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ซึ่งหากเราไม่รีบแก้ไข ความรู้สึกที่คาราคาซังนี้ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาชีวิตคู่ครั้งใหญ่ในอนาคตได้ วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือเริ่มทำความรู้จักร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอาจจะสำรวจไปพร้อมๆ กับคู่รัก เปิดใจที่จะระบายถึงสิ่งที่กังวล สิ่งที่ไม่สบายใจ หรือความรู้สึกลึกๆ ข้างใน เพื่อชีวิตรักที่ไปต่อได้อย่างราบรื่น หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคู่รักของเราว่า สิ่งที่เขาจะปฏิบัติต่อเรานั้นจะไม่เป็นการทำร้ายเราโดยอ้อม  จำไว้เสมอว่า หัวใจสำคัญในการครองคู่ให้ยืนยาวนั้น ไม่ได้อยู่ที่เรามี ‘นม’ กี่เต้า แต่อยู่ที่ความเข้าอกเข้าใจกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังต่างหาก… 

03 ทุกปัญหา SEX มีทางแก้ไข

เพราะความไม่มั่นใจจากรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น อาการคลื่นไส้และความเหนื่อยล้า หรือบางรายถึงวัยหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร แน่นอนว่าส่งผลต่อความต้องการทางเพศของผู้ป่วยอย่างเราๆ ไม่มากก็น้อย 

ไม่ว่าจะเป็นไม่มีอารมณ์ทางเพศ ปลุกเร้าอย่างไรก็ไม่เป็นผล ไม่ถึงจุดสุดยอด หรือบางรายเจ็บปวดเมื่อมี SEX ถึงกับเข็ดขยาดเลยก็มี เป็นเรื่องธรรมดาที่อาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งในระหว่างการรักษา หรืออาจจะต่อเนื่องไปหลังการรักษาบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้วมันก็จะค่อยๆ ดีขึ้นตามสภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงสามารถช่วยให้ฟื้นฟูเร็วขึ้นได้ด้วยการออกกำลังกาย ตลอดจนการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งช่วยเราได้ เพียงแต่ปัญหาเหล่านี้…แก้ไขไม่ได้ในชั่วข้ามคืน

แต่ถือว่าโชคดีที่ปัจจุบันเรามี ‘ตัวช่วย’ มากมายในท้องตลาดที่จะช่วยให้เรื่องบนเตียงไม่ใช่เรื่องยากเย็นเกินไปหลังการรักษามะเร็ง หากเราเข้าใจเขา เขาเข้าใจเรา ลองช่วยกันสำรวจ ค้นหา สรรค์สร้างวิธีมีสุขในสไตล์ส่วนตัว และร่วมผจญภัยไปด้วยกัน เพียงเท่านี้ ชีวิตรักก็มีสีสันได้ไม่อยาก–เชื่อสิ!

04 เรื่องบนเตียง…
ไม่มีแพตเทิร์นตายตัว

อย่าคิดว่า SEX ที่ดี–ต้องมี ‘สองเต้า’ เท่านั้น เราลองลืม SEX แบบที่คุ้นชินไปก่อน แล้วเริ่มเปิดรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ เพราะเรื่องบนเตียงไม่มีแพตเทิร์นตายตัว และสองเต้าเป็นเพียงเปลือกกระพี้เล็กๆ ในจักรวาลแห่ง SEX เท่านั้น

บางครั้งน้ำหอมกลิ่นใหม่ ชุดนอนที่ดูแปลกตา หรือเพียงสิ่งเล็กๆ ที่ไม่เคยทำให้กันอย่างการนวด ฯลฯ ก็อาจจะน่าตื่นเต้นมากกว่า ‘เต้า’ ของเราที่หายไปเสียอีก ฉะนั้น จำไว้เลยว่า เรื่องบนเตียงไม่มีแพตเทิร์นตายตัวฉันใด เสน่ห์เย้ายวนใจของเราก็เช่นกัน…

05 SEX ควรเริ่มต้น…
จาก ‘ใจ’ ที่ผ่อนคลาย

‘ความกดดัน’ ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ของการมี SEX ฉะนั้น เมื่อไรที่เราเริ่มรู้สึกอึดอัด กดดัน หรือไม่สบายใจที่จะทำสิ่งใดเกี่ยวกับเรื่องบนเตียง

อย่าเขินอายที่จะพูดคุยกับคู่รักของเราตรงๆ เช่น หลังการผ่าตัด เรารู้สึกประหม่าที่จะเปลือยหน้าอกก็บอกเขาไปตรงๆ เพราะไม่ได้มีอะไรเป็นเรื่องหนักหนาเกินกว่าจะแก้ไข ไม่แน่ SEX ครั้งต่อไป คุณอาจจะได้ชุดชั้นในใหม่จากคู่รักของคุณก็ได้ — ใครจะรู้?

ปัญหาทางอารมณ์ ความคิดลบ-ร้าย หรือแม้แต่อาการซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยมะเร็งทุกคน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการรักษา ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพวกเราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต แต่ข้อควรระวัง! อย่าให้มันลุกลามไปทำลายความภาคภูมิใจในตัวเอง ความสัมพันธ์ ชีวิตของเราและคนที่เรารักเด็ดขาด และเมื่อใดที่เราเริ่มรู้สึกว่าเรื่องบนเตียงเริ่มกระทบต่อความสัมพันธ์ หรือส่งผลต่อจิตใจ กระทั่งการรักษา ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำ อย่าปล่อยให้บานปลายกลายเป็นปัญหาในอนาคตเด็ดขาด เพราะมันอาจจะสายเกินไปแล้ว  

06 มะเร็งทำร้ายแค่ ‘กาย’
อย่าให้ลุกลามไปถึง ‘ใจ’

แม้จะเคยมีงานวิจัยจาก Study Trusted Source ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Personality and Social Psychology Bulletin พบว่า ความถี่ในการมี SEX นั้นสอดคล้องกับคุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักอย่างเลี่ยงไม่ได้

สรุปง่ายๆ ก็คือ ยิ่งมีเซ็กส์กันมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คู่รักความรู้สึกรักและผูกพันกันมากขึ้น และในทางกลับกัน ยิ่งรักกันมากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลให้มี SEX บ่อยขึ้นได้เช่นกัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า SEX จะเป็นสิ่งจำเป็นในทุกความสัมพันธ์ เพราะจริงๆ แล้ว เรายังมีอีกหลากหลายกิจกรรมที่ทำให้คู่รักผูกพันกัน โดยเฉพาะในช่วงการรักษาที่ผู้ป่วยอาจจะมีผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นเหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก ผมร่วง แผลเป็น อาการไวต่อรสและกลิ่น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้การมี SEX เป็นเรื่องยาก ฉะนั้น เราและคู่รักอาจจะใช้การแสดงความรักต่อกันด้วยวิธีอื่นแทนการมี SEX เช่น กอด หอม กุมมือกัน หรือร่วมกันทำกิจกรรมสนุกๆ อย่างการดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ เหล่านี้ก็ล้วนช่วยรักษาความสัมพันธ์ได้ทางหนึ่ง 

จำไว้เสมอว่า ไม่มีแพทย์คนใดในโลกนี้ที่ห้ามผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแสดงความรักต่อคู่รักของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการกอด หอม กุมมือกัน สัมผัสกัน หรือมีกิจกรรมบนเตียงด้วยกัน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำได้ ตราบใดที่ ‘ใจ’ ต้องการ เพราะมะเร็งทำร้ายได้แค่ร่างกาย อย่าปล่อยให้มันลุกลามไปกัดกินใจและความสัมพันธ์คนข้างกายของเรา–โดยไม่จำเป็น

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.webmd.com
https://www.sanook.com
https://www.thaihealth.or.th

แชร์ไปยัง
Scroll to Top