เรื่องต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะแขนบวมคือผู้ป่วยได้รับการเลาะต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดและการฉายรังสีหรือได้รับรังสีรักษาบริเวณรักแร้และทรวงอก แต่หากไม่ได้รับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองหรือเป็นเพียงการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบางส่วนที่เรียกว่าเซนติเนล (Sentinel) โอกาสบวมของแขนจะน้อยลงมาก และหากไม่ได้รับการฉายรังสี โอกาสบวมของแขนก็ยิ่งน้อยลงอีกมาก หรือหากเริ่มมีการบวมของแขนก็สามารถป้องกันได้ด้วยการใส่ปลอกแขน, ทำกายภาพบำบัด รวมไปถึงการผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดดำและทางเดินน้ำเหลือง ซึ่งถือเป็นการป้องกันและรักษาได้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้นั้นอาจจะยังมีความกังวลในหลายๆ เรื่อง หมอจึงขอรวบรวมคำถามต่างๆ มาตอบให้คลายข้อสงสัย ดังนี้ 

Q : ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ห้ามเดินทางด้วยเครื่องบินหรือไม่  

A : สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ปกติครับ

Q : ห้ามทำหัตถการ เช่น ห้ามเจาะเลือด หรือวัดความดัน หรือให้น้ำเกลือ ฯลฯ ที่แขนข้างนั้นตลอดชีวิตหรือไม่

A : หากเป็นไปได้ แนะนำให้ทำหัตถการต่างๆ กับแขนข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง แต่หากมีความจำเป็นก็ไม่ได้มีข้อห้ามครับ

.

Q : ห้ามออกกำลังกายที่แขนข้างนั้นตลอดชีวิตหรือไม่

A : สามารถออกกำลังกายได้ และแนะนำให้มีการขยับหรือยกแขนสูง เพื่อป้องกันภาวะท่อน้ำเหลืองอุดตัน หรือบางครั้งอาจมีท่าบริหารกายภาพบำบัด ซึ่งควรขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้ทำการรักษาครับ

Q : หากใช้มีดโกนโกนขนรักแร้ที่แขนข้างนั้น จะเกิดภาวะแขนบวมขึ้นจริงไหม

A : หากไม่มีการบาดเจ็บของผิวหนังหรือการติดเชื้อบริเวณนั้น ก็ไม่ทำให้เกิดภาวะแขนบวมครับ

Q : นอนยกแขนที่ผ่าตัดสูงหรือมีหมอนหนุนไปตลอดชีวิตหรือไม่

A : การยกแขนสูง, กายภาพบำบัด หรือการใส่ปลอกแขน จะช่วยลดการบวมหรือป้องกันการบวมของแขนได้ครับ

Q : การลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนช่วยป้องกันภาวะแขนบวมในผู้ป่วยที่ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้จริงไหม

A : อาจจะช่วยได้บ้างครับ

Q : ห้ามผู้ป่วยที่ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้เข้าห้องอบซาวน่าจริงหรือไม่  

A : สามารถเข้าได้ครับ

Q : ห้ามเสริมหน้าอกข้างเดียวกับแขนที่เคยผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้  

A : ไม่จริงครับ สามารถเสริมได้ โดยเฉพาะหากใช้แผลบริเวณฐานเต้านม หรือบริเวณเต้านม และแนะนำให้หลีกเลี่ยงแผลบริเวณรักแร้ครับ

อาจารย์ นายแพทย์วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์
อาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช

แชร์ไปยัง
Scroll to Top