เนื่องจากมะเร็งเต้านมมีโอกาสแพร่กระจายไปอวัยะต่างๆ ได้ โดยอวัยวะแรกที่มีโอกาสแพร่กระจายไปคือต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ซึ่งค้นพบมามากกว่า 500 ปีแล้ว โดยพบว่าผู้ป่วยที่ตรวจพบว่ามีการกระจายของมะเร็งมาที่ต่อมน้ำเหลือง จะมีการพยากรณ์โรคที่แย่กว่า และจำเป็นต้องได้รับการรักษาทั้งการให้เคมีบำบัด การฉายแสงมากกว่าผู้ที่ยังไม่มีการกระจาย
การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมจะประกอบด้วยการผ่าตัดที่เต้านมและผ่าตัดที่ต่อมน้ำเหลือง เพื่อให้ทราบข้อมูลว่ามีการกระจายของมะเร็งมาที่ต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ และมีการกระจายมามากน้อยเพียงใด หากตรวจพบว่ามีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองแล้ว อาจจะทำให้มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ ได้ การประเมินว่าผู้ป่วยมีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ ทำได้ทั้งจากการตรวจร่างกาย ภาพวินิจฉัย และการตรวจชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลือง หากตรวจพบว่ามีต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โตผิดปกติ แนะนำให้เจาะตรวจต่อมน้ำเหลืองรักแร้เพื่อตรวจว่ามีการแพร่กระจายจริงหรือไม่
ในปัจจุบันการผ่าตัดที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ทำได้ 2 วิธีหลัก คือ 1) การเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด (axillary lymph node dissection) และ 2) การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกบางส่วนหรือต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (sentinel lymph node biopsy) โดยวิธีการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกบางส่วนจะต้องมีการฉีดสี หรือสารรังสีแล้วแต่สถาบัน เพื่อทำให้ระบุต่อมน้ำเหลืองต่อมแรกที่มีโอกาสในการแพร่กระจายเพื่อนำไปส่งตรวจได้อย่างเหมาะสม
.
สำหรับการพิจารณาว่าจำเป็นต้องทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ามีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองรักแร้แล้วหรือยัง หากมีการแพร่กระจายแล้ว แพทย์มักทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมดเพื่อการรักษาไม่ให้เหลือเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไว้ และทำให้ทราบว่ามีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองมากน้อยเพียงใด เพื่อให้ทราบระยะของมะเร็งเต้านมที่แน่นอน ซึ่งจะช่วยให้พิจารณาการรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป
แต่ในผู้ป่วยที่ยังไม่มีหลักฐานการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง แนะนำให้ทำเป็นการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกบางส่วนเพื่อนำไปตรวจ หากตรวจแล้วพบว่าไม่มีการแพร่กระจายไปจริงๆ ไม่ต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกทั้งหมดโดยไม่จำเป็น แต่หากนำต่อมน้ำเหลืองไปตรวจแล้วพบว่ามีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปแล้ว แพทย์อาจพิจารณาเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมดได้เลย ซึ่งการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมดจะมีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดมากกว่าการเลาะออกบางส่วน ได้แก่ การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทที่รักแร้ การมีภาวะเลือดออกมากขึ้น ภาวะน้ำเหลืองคั่งในแผลปริมาณมากและออกนานมากกว่า มีภาวะไหล่ติดได้มากขึ้น และอาจมีภาวะแขนบวมมากกว่าในระยะยาวด้วย เป็นต้น
ดังนั้น หากตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โอกาสการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองมีน้อย สามารถผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกบางส่วนเพื่อนำไปตรวจได้ ช่วยให้ลดการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมดโดยไม่จำเป็น และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการเลาะต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดได้ เราจึงควรหมั่นตรวจเต้านมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก