ภาวะแขนบวมนี้จะอยู่กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไปตลอดชีวิต จริงหรือไม่

มีใครเคยได้ยินคนถามกันไหมว่า ผ่าตัดมะเร็งเต้านมแล้วจะแขนบวม หมอเคยได้ยินคำถามนี้บ่อยค่ะ จริงๆ แล้วภาวะแขนบวมไม่ได้เกิดหลังการผ่าตัดทุกรายนะคะ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ภาวะแขนบวมเกิดจากอะไร

แขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านมเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากหลอดเลือดดำอุดตัน ทางเดินน้ำเหลืองคั่ง หรือเป็นผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดบางชนิด โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยสุดคือภาวะน้ำเหลืองคั่ง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบร้อยละ 1-20 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม สามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการรักษาจนถึงภายหลังการรักษาหลายเดือนหรือหลายปี

มักเกิดจากมีการขัดขวางการไหลเวียนน้ำเหลืองจากแขนไม่ให้ไหลกลับสู่หัวใจ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการรักษาทั้งการผ่าตัดเต้านม การตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองโดยเฉพาะคนไข้ที่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้แล้ว การฉายรังสีบริเวณหน้าอกและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และยาเคมีบำบัดบางชนิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักหายยาก ก่อให้เกิดอาการไม่สุขสบายและกระทบต่อการดำรงชีวิต ภาวะนี้สามารถป้องกันและควบคุมได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิด ได้แก่

  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยหลีกเลี่ยงการเจาะเลือดแขนข้างเดียวกับที่เป็นมะเร็งเต้านม ลดการบาดเจ็บจากการทำงานโดยสวมถุงมือล้างจานหรือทำสวน และหากมีแผลเกิดขึ้นควรรีบรักษาอย่างเหมาะสม
  • การป้องกันการกีดขวางการไหลเวียนน้ำเหลืองที่แขนข้างเดียวกัน โดยหลีกเลี่ยงการทำหัตถการที่ต้องรัดแขนนานๆ การเจาะเลือด วัดความดันโลหิต การให้น้ำเกลือ การสวมกำไลหรือแหวนที่คับแน่น
  • การยกของหนักหรือทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นเวลานานในแขนข้างเดียวกับที่เป็นมะเร็ง
  • การใช้แขนหรือมือสัมผัสความเย็นหรือความร้อนที่มากเกินไป

นอกจากนั้น แนะนำให้คนไข้ทำการบริหารมือ แขน และข้อไหล่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยส่งเสริมการไหลเวียนน้ำเหลือง รวมทั้งควบคุมน้ำหนักให้ระดับดัชนีมวลกายและความดันอยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดอาหารมันๆ และคอยสังเกตความผิดปกติของแขน หากมีความผิดปกติ เช่น อาการปวดเมื่อย ตึงหรือหนักแขน อาการบวมของแขน รู้สึกขยับแขนลำบากขึ้น ใส่แหวนหรือกำไลแล้วคับขึ้น หรือมีการติดเชื้อของแขนข้างนั้นเป็นๆ หายๆ แนะนำให้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการรักษาภาวะแขนบวมจากภาวะน้ำเหลืองคั่ง สามารถรักษาให้อาการน้อยลงและหายได้ หากเป็นระยะเริ่มแรก โดยการรักษามีทั้งแบบไม่ผ่าตัดและการผ่าตัด 

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ได้แก่ การนวดและทำกายภาพเพิ่มการไหลเวียนน้ำเหลือง การดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้น ไม่แห้ง การใส่ปลอกแขนเพื่อเพิ่มการไหลเวียนน้ำเหลืองกลับเข้าสู่หัวใจ 

สำหรับ การรักษาแบบผ่าตัด มีหลายชนิด ได้แก่ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงให้ทางเดินน้ำเหลืองไหลกลับสู่หลอดเลือดดำ การปลูกถ่ายต่อมน้ำเหลือง การดูดไขมัน ซึ่งต้องทำร่วมกับการรักษาแบบไม่ผ่าตัดควบคู่ด้วยเสมอ และต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางค่ะ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในระยะยาวค่ะ

ผศ. พญ.ศศิธร สุจริตธนะการ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แชร์ไปยัง
Scroll to Top