มะเร็งเต้านม ‘ระยะสุดท้าย’ จะอยู่ได้อีกกี่ปี

โดยปกติปัจจัยที่แพทย์ใช้วินิจฉัยระยะ (1-4) ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้นจะดูจากหลายปัจจัย ได้แก่ ขนาดก้อนมะเร็ง, การกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ และการแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด, ตับ, กระดูก, สมอง หรือกระจายไปที่เต้านมอีกข้าง

ทั้งนี้ คำว่า มะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย หมายถึง มะเร็งเต้านมระยะกระจายที่โรคมะเร็งลุกลามมากๆ โดยไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง หรือสภาพร่างกายของผู้ป่วยไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะรับการรักษาด้วยยาต่างๆ 

หากถามว่า มะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายจะรักษาหายไหม? คำตอบคือ ไม่หาย เนื่องจากโรคมะเร็งลุกลาม กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ หลายที่ การรักษาด้วยยาที่ให้เป็นเพียงเพื่อควบคุมโรค และประคับประคองอาการของโรคมะเร็งไม่ให้ลุกลามไปมากจนกระทั่งเสียชีวิต นอกจากนี้ การรักษาทำให้ผู้ป่วยระยะนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเต้านมระยะสุดท้ายอยู่ได้ยาวนานหรือสั้นนั้นขึ้นอยู่ ‘อายุ’ และ ‘สภาพร่างกาย’ ของผู้ป่วย รวมถึงชนิดของ ‘มะเร็งเต้านม’ จำนวนและปริมาณของมะเร็งที่กระจายไปที่อวัยวะต่างๆ นอกจากนี้ การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน และหรือยามุ่งเป้าต้านเฮอร์ทูที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการพยากรณ์โรคว่า ผู้ป่วยระยะนี้จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ระยะเวลายาวนานเพียงใด

ฉะนั้น สิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายควรปฏิบัติ คือ รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและหรือยาต้านฮอร์โมน และหรือยามุ่งเป้าต้านเฮอร์ทูอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดยา เนื่องจากการรักษาด้วยยาต่างๆ นั้นมีหลักฐานมากมายสนับสนุนว่าสามารถเพิ่มระยะเวลาการควบคุมโรค เพิ่มระยะเวลารอดชีวิต ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยาวนานมากขึ้นเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยยาเก่าๆ นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารให้เพียงพอ ครบทั้ง 5 หมู่ และสามารถออกกำลังกายเบาๆ ได้ในผู้ป่วยรายที่ยังมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง 

สำคัญที่สุด ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยา หรืออาหารเสริมบางชนิดที่อาจมีปฏิกิริยาข้างเคียงต่อการรักษามาตรฐานของมะเร็งเต้านมชนิดนั้นๆ กล่าวคือควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลทุกครั้งที่จะรับประทานอาหารเสริมหรือยาใดๆ นอกเหนือที่แพทย์สั่งดีที่สุดค่ะ

รศ. พญ.นภา ปริญญานิติกูล
อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา หน่วยมะเร็งวิทยา
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์ไปยัง
Scroll to Top