เมื่อไรที่ผู้ป่วยมะเร็งควรรับประทาน ‘อาหารทางการแพทย์’

อาหารทางการแพทย์ก็คือผลิตภัณฑ์อาหารที่รวมเอาโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต รวมถึงน้ำตาลที่จำเป็นต่อร่างกายคนเรามารวมกันไว้ แต่เมื่อใดที่เราไม่สามารถจะรับประทานอาหารได้ตามปกติ เราก็สามารถรับประทานอาหารทางการแพทย์ทดแทนได้

สาเหตุหลักที่ทำให้คนไข้มะเร็งส่วนใหญ่มีร่างกายผอมลงหรือกล้ามเนื้อฝ่อลีบนั้น เกิดจากร่างกายมีการเผาผลาญที่สูงขึ้น ร่วมกับมีอาการเบื่ออาหารอันเนื่องมาจากผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น ต้องรับยาเคมีบำบัด หรือฉายแสง ดังนั้น คนไข้มะเร็งจึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารมากกว่าคนปกติทั่วไป เช่น 

คนปกติ น้ำหนักตัว  50 กิโลกรัม
จะใช้โปรตีนประมาณ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
นั่นหมายถึง ควรได้รับโปรตีน 50 กรัมต่อวัน
ซึ่งเทียบเท่ากับอกไก่ 2 ขีด   
ผู้ป่วยมะเร็ง น้ำหนักตัว  50 กิโลกรัม
จะใช้โปรตีนประมาณ 1.5 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
นั่นหมายถึง ควรได้รับโปรตีน 75 กรัมต่อวัน
ซึ่งเทียบเท่ากับอกไก่ 3 ขีด   

อย่างที่รู้กันดีว่า ระหว่างการรักษานั้น คนไข้มะเร็งส่วนใหญ่มักจะมีอาการเบื่ออาหารจากผลข้างเคียงของการรักษา ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง จากที่ควรกินอกไก่ 3 ขีด อาจจะรับประทานได้เพียง 1.5 ขีด ฉะนั้น อาหารทางการแพทย์จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้คนไข้ได้รับโปรตีน สารอาหาร และพลังงานที่เพียงพอ 

อาหารทางการแพทย์นั้นไม่ได้จำเป็นสำหรับคนไข้ทุกคน รวมถึงผู้ป่วยมะเร็ง หากสามารถรับประทานอาหารได้อย่างเพียงพอ ซึ่งสังเกตง่ายๆ จากน้ำหนักตัวที่คงที่ ร่างกายแข็งแรง ใช้ชีวิตได้แบบคนปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารทางการแพทย์เพิ่มเติมแต่อย่างใด  

คนไข้ที่หมอจะแนะนำให้รับประทานอาหารทางการแพทย์นั้นก็คือคนไข้ที่น้ำหนักลดเกิน 5-10 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งน้ำหนักลดเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ นั่นแสดงว่าร่างกายสูญเสียปริมาณกล้ามเนื้อไปเยอะ ร่างกายค่อนข้างอ่อนแอ ส่งผลให้ภูมิต้านทานต่ำลง โอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น และนั่นจะยิ่งทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น จากการศึกษาพบว่า น้ำหนักกล้ามเนื้อที่หายไปนั้นจะสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดซ้ำของโรคที่สูงขึ้น ฉะนั้น จะต้องรักษาน้ำหนักให้คงตัวเท่าเดิมในช่วงก่อนและระหว่างการรักษา แต่หลังการรักษาไปแล้ว ควรจะรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เช่น คนไหนที่อ้วนระหว่างการรักษา พอหลังการรักษาจบแล้วควรจะลดน้ำหนัก จะช่วยลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำได้

พญ.รัตน์กวิน จิตตวัฒนรัตน์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมมะเร็ง
โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
และจิตตะไลฟ์เซ็นเตอร์

แชร์ไปยัง
Scroll to Top