มีหลักฐานสนับสนุนว่า ช่วงที่คุณแม่ให้นมบุตรจะมีภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ทำให้กลับมามีประจำเดือนตามปกติช้า ส่งผลทำให้มีภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำกว่าปกติ จึงอาจลดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้นั่นเอง
ในขณะที่ภาวะการตั้งครรภ์ ซึ่งคนทั่วไปมักมีความคิดเห็นว่า อาจมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงทั่วไป เนื่องจากช่วงที่ตั้งครรภ์จะมีภาวะที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงอยู่เป็นเวลานาน แต่จากการศึกษากลับไม่พบว่า การตั้งครรภ์เพิ่มโอกาสเสี่ยงของมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด
แตกต่างจากผู้หญิงที่มีบุตรช้า (มีบุตรคนแรกตอนอายุมากกว่า 30 ปี) กลับเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม เนื่องจากเกิดภาวะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงในระยะเวลานานช่วงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมชนิดตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก (แต่สำหรับมะเร็งเต้านมชนิดทริปเปิลเนกาทีฟ หรือมะเร็งเต้านมชนิด HER2 เป็นบวกและตัวรับสัญญาณฮอร์โมนเป็นลบนั้น มิได้สัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงเป็นเวลานานแต่อย่างใด)
สรุปได้ว่า จากปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงเป็นระยะเวลานานๆ ดังกล่าวข้างต้น มีการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่พบปัจจัยเสี่ยงหลายข้อมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงรายที่ไม่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น อาหารการกิน อายุที่มากขึ้น ประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว ก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน