หากเราเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง แล้วตัดสินใจตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง สามารถช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคตได้จริงไหม เพราะอะไร

การตัดเต้านมออกทั้งสองข้างจะช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมในอีกข้างได้จริงค่ะ เพราะในคนไข้ที่เป็นมะเร็งเต้านมข้างใดข้างหนึ่งมาก่อน ในอนาคตเต้านมอีกข้างก็สามารถตรวจพบเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น 

จากการศึกษาย้อนหลังของ SEER database (Surveillance, Epidemiology, and End Results) สถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา พบมะเร็งเต้านมในเต้านมอีกข้างหลังการรักษามะเร็งเต้านมไปแล้วร้อยละ 3.2 โดยในคนไข้อายุน้อยจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างมากกว่าคนอายุเยอะ 

โดยการที่มะเร็งเต้านมกลับมาเป็นอีกข้างแบ่งออกได้เป็น 2 กรณีหลักๆ คือ 1) เป็นมะเร็งเต้านมข้างใหม่อีกครั้ง และ 2) มะเร็งเต้านมข้างเดิมมีการแพร่กระจายมาเต้านมอีกข้างหนึ่ง ซึ่งการเป็นมะเร็งเต้านมข้างใหม่อีกข้างมีได้หลายสาเหตุ ได้แก่ เป็นผู้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม เช่น มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ หรือเคยได้รับรังสีรักษาที่หน้าอกทั้งสองข้างมาก่อน สำหรับการเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาอีกข้างพบได้น้อยกว่า โดยมะเร็งเต้านมข้างเดิมที่เป็นระยะลุกลามและมีการแพร่กระจาย สามารถจะมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ 

สำหรับการคาดการณ์โอกาสกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้าง แพทย์ต้องอาศัยประวัติที่ถูกต้อง ทั้งประวัติการรักษาก่อนหน้าและประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว เพื่อจะดูว่าคนไข้ท่านใดที่มีโอกาสกลับมาเป็นอีกข้างมากน้อยเท่าใด รวมถึงการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจพันธุกรรมว่ามียีนผิดปกติที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นหรือไม่ 

การปฏิบัติตัวหลังการเป็นมะเร็งเต้านมเพื่อลดโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้าง นอกจากคนไข้ควรได้รับการรักษาตามแพทย์แนะนำให้ครบถ้วนให้การควบคุมโรคดีที่สุดแล้ว ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก็สามารถช่วยลดการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งได้ ที่สำคัญที่สุดคือควรมารับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอและหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเอง หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลโดยเร็วที่สุด 

ผศ. พญ.ศศิธร สุจริตธนะการ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แชร์ไปยัง
Scroll to Top