อยากทราบว่าหลังรักษามะเร็งเต้านมแล้ว จะรับประทานอาหารเสริม เช่น คอลลาเจน วิตามินเสริมต่างๆ ฯลฯ ได้หรือไม่

หลังการรักษาเสร็จสิ้น ผู้ป่วยบางท่านอาจจะต้องได้รับยาต้านฮอร์โมนบางชนิด ซึ่งกรณีนี้ต้องระมัดระวังการเกิดการตีกันกับยา เช่น ไม่ควรรับประทานขมิ้นชันสกัดต่อเนื่องยาวนานเพราะอาจมีผลต่อการลดประสิทธิภาพยาต้านฮอร์โมนบางตัว หรือการรับประทาน Resveratrol เพื่อหวังให้ชะลอวัย แต่อาจมีผลต่อการกระตุ้นฮอร์โมนเพศในร่างกาย ซึ่งก็อาจจะทำให้มะเร็งที่สงบไปเพิ่มความเสี่ยงการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือผู้ประกอบโรคศิลปะที่เชี่ยวชาญก่อนรับประทาน

สำหรับการรับประทานคอลลาเจนนั้นยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดต่อการตีกันกับยาต้านฮอร์โมน และในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมก็ยังไม่มีข้อห้ามเรื่องคอลลาเจนที่ชัดเจน มีแค่การพูดถึงระดับคอลลาเจน type 12 (collagen type XII) ในร่างกาย ถ้าเยอะจะมีผลต่อการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นแค่คอลลาเจนชนิดหนึ่งใน 28 ชนิด และไม่ใช่ชนิดที่นำมาทำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขาย ข้อมูลจากในอาหารยังไม่ชัดเจน ต้องรอข้อมูลงานวิจัยต่อไป แต่ต้องระมัดระวังในบางท่านที่ตับทำงานไม่ดี คอลลาเจนอาจมีผลทำให้ตับทำงานหนักขึ้น

นอกจากคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมแล้ว เรายังสามารถได้รับคอลลาเจนจากอาหารจำพวกหนังปลา ข้อไข หรือกระดูกอ่อนข้อไก่ ซึ่งอาหารเหล่านี้ก็สามารถเพิ่มคอลลาเจนให้กับร่างกายได้ และที่สำคัญพยายามหลีกเลี่ยงการโดนแดดโดยตรง และการรับประทานน้ำตาลหรืออาหารที่มีรสหวานมาก เพราะน้ำตาลในเลือดที่สูงจะส่งผลให้คอลลาเจนถูกทำลายง่ายขึ้น เช่นเดียวกับแสงแดดซึ่งเป็นตัวทำลายคอลลาเจนในร่างกายเช่นกัน

ทั้งนี้การรับประทานคอลลาเจนเพื่อชะลอวัยนั้นอาจจะไม่ได้ผล เพราะคอลลาเจนนั้นทำได้เพียงบำรุงผิวพรรณให้ดีขึ้นในคนที่ขาดคอลลาเจนหรือคนที่มีปัญหาเรื่องข้อเสื่อมเท่านั้น (ในคอลลาเจนบางชนิดมีรายงานการวิจัย) แต่ก็ไม่ใช่จะเป็นผลดีทั้งหมดสำหรับทุกคน ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือผู้ประกอบโรคศิลปะที่เชี่ยวชาญเพื่อทำการประเมินก่อนรับประทานครับ 

เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินในคนไข้ที่รักษาเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังได้รับยาต้านฮอร์โมนอยู่ก็ต้องระมัดระวังการรับประทานอาหารเสริมที่มีผลต่อการกระตุ้นฮอร์โมน หรือระมัดระวังการรับประทานอาหารเสริมที่อาจมาตีกับยาได้ โดยสมุนไพรที่ต้องระมัดระวัง คือ กวาวเครือขาว,สาวร้อยผัวหรือรากสามสิบ เป็นต้น เพราะมีผลกระตุ้นฮอร์โมนเพศหญิง ส่วนอาหารเสริมที่มีผลต่อยานั้นอยากให้ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหารก่อนการรับประทาน เพื่อจะช่วยในการตัดสินใจได้ถูกต้องและอยู่ในวิจารณญาณของผู้เชี่ยวชาญครับ

ดร.กมล ไชยสิทธิ์
อุปนายกสมาคมโภชนาการและสมุนไพรเชิงบูรณาการ

แชร์ไปยัง
Scroll to Top