ใบย่านาง จิงจูฉ่าย และเจียวกู่หลาน ดีต่อผู้ป่วยมะเร็งจริงไหม

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มะเร็งเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์เราที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้กลายเป็นมะเร็ง คนส่วนใหญ่มักมีความเชื่อว่า ยาเคมีบำบัดนั้นจะทำลายทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง นั่นเป็นเพราะเซลล์ปกติของเราและเซลล์มะเร็งมีดีเอ็นเอ (DNA) เหมือนกัน 99 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันคือเซลล์เดียวกัน แต่การแบ่งตัวหรือมียีนบางอย่างที่ผิดปกตินิดเดียว แค่ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถทำให้กลายเป็นมะเร็งได้แล้ว ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ยาเคมีบำบัดจะทำร้ายเซลล์มะเร็ง โดยไม่กระทบกับเซลล์ปกติของเรา 

ยาเคมีบำบัดนั้นถูกออกแบบมาเพื่อยับยั้งการแบ่งตัวดีเอ็นเอโดยเฉพาะเจาะจง ดังนั้น จึงกระทบต่อตัวมะเร็งมากกว่า เช่น สมมติยาไปกระทบเซลล์มะเร็ง 100 เปอร์เซ็นต์ จะกระทบเซลล์ปกติเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยเซลล์ปกติที่มีการแบ่งตัวเยอะ คือ เซลล์เม็ดเลือด เซลล์กระเพาะ ลำไส้ เซลล์เยื่อบุปาก ผม ฯลฯ นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมเวลาให้เคมีบำบัดแล้วจึงมีอาการเจ็บปาก ผมร่วง เม็ดเลือดต่ำ (ในผู้ป่วยบางคน) ฯลฯ 

สำหรับใบย่านางและจิงจูฉ่ายนั้น ถือว่าเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) สูง แน่นอนว่าช่วยซ่อมแซมหรือช่วยทำให้อนุมูลอิสระในเซลล์น้อยลง ทำให้เซลล์เราไม่แก่ หรือเซลล์แบ่งตัวที่กำลังจะผิดปกติให้กลับมาปกติได้ พูดง่ายๆ คือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอโดยวิธีธรรมชาติ ดังนั้น เซลล์ที่เกือบเป็นมะเร็ง หรือกำลังก่อมะเร็งนิดหน่อย การรับประทานผักสองอย่างนี้ก็สามารถช่วยได้ในคนปกติ

แต่ในกรณีคนที่เป็นมะเร็งแล้ว เซลล์กำลังแบ่งตัว การให้สารต้านอนุมูลอิสระเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ทุกอย่างต้องมีการผสมผสานที่เหมาะสม หมอไม่ได้ต่อต้านในการกินผัก กินผักนั้นดี แต่บางทีเราต้องดูช่วงเวลา 

น้ำใบย่านางกินได้ไหม? เป็นคำถามที่หมอถูกถามบ่อยมาก หมอขอตอบว่า น้ำใบย่านางมีสารต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูง และมีฤทธิ์ค่อนข้างเย็น กินแล้วดีแน่นอน แต่ในผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังให้ยาเคมีบำบัดนั้นต้องงดเว้นไว้ก่อน เช่นเดียวกับ ‘จิงจูฉ่าย’ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูง ถือว่าดีสำหรับคนที่ยังไม่เป็นมะเร็ง แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่ให้ยาเคมีบำบัดอยู่ อาจจะต้องรอให้จบการรักษาเคมีบำบัดไปก่อน ค่อยกินทีเดียว จึงจะดีกว่า เพราะตัวยาเคมีบำบัดนั้นเป็นเหมือนของร้อน เมื่อร้อนๆ อยู่แล้วเราเอาของเย็นไปใส่ นั่นทำให้ยาทำงานได้ไม่เต็มที่ ฉะนั้น ในช่วงที่ให้ยาเคมีบำบัดอยู่ ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน ถ้าอยากกิน ควรกินช่วงพักยา หรือหนึ่งสัปดาห์หลังจากรับยาครบแล้ว น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด 

 ส่วน ‘เจียวกู่หลาน’ นั้นรับประทานได้ แต่ในผู้ที่มีเม็ดเลือดแดงอ่อนแอหรือมีอาการโลหิตจาง ไม่ว่าจะโลหิตจางจากยา หรือโลหิตจางจากเม็ดเลือดอ่อนแอ ต้องระวังนิดหนึ่ง เพราะเจียวกู่หลานมีสารซัพโพนิน (Saponin) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ดังนั้น คนที่มีภาวะซีดไม่ควรรับประทานอย่างยิ่ง หรือควรรับประทานแต่น้อยเท่านั้น 

ดังนั้น ใบย่านางและจิงจูฉ่ายไม่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาเคมีบำบัด เพราะทำให้ยาทำงานได้ไม่เต็มที่ ถ้าอยากรับประทาน ควรรับประทานช่วงพักยา หรือหนึ่งสัปดาห์หลังจากรับยาครบแล้ว น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสม ส่วนเจียวกู่หลานนั้นรับประทานได้ แต่ในผู้ที่มีเม็ดเลือดแดงอ่อนแอหรือมีอาการโลหิตจางควรระวัง เพราะเจียวกู่หลานมีสารซัพโพนิน (Saponin) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายนั่นเอง

พญ.รัตน์กวิน จิตตวัฒนรัตน์ 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมมะเร็ง
โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
และจิตตะไลฟ์เซ็นเตอร์

แชร์ไปยัง
Scroll to Top