เมื่อตรวจพบและทราบว่าเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์จะแบ่งหลักการรักษามะเร็งเต้านมออกเป็น 2 ส่วน คือ
1) การรักษาเฉพาะที่ มี 2 วิธี คือ การผ่าตัดและการฉายแสง
2) การรักษาทั้งร่างกาย มี 3 วิธี คือ เคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน และยาต้านมะเร็งเฉพาะกลุ่ม เช่น ยาต้าน HER 2 เป็นต้น (อาจจะมีวิธีที่ 4 คือ ภูมิคุ้มกันบำบัด)
ฉะนั้น ถ้าเป็นมะเร็งเต้านม อาจจะได้รับการรักษาด้วยวิธีทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเลยก็ได้ คือ ผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน และยาต้านมะเร็ง หรือบางคนอาจจะผ่าตัดอย่างเดียวจบก็ได้
การพิจารณาการรักษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดนั้น แพทย์จะพิจารณาอยู่ 2 ปัจจัย คือ
1) ขนาดและการกระจาย กล่าวคือ ยิ่งใหญ่ ยิ่งไม่ดี ยิ่งกระจายเยอะ ก็ยิ่งไม่ดี เช่น ก้อนมะเร็งเต้านมกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง หรือกระจายไปที่สมอง ตับ ปอด ก็ไม่ดี
2) นิสัยทางชีวภาพ เนื่องจากเซลล์แต่ละชนิดนั้นนิสัยไม่เหมือนกัน บางชนิดไม่ดุ รักษาง่าย แต่บางชนิดดุร้ายและรักษายาก นิสัยบางตัวชอบแพร่กระจาย เช่น บางคนเป็นก้อนมะเร็งขนาด 2 เซนติเมตร อาจจะกระจายเร็วกว่าคนที่มีก้อนขนาด 5 เซนติเมตรก็ได้
เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่ทำให้แพทย์ประเมินว่าควรตัดเต้านมหรือไม่นั้น ก็จะพิจารณาถึงขนาดและการกระจาย รวมถึงนิสัยของมะเร็งนั้นๆ ส่วนจะตัดเต้าเดียวหรือสองเต้าดีนั้น ส่วนใหญ่แล้วตัดข้างเดียวมักจะเพียงพอ จะตัดอีกเต้าเฉพาะในคนที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น เช่น มีพันธุกรรมผิดปกติ