เมื่อป่วยเป็นมะเร็งควรกินอย่างไรดี

เมื่อเราป่วยเป็นมะเร็งนั้น เราจำเป็นต้องผ่านการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฉายแสง และการรับยาเคมีบำบัด (ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมะเร็งอะไร และอยู่ในระยะไหน) โดยการรักษาทั้งหมดนี้ สารอาหารเป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่เพียงพอ โดยเฉพาะ ‘โปรตีน’  ระหว่างการรักษานั้น ร่างกายจะต้องการปริมาณโปรตีนมากกว่าปกติถึง 50 เปอร์เซ็นต์

ยกตัวอย่าง เมื่อร่างกายคนเราปกตินั้นต้องการโปรตีนประมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ถ้าเราเป็นมะเร็งและต้องได้รับการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฉายแสง หรือการรับยาเคมีบำบัด จะทำให้ร่างกายต้องการโปรตีนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาจึงควรรับประทานโปรตีนให้เพียงพอ

โปรตีนนั้นสามารถหารับประทานได้จากหลายแหล่ง ไม่ว่าจากพืชหรือสัตว์ แต่ที่สำคัญคือการรับประทานโปรตีนให้เพียงพอ ซึ่งเราสังเกตง่ายๆ จากน้ำหนักตัวของเราเอง หากระหว่างการรักษา น้ำหนักของเราลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือว่ายังรับสารอาหารไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งต้องรีบหาทางแก้ไขโดยด่วน เพราะนอกจากการได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะทำให้กล้ามเนื้อฝ่อลง ภูมิต้านทานลดลง ซึ่งส่งผลให้โรคมีโอกาสจะดื้อยา และอาจจะทำให้โรคกลับมาเป็นซ้ำได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังมีการศึกษาพบว่า หากคนที่มีน้ำหนักตัวลดลงระหว่างการรักษานั้น ผลการรักษาจะไม่ดี เมื่อเทียบกับคนที่มีน้ำหนักตัวไม่ลดลง ดังนั้น การรับโปรตีนให้เพียงพอและการรักษาน้ำหนักตัวระหว่างการรักษานั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาตัวนะคะ  

นอกจากโปรตีนแล้ว สารอาหารอื่นๆ ก็จำเป็นเช่นกัน อย่างผักผลไม้ก็มีผู้ป่วยหลายท่านกังวลว่าจะรับประทานได้ไหม เนื่องจากการให้ยาเคมีบำบัดบางชนิดนั้นจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงผักดิบหรือผลไม้ที่มีเปลือกบาง ทางที่ดีที่สุดคือการปรึกษาคุณหมอที่ดูแลเราอยู่นะคะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ยาเคมีบำบัดทั่วไปสามารถรับประทานผักผลไม้ได้ สำคัญที่สุดคือต้องล้างให้สะอาด และระหว่างที่รับการรักษานั้นควรรับประทานผลไม้หลากสี เพราะผลไม้หลากสีนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินที่หลากหลายนั่นเอง   

ในรายที่รับประทานอาหารปกติแล้วเกิดอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องผูก จนทำให้น้ำหนักลดได้ หมอแนะนำให้ลองหันไปรับประทานอาหารทางการแพทย์ร่วมด้วย ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อตามท้องตลาด เนื่องจากอาหารทางการแพทย์นั้นประกอบด้วยโปรตีน ไขมันจำเป็น คาร์โบไฮเดรต และพลังงานที่เพียงพอ หากรับประทานอาหารปกติไม่ค่อยได้ สามารถหาอาหารทางการแพทย์มารับประทานทดแทนอาหารมื้อหลักได้ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารพอๆ กัน เพราะการทำให้น้ำหนักตัวคงที่นั้นเป็นสิ่งสำคัญและส่งผลดีต่อการรักษาอย่างมาก เราจึงไม่ควรละเลยเด็ดขาดนะคะ

พญ.รัตน์กวิน จิตตวัฒนรัตน์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมมะเร็ง
โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
และจิตตะไลฟ์เซ็นเตอร์
แชร์ไปยัง
Scroll to Top