หลังการกินยาต้านฮอร์โมนทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) มา 4 ปี ประจำเดือนไม่มา ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมวัย 41 ปี ถือว่าผิดปกติไหมคะ

ยาต้านฮอร์โมนทาม็อกซิเฟนนั้น เป็นยาที่ออกฤทธิ์แย่งการจับของฮอร์โมนเอสโตรเจนและตัวรับสัญญาณเอสโตรเจนในเซลล์มะเร็ง ไม่มีผลต่อรอบประจำเดือน โดยการรับประทานยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกจะสูงขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี

ดังนั้น ผู้ที่รับประทานยาตัวนี้ แนะนำให้ตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือตรวจพบเยื่อบุมดลูกหนาตัวมากขึ้น อาจจำเป็นต้องพิจารณาเปลี่ยนการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนตัวอื่น เช่น ยาต้านเอนไซม์อะโรมาเทส โดยเฉพาะในรายที่อยู่ในภาวะหมดประจำเดือนแล้ว

สำหรับภาวะประจำเดือนไม่มาในผู้ป่วยวัย 41 ปี หลังทานยาต้านฮอร์โมนทาม็อกซิเฟนมา 4 ปี ถือเป็นภาวะที่พบได้บ้างแต่ไม่บ่อย เนื่องจากยาทาม็อกซิเฟนนั้นออกฤทธิ์ต้านการทำงานของฮฮร์โมนเอสโตรเจนที่ตำแหน่งเต้านม ไม่ได้เป็นยาที่ลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนโดยตรง โดยหากได้รับยาเสริมเคมีบำบัดหลังผ่าตัดร่วมด้วย ภาวะประจำเดือนไม่มาจะพบอุบัติการณ์มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ภาวะประจำเดือนไม่มายังมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งทำให้เกิดภาวะรังไข่ไม่ทำงานชั่วคราวหรือภาวะรังไข่ไม่ทำงานถาวร บางครั้งประจำเดือนขาดไปนานเป็นปีได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับอายุของผู้ป่วยและยาเคมีบำบัดสูตรที่ใช้

โดยภาวะรังไข่ไม่ทำงานถาวรนั้น พิจารณาได้จากการที่ประจำเดือนไม่มานานเกิน 12 เดือน และตรวจฮอร์โมนเพศหญิงในเลือดพบว่า อยู่ในภาวะรังไข่ฝ่อแบบวัยหมดประจำเดือน ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนเร็วเกินไป ไม่มีการรักษาเฉพาะเจาะจง แต่ภาวะดังกล่าวอาจพบอุบัติการณ์ภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนเร็วกว่าปกติ และอาจพบอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าปกติ ควรต้องเฝ้าระวังโดยการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ 

รศ. พญ.นภา ปริญญานิติกูล
อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา หน่วยมะเร็งวิทยา
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์ไปยัง
Scroll to Top