พิมพ์ณิกา ลวางกูร : สวยสู้มะเร็ง

“ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ล้วนมีสองด้านเสมอ 
ในความมืดมิดก็ย่อมมีแสงสว่าง 
ไม่เว้นแม้มะเร็งที่มีทั้งด้านดีและร้าย 
ขึ้นอยู่ว่าจะเลือกมองด้านไหน”
.

ป้าพิม-พิมพ์ณิกา ลวางกูร อดีตผู้บริหารระดับสูงในบริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยเผชิญหน้ากับมะเร็งเต้านมชนิด Triple Negative Breast Cancer (TNBC) มะเร็งที่หลายคนเชื่อว่าดุที่สุดในบรรดามะเร็งเต้านมทั้งหมด ด้วยธรรมชาติของโรคที่รุนแรง ทั้งการแพร่กระจายสูงกว่าและมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำสูงกว่ามะเร็งเต้านมทั่วไป และนั่นกลายเป็นจุดพลิกผันให้เธอกลายเป็น Health Coach ในวัย 50 กะรัต ผู้ก่อตั้ง เพจสวยสู้มะเร็ง เพื่อส่งต่อและแบ่งปันเรื่องราวรวมถึงความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผ่านโภชนาการ (nutrition) ที่เธอได้ศึกษาอย่างจริงจังระหว่างการรักษาตัวไปสู่เพื่อนๆ ผู้ป่วยมะเร็งทั่วไป โดยมีเป้าหมายลึกๆ ที่อยากจะผลิต ‘Cancer Fighter’ หรือนักสู้ผู้พิชิตมะเร็งในเมืองไทยให้เพิ่มขึ้น

“สำหรับเราแล้วมะเร็งเปรียบเสมือนสัญญาณมาเตือนให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้รู้จักความสุขที่แท้จริงของชีวิต ถ้าวันนั้นมะเร็งไม่ได้เข้ามาในชีวิต วันนี้เราคงเป็นได้แค่ป้าแก่ๆ อ้วนๆ คนหนึ่ง

“นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราขอบคุณมะเร็งเสมอที่เข้ามาในวันที่เรายังเปลี่ยนแปลงตัวเองทัน นอกจากนี้มะเร็งยังเป็นวิกฤตที่สร้างโอกาสให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เรียนรู้ที่จะดูแลสุขภาพทั้งของตัวเองและคนที่เรารัก เรียนรู้ว่าตัวเลขในบัญชีธนาคารหรือตำแหน่งงานสูงๆ ไม่ได้การันตีว่าเราจะมีความสุขมากกว่าคนอื่น

“ในวันที่เราต้องให้คีโมแล้วมีคนโทรมาตามให้ไปประชุมบอร์ด เราเรียนรู้เลยว่าต่อให้ตำแหน่งงานสูงแค่ไหน เงินเดือนมากเพียงใด เราก็ไม่สามารถจ้างคนมานั่งให้คีโมแทนเราได้ เราไม่สามารถจ้างให้ใครมาป่วยแทนเราได้”

ตั้งสติสู้!  

“ย้อนหลังกลับไปในปี 2562 หลังจากการตรวจสุขภาพซึ่งเราจะทำเป็นประจำทุกปี ก็พบว่ามีก้อนเนื้อร้ายขนาด 2.5 เซนติเมตร อยู่ที่เต้านมข้างขวา สิ่งแรกที่เราทำตอนนั้นก็คือไปขอ Second Opinion ที่โรงพยาบาลเอกชนอันดับหนึ่งของเมืองไทย คุณหมอได้ทำการตรวจร่างกายอีกครั้ง ผลทุกอย่างออกมาเหมือนเดิม ขนาดก้อนเท่าเดิม ก่อนจะประเมินการรักษาเบื้องต้นไว้ราว 3.5 ล้านบาท

“ตอนนั้นเครียดมาก ด้วยความที่บริษัทกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วเราเป็นหนึ่งในผู้บริหาร แน่นอนว่าเราต้องทำงานหนักขึ้น ประชุมบ่อยขึ้น ยาวนานขึ้น ซึ่งหากเราเข้ารับการรักษา ต้องเกิดปัญหาในการทำงานแน่ๆ และเราเชื่อว่าบริษัทก็คงไม่มารอเราคนเดียวหรอก จึงตัดสินใจลาออก ซึ่งยอมรับว่าการตัดสินใจครั้งนั้นเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

“ด้วยงานและเงินคือเป้าหมายในชีวิตเรามาตลอด เราทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ แรงสมอง ยอมนอนไม่เป็นเวลา กินอาหารที่เอาเร็วเข้าว่า ละเลยการออกกำลังกาย เอาเวลาทั้งหมดไปทุ่มกับการทำงานหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งงานที่สูงขึ้น เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ใส่ใจเลยว่าตัวเองจะมีภาวะเครียดสะสมเท่าไร หรือมีพฤติกรรมที่ทำร้ายตัวเองนานแค่ไหน สุดท้ายสัญญาณเตือนจากร่างกายก็ดังขึ้นในรูปแบบของมะเร็ง 

“พอรู้ตัวว่ากำลังจะเป็นผู้ป่วยที่ว่างงาน เราก็ตัดสินใจเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แทนโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเซฟเงิน 3.5 ล้านบาทเอาไว้ เพราะเราไม่รู้ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จากนั้นก็เปลี่ยนเป้าหมายในชีวิตใหม่ จากเมื่อก่อนเป้าหมายเดียวของเราคือ ฉันต้องรวย! แต่พอวันที่มะเร็งเข้ามา มันไม่ใช่อีกแล้ว เป้าหมายของเราเปลี่ยนเป็น ฉันต้องไม่ตายเพราะมะเร็ง ฉันต้องมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อคนที่ฉันรักและรักฉัน มีชีวิตอยู่อย่างเบิกบาน ไม่ใช่อยู่บนความหวาดกลัว

“ลึกๆ ผู้ป่วยมะเร็งมีความกลัวกันทุกคน บางคนกลัวมะเร็งจะกลับมา หลายคนก็กลัวว่าจะรับมือกับการรักษาไม่ไหว กลัวสารพัด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ขอแค่รู้ไว้ว่าความกลัวนั้นไม่ได้ช่วยอะไร เมื่อกลัวแล้วตั้งสติให้ไวและรู้จักให้กำลังใจตัวเองให้เป็น

“วิธีที่จะผ่านมะเร็งไปได้ก็คือ ตั้งสติ-หาต้นแบบ-หาความรู้-อยู่ท่ามกลางคนที่มีพลังบวก หรือสังคมที่ให้กำลังใจ เพราะมะเร็งนั้นเกิดขึ้นได้ก็รักษาได้ เพียงแต่เราต้องยอมรับและเข้าใจ สำคัญที่สุดคือมีเป้าหมายที่ชัดเจนและตอบได้ว่าทำไมเราต้องไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

ต้นแบบพิชิตมะเร็ง

“แม่คือคำตอบต่อคำถามข้างต้น เพราะถ้าเราไม่รอด แม่ก็คงมีชีวิตอยู่ไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้น เป้าหมายของเราจึงไม่ใช่แค่หายจากมะเร็ง แล้วมีชีวิตอยู่อย่างกระท่อนแท่น อ่อนแอปวกเปียก หรือหวาดกลัวทุกครั้งที่ไปฟอลโลว์อัพ ฯลฯ แต่เป้าหมายของเรา คือ เราจะหายจากมะเร็งแบบไหนและมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร ภาพในหัวของเราตอนนั้นก็คือการมีสุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ดูแลคนที่เรารักได้ สามารถเที่ยว ลุยไปได้ทุกที่ สำคัญที่สุดคือต้องมีความสุขกับชีวิตในทุกๆ วัน

คุณแม่…กำลังใจสำคัญ

“บางคนตั้งเป้าว่าต้องหายจากมะเร็ง แต่ละวันก็เอาแต่โฟกัส หมกมุ่น เครียดอยู่กับมะเร็ง แม้จะเสร็จสิ้นการรักษาไปแล้วก็ยังอยู่กับความหวาดกลัวว่ามะเร็งจะกลับมา จนชีวิตไม่มีความสุขเลย ฉะนั้น ไม่ว่าเป้าหมายจะยิ่งใหญ่ยากเย็นแค่ไหน แต่ระหว่างทางที่เราเดินไป ก็ต้องมีความสุขกับชีวิตไปด้วย ฉะนั้น อย่ามัวเอาความสุขของเราไปผูกติดอยู่กับเป้าหมายใหญ่อย่างเดียว

“เพราะเส้นทางที่ต้องต่อสู้กับมะเร็งนั้นยาวไกล ไม่ใช่ว่าจบการรักษาแล้วมะเร็งจะจบ ในโลกของมะเร็งนั้น มันไม่มีหรอกคำว่าหายขาด อย่างมากที่สุดก็คือมะเร็งสงบ แต่จะสงบไปสักกี่ปีก็แล้วแต่พฤติกรรมการกิน การอยู่ การใช้ชีวิตของเราเอง

“ในต่างประเทศเขาจึงใช้คำว่า Cancer Survivor หรือผู้รอดชีวิตจากมะเร็ง อย่างเรานี้ก็ถือเป็น Cancer Survivor ปีที่ 3 เพราะปลอดจากโรคมะเร็งมา 3 ปี ยิ่งสะสมปีมากขึ้นเท่าไร นั่นก็หมายถึงโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาก็จะลดลงไปเรื่อยๆ 

“ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนล้วนต้องสู้…สู้กับโรค สู้กับการรักษา สู้กับความเปลี่ยนแปลง สู้กับใจตัวเอง ฯลฯ เพื่อจะเป็น Cancer Survivor ให้ได้ยาวนานที่สุด นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า Cancer Fighter หรือนักสู้ผู้พิชิตมะเร็ง ซึ่งเป็นคำที่เราชอบมาก และเราเชื่อว่าผู้ป่วยมะเร็งมากมายที่เข้าข่าย Cancer Fighter แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับการโปรโมต

“ฉะนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมคนมากมายจึงกลัวและจิตตกกับคำว่า ‘มะเร็ง’ เพราะภาพจำของคนไทย คนเป็นมะเร็งเท่ากับคนที่กำลังจะตาย เวลาที่เสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็ง เรามักจะพบแต่ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งมากกว่าจะเป็นเรื่องราวของเหล่า Cancer Fighter ซึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจให้ผู้ป่วยมะเร็งได้มากมาย แต่เมืองไทยกลับยังมีให้เห็นน้อยมาก”

สามี…ผู้ชายที่อยู่เคียงข้างเธอเสมอ

รู้แล้วรอด

“พอมีเป้าหมายชัดเจนแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการเลือก ‘วิธีการ’ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น โดยระหว่างที่รอคิวผ่าตัดราว 1 เดือน เราก็เริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับมะเร็ง และได้มีโอกาสได้ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า The Cancer Code: A Revolutionary New Understanding of a Medical Mystery เขียนโดย ดร.เจสัน ฟังก์ (Dr. Jason Fung) อธิบายต้นเหตุของการเกิดมะเร็งไว้อย่างน่าสนใจว่า…

“มะเร็งนั้นเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ ส่วนร่างกายคนเราก็เปรียบเสมือนดิน ตราบใดที่เมล็ดพันธุ์อยู่ในดินที่ไม่เอื้อให้มันเจริญเติบโต มะเร็งก็จะเป็นแค่เมล็ดพันธุ์ แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ร่างกายอ่อนแอก็เอื้อให้เมล็ดพันธุ์มะเร็งเติบโตและเบ่งบานในตัวเรา

“ในหนังสือ ดร.เจสันได้นำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการกับโรคมะเร็งผ่านการใช้พฤษเคมีจากธรรมชาติ เพื่อทำให้ร่างกายปรับสมดุลและไม่เอื้อต่อการเติบโตของเมล็ดพันธุ์มะเร็ง เรานำสูตรการกินที่ ดร.เจสันแนะนำมาปฏิบัติอยู่ราว 1 เดือนเต็มก่อนผ่าตัด นอกจากผลเลือดดี ตับไตดี และค่าคอเลสเตอรอล โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์หรือไขมันในเลือดลดลงแล้ว ยังพบว่าขนาดของก้อนมะเร็งที่ผ่าตัดออกมาลดลงเหลือเพียง 1.7 เซนติเมตร และไม่มีการลุกลามใดๆ ทำให้เราไม่ต้องผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองทิ้ง

“หัวใจสำคัญของการกินแบบ ดร.เจสัน คือ การเอาของดีเข้าสู่ร่างกายโดยการกินสารอาหารที่ร่างกายต้องการอย่างครบถ้วน จากนั้นตัดปัจจัยที่จะทำให้มะเร็งโตออกไป โดยการกินกระตุ้นให้ร่างกายขับของเสียที่สร้างอนุมูลอิสระ หรือทำให้ร่างกายเป็นกรดออกมา

“เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ในวิถีชีวิตของคนปัจจุบันที่กินอาหารจากอุตสาหกรรมอาหารนั้น เราแทบไม่ได้รับสารอาหาร เช่น วิตามิน แร่ธาตุ และเอนไซม์ที่ร่างกายต้องการเท่าใดนัก เรากินอาหารเยอะขึ้นก็จริง แต่กลับเป็นโรคขาดสารอาหารที่จำเป็น นั่นจึงเป็นที่มาของการเกิดโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง หลอดเลือด เบาหวาน ฯลฯ ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มาจากร่างกายคนเราขาดสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามิน แร่ธาตุ และเอนไซม์

“ดร.เจสันจึงพยายามนำเสนอสูตรการกินเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วนและรวดเร็ว คือ ย่อยง่าย ดูดซึมง่าย เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอแล้ว ร่างกายจะนำสารอาหารเหล่านั้นไปบำรุงดูแลเซลล์ดี หรือเซลล์ที่ยังแข็งแรงซึ่งมะเร็งยังลุกลามไปไม่ถึง ขณะเดียวกันก็ตัดวงจรอาหารทุกอย่างที่จะทำให้เซลล์มะเร็งเติบโต เช่น อาหารจำพวกกูลโคส ฯลฯ

“การทำสองอย่างควบคู่กันไปนี้ทำให้เราเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน คือ ก้อนมะเร็งลดลง หลังจากนั้นเราก็ปฏิบัติมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ก็กว่า 3 ปีมาแล้ว นอกจากภาวะปลอดจากมะเร็งแล้ว ร่างกายยังแข็งแรงขึ้น ผิวพรรณผ่องใสขึ้น หุ่นดีขึ้นแล้ว หัวใจสำคัญก็คือ 1) ความรู้ 2) การลงมือทำอย่างจริงจัง และ 3) การประเมินผลหรือวัดผลที่ชัดเจน ไม่ใช่มโนขึ้นเอง เช่น ผลตรวจเลือดจากโรงพยาบาล ค่าคอเรสเตอรอล เป็นต้น”

ผลลัพธ์ต้องชัดเจน

“ปฏิเสธไม่ได้ว่ามะเร็งเต้านมและมะเร็งอื่นๆ อีกหลายชนิด ล้วนเกิดขึ้นจากการถูกกระตุ้นด้วยไขมันในร่างกายที่มากเกินไป ในวันที่เรารู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง สิ่งแรกที่คุณหมอแนะนำก็คือ ให้กลับไปลดความอ้วน เนื่องจากตอนนั้นน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งหากเราไม่มีความรู้ เราก็อาจจะใช้วิธีกินให้น้อยลง หรือไม่กินเลย และแม้ผลลัพธ์จะทำให้น้ำหนักลดก็จริง แต่สิ่งที่หายไปพร้อมน้ำหนักก็คือ มวลกล้ามเนื้อและน้ำ นั่นยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอลงไปอีก ทำให้เราพยายามศึกษาว่า จะทำอย่างไรดีที่จะลดไขมันในร่างกาย แต่เก็บมวลกล้ามเนื้อ รักษาน้ำในร่างกาย และรักษามวลกระดูกไว้

“ฉะนั้น เราต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า ในร่างกายของเรานั้นมีไขมัน กล้ามเนื้อ และน้ำเท่าไร เพื่อจะได้ลดได้ถูกทาง เราจึงตัดสินใจซื้อเครื่องชั่งมวลร่างกายมาไว้ที่บ้าน ซึ่งจะบอกน้ำหนักแยกเป็นมวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูก น้ำ และไขมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องรู้ก่อน เพื่อจะรู้ว่าสิ่งที่จะลดนั้นมีมากน้อยแค่ไหน

“เราพบว่า เรามีไขมันในร่างกายกว่า 39.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงมาก ในขณะที่มวลกล้ามเนื้อและน้ำน้อยมาก ฉะนั้น นอกจากจะต้องลดไขมันแล้ว เราต้องเพิ่มกล้ามเนื้อและน้ำในร่างกาย เพราะถ้าน้ำในร่างกายไม่เพียงพอ มันจะทำให้ไขมันแตกตัวยากและช้า ร่างกายก็ยิ่งอมไขมัน ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ การปรับการดื่มน้ำ

“จากเดิมที่เป็นคนดื่มน้ำน้อย ก็หันมาดื่มน้ำให้ได้ 3 ลิตรต่อวัน โดยทุกๆ ชั่วโมงจะดื่มน้ำให้ได้ 200-250 มิลลิลิตร เพื่อรักษาให้ปริมาณน้ำอยู่ในกระแสเลือดของเราให้คงที่ตลอดเวลา น้ำเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้หลอดเลือดแข็งแรง ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี นำพาสารอาหารที่อยู่ในกระแสเลือดส่งไปยังเซลล์ต่างๆ ทั้งยังนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายด้วย

“พอปรับเรื่องดื่มน้ำได้ ก็มาถึงขั้นตอน การลดไขมัน ซึ่งหัวใจสำคัญของการลดไขมันไม่ได้อยู่ที่การออกกำลังกายอย่างเดียว เพราะคนอ้วนที่มีไขมันสูงไม่ได้มาจากการกินเท่านั้น แต่บางกรณีก็เกี่ยวกับระบบฮอร์โมนในร่างกาย ถ้าฮอร์โมนไม่เอื้อ ให้วิ่งแทบตาย ร่างกายก็ยังเก็บไขมัน ฉะนั้น จะลดไขมันให้ได้ผล จำเป็นต้องออกกำลังกายควบคู่ไปกับการกินอาหารอย่างถูกต้อง

“ถ้ากินอาหารไม่ถูก ฮอร์โมนไม่สมดุล ร่างกายก็จะเกิด ภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) หรือความไม่สมดุลระหว่างอนุมูลอิสระกับระบบต้านออกซิเดชันในร่างกาย ทำให้ร่างกายยิ่งสะสมไขมันหนักเข้าไปอีก เพราะร่างกายจะหลั่งสารบางอย่างที่ระบุว่าร่างกายเครียดแล้ว พอสารตัวนี้ออกมา ร่างกายก็จะไม่ทำอะไรเลย นอกจากเก็บไขมันอย่างเดียว”

โภชนาการต้านมะเร็ง

“เคยไหมที่รู้สึกว่ากินเยอะ แต่ทำไมหิวบ่อย นั่นคือภาวะของฮอร์โมนขาดสมดุล สมองสั่งการให้เราหิว เพราะร่างกายต้องการสารอาหารที่จำเป็น แต่ทุกครั้งที่เราหิว เรากลับเลือกกินขนมถุง อาหารจังก์ฟู้ด อาหารแปรรูป นอกจากไม่มีสารอาหารที่ร่างกายต้องการแล้ว ยังเป็นการใส่สิ่งไม่ดีซ้ำเติมร่างกาย สร้างภาระให้ตับต้องขับของเสียอย่างหนัก พอร่างกายยังไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็น ก็สั่งให้หิวอีก ถ้าเรายังกินแบบเดิมๆ ร่างกายก็สะสมแต่สิ่งไม่ดีไปเรื่อยๆ  

“สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ใช่คนป่วยมะเร็งเท่านั้นที่ต้องเข้าใจ แต่คนทั่วไปก็ต้องรู้ หากอยากสุขภาพดี เราต้องรู้ว่าร่างกายของเราทำงานอย่างไร เช่น เวลาที่ตับขจัดของเสียนั้น ต้องใช้สารอาหารอะไรบ้าง ถ้าเรารู้และลงมือทำอย่างจริงจัง ร่างกายก็ได้สารอาหารที่ครบสมบูรณ์ ไม่มีไขมันอันตราย เช่น ไขมันช่องท้อง (visceral fat) ซึ่งอันตรายมากสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เพราะมันเป็นไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกายเพราะเผาผลาญไม่หมด และมันจะเกาะอยู่ตามอวัยวะต่างๆ และนำมาซึ่งโรคไม่พึงประสงค์ เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ อัลไซเมอร์ รวมถึงภาวะไขมันพอกตับ โดยไขมันจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของตับ อย่างการเผาผลาญน้ำตาล หรือการขจัดของเสียออกจากร่างกาย เมื่อกระบวนการขับของเสียในร่างกายของเราเริ่มมีปัญหา นั่นก็ทำให้ร่างกายของเราอยู่ในภาวะที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์มะเร็งในที่สุด

“เมื่อลดไขมันมาได้ระดับหนึ่ง เราก็เข้าสู่กระบวนการ เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ซึ่งเครื่องชั่งมวลร่างกายนั้นทำให้เรารู้ว่าร่างกายของเราขาดโปรตีนหรือมีปริมาณโปรตีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ก่อนหน้าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งนั้น พฤติกรรมการกินของเราจะเน้นไปที่คาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นข้าว แป้ง เส้นก๋วยเตี๋ยว พิซซ่า ฯลฯ เราเสพติดการกินแป้ง แต่กินโปรตีนน้อยมาก เราก็ต้องมาวางแผนการกินใหม่หมด โดยเพิ่มโปรตีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งคนทั่วไปต้องได้รับโปรตีน 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายที่เน้นไปที่ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นหลักอย่างเวต เทรนนิ่ง 

“จากค่าไขมันในร่างกาย 39.5 เปอร์เซ็นต์ เราใช้เวลากว่า 2 ปีเต็ม ในการลดลงมาจนเหลือ 29.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นอยู่ เพราะผู้หญิงนั้นไม่ควรมีไขมัน (Body fat) เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เราเสี่ยงเป็นโรคร้ายต่างๆ นานา ที่สำคัญไขมันจะอมสารพิษต่างๆ ไว้ ยิ่งเรามีไขมันมากเท่าไร ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เรามีโรงงานสารพิษอยู่ในร่างกาย เป้าหมายต่อไปของเราคือลดไขมันให้ได้ 25 เปอร์เซ็นต์ และลดค่าไขมันเกาะตับ (Fatty Liver Disease) จาก 5 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบันให้เหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ให้เร็วที่สุด”

สวยสู้มะเร็ง

“หลังการผ่าตัดแบบสงวนเต้า เอาแค่ก้อนมะเร็งออกไป เราก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งชนิด Triple Negative ระยะ 1A อย่างเป็นทางการ ด้วยขนาดของก้อนเนื้อและภาวะที่ไม่ได้ลุกลามไปที่อวัยวะอื่นๆ ทำให้กระบวนการรักษาที่ตามมาง่ายขึ้น คือ คีโมสูตรน้ำขาวเพียง 4 ครั้ง ทุก 3 สัปดาห์ และฉายแสงวันละ 5 นาที เป็นจำนวน 33 ครั้ง การรักษาก็ราบรื่น ไม่มีอะไรสะดุด ทั้งยังไม่มีอาการแพ้ใดๆ เลยนอกจากผมร่วง ผิวแห้ง และเล็บที่มีลักษณะเป็นคลื่นเท่านั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการดูแลตัวเองผ่านโภชนาการ (nutrition) ซึ่งยอมรับว่าในเดือนแรกๆ ก็ยากพอสมควร เพราะเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจากเดิมทั้งหมด จากเดิมที่เราคุ้นชินกับการกินคาร์โบไฮเดรตกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของอาหารในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นข้าว แป้ง ฯลฯ เราต้องปรับเปลี่ยนใหม่หมด แน่นอนว่ามันหงุดหงิด อึดอัด แต่หลังจากหนึ่งเดือนผ่านไป ร่างกายและสมองก็เริ่มยอมรับ ทุกอย่างก็คลี่คลายลง

“เราใช้เวลาทั้งหมดในการรักษาตัวไปกว่า 7 เดือนเต็ม โดยใน 7 เดือนนั้น นอกจากการศึกษาหาความรู้และลงมือปฏิบัติ รวมถึงวัดผลทดลองกับตัวเองแล้ว เราก็ยังเปิดเพจ ‘สวยสู้มะเร็ง’ โดยความตั้งใจแรกเริ่มก็คือเป็นไดอารีส่วนตัวที่จะบันทึกว่า ครั้งหนึ่งชีวิตเราก็เคยเป็นตั้งโรคมะเร็งเชียวนะ (หัวเราะ) แต่พอทำไปเรื่อยๆ กลับมีคนสนใจ กดไลก์ กดติดตามมากขึ้นๆ จนวันนี้มีแฟนเพจกว่า 1.5 หมื่นคน นั่นยิ่งทำให้เราต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น ศึกษาอย่างจริงจัง ผ่านการเข้าคอร์สต่างๆ เพื่อส่งต่อสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาไปยังทุกคนที่เข้ามาติดตามเรา และส่วนหนึ่งเราอยากจะผลิต Cancer Fighter ในเมืองไทยให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นเครือข่ายกระจายแรงบันดาลใจและกำลังใจไปสู่ผู้ป่วยมะเร็งโดยทั่วไป  

“นั่นเป็นที่มาของบทบาท Health Coach จำเป็น เพราะหลายๆ ครั้งจะมีแฟนเพจซึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งมาขอคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวระหว่างการรักษา เพื่อให้การรักษาดำเนินไปอย่างไม่ติดขัด หรือบางคนก็มาขอสูตรการกินอาหารให้ได้สารอาหารที่ร่างกายต้องการ หรือบางคนถึงขนาดส่งผลเลือดมาให้อ่านและอธิบายให้ฟัง ทุกวันนี้ เพจสวยสู้มะเร็งจึงเป็นมากกว่าพื้นที่แบ่งปันความรู้ แต่มันเป็นเสมือนชุมชนที่รวมคนหัวอกเดียวกัน มาเมาท์มอยกัน ให้กำลังใจกัน มาหัวเราะด้วยกัน บ้างก็ร้องไห้ไปด้วยกัน ฯลฯ”

อย่าสักแต่เชื่อ…

“เรื่องที่ยากที่สุดของผู้ป่วยมะเร็งคือเมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งแล้วไม่รู้ว่าจะกินอะไรดี เป็นมะเร็งแล้วกินอะไรได้บ้าง และพอฟังผู้เชี่ยวชาญบนโลกโซเชียลก็จะแนะนำกันไปคนละทิศละทาง นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราต้องรู้ว่ามะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร และมะเร็งเติบโตในภาวะร่างกายแบบไหน รวมถึงต้องรู้ให้ลึกไปถึงการทำงานของร่างกายตัวเราเอง และอาหารแต่ละอย่างที่กินเข้าไปนั้นส่งผลอะไรบ้างกับร่างกาย เมื่อรู้แล้วก็นำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับตัวเอง

“อย่าสักแต่ว่าเชื่อและทำตามเขาไป แต่เราต้องศึกษา ทดลอง ลงมือทำ และวัดผลให้รู้ชัดว่าเป็นประโยชน์กับร่างกายเราจริงๆ 

“โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว ถึงการรักษาจะจบสิ้นแล้ว ก็อย่าหยุดดูแลตัวเองเด็ดขาด อย่ากลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ และแม้มะเร็งจะกลับมา แต่เราก็ต้องเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่แข็งแรง เราต้องให้โอกาสตัวเองได้มีชีวิตอยู่ต่ออย่างมีคุณภาพ อย่าปล่อยตัวเองไปตามยถากรรม ให้กำลังใจตัวเองเสมอๆ

“สำคัญที่สุดคืออย่าหยุดที่จะเรียนรู้ เราต้องเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าอยากอยู่รอด ยิ่งเรื่องการดูแลตัวเองเพื่อต้านมะเร็งนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นหนึ่งเดียวแล้วจบสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนไปตามบริบทของมัน ยกตัวอย่างแต่ละช่วงการรักษาตัวจากมะเร็ง ตั้งแต่ผ่าตัด คีโม ฉายแสง หรือหลังจากจบสิ้นการรักษา การดูแลตัวเองของเราก็ต้องเปลี่ยนไปให้เหมาะสมต่อการรักษา หรือหากมะเร็งกลับมา เราอาจจะใช้วิธีการดูแลตัวเองแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว การเรียนรู้จึงไม่มีวันสิ้นสุด

“เพราะเมล็ดพันธุ์ของมะเร็งมีอยู่ในตัวเราทุกคนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำให้ร่างกายของเราเอื้อต่อการเติบโตของมะเร็งหรือไม่…เท่านั้น และหมอที่ดีที่สุดของเราก็คือตัวเราเองนี่แหละ ซึ่งการดูแลตัวเองให้แข็งแรงทั้งกายและใจเป็นสิ่งสำคัญมากในการรับมือกับมะเร็งทุกชนิด”

 .             

#LifeGoesOn
#เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
#มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาเร็วก็หายได้
#ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
#TBCC

ติดตามเรื่องราว ข่าวสาร และกำลังใจดีๆ จาก ป้าพิม-พิมพ์ณิกา ลวางกูร ได้ทาง
FACEBOOK : สวย สู้มะเร็ง
YOUTUBE CHANEL : ป้าพิม สวยสู้มะเร็ง 
INSTAGRAM : pimcancerfighter

แชร์ไปยัง
Scroll to Top