ถ้าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทูแล้วจะรักษาไม่หายจริงไหม

โดยปกติแล้วการตรวจหามะเร็งเต้านมนั้นจะตรวจกันทั้งหมด 3 ตัว โดย 2 ตัวแรก คือ Estrogen receptor และ Progesterone receptor หากมีตัวรับฮอร์โมน Estrogen receptor หรือ Progesterone receptor เป็นบวก ก็ต้องมีการรับประทานยาต้านฮอร์โมน ส่วนตัวรับที่ 3 ที่ตรวจกันก็คือตัวรับเฮอร์ทู (Her2) ย่อมาจาก Human epidermal growth factor receptor 2 นอกจากเฮอร์ทูแล้ว จริงๆ ในเซลล์มะเร็งเต้านมก็ยังมีเฮอร์ทรี (Her3) อีกด้วย แต่หากเราพูดถึงการตรวจ เราจะตรวจแค่เฮอร์ทูเท่านั้น 

เฮอร์ทูเป็นบวก หมายถึง การมีตัวรับเฮอร์ทูบนผิวของมะเร็งเต้านมมากกว่าปกติ ปัจจุบันเราพบว่า คนที่เป็นมะเร็งเต้านมที่มีเฮอร์ทูเป็นบวกนั้นมีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด การตรวจเฮอร์ทูในปัจจุบันนี้มีได้หลากหลายวิธี แต่วิธีที่ทำบ่อยที่สุดคือ การย้อมโปรตีน เพื่อดูว่ามีโปรตีนตัวรับเฮอร์ทูมากว่าปกติหรือเปล่า หากในกรณีที่ผลการตรวจโปรตีนยังไม่แน่ชัด จะมีการตรวจยีนต่อไป ซึ่งการตรวจยีนเฮอร์ทูนั้นมีได้หลากหลายวิธี คุณหมอจะหาวิธีเพื่อตรวจดูว่า มะเร็งเต้านมนั้นมีเฮอร์ทูเป็นบวกหรือลบ 

ในกรณีที่มีเฮอร์ทูเป็นบวก ถือว่าเซลล์เต้านมนั้นมีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ แต่อย่าเพิ่งตกใจนะคะ! เพราะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 หรือราว 23 ปีที่แล้ว มีการอนุมัติการให้ยาต้านเฮอร์ทูตัวแรก คือ Trastuzumab กระทั่งถึงปัจจุบันนี้ยังมียาต้านเฮอร์ทูอีกมากมายที่อยู่ในตลาดและสามารถใช้ได้ ซึ่งยาต้านเฮอร์ทูนี้ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งเต้านมที่มีเฮอร์ทูเป็นบวกค่อนข้างสูง

มะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทูเป็นบวกจึงไม่ใช่มะเร็งพันธุ์ดุอย่างในอดีตแล้ว เนื่องจากปัจจุบันมียาต้านเฮอร์ทูมากมาย ซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาไม่ต่างจากตัวรับเฮอร์ทูเป็นลบเลย ดังนั้น ถึงเป็นมะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทูก็ไม่ต้องกลัว หรือแม้จะเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 ที่มีเฮอร์ทูเป็นบวก การได้รับยาต้านเฮอร์ทูก็ทำให้ผลการรักษามีผลเป็นอย่างดี ขอแค่เราดูแลสุขภาพ รักษากาย รักษาใจให้ดีเท่านั้น ก็ทำให้การรักษามะเร็งเป็นไปได้โดยง่ายและผลข้างเคียงน้อย สู้ๆ นะคะ  

พญ.รัตน์กวิน จิตตวัฒนรัตน์ 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมมะเร็ง
โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
และจิตตะไลฟ์เซ็นเตอร์

แชร์ไปยัง
Scroll to Top