คุณแม่ที่เป็นมะเร็งเต้านมและจำเป็นต้องตัดเต้านม มีผลต่อการตั้งครรภ์และให้นมลูกหรือไม่

การให้นมบุตรขึ้นอยู่กับว่า ‘ตัดอย่างไร’ ถ้าตัดออกไปทั้งเต้า แน่นอนว่าข้างนั้นเราให้นมไม่ได้แน่นอน แต่อีกข้างยังให้นมได้ตามปกติ นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่ ‘ระยะของโรค’ และ ‘ระยะของการตั้งครรภ์’ เช่น เป็นมะเร็งระหว่างการตั้งครรภ์ หรือเป็นมะเร็งช่วงหลังการตั้งครรภ์ อยู่ในช่วงที่กำลังให้นมลูกอยู่ ต้องได้รับการรักษาเสริมอย่างไรบ้าง ซึ่งการพิจารณาการผ่าตัด ฉายแสง ให้เคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน หรือยาพุ่งเป้านั้น จำเป็นต้องระวังผลกระทบต่อทารกในครรภ์ หรือระวังผลกระทบที่ออกมากับน้ำนมด้วย รวมถึงสุขภาพของมารดา

ทั้งนี้ เราแบ่งระยะของมะเร็งเต้านมในคุณแม่ตั้งครรภ์ออกเป็น 3 ช่วง คือ

ระยะต้น คือ อายุครรภ์ 1-3 เดือน ซึ่งถือเป็นระยะที่น่าเป็นห่วงเพราะทารกในครรภ์นั้นยังไม่ฟอร์ม หรือยังไม่พัฒนาอวัยวะต่างๆ หากแพทย์ทำการรักษาคุณแม่ เช่น ให้ยาหรือผ่าตัด แน่นอนว่าอาจจะมีผลต่อการสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์ได้ เพราะฉะนั้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่ควรระวังอย่างมาก 

ระยะกลาง คือ อายุครรภ์ 4-6 เดือน การสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว อาจจะเริ่มการผ่าตัดได้ หรือเริ่มให้ยาบางชนิดได้

ระยะปลาย คือ อายุครรภ์ 7-9 เดือน ช่วงนี้ก็สามารถผ่าตัดได้ แต่ควรระวังเพราะการนอนหงายสำหรับคุณแม่ครรภ์ใหญ่นั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย หรือจะให้คุณแม่นอนตะแคง แล้วหมอผ่า ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับแพทย์ รวมถึงการให้ยาบางตัวก็อาจจะกระตุ้นให้ทารกในครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ หรือมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่อการคลอดได้ จะเห็นได้ว่า แพทย์จะต้องดูคุณแม่แต่ละระยะแตกต่างกันออกไป สำหรับการฉายแสงนั้นไม่สามารถทำได้ในระหว่างตั้งครรภ์เลย ซึ่งต้องทำภายหลังคลอดแล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ ในคุณแม่ที่เป็นมะเร็งหลังคลอดบุตร ซึ่งหน้าที่สำคัญของคุณแม่ก็คือ ‘การให้นมลูก’ การให้ยาก็ต้องระวัง เพราะยาบางตัวก็ออกมาทางน้ำนมได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะของโรค เช่น คุณแม่ให้นมบุตรที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะ 0 ยังไม่มีการแพร่กระจาย การผ่าตัดเต้านมอย่างเดียวอาจจะเพียงพอ แต่หากเป็นระยะอื่นซึ่งอาจจะมีการลุกลามแล้ว เราก็อาจจะต้องใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน  

ในปัจจุบันอายุของผู้เป็นมะเร็งเต้านมเริ่มต่ำลง ขณะที่อายุของผู้ที่มีบุตรเริ่มสูงขึ้น ทำให้เราพบมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่มะเร็งยังเป็นโรคที่เรายังไม่ทราบสาเหตุ หรือสาเหตุยังไม่ชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองจากโรคมะเร็งเต้านมก็คือหมั่นตรวจเต้านมและต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้วยตัวเองเป็นประจำ และสังเกตรูปร่างที่ปกติของเต้านมเรา และหากเห็นความผิดปกติก็รีบไปพบแพทย์ 

หากอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ควรมาพบแพทย์เพื่อทำแมมโมแกรม อัลตราซาวด์ แต่ถ้าอายุไม่ถึงก็ขึ้นอยู่กับว่าเจอความผิดปกติหรือมีความเสี่ยงไหม เช่น ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจได้เลย เพราะมะเร็งเต้านมรู้เร็ว รักษาเร็ว มีโอกาสหายได้ 

อาจารย์ นายแพทย์วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์
อาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช

แชร์ไปยัง
Scroll to Top