พินณพัส สุพพัตชัย : เมื่อมะเร็งพรากความมั่นใจ…

“อย่าทำศัลยกรรมเพราะคนอื่นบอกว่าคุณไม่สวย 
แต่คุณต้องอยากทำเพราะตัวคุณเองอยากทำ
อยากทำเพราะคุณอยากมีร่างกายที่สวยงาม
ทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อความมั่นใจของตัวเอง”

.

เจี๊ยบ-พินณพัส สุพพัตชัย อดีตผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 2 กับ 3 ปีที่มะเร็งพรากความมั่นใจไปจากเธอ ในวันที่เจ็บปวด ‘เสียงเพลง’ เป็นเพียงสิ่งเดียวที่เยียวยาและพาเธอก้าวผ่านทุกอย่างมาได้ และในขวบปีที่ 37 ของชีวิต เธอกลายเป็นศิลปินอิสระ ผู้ใช้ ‘หัวใจ’ ไล่ตามความฝันบนเวที

“ลึกๆ เรารักการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยวงโคจรในชีวิตเราไม่เคยมีใครที่ทำงานอยู่ในแวดวงนี้เลย เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีคณะดุริยางคศาสตร์ และไม่เคยเชื่อเลยว่าอาชีพนี้จะเป็นงานที่มั่นคงได้ เราโตมาแบบไม่รู้ว่า ความฝันของเราคืออะไร ทำทุกอย่างไปตามที่คนอื่นบอกว่าทำอย่างนั้นดี ทำอย่างนี้ไม่ดี พอเรียนจบรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เราก็เข้าระบบมนุษย์เงินเดือนเพราะใครๆ ก็บอกว่ามันมั่นคง แต่เชื่อไหมว่าเปลี่ยนสายงานเป็นว่าเล่น ด้วยความที่เราไม่มี Passion ในงานที่ทำ

“เราใช้ชีวิตลองผิดลองถูกอยู่ตรงนั้นเกือบ 10 ปี ก่อนจะลาออกมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้าน MBA ที่เอแบค และเปิดธุรกิจส่วนตัว แต่ก็พบว่านั่นก็ยังไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ กระทั่งวันหนึ่งจับพลัดจับผลูได้ขึ้นไปยืนร้องเพลงบนเวที นาทีนั้นเรารู้เลยว่า นี่แหละคือสิ่งที่เราอยากทำ จึงเริ่มรับงานร้องเพลง ร่วมแจมกับวงอื่นๆ ไปเรื่อยๆ

“นับเป็นการเริ่มต้นที่ทุลักทุเลมาก ด้วยความที่เรามีแต่ใจรักอย่างเดียว แต่ไม่มีทักษะทางด้านนี้เลย ก็ใช้เวลาอยู่พอสมควรในการฝึกฝน และอดทนต่อคำดูถูกต่างๆ นานา เสียน้ำตาหนักมากบนเส้นทางนี้ แต่เชื่อไหมว่าเราไม่เคยคิดหนี เราพร้อมจะฟันฝ่าไป เพราะนี่คือสิ่งที่เรารัก ที่สำคัญสิ่งนี้เองที่ช่วยให้เราผ่านความเจ็บปวดจากโรคมะเร็งมาได้…” 

สูญเสียแต่ไม่เสียศูนย์

“หลังออกจากงานมาเป็นนักร้องอิสระได้ไม่นาน เราก็พบว่าตัวเองมีก้อนเนื้อขนาดเท่าลูกปิงปองที่เหนือหัวนมข้างขวา ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร แค่รู้สึกว่ารำคาญ เวลาที่เดินไปไหนเราจะรู้สึกไม่สบายตัว นอนตะแคงขวาก็เริ่มรู้สึกจึงไปตรวจที่โรงพยาบาล วันนั้นจำได้เลยว่าคุณหมอขอตัดชิ้นเนื้อไปตรวจดู 2 ตำแหน่ง ปรากฏว่าเจอเชื้อมะเร็งทั้งสองตำแหน่ง วันฟังผลคุณหมอก็นัดผ่าตัดทันที ด้วยขนาดที่ใหญ่และลักษณะผิวก้อนก็ขรุขระมาก โดยผ่าตัดคว้านเนื้อเต้านมข้างขวาทิ้งทั้งหมด 

“ด้วยวัย 32 ปี และไม่มีแฟน เราก็ไม่รู้สึกซีเรียสกับการถูกคว้านเต้าเท่าไร แค่รู้สึกว่ารักษาชีวิตไว้ดีกว่า หลังจากผ่าตัดก้อนมะเร็งออกมา คุณหมอก็ผ่าเลาะต่อมน้ำเหลืองที่ใต้รักแร้ข้างขวาออกมาด้วยเพื่อเช็กว่าลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือยัง ซึ่งโชคดีว่ายังไม่ลุกลาม แต่ด้วยขนาดก้อนอยู่ที่ 4.5×2.5 เซนติเมตร คุณหมอจึงวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 

“หลังออกจากโรงพยาบาลมาได้เพียง 3 วัน เราก็ขึ้นเวทีร้องเพลงตามปกติพร้อมสายเดรน (Percutaneous Drainage) และถุงน้ำเหลืองที่เหน็บอยู่กับกางเกงยีนส์ (หัวเราะ) เพราะตอนนั้นรู้สึกไม่อยากเสียเวลากับอะไรอีกแล้ว ขออยู่กับสิ่งที่เรารักให้ได้มากที่สุดดีกว่า”

เผชิญทุกข์…สุดทน    

“หลังแผลผ่าตัดเริ่มจะหาย ก็ถึงขั้นตอนที่ต้องให้คีโม ซึ่งคุณหมอกำหนดว่าต้องให้คีโมทั้งหมด 8 เข็ม เราย้ายโรงพยาบาลมาใช้สิทธิ ‘บัตรทอง’ จำได้ว่าคีโมเข็มแรกเป็นน้ำสีแดง ทันทีที่ยาวิ่งเข้าสู่เส้นเลือด เรารู้สึกได้ว่าร่างกายเหมือนกำลังโดนเบิร์น ลิ้น เพดานปาก และกระเพาะอาหารรู้สึกร้อนวาบขึ้นมาทันที ผ่านไปเพียงเข็มแรก ผมก็เริ่มร่วง ร่างกายไม่มีแรง กินอะไรไม่ได้ ยิ่งพอเข็ม 2 ร่างกายก็ทรุดลงเรื่อยๆ น้ำหนักลดลงกว่า 10 กิโลกรัม ความดันต่ำลงเรื่อยๆ มารู้ตัวอีกทีคือเรานั่งรถไฟฟ้าใต้ดินไม่ได้แล้ว เพราะพอเดินลงไป มันเหมือนภาพตัด หมดสติไปทันที ต้องขึ้นมาปฐมพยาบาลกันข้างบนสถานี

“วันนั้นมันเหมือนฟางเส้นสุดท้าย ด้วยความที่เราไม่อยากเป็นภาระแม่อีกแล้ว สงสารแม่ที่ท่านทุกข์และต้องดูแลเราทุกอย่าง จึงตัดสินใจยุติการให้คีโมในเข็มที่ 3 และหันไปรักษากับแพทย์ทางเลือกผ่านการใช้ธรรมชาติบำบัด รักษาอยู่สักพักหนึ่ง พอร่างกายแข็งแรงดีก็กลับมาร้องเพลง และใช้ชีวิตตามปกติ จนถึงวันนี้ก็ผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว 

“ลึกๆ เรารู้สึกว่า คีโมก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งทุกคน เช่นเดียวกับวิธีการรักษาแพทย์ทางเลือก คนที่รักษาหายได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ มันต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่เมื่อหายแล้วก็ดูแลตัวเองให้ดี เปลี่ยนวิถีชีวิตเสียใหม่ สำคัญที่สุดคือใช้ชีวิตให้มีความสุขให้มากที่สุด มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ มีความสุขกับสิ่งที่เราเป็น…” 

เรียกคืนความมั่นใจ

“ตลอดสามปีที่เราใช้ชีวิตแบบไร้เต้า เชื่อไหมว่าความรู้สึกเราเหมือนชีวิตเว้าๆ แหว่งๆ ด้วยงานที่เราทำ การแต่งตัวเป็นเรื่องสำคัญ และการมีหน้าอกข้างเดียว มันทำให้การแต่งตัวยาก มีข้อจำกัดในการแต่งตัวเต็มไปหมด แค่จะใส่เสื้อคอวีออกจากบ้าน เราก็รู้สึกไม่มั่นใจแล้ว เพราะเนินหน้าอกเราไม่เท่ากัน ถึงจะยัดซิลิโคนเข้าไปเท่าไร มันก็ไม่อาจจะช่วยเรียกความมั่นใจให้เราได้ 

“การไม่มีนม มันมีผลต่อคุณภาพชีวิตผู้หญิงมากนะ อาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่เราเชื่อว่าก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีสามี เวลาจะมีเซ็กซ์กัน เขาจะรู้สึกทุกข์ทนแค่ไหน ขนาดเรายังไม่ได้แต่งงาน ยังทุกข์เลย และต่อให้สามีไม่ได้คิดอะไรก็ตาม แต่ผู้หญิงอย่างเราๆ นี่แหละที่คิดมาก 

“ความไม่มั่นใจมันทำร้ายเรา ถึงขนาดที่ว่าเวลาเดินออกนอกบ้าน ไม่กล้าสบตาคนอื่นก็มี ทั้งๆ ที่ไม่มีใครมาสนใจเราด้วยซ้ำ และไม่มีใครรู้หรอกว่าเรามีนมข้างเดียว แต่ข้างในของเรามันรู้สึกด้อยค่าไปทีละนิดๆ จนวันหนึ่งเราเริ่มรู้สึกว่า ไม่ไหวละ จึงตัดสินใจเสริมหน้าอกดีกว่า

“พอคิดได้ก็เดินเข้าไปที่ศัลยกรรมตกแต่งแห่งหนึ่ง คุณหมอที่นั่นก็น่ารักมาก ให้ข้อมูลเราอย่างดี โดยคำหนึ่งที่ท่านบอกมาก็คือเคสของเรานั้นไม่ใช่การศัลยกรรมเพื่อเสริมสวย แต่เป็นการศัลยกรรมเพื่อเสริมสร้าง ฉะนั้นต้องใช้แพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญ และแนะนำชื่อนายแพทย์มา 2 ท่าน หนึ่งในนั้นก็คือ คุณหมอบัว (นายแพทย์วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์) อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นคนที่ช่วยเรียกความมั่นใจของเรากลับคืนมาในที่สุด”

ความเจ็บที่เป็นสุข

“การศัลยกรรมหน้าอกครั้งแรกทำเมื่อเดือนตุลาคม 2563 โดยเสริมซิลิโคนที่หน้าอกข้างขวา ข้างที่คว้านเนื้อเต้านมออก แต่พอเสริมไปแล้ว แน่นอนว่าเนื้อเต้านมธรรมชาติกับเต้านมที่เสริมซิลิโคน รูปทรงค่อนข้างต่างกัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 จึงกลับมาหาคุณหมอบัวอีกครั้งเพื่อทำการเสริมหน้าอกข้างซ้ายด้วยซิลิโคนให้ได้รูปทรงใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังฉีดไขมันที่เต้านมข้างขวาเพื่อให้เต้าทั้งสองสมดุลกัน 

“เจี๊ยบเชื่อว่าการเสริมสร้างเต้านมต้องใช้ความอดทน และต้องเข้าใจว่าน้อยคนที่ทำแล้วจะสวยเป๊ะในทันที หากใครโชคดีที่ทำแล้วสวยเลยก็ยินดีด้วย แต่สำหรับหลายๆ คนมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น อย่างเจี๊ยบกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ก็เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลมากว่า 2 ปี ทั้งผ่าตัดเสริม เสริมสร้าง และดูดไขมันตัวเองมาเสริม อยากสวยก็ต้องอดทน

“ถามว่าเจ็บไหม ก็เจ็บนะ แต่เป็นความเจ็บที่มีความสุข ยิ่งได้เห็นนมใหม่ ยิ่งหายเจ็บเร็วขึ้น เพราะสวยกว่าเก่า (หัวเราะ) ตั้งแต่นั้นมาเราก็ไม่ต้องเหนื่อยยัดซิลิโคนอีกแล้ว จะใส่ชุดอะไรก็ไม่ต้องคอยกังวลว่าซิลิโคนจะกลิ้งตกพื้นให้คนอื่นตกใจ (หัวเราะ) เรากลับมามีความสุขอีกครั้ง กลับมาภูมิใจกับร่างกายของตัวเองอีกครั้ง

“ขอบคุณคุณหมอบัวและคุณหมอทุกท่านที่เห็นว่า เรื่องเต้านมของผู้หญิงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะการไม่มีเต้านมสำหรับผู้หญิงบางคนนั้น ไม่ต่างอะไรจากการตายทั้งที่ยังมีลมหายใจ ฉะนั้น อย่ามาบอกว่า รอดตายจากมะเร็งมาได้ก็โชคดีแล้ว ตราบใดที่คุณยังไม่เคยมีนมข้างเดียว…” 

ติดตามและพูดคุยกับคุณเจี๊ยบได้ที่ 
www.facebook.com/jbpinnapat
www.instagram.com/jbpinnapat

แชร์ไปยัง
Scroll to Top