‘งาดำ’ ต้านมะเร็งได้จริงหรือ

หากย้อนกลับไปดูงานวิจัยในหลอดทดลองนั้น สารสกัดจากงาดำนั้นมีฤทธิ์ทำให้เซลล์มะเร็งฝ่อและตายได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณโดสสูงมาก หรืออีกนัยหนึ่งคือมีศักยภาพในการฆ่าเซลล์มะเร็งต่ำ แต่ฤทธิ์ที่ดีของงาดำนั้น คือ งาดำมีกรดไขมันจำเป็นที่สามารถช่วยลดการอักเสบและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของเราได้เป็นอย่างดี

สรุปว่า ถ้าจะกินงาดำที่จะหวังผลเพื่อลดการอักเสบ กระตุ้นภูมิคุ้มกันนั้นได้แน่นอน แต่ถ้าจะกินงาดำเพื่อหวังผลให้งาดำไปฆ่ามะเร็งนั้น โดยส่วนตัวแล้วยังไม่เจอผู้ป่วยมะเร็งรายใดที่กินสารสกัดจากงาดำแล้วก้อนมะเร็งยุบลงแต่อย่างใด

ไม่ต่างจาก ข้าวไรซ์เบอร์รี ที่มีการวิจัยพบว่า มีโปรตีนบางอย่างที่ฆ่ามะเร็งได้ แต่นั่นหมายถึงเราต้องกินข้าวไรซ์เบอร์รีเป็นเกวียนๆ จึงจะได้ปริมาณที่เพียงพอต่อการฆ่าเซลล์มะเร็ง ฉะนั้น การกินสิ่งเหล่านี้อย่าหวังว่ามันจะมีผลทำให้มะเร็งหาย ให้กินเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นจะดีกว่า  

เช่นกันกับ จิงจูฉ่าย ซึ่งโด่งดังมาพร้อมความเชื่อว่าเป็นพืชมีฤทธิ์ช่วยต้านมะเร็ง และเมื่อทำการทดลองก็พบว่า จิงจูฉ่ายช่วยต้านมะเร็งได้จริง แต่วิธีการกินนั้นจะต้มกินเป็นน้ำชาไม่ได้ ต้องกินเป็นใบๆ จึงจะได้รับประโยชน์ ฉะนั้น หากมั่นใจว่าแหล่งที่ปลูกสะอาดพอ ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ก็สามารถกินจิงจูฉ่ายเพื่อต้านมะเร็งหรือบำรุงสุขภาพได้ แต่หากจะกินเพื่อหวังว่าจิงจูฉ่ายจะทำให้มะเร็งฝ่อนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ยาเคมีบำบัด

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกบริโภคอาหารหรือสมุนไพรใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าสมุนไพรนั้นเหมาะกับเราหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า สมุนไพรทุกชนิดล้วนมีผลข้างเคียงไม่ต่างจากยา กินมากไปก็ทำลายตับ ทำลายไตเช่นกัน ยกตัวอย่าง ‘ชาเขียว’ ซึ่งมีการวิจัยพบว่า มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง คนจึงแห่ไปซื้อชาเขียวสกัดเข้มข้นเป็นแคปซูลมากิน พบว่ามีคนไข้จำนวนไม่น้อยเกิดอาการตับวาย ฉะนั้น การกินชาเขียวควรอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ และต้องกินพร้อมมื้ออาหารหรือหลังมื้ออาหารเท่านั้น  

ไม่ต่างกับสารที่ชื่อว่า ‘ซาโปนิน’ (Saponins) ใน ‘เห็ดหลินจือ’ ซึ่งถือเป็นพืชฮอตฮิตในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง หากเราได้รับในปริมาณที่เหมาะสมก็สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ส่งผลให้คนไข้เกิดภาวะซีด ฉะนั้น จึงควรระมัดระวังในการบริโภคเห็ดหลินจือ โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในช่วงทำเคมีบำบัด เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องการให้คนไข้มีเม็ดเลือดแดงที่แข็งแรง   

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สมุนไพรทุกชนิดล้วนมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายคนเราแทบทั้งสิ้น แต่การเลือกบริโภคนั้นจะดูจากฤทธิ์ของสมุนไพรอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการวิจัยส่วนใหญ่นั้นทำในหลอดทดลอง หรือทดลองในสัตว์ทดลอง ฉะนั้น การเลือกใช้สมุนไพรนั้นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความเหมาะสมกับตัวเราเป็นหลัก จำไว้ว่าคนแต่ละคนมีสภาวะร่างกายไม่เหมือนกัน ที่สำคัญผู้ป่วยมะเร็งก็อาจจะไม่ได้เป็นมะเร็งอย่างเดียว แต่เป็นเบาหวาน ความดัน หรือระบบภูมิคุ้มกันเสีย ฯลฯ เราต้องแก้ไขให้ตรงจุด 

การเลือกสมุนไพรกินเองนั้น บางครั้งจึงเหมือนเป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุด และอาจจะสร้างความเสี่ยงให้กับร่างกายในภายหลัง เช่น ยาที่กินเป็นประจำอาจจะตีกับยาสมุนไพรก็ได้ ฉะนั้น ไม่ว่าจะใช้ยาสมุนไพรใดก็ตาม ควรเป็นสมุนไพรที่ได้รับการรับรองจาก อย. และผ่านความเห็นชอบจากแพทย์ที่ดูแลเราก่อน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับร่างกายของเราโดยไม่จำเป็นนั่นเอง

ดร.กมล ไชยสิทธิ์
อุปนายกสมาคมโภชนาการและสมุนไพรเชิงบูรณาการ

แชร์ไปยัง
Scroll to Top