ทำไมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต้องกินยาต้านฮอร์โมน และต้องกินไปนานเท่าไร?

A : ไม่ใช่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกคนที่ต้องรับประทานยาต้านฮอร์โมน แต่จะรับประทานเฉพาะใน ‘ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก’  ซึ่งจะมีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด หากไม่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวกก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านฮอร์โมน โดยมะเร็งเต้านมมีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวกนี้จะเติบโตได้ หากมีภาวะที่มี Estrogen หรือ Progesterone การให้ยาต้านฮอร์โมนจะไปช่วยจับตัวรับฮอร์โมนซึ่งทำให้ยับยั้งตัวรับฮอร์โมนนั้น ทำให้มะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมนนั้นหยุดเติบโตและตายในที่สุด   

สำหรับระยะเวลาในการทานยาต้านฮอร์โมนนั้น หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมมีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก ในระยะที่ 4 หรือระยะกระจายนั้น การทานยาต้านฮอร์โมนอาจจะต้องทานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าโรคจะไม่ตอบสนองต่อการรักษา แต่ถ้าเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น 0-1-2-3 ในปัจจุบันนี้แนะนำว่าควรทานยาอย่างน้อย 5 ปี หมายถึง เราควรทานไม่ต่ำกว่า 5 ปี และหากผลข้างเคียงน้อยหรือไม่มีผลข้างเคียง และสามารถทานได้อย่างต่อเนื่อง แพทย์จะแนะนำให้ทานต่อเนื่องยาวนานถึง 10 ปี เนื่องจากเราพบว่าการทานยาระหว่างปีที่ 5 ถึงปีที่ 10 นั้น สามารถป้องกันอัตราการเดินซ้ำของมะเร็งได้เพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่าผู้ป่วยจะทานยาในปีที่ 5 ถึงปีที่ 10 นั้น จะเป็นการคุยกันระหว่างคุณหมอและผู้ป่วยว่ามีผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหน และสามารถทานยาต่อเนื่องได้มากน้อยแค่ไหน

แพทย์หญิงพจนา จิตตวัฒนรัตน์
แพทย์อายุรกรรมมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ

แชร์ไปยัง
Scroll to Top