A : สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีการผ่าตัดเต้านมและหายดีแล้ว แขนข้างที่ผ่าตัดเต้านมไม่ควรออกกำลังกายหนักๆ เช่น ยกเวตเกิน 5 กิโลกรัม ฯลฯ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเลาะต่อมน้ำเหลืองไปมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกคน เมื่อทำการรักษาหายแล้ว จำเป็นต้องรู้ ขอย้ำว่า ต้องรู้ว่าตัวเองนั้นได้รับการผ่าตัดแบบใด เช่น ถ้าเป็นการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (sentinel lymph node) เพียงเล็กน้อยเพื่อสุ่มตรวจ ก็แทบไม่มีผลใดๆ กับร่างกาย ออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่หากเป็นการเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออกทั้งหมด (axillary lymph node dissection) ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้แขนบวมได้ง่าย กรณีนี้จึงจำเป็นต้องเลือกการออกกำลังกายที่ไม่หนักเกินไป รวมถึงการยกของหนักไม่ควรหนักเกิน 5 กิโลกรัม รวมถึงตีแบดมินตันหนักๆ หรือตีเทนนิสหนัก อาจจะเปลี่ยนการออกกำลังกายไปเป็นช่วงขาแทนซึ่งจะปลอดภัยมากกว่า เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แอโรบิก โยคะ กระโดดเชือก เป็นต้น
อย่าอ้างเด็ดขาดว่า ผ่าตัดเต้านมมาจึงออกกำลังกายไม่ได้ เพราะการออกกำลังกายนั้นเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก (อาหารรองลงมา) การออกกำลังกายนั้นช่วยให้เราห่างไกลจากมะเร็ง และช่วยลดความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำอีกครั้ง แม้แต่ผู้ที่กำลังรักษามะเร็งอยู่ การออกกำลังกายก็ช่วยให้ร่างกายของเรานั้นแข็งแรงและไม่อ่อนเพลีย พร้อมต่อการรักษาทุกรูปแบบ ฉะนั้น การออกกำลังกายนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ! ไม่เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เรา ‘ทุกคน’ ต้องทำ!
แพทย์หญิงพจนา จิตตวัฒนรัตน์
แพทย์อายุรกรรมมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ