ในคนปกติ ความอ้วนมีผลโดยตรงกับการเกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่ เช่น ผู้หญิงอ้วนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าผู้หญิงผอมจริงหรือไม่?

A : มะเร็งเต้านม แบ่งคร่าวๆ เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) มะเร็งเต้านมกลุ่มที่ตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก 2) ตัวรับเฮอร์ทูเป็นบวก และ 3) ตัวรับฮอร์โมนและเฮอร์ทูเป็นลบ โดยกลุ่มที่ตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก พบมากสุด 60-70 เปอร์เซ็นต์ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด สำหรับกลไกการเกิดมะเร็งเต้านมกลุ่มที่ตัวรับฮอร์โมนเป็นบวกนี้ เกิดจากฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนกระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุเต้านมมีการเจริญเติบโตที่มากผิดปกติ การรักษาหลักคือการลดฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วยยาต้านฮอร์โมน จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนมักสัมพันธ์กับการที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงและหรือมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน และเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่ยังไม่มีการศึกษายืนยันว่า การลดน้ำหนักสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมชนิดนี้ได้

อย่างไรก็ตาม สมาคมแพทย์โรคมะเร็งแนะนำให้ลดน้ำหนักและการออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมแล้ว ยังช่วยโรคหัวใจและเบาหวานอีกด้วย  สำหรับมะเร็งเต้านมกลุ่มตัวรับเฮอร์ทูเป็นบวกและตัวรับฮอร์โมนและเฮอร์ทูเป็นลบนั้น กลไกการเกิดมะเร็งไม่ได้สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ ดังนั้น ทั้งผู้หญิงที่อ้วนและผอมก็มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมสองกลุ่มนี้ไม่แตกต่างกัน

อาจารย์แพทย์หญิงนภา ปริญญานิติกูล
อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


หมายเหตุ : เฮอร์ทูคืออะไร?

เฮอร์ทู (HER2) เป็นโปรตีนในร่างกายที่มีหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์
ซึ่งหากมีมากเกินไปจะทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวมากผิดปกติ จนอาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้
หากตรวจพบว่ามีโปรตีนเฮอร์ทูหรือยีนที่ผลิตโปรตีนเฮอร์ทูนี้มากกว่าปกติ
จะเรียกมะเร็งเต้านมชนิดนี้ว่า มะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทูเป็นบวก
หรืออาจจะเรียกสั้นๆ ว่า มะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทู

 

แชร์ไปยัง
Scroll to Top